[ข่าว] 17 วัน มิจฉาชีพดูดเงิน 130 ล้าน ล้วงบัตร 10,700 ใบ ออก 4 มาตรการ คืนเงินภายใน 5 วัน



https://www.pptvhd36.com/news/158741

17 วัน มิจฉาชีพดูดเงิน 130 ล้าน ล้วงบัตร 10,700 ใบ แบงก์ชาติ - ส.ธนาคาร ออก 4 มาตรการ คืนเงินภายใน 5 วัน

แบงก์ชาติ - สมาคมธนาคารไทย ออก 4 มาตรการแก้ปัญหาดูดเงินบัตรเครดิต - เดบิต พบต.ค.แค่ 17 วันมิจฉาชีพดูดเงินแล้ว 130 ล้าน
ความคืบหน้ากรณีประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนมิจฉาชีพดูดเงินจากบัตรเครดิต และบัตรเดบิตของสถาบันการเงิน และ ธนาคารหลายแห่ง ทั้งที่ผู้ใช้บริการไม่เคยทำธุรกรรมใด
 
เรื่องนี้ตำรวจไซเบอร์ หรือกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กำลังเร่งสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้ ตรวจสอบเบื้องต้นโดยพบว่ามีผู้เสียหายจากกรณีเช่นนี้ รวมประมาณ 40,000 รายแล้ว 

ล่าสุดวันนี้ (19 ต.ค.64) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สมาคมธนาคารไทย แถลงความคืบหน้า
 
ข้อมูลจากสมาคมธนาคารไทย ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1-17 ตุลาคม 2564 มีธุรกรรมที่ถูกดูดเงินไปทั้งหมดอยู่ที่ 10,700 ใบ และลักษณะส่วนใหญ่เป็นบัตรเดบิต ยอดเสียหาย 30 ล้านบาท บัตรเครดิต 100 ล้าน โดยพบว่าในช่วง 4 วัน ระหว่าง 14- 17 ต.ค.ยอดการดูดเงินพุ่งสูง

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ชี้แจงว่า ไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลของระบบข้อมูล แต่เป็นการใช้บอท หรือแมชชีนเข้ามารันสุ่มรหัสบัตรต่างๆ ผ่านการนำรหัส 6 หลักแรกที่ระบุสถาบันการเงิน แล้วนำบอทสุ่มรหัส 6 ตัวหลัง เมื่อเจอแล้วก็นำไปตัดเงินในบัตร ให้เป็นการทำธุรกรรมขนาดเล็ก เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้รหัสยืนยันตัวตนหรือ OTP และไม่ได้มีการใช้รหัสหลังบัตรใดๆ
 
ขณะที่ ประธานสมาคมธนาคารไทย ย้ำว่า ธนาคารจะไม่มีการตัดเงินใดๆ ทั้งบัตรเครดิต เดบิต จะคืนเงินให้ภายใน 5 วัน  ผู้ที่ประสบปัญหาเหล่านี้ให้โทรหาคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารต้นทางทันที พร้อมระงับการใช้บัตรนั้นๆ
 
ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมายืนยันว่า ธนาคารมีระบบการตรวจจับธุรกรรมที่ผิดปกติอยู่แล้ว พร้อมกับได้กำชับให้ทุกธนาคารเพิ่มระดับความปลอดภัย ไม่ว่าจะกรณีจำนวนเงินเพียงเล็กน้อย ไปจนถึงธุรกรรมในต่างประเทศยิ่งต้องตรวจสอบเป็นพิเศษ 

พร้อมขอให้ประชาชน ตรวจสอบธุรกรรมการเงินของตนเองอย่างสม่ำเสมอ ระมัดระวังการผูกบัตรออนไลน์กับแพลตฟอร์มที่ไม่มีการยืนยันตัวตน หรือเว็บไซต์ที่มีความสุ่มเสี่ยง  ทั้งยังมีการประสานกับทาง ETDA, กระทรวง ดีอีเอส, กสทช. และตำรวจ ในการจัดหามาตรการรับมือในอนาคตต่อไป
 
"ตามที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สมาคมธนาคารไทย ได้ชี้แจงกรณีการตัดเงินที่ผิดปกติ ผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของลูกค้าจำนวนมาก เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา ว่ามิได้เกิดจากการรั่วไหลของข้อมูลจากระบบธนาคาร โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากการที่มิจฉาชีพสุ่มข้อมูลบัตรและนำไปสวมรอยทำธุรกรรมผ่านร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศ ที่ไม่มีการใช้ One Time Password (OTP)

พบว่าตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม มีบัตรที่มีการใช้งานผิดปกติจากเหตุข้างต้นจำนวน 10,700 ใบ โดยในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นรายการใช้จากบัตรเดบิตเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการใช้งานส่วนใหญ่มีจำนวนเงินต่อรายการต่ำ เช่น 1 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา และมีการใช้เป็นจำนวนหลาย ๆ ครั้ง

ทั้งนี้ ธนาคารมีระบบตรวจจับธุรกรรมที่ผิดปกติ โดยแต่ละธนาคารจะกำหนดเพดานและเงื่อนไขการใช้งานของบัตรตามลักษณะประเภทร้านค้าและประเภทสินค้าแตกต่างกันไป 
 
นอกจากนี้ ธปท. และ สมาคมธนาคารไทย ได้ร่วมกันกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันและแก้ปัญหา ดังนี้
 
1. ยกระดับความเข้มข้นในการตรวจจับธุรกรรมที่ผิดปกติ ให้ครอบคลุมทั้งธุรกรรมที่มีจำนวนเงินต่ำและที่มีความถี่สูง หากพบธุรกรรมที่ผิดปกติ ธนาคารจะระงับการใช้บัตรทันทีและแจ้งลูกค้าในทุกช่องทาง รวมทั้งติดตามเฝ้าระวังรายการธุรกรรมจากต่างประเทศเป็นพิเศษ 
 
2. เพิ่มการแจ้งเตือนลูกค้าในการทำธุรกรรมทุกรายการ ตั้งแต่รายการแรกผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ระบบ Mobile banking อีเมล หรือ SMS  
 
3. กรณีที่ตรวจสอบพบว่าลูกค้าได้รับผลกระทบจากการทุจริตตามข้างต้น กรณีบัตรเดบิต ลูกค้าจะได้รับการคืนเงินภายใน 5 วันทำการ ส่วนกรณีบัตรเครดิต ธนาคารจะยกเลิกรายการดังกล่าว ลูกค้าไม่ต้องชำระเงินตามยอดเรียกเก็บที่ผิดปกติ และจะไม่มีการคิดดอกเบี้ย

4. ธปท.และสมาคมธนาคารไทยจะเร่งหารือกับผู้ให้บริการเครือข่ายบัตร เช่น Visa Mastercard เพื่อกำหนดให้มีการใช้การยืนยันตัวตนเพิ่มเติม เช่น OTP กับบัตรเดบิตสำหรับร้านค้าออนไลน์
 
กรณีลูกค้าพบความผิดปกติของธุรกรรมด้วยตนเอง สามารถติดต่อคอลเซ็นเตอร์หรือสาขาของธนาคารผู้ออกบัตร เพื่อแจ้งตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมในทันที โดยธนาคารจะดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

สำหรับประชาชนทั่วไป ควรตรวจสอบการทำธุรกรรมของตนเองอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งระมัดระวังการผูกบัตรเดบิตในการทำธุรกรรม โดยเฉพาะกับแพลตฟอร์มที่มีความเสี่ยง เช่น เกมออนไลน์ แพลตฟอร์มที่ไม่มีการยืนยันตัวตนก่อนเข้าใช้งาน หรือไม่มี OTP
 
ทั้งนี้ สำหรับบางธนาคาร ลูกค้ายังสามารถเปิด -ปิดการใช้งานของบัตร หรือเปลี่ยนแปลงวงเงินการใช้บัตร หรืออายัดบัตรได้ด้วยตัวเองผ่านแอปพลิเคชั่นของธนาคาร นอกเหนือจากการติดต่อกับธนาคาร
 
"ธปท. และ สมาคมธนาคารไทย ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงิน และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า โดยธนาคารมีระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและมีการตรวจสอบการทำธุรกรรมที่ผิดปกติอย่างต่อเนื่อง ในระยะต่อไป ธปท. และสถาบันการเงินจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการยกระดับมาตรการและประสิทธิภาพการตรวจจับและตอบสนองต่อรายการผิดปกติ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากการเกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว"  แถลงการณ์ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่