JJNY : รพ.สนามมธ.จับมือเอกชน นำเข้า mRNA│หมอธีระเปิดงานวิจัย‘ไฟเซอร์’│ผู้ค้าถอดใจลอตเตอรี่แพง│สมชัยเชื่อไพบูลย์ระทึกแน่

โรงพยาบาลสนามมธ.จับมือเอกชน เตรียมนำเข้าวัคซีน mRNA 10 ล้านโดส
https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_6677613
 
 
รพ.สนามมธ. จับมือภาคเอกชน ประสานเตรียมนำเข้าวัคซีน mRNA 10 ล้านโดส คาดดีลเสร็จในเดือนต.ค.กระจายฉีดให้ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ
 
เมื่อวันที่ 15 ต.ค.64 โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 14 ต.ค. เปิดเผยความคืบหน้าหลังจากการประกาศข้อบังคับ มธ.ให้สามารถจัดหาบริการทางการแพทย์ในสถานการณ์โควิด-19 ได้ โดยล่าสุดโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ประสานงานกับภาคเอกชนเตรียมติดต่อขอนำเข้าวัคซีนชนิด mRNA ถึง 3 ล็อตจำนวนรวมถึง 10 ล้านโดส

ทั้งนี้ในโพสต์ดังกล่าวตอนหนึ่ง โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ระบุข้อความว่า นับตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค.64 ที่ประกาศข้อบังคับ มธ.ว่าด้วยการจัดการบริการทางการแพทย์ในสถานการณ์การระบาดของโควิด19 ซึ่งสภามหาวิทยาลัยให้ความเห็นชอบแล้วในราชกิจจานุเบกษา พวกเราดำเนินการในเรื่องการจัดหายา วัคซีน และเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการป้องกันหรือรักษาผู้ป่วยโควิดในนามของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในระหว่างระยะเวลาแปดสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างขะมักเขม้น ในหลายๆ กรณี
 
และขอใช้โอกาสนี้ สรุปคร่าวๆ ว่า พวกเราได้ช่วยทำอะไรที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน เพื่อจะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลและของระบบสาธารณสุข ในการช่วยกันรับมือกับโควิด-19 ไปแล้วบ้าง โดยจะนำเฉพาะที่ควรจะบอกเล่าให้ทราบโดยทั่วไปได้ มาสรุปเป็นกรณีๆ ดังต่อไปนี้
 
(1) เมื่อต้นเดือนกันยายน เราลงนามความร่วมมือกับสถานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในการจัดหาและนำเข้าวัคซีน Moderna จำนวน 2 ล้านโดส มาในประเทศในนาม มธ.โดยเอกชนรายนี้จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเพื่อนำวัคซีนมากระจายฉีดแก่ประชาชนโดยผ่านระบบโรงพยาบาลเอกชน โดย มธ.จะขอรับบริจาค Moderna ในจำนวน 1 แสนโดสจากจำนวนทั้งหมด มาเพื่อใช้ฉีดให้กับผู้ป่วยและบุคคลทั่วไปที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยจะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใด ๆจากการฉีดวัคซีนในส่วนของ มธ.นี้
 
(2) ปลายเดือนกันยายน เราลงนามความร่วมมือกับสถานพยาบาลเอกชนอีกแห่งหนึ่ง ในการนำเข้าวัคซีน mRNA (Moderna และ Pfizer )จำนวน 5 ล้านโดส เข้ามาในประเทศในนามมธ.โดยเอกชนรายนี้จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัคซีนทั้งหมด เพื่อกระจายฉีดให้แก่ประชาชนผ่านระบบโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ โดย รพ.ธรรมศาสตร์ ก็ยังคงจะได้รับบริจาควัคซีนอีกหลายแสนโดสจากจำนวนนี้ มาเพื่อกระจายฉีดให้ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ หากสามารถนำวัคซีนเข้ามาได้สำเร็จ
 
(3) ต้นเดือนตุลาคม มธ.ติดต่อกับสถาบันวัคซีนของประเทศในยุโรปตะวันออกประเทศหนึ่ง โดยการประสานของภาคเอกชน ด้วยการช่วยอำนวยความสะดวกของสถานทูตไทย เพื่อจะขอรับวัคซีน Moderna ในลักษณะการบริจาคให้ มธ.จำนวน 3 ล้านโดส แต่เราจะต้องรับผิดชอบการขนส่ง โลจิสติคส์ การดูแลควบคุมคุณภาพและการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายหลาย 10 ล้านยูโร และขณะนี้อยู่ระหว่างการติดต่อประสานงานและเจรจาเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่
 
ทั้ง 3 กรณีนี้ โดยที่เราตระหนักถึงความเร่งด่วนจำเป็นของการมีวัคซีนทางเลือกเข้ามาใช้ในประเทศไทย จึงกำหนดระยะเวลาการดำเนินการของความตกลงจัดหาวัคซีนทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 31 ตุลาคม 64 นี้ทั้งหมด แต่เราก็ไม่ได้คาดหวังว่า แม้มีความตกลง และมีผู้รับผิดชอบไปดำเนินการติดต่อประสานงานชัดเจนแล้ว
 
เราจะได้รับวัคซีนเข้ามาตามนี้อย่างแน่นอนหรอกนะ เพราะการจัดหาวัคซีนเข้ามาในสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นเรื่องลำบากแสนเข็ญ ถ้าหากทำได้ง่ายๆจริง ประเทศของเราคงไม่ประสบกับภาวะการขาดแคลนวัคซีนอยู่เช่นนี้หรอก แต่พวกเราเพียงหวังว่า ถ้าความพยายามนี้ของพวกเรา พอจะมีสัมฤทธิ์ผลได้บ้าง แม้เพียงบางส่วน เราก็จะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระของประเทศและสามารถช่วยเหลือผู้คนร่วมสังคมได้บ้างตามกำลังของพวกเราเท่านั้น
 
(4) ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม เราได้ติดต่อเจรจากับตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของยุโรปตะวันตก ซึ่งกำลังดำเนินการวิจัย ค้นคว้าทดลองและผลิตวัคซีน Protein base ชนิดใหม่ (ที่ไม่ใช่ Novavax )
 
ซึ่งในขณะนี้ อยู่ระหว่างการทดลองในเฟสที่ 3 และคาดว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนกับองค์การอนามัยโลกได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยธรรมศาสตร์ตกลงจะเข้าร่วมการวิจัยทดลองวัคซีนใน Phase ที่ 3 นี้ด้วย และหากสามารถขึ้นทะเบียนวัคซีนชนิดนี้ได้สำเร็จ เราก็จะร่วมมือกับผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ในประเทศไทยแห่งหนึ่ง ในการจะนำเข้าวัคซีน Protein base ชนิดนี้ เพื่อเข้ามาใช้ในประเทศไทยโดยเร็วที่สุดและอย่างกว้างขวางที่สุด ในฐานะที่เป็นวัคซีนทางเลือก เพื่อจะใช้เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามสำหรับผู้ที่ต้องการรับวัคซีนในต้นปีหน้า
 
(5) โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ทำความตกลงร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตยา Generic name ของ Molnupilavir ในประเทศอินเดีย เพื่อร่วมการทดลองประเมินประสิทธิภาพของยาชนิดนี้กับผู้ป่วยโควิด ในระยะที่ 3 ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม และจะทำ Clinical Trial เพื่อประเมินประสิทธิภาพของยาชนิดนี้ในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ โดยเราเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในวิจัยทางคลินิกทั้งหมดที่เกิดขึ้น
 
ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติโครงการการวิจัยต่อคณะกรรมการจริยธรรมทางการวิจัย และกำลังรอรับการจัดส่งยาที่จะใช้ในโครงการนี้มายังประเทศไทย โดยเราทำความตกลงเบื้องต้นแล้ว ที่จะสั่งยาชนิดนี้อีกจำนวน 200,000 เม็ด เพื่อจะนำมาใช้กับผู้ป่วยของเราทันทีที่ FDA ให้การรับรองยาชนิดนี้เป็นที่เรียบร้อย และได้ผ่านการอนุมัติจาก อย. ของเราเรียบร้อยแล้ว
  
https://www.facebook.com/TUFHforCOVID19/posts/407055780938263
 

 
หมอธีระ เปิดงานวิจัยฉีด ‘ไฟเซอร์’ ครบโดส แม้ภูมิลดหลังฉีดแต่ป้องกัน ป่วยหนัก-ตายดี
https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2991793

หมอธีระ เปิดงานวิจัยพบ ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ครบ 2 เข็มแม้ภูมิลดหลังฉีดแต่ป้องกัน ป่วยหนัก-ตาย แนะต้องป้องกันตัวเป็นกิจวัตร
 
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์โควิด-19 รวมไปถึงผลการวิจัยระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มในอิสราเอล และสหรัฐอเมริกา ที่พบว่า ระดับภูมิคุ้มกันนั้นจะเพิ่มสูงขึ้นในเดือนแรกก่อนจะตกลงเหลื 20 เปอร์เซ็นต์ในเดือนที่ 5-7 อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพในการป้องกันการเสียชีวิตและป้องกันการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลยังสูงตลอด 6 เดือนหลังฉีด
 
โดย รศ.นพ.ธีระ ระบุข้อความตอนหนึ่งว่า
 
อัพเดตงานวิจัยเกี่ยวกับวัคซีน Pfizer/Biontech ล่าสุดมีงานวิจัยเพิ่มเติมอีก 3 ชิ้น จากอิสราเอล กาตาร์ และอเมริกา ที่ทำให้มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน
 
งานศึกษาที่อิสราเอลนั้นทำในบุคลากรทางการแพทย์ 3,808 คน พบว่าหลังฉีดวัคซีนไปครบสองเข็ม ระดับแอนติบอดี้ IgG จะสูงสุดในช่วง 4-30 วันหลังฉีดเข็มสอง และค่อยๆ ลดลงในช่วง 6 เดือนถัดมา ทั้งนี้ระดับ Neutralizing antibody ก็ลดลงในลักษณะเดียวกัน โดยการลดลงของภูมิคุ้มกันนั้นจะลดมากในกลุ่มคนที่สูงอายุ, เพศชาย, มีโรคประจำตัวตั้งแต่ 2 โรคขึ้นไป, หรือมีโรคประจำตัวที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง/โรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง
 
ส่วนการวิจัยที่กาตาร์นั้น ศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง 947,035 คน พบว่าระดับประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อนั้นสูง 77% ภายในเดือนแรกหลังฉีดวัคซีนครบ แต่จะลดลงเหลือ 20% หากติดตามไปถึงเดือนที่ 5-7 อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และป้องกันการเสียชีวิตนั้น ยังคงสูงถึง 96% และไม่ได้ลดลงตลอดช่วง 6 เดือนที่ติดตามผล
 
ในขณะที่การวิจัยที่อเมริกา ศึกษาในกลุ่มประชากร 3,436,957 คน ติดตาม 6 เดือน พบว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อสูงถึง 88% ในช่วงเดือนแรก และลดลงเหลือ 47% ในเดือนที่ 5 แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลยังคงสูง 87% ในเดือนแรก และ 88% ในเดือนที่ 5 โดยประสิทธิภาพของวัคซีนนั้นได้ผลทั้งในสายพันธุ์เดลต้าและสายพันธุ์อื่น
 
ความรู้จากงานวิจัยข้างต้นทั้งหมด ทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของภูมิคุ้มกันจากวัคซีนมากขึ้นว่า การจะป้องกันการติดเชื้อนั้นคงต้องอาศัยระดับแอนติบอดี้ที่สูงมากเพียงพอ จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทั่วโลกกำลังวางแผนที่จะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
 
อย่างไรก็ตาม การฉีดเข็มกระตุ้นที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าเพื่อหวังจะกระตุ้นภูมิให้สูงขึ้นนั้น นอกจากหวังผลที่จะป้องกันการติดเชื้อแล้ว ยังหวังผลที่จะลดผลกระทบจากการติดเชื้อที่แม้จะอาการน้อย แต่อาจเกิดภาวะคงค้างที่เรารู้จักในชื่อว่า Long COVID อีกด้วย
  
ในขณะที่การป้องกันการป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาล และป้องกันการเสียชีวิตนั้น ประสิทธิภาพของวัคซีนยังคงเดิมอยู่นานตลอดการติดตามผล น่าจะมาจากกลไกตอบสนองของร่างกาย ที่มีความจำฝังอยู่ในระบบภูมิคุ้มกัน ผ่าน memory B cells ที่จะสร้างแอนติบอดี้เพิ่มขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อการติดเชื้อ และผ่านระบบภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ในการต่อสู้กับเชื้อโรคภายหลังการติดเชื้อได้ จึงทำให้ลดป่วยรุนแรง และลดการเสียชีวิตได้ แม้จะได้รับวัคซีนมานานแล้วก็ตาม
 
สำหรับประชาชนไทยเรา ขอให้ป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตรนะครับ เพราะยังมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง และจะมีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ หลังมีการผ่อนคลายการใช้ชีวิต และกำลังจะเปิดเมือง เปิดท่องเที่ยว และเปิดประเทศ
 
ด้วยรักและห่วงใย
 
https://www.facebook.com/thiraw/posts/10223262603465856
  

 
ผู้ค้าถอดใจ ออนไลน์พักแผง หลังราคาลอตเตอรี่แพง ขายส่งพุ่ง 96 บาท แถมฝนตกหนัก-กินเจทำซบเซา
https://www.matichon.co.th/economy/news_2991706
 
ผู้ค้าสลากถอดใจ-ยอมขายขาดทุน ออนไลน์พักแผง หลังราคาลอตเตอรี่แพง ขายส่งพุ่ง 96 บาท แถมฝนตกหนัก-กินเจทำซบเซา
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ก่อนออกรางวัลสลาก งวดประจำวันที่ 16 ตุลาคม 2564 ซบเซาลงต่อเนื่องจากงวดที่แล้ว เนื่องจากตรงกับงวดกลางเดือน มีพายุเข้า ฝนตกหนัก และอยู่ช่วงเทศกาลกินเจ ที่สำคัญสลากงวดนี้มีการปั่นราคาสูงขึ้นมาก โดยต้นงวดซื้อขายส่งตกใบ 95-96 บาท ส่งผลให้คนเดินขายลอตเตอรี่รายย่อยบางส่วนพากันถอดใจ หยุดซื้อมาขายต่อ เพราะขายแล้วแทบไม่ได้กำไร ขณะที่ผู้ทำแพลตฟอร์มลอตเตอรี่ออนไลน์บางรายก็ประกาศปิดแผงชั่วคราวเช่นกัน เพราะราคาสูงเกินไป จนส่งผลให้ท้ายงวด ราคาสลากตกลงเหลือใบละ 88 บาท
 
เมื่อสอบถามผู้ค้าลอตเตอรี่ ระบุว่า งวดนี้คงต้องขาดทุนและขายไม่หมด เพราะต้นทุนรับมาแพงมากเกินใบละ 90 บาท จนต้องขึ้นราคาขายใบละ 100-110 บาท ชุด 2 ใบ เริ่มต้น 220 บาท จนนักเสี่ยงโชคบางคนสู้ราคาไม่ไหว หยุดซื้อหรือซื้อน้อยลง ประกอบกับงวดนี้ฝนตกทุกวันทำให้เดินเร่ขายไม่ได้ จึงอยากให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเข้ามาช่วยดูแลปัญหา เพราะหากราคาแพงแบบนี้คนซื้อคนขายจะอยู่ได้ลำบาก
 
สำหรับเลขที่ได้รับความนิยมมากสุดงวดนี้ เป็นเลข xx, xxx ขายใบละ 120-150 บาท ชุด 5 ใบ 1,000-1,200 บาท นอกจากนี้ ยังมีเลขใบ้ภาพปกใบสลาก xxx ที่มาแรงไม่แพ้กัน โดยตีจากภาพคนนั่งรอรถเมล์สาย 64 อยู่ 5 คน ขายได้ในราคาเดียวกัน ชุด 5 ใบ 1,000-1,200 บาท และใบละ 120-150 บาท
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่