ครบรอบ 60 ปี Breakfast at Tiffany’s บทบันทึกความงามอมตะของออเดรย์ เฮ็ปเบิร์น


บางครั้ง กว่าที่ความไอคอนิกจะก่อเกิดขึ้นมาได้ ต้องผ่านกรรมวิธีซึ่งเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง เมื่อมองจากต้นสาย แทบไม่มีเค้าลางว่าปลายทางจะกลายเป็นอย่างที่เป็น อย่างการได้สร้างมรดกตกทอด ฝากภาพจำอันเป็นเอกลักษณ์เหนือกาลเวลา อาจกล่าวได้ว่า นี่คือผลงานที่มีการโต้เถียงมากที่สุดในอาชีพของ ออเดรย์ เฮ็ปเบิร์น แต่ขณะเดียวกัน มันก็กลายเป็นผลงานที่โด่งดังที่สุดของเธอ

ย้อนไปเวลานั้น โปรเจกต์หนังรักดัดแปลงจากนิยาย Breakfast at Tiffany’s ที่เกี่ยวกับการดิ้นรนในเมืองใหญ่ของ ทรูแมน คาโปตี้ ได้รับการจับตาเป็นวงกว้าง โดยนอกเหนือจากความนิยม ประเด็นซึ่งผุดตามมาก็คือความบาดหมางระหว่างตัวผู้ประพันธ์กับสตูดิโอเมื่อพวกเขาเลือกแคสต์ออเดรย์ในบทนำแทนที่จะเป็น มาริลิน มอนโร ตามที่คาโปตี้ต้องการ

“ตอนนั้นทุกค่ายต่างยื่นข้อเสนอให้ผม” คาโปตี้กล่าว “แต่ผมขายให้พาราเมาท์ก็เพราะพวกเขารับปากไว้หลายต่อหลายอย่าง ไล่เรียงมาเป็นข้อๆ เสียดิบดี สรุปว่าพวกเขาไม่ทำตามสักข้อ” 


ซึ่งในสายตาของคาโปตี้ ออเดรย์ไม่มีอะไรบ่งบอกถึงความเป็นตัวเอก ฮอลลี่ โกไลท์ลี่ สักนิด อย่างพื้นเพแบบสาวบ้านนา หรือการมีสัดส่วนดึงดูดเตะตาแบบมาริลิน กระนั้น ฝ่ายทีมผู้สร้างกลับคิดว่ามาริลินคือตัวเลือกที่เหมาะเจาะเกินไป ลำพังแรกเห็นก็เดาได้ว่าตัวละครนี้ทำมาหากินอะไร โดยเฉพาะเมื่อต้องการลดโทนความดาร์คของเนื้อหาต้นฉบับเกี่ยวกับหญิงขายบริการ ออเดรย์จึงเป็นตัวเลือกที่ใช่กว่า เธอจะช่วยเพิ่มความสดใสและเผยร่องรอยความมืดหม่นแต่เพียงน้อย

“ขนาดฉันเองก็ไม่คิดว่าจะเหมาะกับบท” ออเดรย์ยอมรับ “แต่เพราะ เบลค เอ็ดเวิร์ดส์ (ผู้กำกับ) โน้มน้าวฉัน อย่างน้อยเขาคือคนหนึ่งซึ่งเหมาะสมกับงานนี้ แล้วฉันก็พบว่าวิธีของเขาสอดคล้องไปกับการถ่ายทอดอย่างเป็นธรรมชาติของฉันเอง”


ขณะเดียวกัน ดูเหมือนว่าปัญหาการแคสติ้งยังแพร่กระจายไปสู่บทอื่นๆ เมื่อ จอร์จ เพ็ปพาร์ด ในบทนำฝ่ายชายได้สร้างความไม่ปลื้มให้กับกองถ่าย อย่างนิสัยเอาแต่ใจ ไม่ฟังใคร อยากจะแสดงแบบไหนก็ทำไปโดยไม่คำนึงถึงสคริปต์ที่กำหนดไว้ นอกนั้น ยังมีประเด็นการดึง มิคกี้ รูนีย์ มาเล่นเป็นคนญี่ปุ่นเพื่อทำหน้าที่ตัวโจ๊กเรียกเสียงฮา ซึ่งหลายปีให้หลังได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการกระทำเหยียดคนเอเชีย ถือเป็นมลทินของหนังที่ล้างไม่ออก

“มาคิดดูตอนนี้ ผมก็อยากเปลี่ยนมันถ้าทำได้” ผู้กำกับเปิดใจ


อย่างไรก็ตาม ต่อให้หนังมีจุดบอด มีความผิดพลาด กระนั้นมันก็ได้ก่อเกิดสิ่งดีงามหลายอย่างโดยมีออเดรย์เป็นหัวใจสำคัญ ความจริงแล้วมันเป็นงานที่ท้าทายในช่วงชีวิตที่กดดันสำหรับเธอมากกว่าที่ใครคิด เพราะนอกจากคาโปตี้จะกัดฟันกรอดๆ พร้อมสายตาจ้องมองอย่างดูแคลน เวลานั้นออเดรย์ยังถูก เมล เฟร์เรร์ สามีคนแรกตามบงการ วุ่นวายกับการทำงานทุกฝีก้าว เธอจึงต้องอาศัยสมาธิในการนำทาง จดจ่ออย่างมากเพื่อให้งานนี้ไม่พัง

แต่ใช่ว่าเธอจะโดดเดี่ยว ในเมื่อมีคนรอบข้างสนับสนุนอย่างแข็งขัน เริ่มจาก อูแบร์ ชีวองชี่ ยอดดีไซเนอร์คู่บุญซึ่งออกแบบชุดทุกชุดอย่างประณีตเฉกเช่นในหลายๆ เรื่องก่อนหน้า เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีสักวินาทีที่ออเดรย์จะไม่ขึ้นกล้อง แล้วยังมี เฮนรี่ มันชินี่ กับ จอห์นนี่ เมอร์เซอร์ ที่ร่วมกันประพันธ์เพลง Moon River ให้ออเดรย์ร้อง ต่อให้โจทย์มีความยาก เนื่องด้วยออเดรย์ไม่ถนัดร้องเพลงและมีคีย์เสียงต่ำ พวกเขาก็สามารถรังสรรค์บทเพลงนุ่มๆ เพื่อเธอโดยเฉพาะ


จนภายหลัง มันก็นำมาซึ่งอีกหนึ่งตำนานเล่าขานของฮอลลีวูดเมื่อผู้บริหารต้องการตัดฉากร้องเพลงออกไปเพราะไม่ถูกใจ ฉากที่ซึ่งออเดรย์ได้พาผู้ชมแวะพัก เธออยู่ในลุคซึ่งต่างจากส่วนไหนๆ มีผ้าขนหนูโพกผม เสื้อสเวตเตอร์ กางเกงยีนส์ ดีดกีตาร์ พร้อมน้ำเสียงไม่หวือหวาสะท้อนตัวตนของคนธรรมดาที่ช่างฝัน ผลสุดท้ายออเดรย์จึงยืนหยัดขึ้นมาก่อนใครพลางโต้ตอบไปว่า “ข้ามศพดิฉันไปก่อน” แล้วหนังเรื่องนี้ก็ชนะสองออสการ์ทั้งในสาขาบทเพลงและดนตรียอดเยี่ยม


กล่าวได้ว่า หากปราศจากส่วนหนึ่งส่วนใด Breakfast at Tiffany’s (1961) อาจมีผลตรงกันข้าม เพราะการมีอยู่ของทุกองค์ประกอบได้หลอมรวมเป็นความมหัศจรรย์ ไล่ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องที่ซึ่งออเดรย์ยืนจ้องมองเครื่องประดับผ่านกระจกร้านทิฟฟานีส์ พื้นหลังเป็นแสงอาทิตย์อ่อนๆ ของเช้าตรู่ร้างผู้คน ช่วงเวลาแห่งความสงบดังที่ตัวละครของเธอนิยาม


แล้วเรื่องราวก็ร้อยเรียงไป ฉากงานปาร์ตี้ที่หลุดโลก การผูกสัมพันธ์ของชายหนุ่มกับหญิงสาว เปลือกภายนอกทึบแสงของเธอซึ่งค่อยๆ ถูกฝานออกให้เห็นเนื้อในอันเปราะบาง อดีตที่เคยดิ้นรนอย่างหนัก ปรารถนาที่ได้เป็นอิสระ และการหยุดวิ่งหนีจากสิ่งที่หัวใจต้องการ เรื่องทั้งหมดนี้คงกลับกลายเป็นธรรมดาหากไม่ผสานด้วยดนตรีที่อ่อนนุ่ม เสื้อผ้าที่เด่นสะดุดตา หรือแม้แต่เจ้าแมวส้มซึ่งเป็นกาวใจ จนกระทั่งมาชี้วัดผลลัพธ์สุดท้ายกันด้วยสุภาพสตรีที่เฉิดฉาย เธอทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างสว่างไสว น่าดูชม บรรยากาศอบอวลไปด้วยความโรแมนติก


เช่นครั้งหนึ่งที่ผู้กำกับกล่าวถึงงานชิ้นนี้ไว้ว่า “ต่อให้ก่อนนี้คุณทำอะไรมา นี่จะเป็นภาพที่คุณถูกจดจำไปตลอดชีวิต”

ไม่ว่าชุดเดรสสีดำซึ่งส่งอิทธิพลต่อวงการแฟชั่น หรือบทเพลง Moon River ที่ทุกคนหยิบไปขับร้องซ้ำอีกเป็นพันเป็นหมื่นครั้ง หรืออิริยาบถความสง่างามที่หาได้ยากยิ่ง ทั้งหมดนี้คือตำนานจากผู้หญิงที่ชื่อว่า ออเดรย์ เฮ็ปเบิร์น

ขอขอบพระคุณบทความจากเพจ Vintage Motion

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่