*** ก่อสงคราม แย่งชิงน้ำมัน ***

อย่างที่หลายๆ ท่านทราบ น้ำมันดิบเป็นสิ่งที่มีค่ามาก นอกจากใช้เป็นพลังงานให้เครื่องยนตร์เครื่องจักรต่างๆ ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นปิโตรเคมีอีกหลายชนิด ทั้งพลาสติก, เส้นใยสังเคราะห์, ยารักษาโรค เรียกว่าทำรายได้มหาศาล ทำให้ทั่วโลกแย่งกันเป็นเจ้าของบ่อน้ำมันดิบ คนที่มีอยู่ในประเทศก็ใช้มันเป็นเครื่องมือต่อรอง คนที่ไม่มีก็ก่อสงครามเพื่อช่วงชิงมันมาให้ได้

...ไม่เกินจริงไปนักหากจะบอกว่าบ่อน้ำมันเป็นประเด็นให้คนฆ่ากันตายมาแล้วนับหมื่นนับแสน…

แล้วอยากทราบกันไหมครับว่า มีสงครามใดเกิดขึ้นเพราะน้ำมันบ้าง? วันนี้ผมจะยกตัวอย่างเรื่องราวบางส่วนจากแถบตะวันออกกลางขึ้นมาเล่า… ขอเชิญทุกท่านมาชมเรื่องราวไปด้วยกันนะครับ


ตะวันออกกลางเป็นพื้นที่อันอุดมไปด้วยแหล่งปิโตรเลียมน้ำมันดิบมาตั้งแต่ยุคโบราณ หอคอยและกำแพงเมืองบาบิโลนในอารยธรรมเมโสโปเตเมียก็มีการนำยางมะตอยมาใช้ประกอบ

การกลั่นน้ำมันเองก็เริ่มต้นขึ้นในภูมิภาคนี้โดยนักเคมีชาวเปอร์เซียและอาหรับ ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่มีประวัติการแย่งชิงน้ำมันในตะวันออกกลางอยู่เรื่อยมา...


เราอาจจะเคยชินที่ชาติตะวันตกบุกรุกเข้าสู่ตะวันออกกลางเพื่อเป็นเจ้าของน้ำมัน เช่นอังกฤษยึดอิรักเป็นเมืองในปกครอง

แต่ความจริงแล้ว ในภูมิภาคนี้ด้วยกันเองมีการแย่งชิงทรัพยากรใต้ดินด้วยกำลังระหว่างกันมาบ่อยครั้ง
ภาพแนบ: ซัดดัม

ในปี 1970 เป็นช่วงเวลาสันติของอิรัก ซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ได้พัฒนาเศรษฐกิจโดยยึดแหล่งน้ำมันคืนจากสัมปทานตะวันตก อิรักจึงมั่งคั่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

แต่ซัดดัมไม่ได้หยุดเพียงเท่านั้น เขายังแสวงหาแหล่งน้ำมันอื่นๆ มาเสริมเรื่อยๆ


ภาพแนบ: เมืองเคอร์คุก

ตัวอย่างเช่น เขาส่งคนอาหรับให้เข้าไปอาศัยในพื้นที่เมืองเคอร์คุกของชาวเคิร์ดซึ่งมีน้ำมันอยู่อย่างมหาศาล แล้วออกกฎห้ามมิให้ให้ชาวเคิร์ดซื้อที่ดินในเคอร์คุก ให้ขายได้อย่างเดียวเท่านั้น

...ชาวเคิร์ดเป็นเพียงชนกลุ่มน้อย ไม่มีประเทศของตนเอง จึงทำอะไรไม่ได้มากนัก


ภาพแนบ: โคไมนี

ต่อมาอิรักขัดแย้งกับอิหร่าน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ประหัตประหารกันจนปี 1979

ปีนั้นซัดดัมได้เป็นประธานาธิบดี ส่วนทางอิหร่านก็เกิดการปฏิวัติล้มล้างพระเจ้าชาห์ กลุ่มเคร่งศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ ซึ่งเป็นนิกายที่ชาวอิหร่านส่วนใหญ่นับถือ นำโดย อยาตอลเลาะห์ โคไมนี ขึ้นเป็นใหญ่


โคไมนีเป็นพวกอนุรักษ์นิยม จึงหยุดความสัมพันธ์ที่เคยมีกับอเมริกา เพราะมองว่าพวกตะวันตกนั้นชั่วร้าย ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองของอิหร่าน ณ ขณะนั้นเกิดความผันผวน

ด้านซัดดัมต้องการแหล่งน้ำมันในอิหร่าน เห็นเป็นโอกาสดี จึงประกาศสงครามในเดือนกันยายน 1980

ทั้งสองฝ่ายรบพุ่งกันรุนแรง เสียชีวิตไปฝ่ายละหลายพัน และช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 1980 อิหร่านก็ส่งทัพเรือทัพอากาศบุกโจมตีบ่อน้ำมันและท่าเรือของอิรักในจังหวัดบาสรา ทำลายบ่อน้ำมันไปมากมาย ทั้งยังทำลายแสนยานุภาพทางเรือของอิรักไปกว่า 80% แสดงให้เห็นว่าน้ำมันเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรีบโจมตีให้เสียหาย 


ภาพแนบ: อนุสรณ์สถานในเมืองฮาลาบจาที่โดนอาวุธเคมีถล่ม 

ซัดดัมต้องถอยทัพกลับอิรักในปี 1982 แต่เนื่องจากอิหร่านสร้างศัตรูกับชาติอื่นไปทั่วเพราะเป็นรัฐศาสนาสุดโต่ง ทำให้ซัดดัมได้รับการสนับสนุนทางอาวุธจากสหรัฐฯ และโซเวียต จนมีกำลังฟื้นขึ้นมาใหม่ ประกอบกับการใช้อาวุธเคมีโดยไม่สนมนุษยธรรม สร้างจึงเกิดความสูญเสียต่ออิหร่านและชาติพันธมิตรเช่นชาวเคิร์ดอย่างใหญ่หลวง

(ประชาคมโลกที่นำโดยสหรัฐฯ เองก็หลับตาข้างหนึ่งกับเรื่องนี้ เพราะตอนนั้นยังต้องการใช้ซัดดัมปราบอิหร่าน)



สุดท้ายโคไมนีเลยต้องยอมเจรจากับซัดดัม แม้ผลจะจบลงโดยไม่มีฝ่ายไหนแพ้ชนะ แต่การศึกครั้งนี้ทำให้กองทัพอิรักเกรียงไกรขึ้นเป็นอันมาก

…ขณะเดียวกันอิรักกลับติดหนี้หลายประเทศเพราะสงคราม หนึ่งในเจ้าหนี้รายใหญ่ได้แก่คูเวต ซึ่งเป็นประเทศข้างเคียง


อิรักพยายามเจรจาล้างหนี้แต่ไม่สำเร็จ ซัดดัมเลยสั่งบุกคูเวตเพื่อยึดบ่อน้ำมันและล้างหนี้ในคราวเดียว แต่นานาชาติไม่ยอมรับการกระทำนี้ และเกรงว่าซัดดัมจะไปบุกซาอุดิอาระเบียที่เป็นเจ้าหนี้ใหญ่ข้างเคียงอีกรายต่อ

อเมริกาที่เป็นมหามิตรของซาอุฯ ในเวลานั้น จึงร่วมมือกับชาติพันธมิตรมาบุกอิรัก เกิดเป็น “สงครามอ่าว” ขึ้นในวันที่ 17 มกราคม 1991

...นี่คือสงครามครั้งแรกที่อเมริกาบุกอิรัก...



แม้ทัพอิรักจะดูยิ่งใหญ่ในภูมิภาค แต่เจอยอดกองทัพระดับโลกแล้วกลับพ่ายแพ้ไปในระยะเวลาเพียงเดือนเศษ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนั้น ซัดดัมได้ใช้เล่ห์กลเพื่อต่อสู้หลายประการ

...หนึ่งในกลวิธีของเขาก็คือ การปล่อยน้ำมันดิบลงทะเล หลังถูกบุกโจมตีไปได้ราวหนึ่งสัปดาห์


ภาพแนบ: แผนที่น้ำมัน 

กองทัพอิรักทิ้งน้ำมันลงอ่าวเปอร์เซียเพื่อหวังให้ชาติพันธมิตรยกพลขึ้นบกไม่ได้ หรืออย่างน้อยก็ชะลอให้ฝ่ายตรงข้ามเสียทรัพยากร

นักวิชาการยังยังวิเคราะห์อีกด้วยว่า ซัดดัมต้องการทำลายแหล่งน้ำจืดในประเทศใกล้เคียงอย่างซาอุดิอาระเบีย

เมื่อสหประชาชาติออกมาประณามการกระทำครั้งนี้ อิรักได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ บอกว่าที่น้ำมันรั่วเพราะถูกพวกอเมริกาโจมตีทางอากาศไปโดนเรือบรรทุกน้ำมันต่างหาก

ภาพแนบ: ควันจากการเผาน้ำมันในสงคราม 

สงครามอ่าวจบลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ แต่ความเสียหายจากการปล่อยน้ำมันกว่า 4,000,000 - 11,000,000 ยูเอสบาร์เรลยังคงอยู่

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ก่อนซัดดัมจะถอยทัพกลับอิรัก เขาตัดสินใจสั่งเผาบ่อน้ำมันคูเวตราว 700 บ่อ หมายให้คูเวตย่อยยับ เหมือนถ้าตนไม่ได้ก็ต้องไม่มีใครได้ เกิดเป็นวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมทั้งทางบก ทางน้ำ รวมถึงทางอากาศ ...เหตุครั้งนี้ถือเป็นวิกฤตน้ำมันครั้งเลวร้ายที่สุดในโลก


ระบบนิเวศในอ่าวเปอร์เซียเสียหายอย่างลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน

จากการศึกษาในปี 2018 พบว่า แม้น้ำมันจะสิ้นสารพิษไปแล้ว แต่มันยังทำให้พืชน้ำไม่ได้รับแสงและอากาศเพียงพอ ทั้งยังทำให้นกหลายสายพันธุ์ต้องตายเนื่องจากน้ำมันติดขน

ส่วนบ่อน้ำมันคูเวตที่ลุกไหม้ต่อเนื่องไปเกือบปี ก็สร้างมลภาวะทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างใหญ่หลวง และยังทำให้น้ำมันรั่วไหลลงน้ำเพิ่มอีกด้วย

...เรียกว่าเป็นการใช้น้ำมันเป็นอาวุธอย่างแท้จริง… 


ภาพแนบ: ซัดดัมถูกไต่สวน

จากทั้งหมด เราอาจเห็นได้ว่าน้ำมันเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดได้ทั้งความเจริญและความวายวอด

อิรักที่เจริญขึ้นมาได้ก็เพราะดึงสัมปทานน้ำมันมาบริหารเอง แต่อนิจจาว่าด้วยความโลภของซัดดัม ที่ต้องการบ่อน้ำมันของผู้อื่นมาเป็นของตัวเอง ทำเขาให้ตัดสินใจรุกรานผู้อื่นไปทั่ว

ในที่สุดมันก็นำพาให้ทั้งตัวเขาและประเทศต้องพบความพินาศ ถูกอเมริกายกมาปราบในสงครามอิรัก
 


เรื่องราวที่เล่ามาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการรบพุ่งแย่งน้ำมันในอิรักที่มีบทสรุปอันน่าอดสู และเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสงครามน้ำมันที่เกิดขึ้นทั่วภูมิภาคดังกล่าว

ปัจจุบันแม้ซัดดัมจะตายไปนับสิบปี แต่ความต้องการครอบครองน้ำมันในตะวันออกกลางยังมีต่อไป อาจผ่านสงครามการทูตบ้าง การค้าบ้าง หรือใช้กำลังบ้าง ...ประเด็นนี้คงไม่อาจจบลงง่ายๆ ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องการน้ำมันอยู่นั่นเอง

::: อ้างอิง :::

- How the Iran-Iraq war will shape the region for decades to come brookings (ดอต) edu/blog/order-from-chaos/2020/10/09/how-the-iran-iraq-war-will-shape-the-region-for-decades-to-come/

- Persian Gulf War history (ดอต) com/topics/middle-east/persian-gulf-war

- The First Gulf War history (ดอต) state (ดอต) gov/departmenthistory/short-history/firstgulf

- America, Oil, and War in the Middle East academic (ดอต) oup (ดอต) com/jah/article/99/1/208/854761

- Why the war in Iraq was fought for Big Oil edition (ดอต) cnn (ดอต) com/2013/03/19/opinion/iraq-war-oil-juhasz/index.html 


:: ::: :::
 
สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ กดติดตามเพจ https://www.facebook.com/pongsorn.bhumiwat/
กรุ๊ปประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ https://www.facebook.com/groups/thewildchronicles/
กรุ๊ปท่องเที่ยว เที่ยวโหดเหมือนโกรธบ้าน https://www.facebook.com/groups/wildchroniclestravel/
Line Square: https://line.me/ti/g2/8pIcVHp3cc6-jyQJdzIFrg
และ youtube: https://youtube.com/user/Apotalai
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่