*** ศึกทะเลจีนใต้ ! สงครามเย็น 2.0 จีน-อเมริกา ***

ศึกทะเลจีนใต้! สงครามเย็น 2.0 จีน-อเมริกา

การก่อตั้ง “พันธมิตรทางยุทธศาสตร์ AUKUS” เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นร้อนที่หลายฝ่ายจับตามอง เนื่องจากอเมริกาได้ดึงมหามิตรเก่าแก่อย่างอังกฤษ และพันธมิตรประจำภูมิภาคอย่างออสเตรเลียเข้ามาคานอำนาจกับจีนโดยตรง

สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นความเคลื่อนไหวหนึ่งของความขัดแย้งที่กินเวลามาเนิ่นนาน ซึ่งทยอยความตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีทีท่าจะผ่อนคลายลง โดยเฉพาะหลังสหรัฐถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานเพื่อจัดกำลังรบใหม่ในทะเลจีนใต้ แสดงให้เห็นว่า… “ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” กำลังจะกลายเป็นพื้นที่ขัดแย้งในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บทความนี้จะพาท่านไปพบกับประวัติศาสตร์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น ตลอดจนการพัฒนาการในห้วงเวลานับสิบปี พร้อมวิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต


*** จุดเริ่มต้นความขัดแย้ง ***

ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้นั้น... เริ่มขึ้นเมื่อรัฐบาลจีนพยายามอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลี ด้วยการอ้าง “แผนที่เส้นประ 9 เส้น” ซึ่งถูกลดลงมาจาก “แผนที่เส้นประ 11 เส้น” ที่เขียนขึ้นโดยรัฐบาลจีนก๊กมินตั๋งในปี 1947 โดยระบุว่าแผนที่ของจีนล้อมกรอบทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด แต่ไม่มีการกำหนดพิกัดของเส้นประดังกล่าว

อย่างไรก็ตามจีนไม่ใช่ชาติเดียวที่พยายามอ้างสิทธิ์กรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่แห่งนี้ เพราะทั้งเวียดนาม, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, บรูไน, และไต้หวันเอง ต่างก็พยายามอ้างสิทธิ์ที่ตนเห็นว่าสมควรได้ครอบครองเช่นกัน เมื่อการแย่งชิงพื้นที่เริ่มเข้มข้นรัฐบาลจีนจึงขยายปฏิบัติการทางทหารเข้าสู่พื้นที่ความขัดแย้งด้วยการสร้างเกาะเทียมพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่ออ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ นอกจากนั้นยังมีการนำเรือจำนวนมากรุกเข้ามาในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ของฟิลิปปินส์ ที่สามารถตอบโต้ได้เพียงการใช้ข้อกฎหมายระหว่างประเทศผ่านศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮกเมื่อวันที่ 22 มกราคม ปี 2013 


ภาพแนบ: เรือ BRP Sierra Madre ของฟิลิปปินส์ซึ่งถูกนำมาทิ้งพร้อมนาวิกโยธินบนเรือเพื่อปกป้องน่านน้ำของฟิลิปปินส์

*** นโยบายปักหมุดเอเชีย ***

สหรัฐเห็นช่องทางที่จะกลับเข้ามาสร้างอิทธิพลในพื้นที่ทะเลจีนใต้อีกครั้งผ่านนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย” หรือ Pivot to Asia ที่มุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์ทางการทูต, เศรษฐกิจ, และความมั่นคงกับประเทศในเอเชียอย่างแน่นแฟ้น ในฐานะตัวกลางในการไกล่เกลี่ยระหว่างคู่ขัดแย้งระหว่างฟิลิปปินส์และจีน ทว่ายังคงพยายามสงวนท่าทีไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อจีน แต่แสดงให้เห็นว่าสหรัฐยึดถือหลักเสรีภาพในการเดินทะเล (FONOP) ที่ให้สิทธิ์ทุกประเทศในการเดินเรือผ่านน่านน้ำสากลด้วยการส่งเรือรบเข้ามาในพื้นที่ข้อพิพาทตั้งแต่ปี 2013


ภาพแนบ: อดีตปธน. เบนิกโน อากีโน ผู้ล่วงลับผู้ต่อต้านอิทธิพลของจีนอย่างรุนแรง

หลังจากนั้นในปี 2016 ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรได้ประกาศให้ฟิลิปปินส์เป็นฝ่ายชนะคดี เนื่องจากคำกล่าวอ้างของจีนไม่มีน้ำหนักมากพอ ซึ่งจีนได้ออกมาประกาศชัดเจนว่าไม่ยอมรับคำตัดสินดังกล่าว พร้อมเดินหน้าปฏิบัติการต่อไป เมื่อสหรัฐไม่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างชัดเจน ส่งผลให้พันธมิตรอย่างฟิลิปปินส์จำเป็นต้องยอมโอนอ่อนต่อสถานการณ์ และเปิดทางให้จีนดำเนินนโยบายการทูตทางอำนาจอ่อน (Soft Power) เพื่อสร้างอิทธิพลในภาคการเมืองของฟิลิปปินส์ด้วยความช่วยเหลือด้านงบประมาณการก่อสร้างต่างๆในโครงการ “Build, Build, Build!” ของประธานาธิบดี โรดรีโก ดูแตร์เต มาจนถึงปัจจุบันคิดมูลค่าราว 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัญ (ข้อมูลปี 2021)


ภาพแนบ: ภาพการ์ตูนล้อเลียนของสำนักข่าว DW ว่าสาเหตุการแบนหัวเว่ยมาจากเหตุผลทางธุรกิจ

*** American First! กับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ***

ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (2017) ผู้ชูนโยบาย “อเมริกันต้องมาก่อน” หรือ American First ซึ่งเน้นความสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจใช้กับชาวอเมริกันด้วยการดำเนินนโยบายการทำสงครามทางการค้า (Trade War) ทั้งในและนอกประเทศ อาทิการตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้านำเข้าและมอบสิทธิประโยชน์ทางการลงทุนเพื่อดึงดูดนักลงทุนกลับมาพัฒนาธุรกิจในประเทศเพื่อสร้างอาชีพให้กับแรงงาน นอกจากนี้ยังมีการออกคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดี ให้จำกัดการลงทุนของชาวอเมริกันในบริษัทจีนซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทัพจีน บริษัทในลิสต์มีจำนวน 59 บริษัทอาทิ Huawei Technologies, Fujian Torch Electronic Technology, และ Aero Engine Corporate of China เป็นต้น


ภาพแนบ: เครื่องบินขับไล่ F16V หนึ่งในเขี้ยวเล็บสำคัญของกองทัพอากาศไต้หวันในอนาคต (เครตดิต: AAG_th) 

นอกจากการสร้างเงื่อนไขทางเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลใหม่ของทรัมป์ยังดำเนินการสานสัมพันธ์กับไต้หวันด้วยการต่อสายตรงเพื่อคุยประธานาธิบดี ไช่อิงเหวิน พร้อมอนุมัติการขายยุทโธปกรณ์ทันสมัยอีกจำนวนหนึ่งอาทิเครื่องบินขับไล่รุ่น F-16V, อาวุธปล่อยต่อต้านอากาศยานแบบ Patriot และรถถัง M1A2 Abrams ฯลฯ ที่รัฐบาลไต้หวันเคยแสดงความต้องการจัดหาแต่ไม่เคยได้รับการอนุมัติในสมัยของอดีตประธานาธิบดีโอบามา


ภาพแนบ: รถ J-ATV ติดตั้งจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำ NSM หนึ่งในหมัดเด็ดของนาวิกโยธินสหรัฐมนการต่อต้านกองเรือจีน

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจนอกจากนี้คือ “การปรับกำลังรบของนาวิกโยธินสหรัฐภายในปี 2030” โดยเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากการทำหน้าที่หัวหอกการรุกราน เป็นกองกำลังป้องกันเกาะต่างๆที่กระจายตัวอยู่ทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก พร้อมกับลดอัตรากำลังพลลงจาก 186,200 นายเหลือ 170,000 และปรับลดจำนวนกำลังยานสะเทินน้ำสะเทินบกแบบ AAV-P7 รวมถึงยุบกองพันรถถัง เพื่อหันไปทุ่มงบประมาณกับอาวุธต่อต้านเรือผิวน้ำที่สามารถยิงจัดการเป้าหมายจากระยะไกลเพื่อต่อต้านเรือผิวน้ำของฝ่ายศัตรู ร่วมกับกองทัพเรือภาคแปซิกฟิกของสหรัฐและชาติพันธมิตร

...แม้จะไม่มีการกล่าวออกมาโดยตรง แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าแนวทางดังกล่าวคือการส่งสัญญานท้าทายจีนซึ่งเริ่มเสริมกำลังทะเลอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาโดยตรง!


ภาพแนบ: ทีมแพทย์จีนที่ถูกส่งไปช่วยรับมือการระบาดของเชื้อโควิด 19 ในอิตาลี่เมื่อปี 2020 

*** โควิด 19 และการทูตวัคซีน ***

ในปี 2019 เป็นต้นมาได้เกิดเหตุการณ์ที่หลายฝ่ายไม่คาดคิดคือ... การระบาดของเชื้อโควิด 19ส่งผลให้มหาอำนาจทั้งสองประเทศเริ่มทำสงครามข่าวสารโดยอ้างว่าอีกฝ่ายเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ในระยะแรกนั้นทางการจีนสามารถสร้างคะแนนนิยมนำสหรัฐจากความรวดเร็วในการจัดการกับปัญหาโรคระบาด พร้อมกับส่งความช่วยเหลือต่างๆ ไปยังนานาประเทศเพื่อแสดงศักยภาพของตน ตั้งแต่อุปกรณ์ทางการแพทย์, บุคลากร, และวัคซีน
อย่างไรก็ตามสหรัฐอเมริกาก็สามารถรับมือกับเหตุดังกล่าว ด้วยความได้เปรียบจากการนำวัคซีน MRNA ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อมากกว่าใช้ สิ่งนี้ช่วยให้สหรัฐได้รับการยกย่องในฐานะผู้นำการต่อต้านโรคระบาด


ภาพแนบ: นายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอร์ริสัน ผู้เรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบ

จุดเปลี่ยนสำคัญอีกประการคือ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับออสเตรเลีย เมื่อรัฐบาลของนายกออสเตรเลีย นาย สกอตต์ มอร์ริสัน เรียกร้องให้ตัวแทนจากนานาประเทศเข้ามาตรวจสอบที่มาของการระบาดดังกล่าว (โดยเชื่อว่ามาจากจีน) แต่ถูกจีนตอบโต้ทางการค้าอย่างหนักส่งผลให้ออสเตรเลียที่พยายามรักษาท่าทีไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อจีน เนื่องจากเป็นฐานะคู่ค้าอันดับหนึ่งของประเทศ เริ่มหันมาผลักดันนโยบายการตอบโต้จีนแบบชัดเจน นำไปสู่ข้อตกลงด้านความมั่นคงจำนวนมากที่เกิดขึ้นทั้งการอนุญาติให้นาวิกโยธินสหรัฐเข้ามาตั้งฐานทัพ, การตอบรับข้อเรียกร้องในการปกป้องไต้หวันจากการรุกรานของจีน, รวมไปถึงการเข้าเป็นส่วนสำคัญของสนธิสัญญา AUSKUS ที่จะกล่าวถึงหลังจากนี้



ภาพแนบ: ภาพการรับมอบเรือดำน้ำ, เรือพิฆาตและเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์จำนวนถึง 3 ลำภายในวันเดียวของกองทัพจีน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพการต่อเรืออย่างรวดเร็วของจีน
 
*** การตอบโต้ของจีน ***

แน่นอนว่าชาติมหาอำนาจอย่างจีนนั้น ไม่มีทางยอมให้สหรัฐไล่ต้อนอยู่ฝ่ายเดียว เพราะยิ่งยุทธศาสตร์การปิดล้อมของสหรัฐและพันธมิตรชัดเจนมากยิ่งขึ้น รัฐบาลจีนก็ใช้มันสร้างความชอบธรรมในการขยับขยายกองทัพโดยมีการต่อเรือบรรทุกเครื่องบินถึงสามลำในเวลาเพียงไม่กี่ปี พร้อมทั้งมีการพัฒนาจรวดต่อต้านเรือผิวน้ำระยะไกลเพื่อรับมือกับกองเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐ ซึ่งทางการจีนระบุว่าเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการรุกรานอธิปไตยของจีน


ภาพแนบ: แผนที่แสดงยุทธศาสตรื Islands Hopping ที่ยึดครองพื้นที่จากเกาะสู่เกาะ

จีนยังยกระดับศักยภาพของหน่วยนาวิกโยธิน (PLA Marines) ให้เหมาะสมต่อปฏิบัติการยกพลขึ้นบกในภูมิประเทศหมู่เกาะ ซึ่งเป็นการถอดบทเรียนมาจาก “ยุทธวิธีการรบจากเกาะสู่เกาะ” หรือ Islands Hopping ที่ใช้การยึดครองพื้นที่จากเกาะซึ่งตั้งอยู่ใกล้ที่สุด ก่อนจะขยายเขตยึดครองไปจนถึงเป้าหมาย โดยสหรัฐเคยใช้ยุทธวิธีดังกล่าวจนประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับฝ่ายญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2


ภาพแนบ: เครื่องบินขับไล่ไต้หวันเข้าประกอบอากาศยานจากกองทัพจีน

เป้าหมายหลักนั้น ก็ไม่ใช่พื้นที่อื่นไกลหากแต่เป็น “เกาะไต้หวัน” ซึ่งจีนถือว่าเป็นเพียงมณฑลหนึ่งที่แยกตัวออกมาจากประเทศ นอกจากนี้การยึดครองไต้หวันยังเปรียบเสมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นกสามตัว! เพราะนอกจากจะเป็นการตบหน้าสหรัฐซึ่งเป็นพันธมิตรทางทหารอย่างเป็นทางการรายเดียวของไต้หวันฉาดใหญ่! และเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือในฐานะประเทศมหาอำนาจแล้ว ที่ตั้งของเกาะแห่งนี้ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สู่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งสำคัญอีกชาติในภูมิภาคมีหลักฐานที่ระบุว่ากองทัพจีนส่งอากาศยานรุกล้ำน่านฟ้าของไต้หวันกว่า 380 ครั้ง ในปี 2020 แสดงถึงการให้ความสำคัญต่อจุดนี้เป็นอย่างดี

*** อ่านต่อใน comment นะครับ ***
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่