JJNY : น้ำมันพุ่ง ฉุดไทยเสี่ยง“Stagflation”│เจาะลึกหนี้ครัวเรือนภูมิภาค│ปัตตานีหนักมาก!โควิดพุ่ง│"ใต้"อ่วม-ฝนหนัก 8จว.

“ราคาน้ำมัน” พุ่ง ฉุดไทยเสี่ยงภาวะ “Stagflation” เศรษฐกิจถดถอย แต่เงินเฟ้อ
https://www.bangkokbiznews.com/business/964704
  

 
  
ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา (ก.ย. 64) “ราคาน้ำมัน” ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นด้วยกันถึง 6 ครั้ง ส่งผลให้ค่าครองชีพของคนไทยสูงตามไปด้วย ถึงกระนั้นเศรษฐกิจก็ยังไม่ได้กลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่  จึงกลายเป็นสถานการณ์ที่อาจผลักไทยให้เผชิญกับภาวะ “Stagflation” 
  
• “Stagflation” คืออะไร? มีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร?  
  
“Stagflation” คือ ศัพท์ที่รวมกันระหว่าง “Stagnation” ที่หมายถึง ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือหดตัว และ “Inflation” หมายถึง เงินเฟ้อหรือภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นภาวะการเพิ่มขึ้นของระดับสินค้าและบริการ ดังนั้น Stagflation จึงเป็นการรวมสถานการณ์ทั้งสอง นั่นคือ การเกิดภาวะเงินเฟ้อในขณะที่เศรษฐกิจยังคงมีความชะลอตัว 
  
เรื่องที่น่ากังวลของภาวะดังกล่าว คือ การแก้ไขปัญหาด้วยนโยบายทางการเงินจะทำได้ยากมากยิ่งขึ้น 
  
โดยปกติแล้วหากเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ธนาคารกลางจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อให้ต้นทุนในการใช้เงินของผู้คนนั้นลดต่ำลง กระตุ้นการใช้จ่ายในเศรษฐกิจให้เพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจก็จะฟิ้นคืนกลับมาจากภาวะชะลอตัว
  
ในทางตรงข้าม เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ ผู้คนเผชิญกับสภาวการณ์ที่ระดับราคาสินค้าและบริกาารเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องใช้เงินมากขึ้นในการดำรงชีวิต หรือที่เราเข้าใจกันได้ว่า “ค่าครองชีพสูง” ซึ่งภาวะดังกล่าวจะสังเกตได้จาก “อัตราเงินเฟ้อ” หากเพิ่มขึ้นในระดับที่เหมาะสม หรืออยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารกลาง ก็จะบอกถึงสภาวะเศรษฐกิจที่มีการเจริญเติบโตที่ดี แต่หากเพิ่มขึ้นมากจนเกินไป ก็จะเกิดเป็นปัญหาขึ้นในระบบเศรษฐกิจ 
  
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาภาวะเงินเฟ้อทำได้ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้ต้นทุนการใช้เงินของผู้คนสูงขึ้น ซึ่งเป็นการชะลอการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงจนเกิดความไม่สมดุล
  
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า การแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและภาวะเงินเฟ้อ มักจะเป็นวิธีการที่ให้ผลในทิศทางตรงข้ามกัน ฉะนั้นจึงเป็นเหตุที่ว่า เมื่อเกิด “Stagflation” ขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ จะไม่สามารถใช้การแก้ปัญหาในรูปแบบสำเร็จที่เคยใช้กันตามปกติได้  
  
• เงื่อนไขที่เอื้อต่อภาวะ “Stagflation” ในปัจจุบัน  
  
ปัจจุบัน ไทยเจอกับการปรับตัวขึ้นของ “ราคาน้ำมัน” ถึง 6 ครั้งในเดือนกันยายนที่ผ่านมา (ก.ย. 64) ซึ่งน้ำมันเป็น “สินค้าพลังงาน” ที่ถูกคำนวณในการคิดอัตราเงินเฟ้อ และยังเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหลาย การขึ้นของราคาน้ำมันจึงส่งผลกระทบต่อผู้คนในระบบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง 
  
แท้จริงแล้วการปรับเพิ่มของราคาน้ำมันเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายน พุ่งขึ้น 4.2% (YoY) สูงสุดในรอบ 8 ปี  อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่ายังคงไม่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจมากนัก เพราะตัวเลขดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นจากการเปรียบเทียบกับปีก่อน ที่ดัชนีราคาน้ำมันอยู่ในระดับที่ต่ำมาก  นอกจากนั้นอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นยังเกิดจากต้นทุนการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ความต้องการในสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นของคนไทย 
  
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันที่ประเทศทั่วโลกกำลังทยอยฟื้นตัวจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจเรื่มกลับมาติดเครื่องเดินอย่างเต็มที่ ทำให้ความต้องการในสินค้าและบริการ ที่รวมถึงน้ำมันที่มากขึ้น จึงดันให้ราคาทั้งหมดสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งไทยเองก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบดังกล่าวได้ ทำให้ไทยมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับระดับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
  
สอดคล้องกับหลายประเทศในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets: EMs)  ที่เริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ เช่น รัฐเซีย บราซิล ชิลี เปรู ปารากวัย ฮังการี สาธารณรัฐเช็ก และปากีสถาน โดยหลายประเทศได้รับอานิสงส์จากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาสูงขึ้น เศรษฐกิจจึงกลับมาขยายตัวได้อย่างร้อนแรง 
  
นอกจากนั้น เกาหลีใต้ ประเทศที่ฟื้นตัวจากวิกฤติฯ ด้วยการกระจายการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง มีประชากรได้รับวัคซีนครบสองเข็ม 27 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 52.2% ของประชากรทั้งหมด ประกอบการส่งออกสินค้าที่มีการเติบโตดี เป็นเหตุให้อัตราเงินเฟ้อสูงเกินเป้า 2% มาต่อเนื่องหลายเดือน และเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดจากความไม่สมดุลในภาคเศรษฐกิจและการเงิน จึงมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นจาก 0.5% เป็น 0.75% ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา 
  
สังเกตได้ว่า โดยภาพรวมทางเศรษฐกิจโลกกำลังจะเจอกับวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น ถึงแม้ว่าประเทศพัฒนาแล้วจะยังทำการติดตามทิศทางของอัตราเงินเฟ้ออยู่ และประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกยังไม่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่หลายประเทศในกลุ่ม EMs ก็ได้ทำการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นกันด้วยเหตุผลที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศตนกันไปก่อนแล้ว 
  
• เศรษฐกิจไทยกับภาวะ “Stagflation”  
  
เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติฯ เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะหดตัว ประกอบกับสถานการณ์ของวิกฤติฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอน จึงทำให้การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงยังไม่ใช่ทางออกสำหรับเศรษฐกิจไทย 
 
การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในปัจจุบันถือว่าเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจโลก แต่เนื่องด้วยประเทศไทยยังไม่ได้ฟื้นตัวจากวิกฤติฯ อย่างเต็มที่เท่าหลายประเทศในโลก จึงทำให้ไทยต้องเผชิญกับสองสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งกัน คือ ระดับราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น และภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งหากความขัดแย้งดังกล่าวมีความชัดเจนและรุนแรงมากขึ้น จะมีผลให้ไทยมีแนวโน้มตกอยู่ในภาวะ Stagflation ในที่สุด 
 
อย่างไรก็ตาม สภาวการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่ถือว่าตกอยู่ในภาวะ Stagflation เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ของปีนี้ยังอยู่ที่ 1% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย
 
ถึงอย่างนั้น เศรษฐกิจไทยที่เป็น ระบบเศรษฐกิจแบบเปิด การขยับตัวทางนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ ในโลกล้วนส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจและการเงินไทยไม่มากก็น้อย ความแตกต่างของจังหวะนโยบายการเงิน (Policy divergence) ในโลก จึงอาจมีผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย ค่าเงิน และตลาดการเงินไทย รวมทั้งสถานการณ์โควิด-19 ในไทยที่จะเป็นกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ 
 
ดังนั้น ความเคลื่อนไหวในเศรษฐกิจระดับโลก และการดำเนินนโยบายทางการเงินของไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้  จึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสนใจว่าจะมีการสอดประสานกันอย่างไร ส่วนไทยจะสามารถเอาตัวรอดจากภาวะ Stagflation ได้จริงหรือไม่ คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป 
 
อ้างอิง
https://www.pptvhd36.com/news/เศรษฐกิจ/157746
เจาะสาเหตุ "ราคาน้ำมันในประเทศ" พุ่งไม่หยุด - PPTV Online 

https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_25Sep2021.aspx 
วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น...เหตุไฉนกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เริ่มก่อน? - ฐิติมา ชูเชิด

เศรษฐกิจชะลอ เงินเฟ้อพุ่ง ไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ Stagflation รายได้ลด แต่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นหรือไม่ - ศรัณย์ กิจวศิน

สรุปประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในรายงานนโยบายการเงิน กันยายน 2564 - ธนาคารแห่งประเทศไทย
 
หรือประเทศไทยกำลังจะเกิดภาวะ "Stagflation" ? - Money Buffalo

Coronavirus (COVID-19) Vaccinations - Our World in Data
 
Stagnation - Investopedia


 
เจาะลึกหนี้ครัวเรือนภูมิภาค  ‘อีสาน’หนักสุด หนี้ท่วม-เสี่ยงสูง
https://www.thansettakij.com/insights/499067

หนี้ครัวเรือนไทยทะยาน 90.5 %ของจีดีพี ติดอันดับ 17 ของโลก จากผลกระทบการระบาดเชื้อโควิด-19 ที่ซ้ำเติมปัญหาหนี้ที่ครัวเรือนไทยแบกหลังแอ่นมานานก่อนหน้านี้แล้ว นักวิจัยธปท.เจาะลึกรายภาค พบมีหนี้ภาคอีสานแบกภาระหนี้ก่อนใหญ่สุด แถมยังมีภาวะเปราะบางสูงสุด
 
การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ซํ้าเติมภาระ“หนี้ครัวเรือน” ไทยให้รุนแรงยิ่งขึ้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) รายงานว่า หนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้นจาก 80% ของจีดีพี ณ สิ้นปี 2562 เป็น 90.5% ของจีดีพี ณ ไตรมาส 1/2564 และคาดว่าอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 93.0% ณ สิ้นปี 2564
 
หลายประเทศก็เจอปัญหาเดียวกัน อาทิ เกาหลีใต้ หนี้ครัวเรือนเพิ่มจาก 93.9% ของจีดีพี เป็น 103.8% ณ ต้นปี 2564 และมาเลเซียที่เพิ่มจาก 82.7% เป็น 93.2% ในปัจจุบัน อยู่ในอันดับที่ 9 และ 14 ของโลก ขณะที่ไทยตํ่ากว่า โดยติดอันดับที่ 17 ของโลก แต่สูงกว่าหนี้ครัวเรือนของสิงคโปร์ ที่อยู่อันดับที่ 26 ของโลก สะท้อนถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่มีภาระหนี้สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
 
ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่อยู่กับเศรษฐกิจมายาวนาน และมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่เข้ามาซํ้าเติม ส่งผลกระทบต่อการบริโภคในอนาคต และบั่นทอนศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินการคลังของรัฐไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่
 
จากภาพใหญ่ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยในภาพรวมของประเทศที่รุนแรงเพิ่มขึ้นนี้ ทีมนักวิจัยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมนัสชัยจึงตระกูล ศรันยา อิรนพไพบูลย์ วัชรพงศ์ รัชตเวชกุล และ อนุสรา อนุวงค์ รายงาน “X-ray หนี้ครัวเรือนภูมิภาค” สร้างความเข้าใจหนี้ครัวเรือนไทยที่ลงลึกและฉายภาพในรายละเอียดยิ่งขึ้น
 
จากข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนทั้งประเทศในรอบ 10 ปี สอดคล้องกับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น จากยอด 5.6 ล้านล้านบาทในปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 14 ล้านล้านบาทในปี 2563 ขณะที่ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม พบว่าครัวเรือนไทยที่มีหนี้มีสัดส่วนลดลง จากระดับ 61% ในปี 2552 เหลือ 45% ในปี 2564
 
เมื่อเปรียบเทียบเป็นรายภาค ครัวเรือนภาคกลางมีหนี้ลดลงมากที่สุดคือ มีเพียง 35% ตํ่ากว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่มี 45% ดังกล่าวข้างต้น ขณะที่อีก 3 ภาค คือ อีสาน มีครัวเรือนที่มีหนี้เป็นสัดส่วนสูงสุด 61% และสูงกว่าภาพรวม ขณะที่ภาคเหนือและใต้ มีสัดส่วนที่ 49 และ 42% ตามลำดับ แต่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ
 
แม้สัดส่วนครัวเรือนมีหนี้จะลดลง แต่ภาระหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนกลับเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค โดยภาระหนี้เฉลี่ยของครัวเรือนที่เป็นหนี้ในปี 2563 มีหนี้ 163,930 บาท เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับปี 2552 โดยหนี้ของครัวเรือนภาคกลางค่อนข้างทรงตัว คือมีภาระหนี้ที่ 162,484 บาท เพิ่ม ขึ้น 1% ขณะที่คนภาคอีสานแบกภาระหนี้เพิ่มสูงสุด คือมีหนี้ 180,277 บาทโตเพิ่มถึง 52% รองลงมาคือภาคเหนือที่ 29% (154,064 บาท) และภาคใต้ 18% (149,843 บาท)
 
ทีมนักวิจัยเจาะลึกถึงประเภทหนี้ของครัวเรือนในภูมิภาค พบว่าการก่อหนี้ของครัวเรือนในภูมิภาคส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้นเพื่อการอุปโภคบริโภคโดยภาคเหนือมีสัดส่วนหนี้กลุ่มนี้สูงสุดที่ 40.3% รองลงมาคือภาคใต้และอีสาน (38.9 และ 36.0% ตามลำดับ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่