โควิด-19 : ติดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แล้วมีอาการป่วยหรือไม่ อาจขึ้นอยู่กับพันธุกรรมของแต่ละคน โควิด19

แม้ทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคทางเดินหายใจโควิด-19 แล้วเกือบ 240,000 ราย แต่นักวิจัยทางการแพทย์ยังคงยืนยันว่า 80% ของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั้น จะมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการของโรคออกมาให้เห็น ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า อะไรคือปัจจัยที่กำหนดว่าใครจะถูกเชื้อไวรัสซาร์สซีโอวีทู (SARS-Cov-2)เล่นงานได้มากกว่ากัน
ข้อมูลเบื้องต้นชี้ว่า เพศและวัยเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่มีผลต่อระดับความรุนแรงของอาการป่วยโรคโควิด-19 โดยผู้ชายมีแนวโน้มจะล้มป่วยและเสียชีวิตสูงกว่าผู้หญิง ส่วนคนชราก็มีแนวโน้มแบบเดียวกันเมื่อเทียบกับเด็กและคนหนุ่มสาว แต่อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าน่าจะยังมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่นเรื่องของพันธุกรรม
ล่าสุดทีมนักวิจัยจากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน (KCL) ของสหราชอาณาจักร เผยแพร่ผลการศึกษาเบื้องต้นในคลังเอกสารวิชาการแพทย์ออนไลน์ medRxiv.org โดยระบุว่าปัจจัยทางพันธุกรรมสามารถใช้อธิบายความแตกต่างในลักษณะอาการของโรคโควิด-19 ที่ผู้ติดเชื้อแต่ละคนแสดงออกมาไม่เหมือนกันได้ถึง 50% ของกรณีที่ศึกษาทั้งหมด

มีการติดตามศึกษาแฝดแท้และแฝดเทียมที่ติดเชื้อจำนวน 2,600 คู่ โดยให้บรรดาฝาแฝดรายงานอาการที่เกิดขึ้นในแต่ละวันให้ทราบผ่านแอปพลิเคชัน ทำให้ทีมผู้วิจัยพบว่าแฝดแท้ซึ่งมีพันธุกรรมเหมือนกัน 100% มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการป่วยหรือไม่เกิดอาการป่วยจากโรคโควิด-19 เหมือนกัน โดยความเหมือนนี้อยู่ในอัตราที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มแฝดเทียมซึ่งมีพันธุกรรมเหมือนกันเพียง 50% เท่านั้น แสดงว่ามีความเป็นไปได้สูงที่พันธุกรรมจะเป็นปัจจัยกำหนดความแตกต่างในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตามผลการวิจัยของ KCL พบด้วยว่า มีการแสดงออกของอาการโรคโควิด-19 บางอย่างเท่านั้น ที่ถูกกำหนดโดยอิทธิพลของพันธุกรรม เช่นอาการไข้ ท้องเสีย เพ้อและสับสน หรือสูญเสียความสามารถในการรับกลิ่น-รส ในขณะที่อาการอย่างเช่น ไอ เสียงแห้ง เจ็บหน้าอก ปวดท้อง หรือเบื่ออาหาร ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรมแต่อย่างใด
นอกจากงานวิจัยข้างต้นแล้ว ยังมีผลการศึกษาล่าสุดอีกชิ้นหนึ่งที่ชี้ว่า หน่วยพันธุกรรมหรือยีนที่เป็นตัวควบคุมการผลิตโปรตีน Human Leukocyte Antigen (HLA) ซึ่งช่วยให้ภูมิคุ้มกันร่างกายมองเห็นสิ่งแปลกปลอมนั้น อาจเป็นตัวกำหนดว่าผู้ติดเชื้อคนใดจะแสดงอาการหรือไม่ก็เป็นได้
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสุขภาพและวิทยาศาสตร์ออริกอน (OHSU) ของสหรัฐฯ ระบุในรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Virology ว่ายีน HLA ในประชากรมนุษย์นั้นมีอยู่หลายแบบ โดยแต่ละคนมียีนชนิดนี้ต่างแบบกันออกไป ซึ่งจะทำให้ร่างกายผลิตโปรตีนตรวจจับสิ่งแปลกปลอมได้ต่างชนิดกันออกไปด้วย ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของแต่ละคนมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเชื้อโรคแต่ละชนิดได้ไม่เหมือนกันไปโดยปริยาย
หากยีน HLA ของใครเป็นแบบที่ผลิตโปรตีนซึ่งจับกับตัวรับของไวรัสโรคโควิด-19 ได้ดี ก็จะมีภูมิต้านทานโรคสูงกว่าและขจัดไวรัสออกจากร่างกายได้เร็วกว่า จนไม่ปรากฏอาการของโรคให้เห็น ส่วนคนที่มียีนตัวนี้เป็นแบบที่เรียกว่า HLA-B*46:01 มีความเสี่ยงว่าภูมิคุ้มกันจะผลิตโปรตีนที่จับกับตัวรับของไวรัสโรคโควิด-19 และไวรัสโรคซาร์ส (SARS)ได้น้อยที่สุด จึงอาจล้มป่วยรุนแรงได้หากติดเชื้อ
 
ข้อมูลจาก   
https://www.bbc.com/thai/features-52513173
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่