“ตากระตุก” บอกอะไร? ที่ไม่ใช่แค่โชคลาง

“ตากระตุก” บอกอะไร? ที่ไม่ใช่แค่โชคลาง 
 
     “ขวาร้าย ซ้ายดี” พี่หมอมั่นใจว่า หลายๆ คนน่าจะพอคุ้นๆ กับประโยคนี้กันอยู่บ้าง และที่พี่หมอเกริ่นมาแบบนี้ ก็เพราะว่าวันนี้เราจะมาคุยเรื่องของอาการ “ตากระตุก” หรือ “ตาเขม่น” กันนั่นเอง 👀
     เนื่องจากคนส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะคนโบราณ) มักจะเชื่อว่า อาการตากระตุก หรือตาเขม่นที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของดวงหรือโชคลางเท่านั้น แต่รู้มั้ยครับว่า อาการตากระตุกไม่ใช่อาการที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดอาการนี้ขึ้นมา นอกจากนี้ อาการตากระตุก ยังเป็นสัญญาณเตือนของโรคบางอย่างด้วย 
     แล้วอาการตากระตุก คืออะไร มีสาเหตุหรือที่มาจากไหน ถ้าเป็นแล้วต้องดูแลรักษากันอย่างไร พี่หมอไปรวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาให้แล้วครับ 
 
อาการตากระตุก คืออะไร ❓
     ตากระตุก (Eye Twitching) คืออาการที่เปลือกตามีการขยับหรือเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว โดยอาจเป็นเพียงเล็กน้อยหรืออาจเกิดขึ้นถี่ๆ จนทำให้เกิดความรำคาญได้ นอกจากนี้ ยังเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ และเกิดขึ้นได้ทั้งเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง แต่มักจะเกิดที่เปลือกตาบนมากกว่า 
     โดยทั่วไป อาการตากระตุกนั้นมักเป็นอาการที่ไม่รุนแรง ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดและอันตราย เพราะสามารถเกิดขึ้นและหายเองได้ในระยะเวลาสั้นๆ แต่บางกรณีก็อาจรุนแรงและไม่สามารถหายเองได้ เช่น อาการตากระตุกเกร็งจนทำให้เปลือกตาด้านบนปิดลงมา รวมถึงอาการตากระตุกที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงบางชนิด เช่น โรคอัมพาตบนใบหน้า (Bell’s Palsy) และโรคกล้ามเนื้อบิดเกร็ง (Dystonia) แต่พบได้น้อยมาก 
สาเหตุของอาการตากระตุก 👁️‍🗨️
     อาการตากระตุก สามารถเกิดขึ้นได้เองโดยที่ไม่ต้องมีสัญญาณเตือนล่วงหน้า โดยมีสาเหตุต่างๆ ดังต่อไปนี้ 
     · พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือเข้านอนไม่เป็นเวลา
     · มีความเครียดสะสมเป็นเวลานาน
     · ดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป
     · สูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเกินไป 
     · อยู่ในที่ๆ มีแสงสว่าง หรือแสงจ้าจนเกินไป 
     · ลม หรือมลพิษทางอากาศ  
     · ตาล้า ตาแห้ง 
     · การระคายเคืองที่เปลือกตาด้านใน หรือโรคภูมิแพ้ 
     · ขาดวิตามิน แร่ธาตุ หรือสารอาหารบางชนิด
     · ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด
 
วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น เมื่อมีอาการตากระตุก 🤗
     · นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 
     · พยายามลดการใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ 
     · หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ รวมถึงงดสูบบุหรี่ 
     · พยายามทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลาย สบายใจ เพื่อลดความกังวลและความเครียด  
     · อย่าจ้องหน้าจอนานเกินไป และควรหาเวลาพักสายตาประมาณ 5-10 นาทีระหว่างการใช้หน้าจอ 
     · นวดกล้ามเนื้อบริเวณรอบดวงตา รวมถึงประคบร้อน หรืออุ่นบริเวณดวงตาประมาณ 10 นาที 
     · หากเกิดอาการตาแห้ง หรือระคายเคืองที่ดวงตา สามารถใช้น้ำตาเทียมช่วยได้ 
หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ❗ 👩‍⚕️
     · มีอาการตากระตุกติดต่อกันเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้น 
     · มีตำแหน่งที่เกิดอาการตากระตุกเพิ่มขึ้น เช่น อาจเป็นที่ตาอีกข้างหนึ่ง หรือเป็นที่บริเวณอื่นๆ ของใบหน้า 
     · บริเวณที่เกิดอาการตากระตุกมีอาการอ่อนแรง หรือหดเกร็ง
     · มีอาการบวมแดงหรือมีสารคัดหลั่ง ไหลออกมาจากดวงตา 
     · เปลือกตาด้านบนห้อยย้อยลงมาจนรบกวนการมองเห็น
     · เปลือกตาปิดสนิททุกครั้งที่เกิดอาการตากระตุก หรือลืมตาได้ลำบาก
 
การรักษาอาการตากระตุก มีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี ได้แก่
    ✅ 1.  การรับประทานยา เพื่อช่วยบรรเทาอาการและหยุดอาการตากระตุกชั่วคราว เช่น ยาลอราซีแพม ยาไตรเฮกซีเฟนิดิล และยาโคลนาซีแพม แต่เนื่องจากยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ดังนั้น การใช้ยาจึงต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น 
    ✅ 2.  การฉีดโบท็อกซ์ เป็นวิธีที่ผ่านการรับรองให้ใช้รักษาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้น จึงนิยมใช้ในการรักษาอาการตากระตุกมากที่สุด โดยแพทย์จะฉีดโบท็อกซ์ลงไปที่บริเวณกล้ามเนื้อรอบดวงตาที่มีอาการกระตุก เพื่อให้กล้ามเนื้อเหล่านี้อยู่ในสภาพอ่อนแรงชั่วคราวและไม่สามารถหดเกร็งได้อีก เปรียบเสมือนการผ่อนคลายกล้ามเนื้อเปลือกตามัดนั้นๆ และช่วยบล็อกไม่ให้เส้นประสาทส่งสัญญาณไปที่กล้ามเนื้อให้เกิดการกระตุกนั่นเอง หลังจากฉีดโบท็อกซ์แล้ว อาการตากกระตุกจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม ผลของการรักษาด้วยโบท็อกซ์จะอยู่ได้เพียง 3-6 เดือนเท่านั้น เมื่อยาหมดฤทธิ์อาการตากระตุกก็อาจกลับมาได้อีก แต่ก็ไม่ต้องกังวลไปนะครับ เพราะถ้ายังมีอาการอยู่ ก็สามารถกลับไปพบแพทย์เพื่อฉีดซ้ำได้ 
 
     แม้ตากระตุก จะเป็นอาการที่ไม่รุนแรงและอันตรายต่อร่างกาย แต่ถ้าเป็นบ่อยๆ ก็อาจสร้างความรำคาญและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเราได้ ดังนั้น ถ้าไม่อยากเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอาการตากระตุก ก็อย่าลืมทำตามที่พี่หมอแนะนำด้วยนะครับ และถ้ายังอาการยังไม่ดีขึ้น ก็ควรรีบไปแพทย์ให้เร็วที่สุด 
 
     ที่สำคัญ อย่าลืมหมั่นสังเกตสัญญาณต่างๆ ของร่างกายด้วยนะครับ เพราะร่างกายจะส่งสัญญาณออกมาทันทีถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้น 👀👀
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่