ประธานรัฐสภา เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ไลฟ์สด)


วันอังคารที่ 28 กันยายน 2564 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ห้องสัมมนา B1 – 5  ชั้น B1 โซน C อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์  โดยมีนางพรพิศ  เพชรเจริญ  เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ปี 2564 กล่าวรายงาน ในการนี้ นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ปี 2564 คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร และคณะผู้บริหารสำนักงานฯ ร่วมพิธี 

โดยในปีนี้ เรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานเรื่อง “มือเย็น” ของ วัฒน์  ยวงแก้ว  และบทกวีที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานเรื่อง “หมู่บ้านปลาเหิรลม” ของ ปราสาทหิน  พันยอด  สำหรับการประกวดในปี 2564 ได้เปิดรับผลงานเข้าประกวดฯ ตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. 2564  ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2564  มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น จำนวน 1,000  ผลงาน แบ่งเป็นประเภทเรื่องสั้น จำนวน 403 ผลงาน และบทกวี จำนวน 597 ผลงาน ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ใช้ความรู้ ความสามารถ ความละเอียดรอบคอบ และความบริสุทธิ์ยุติธรรม ในการตัดสินผลงานที่ส่งเข้าประกวด


ในโอกาสที่รางวัลพานแว่นฟ้าครบรอบ 2 ทศวรรษในปี 2564 คณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า เห็นสมควรยกย่องผลงานวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าสมควรแก่การเผยแพร่ให้เป็นแบบอย่าง เพื่อปลุกเร้าหรือเป็นแรงบันดาลใจแก่นักเขียนและผู้รักประชาธิปไตยในสังคมไทย โดยมอบรางวัลพานแว่นฟ้าเกียรติยศให้แก่ผลงานที่ผ่านการคัดสรรของคณะกรรมการฯ จำนวน 10 รางวัล ได้แก่ “ความฝันของนักอุดมคติ” โดย หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน “ระย้า” โดย สด  กูรมะโรหิต “แผ่นดินนี้ของใคร” โดย ศรีรัตน์  สถาปนวัฒน์ “เขาตะโกนหานายกรัฐมนตรี” โดย อิศรา  อมันตกุล “แผ่นดินเดียวกัน” โดย รพีพร (สุวัฒน์  วรดิลก) “เพียงความเคลื่อนไหว” โดย เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ “เจ้าขุนทอง” โดย สุจิตต์  วงษ์เทศ “ขุนทอง...เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง” โดย อัศศิริ  ธรรมโชติ “คนคนนี้แหละคน” โดย รวี  โดมพระจันทร์ (ยุทธพงศ์  ภูริสัมบรรณ) และ “ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย” โดย เสกสรรค์  ประเสริฐกุล

ในโอกาสนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้กล่าวขอบคุณผู้ส่งผลงานเข้าประกวดวรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้าทุกท่าน และขอแสดงความยินดีกับเจ้าของผลงานที่ได้รับการตัดสินจากคณะกรรมการให้ได้รับรางวัลในปีนี้   ทั้งประเภทเรื่องสั้น และประเภทบทกวี การประกวดวรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้าในปีนี้มีความพิเศษที่ได้ก้าวเดินมาถึงปีที่ 20 ใน 20 ปีที่ผ่านมาการเมืองไทยได้ผ่านเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ มากมาย ซึ่งแต่ละช่วงของเหตุการณ์นั้น ๆ จะสะท้อนอยู่ในบางส่วนของผลงานวรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้าในแต่ละปี จากรายชื่อผลงานที่ได้รับรางวัลพานแว่นฟ้าเกียรติยศทั้ง 10 ผลงาน หลาย ๆ ผลงานเผยแพร่มาแล้วเป็นเวลาหลายสิบปี แต่ยังคงเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่าอยู่เสมอ ในปีนี้ นอกเหนือจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ทำให้การจัดงานมอบรางวัลต้องอยู่ภายใต้การป้องกันโรคอย่างจริงจัง ยังเกิดเหตุการณ์ที่เราต้องสูญเสียปูชนียบุคคลด้านภาษาศาสตร์  จึงขอถือโอกาสนี้แสดงความระลึกถึง ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ราชบัณทิต ซึ่งท่านเป็นหนึ่งในกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ที่ได้สนับสนุนงานของรัฐสภาในฐานะคณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า นับแต่ปี 2558 จวบจนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งตนได้ไปร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพ ณ วัดชัยฉิมพลี เขตภาษีเจริญกรุงเทพมหานคร 

ในโอกาสนี้ ขอขอบคุณคณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ปี 2564 ที่ได้ดำเนินโครงการนี้จนบรรลุผลสำเร็จ การมอบรางวัลผู้ที่มีความสามารถพิเศษด้านวรรณกรรมและด้านศิลปะนั้น เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปี 2528 ได้ทำโครงการศิลปินแห่งชาติขึ้น บัดนี้โครงการดังกล่าวยังดำรงอยู่และมีการเลือกบุคคลที่มีความสามารถพิเศษด้านวรรณกรรมและด้านศิลปะอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ โครงการพานแว่นฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมงานด้านวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยเฉพาะประชาธิปไตย ซึ่งเราหวังว่าจะเห็นผลงานเหล่านี้มีส่วนให้เกิดความรู้สึกที่เห็นภาพของการเมืองสุจริตเป็นเป้าหมายส่วนรวมของบ้านเมือง หากขาดซึ่งความสุจริต การเมืองก็ยากที่จะพัฒนาไปได้ถึงที่สุด ขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรได้ทำโครงการบ้านเมืองสุจริต ซึ่งหวังผลที่จะขยายความรู้ความเข้าใจและร่วมกันรณรงค์ในหมู่เยาวชนและประชาชนทั่วไปให้ตระหนักว่าบ้านเมืองจะอยู่รอดได้ก็ต่อเมื่อบ้านเมืองต้องบริหารด้วยความสุจริตทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ หรือองค์กรใด ๆ ทั้งในระดับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และหวังว่าผลงานวรรณกรรมเหล่านี้จะมีส่วนในการสนับสนุนความเป็นบ้านเมืองสุจริตตามที่ได้กล่าวมา และขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน และหวังว่าทุกท่านจะให้การสนับสนุนโครงการนี้ในอนาคตต่อไป



สำหรับกิจกรรมต่างๆ ในพิธีมอบรางวัลที่น่าสนใจ อาทิ การอ่านบทกวี “2 ทศวรรษรางวัลพานแว่นฟ้า” โดยนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2536 การเสวนา หัวข้อ “ 2 ทศวรรษรางวัลพานแว่นฟ้า : เส้นทางวรรณกรรมการเมืองเพื่อประชาธิปไตย” ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดย รองศาสตราจารย์ตรีศิลป์ บุญขจร อดีตนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายบูรพา  อารัมภีร  อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย นายวุฒินันท์  ชัยศรี อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา ดำเนินรายการโดย น.ส.พรหมพิริยา พาพรมมี เจ้าพนักงานประชาสัมพันธ์อาวุโส การเปิดเผยแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานจากผู้ชนะการประกวด การจัดประกวดวรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้าเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งเป็นปีที่รัฐสภาครบรอบ 70 ปี  โดยเห็นความสำคัญของวรรณกรรมว่ามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการเมืองและสังคมให้เกิดความเข้มแข็ง และเพื่อเป็นการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมการเมือง และในปี 2564 นี้ เป็นโอกาสที่รางวัลพานแว่นฟ้าครบรอบ 2 ทศวรรษแล้ว ในการสร้างสรรค์วรรณกรรมการเมืองเพื่อประดับในวงการวรรณกรรมของไทย  



**** ขอขอบพระคุณภาพข่าวจาก แฟนเพจเฟซบุ๊ก สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ****


พาพันไฟท์ติ้งพาพันขยันพาพันเคลิ้ม
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่