พบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เพิ่มอีก 6 ชนิดในค้างคาวเมียนมา

11 เมษายน 2020



(WIKIMEDIA COMMONS  ฝูงค้างคาวหลายพันตัวบินออกจากถ้ำที่เมืองพะอันของเมียนมา)
ทีมนักวิทยาศาสตร์ในโครงการ PREDICT ซึ่งทำงานภายใต้องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ หรือยูเสด (USAID) เผยว่าได้ค้นพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เพิ่มมาอีก 6 ชนิด จากการตรวจสอบประชากรค้างคาวหลายกลุ่มในประเทศเมียนมา
รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ทางออนไลน์ในวารสารวิชาการ PLOS ONE เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมาระบุว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ในโครงการ PREDICT ได้วิเคราะห์ตัวอย่างน้ำลายและมูลค้างคาวหลายร้อยตัวอย่าง ซึ่งเก็บจากค้างคาว 11 ชนิดพันธุ์ จำนวนทั้งสิ้น 464 ตัว ในสถานที่ 3 แห่งของเมียนมา ระหว่างปี 2016-2018

สถานที่ซึ่งใช้เก็บตัวอย่างเหล่านี้ ล้วนเป็นถ้ำที่มนุษย์มักเข้าไปใกล้ชิดกับฝูงค้างคาวอยู่เป็นประจำ ทั้งชาวบ้านที่เข้าไปเก็บมูลค้างคาวซึ่งเป็นปุ๋ยชั้นดีมาขาย รวมทั้งคนที่เข้าไปสักการะพระพุทธรูปในถ้ำและบรรดานักท่องเที่ยว

ผลวิเคราะห์พบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ทีมผู้วิจัยตั้งชื่อว่า PREDICT-CoV-90 ในค้างคาวเพดานใหญ่ รวมทั้งค้นพบเชื้อ PREDICT-CoV-47 และ PREDICT-CoV-82 ในค้างคาวปากย่น ส่วนเชื้อค้นพบใหม่อีกสามชนิดคือ PREDICT-CoV-92, PREDICT-CoV-93, PREDICT-CoV-96 พบอยู่ในค้างคาวหน้ายักษ์สามหลืบ


ค้างคาวเพดานใหญ่


ค้างคาวปากย่น 



ค้างคาวหน้ายักษ์สามหลืบ
 


ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 6 ชนิดที่ค้นพบล่าสุดนี้ จัดอยู่ในวงศ์ Coronaviridae เช่นเดียวกับไวรัส SARS-CoV-2 หรือเชื้อที่ก่อโรคทางเดินหายใจโควิด-19 แต่กลับมีพันธุกรรมไม่สู้จะใกล้เคียงกันนัก ทั้งยังมีข้อมูลพันธุกรรมแตกต่างไปจากเชื้อไวรัสโรคซาร์ส (SARS) และเชื้อไวรัสโรคเมอร์ส (MERS) พอสมควรด้วย จึงยังไม่ทราบแน่ว่าจะทำให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์ขึ้นได้หรือไม่

ดร. ซูซาน เมอร์เรย์ หนึ่งในทีมผู้วิจัยบอกว่า "ไวรัสโคโรนาหลายชนิดอาจไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่ถ้าเราได้รู้จักมันก่อน ขณะที่มันยังอยู่ในประชากรสัตว์ที่เป็นแหล่งกำเนิด เราจะมีโอกาสศึกษาทำความเข้าใจเชื้อโรคใหม่ ๆ ที่มีความเสี่ยงสูงล่วงหน้า เพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ได้"

ค้างคาวเป็นสัตว์ที่ต้องสงสัยว่าเป็นแหล่งกักเก็บเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 และไวรัสโคโรนาอีกนับพันชนิด โดยมีการสันนิษฐานว่าเชื้อดังกล่าวติดต่อมาสู่คนผ่านสัตว์ที่เป็นพาหะตัวกลางอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งล่าสุดมีความเป็นไปได้ว่า ตัวนิ่มที่ใช้ลิ้นกวาดกินแมลงตามพื้นดิน อาจติดเชื้อโรคโควิด-19 จากมูลค้างคาวได้




(GETTY IMAGES   ชาวบ้านในรัฐกะเหรี่ยงของเมียนมาหารายได้จากการเก็บมูลค้างคาวในถ้ำ)

แม้จะมีผลงานค้นพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดในค้างคาว แต่โครงการ PREDICT ต้องปิดตัวลงไปเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา หลังรัฐบาลสหรัฐฯ สั่งตัดงบประมาณสนับสนุนตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ก่อนจะเกิดการระบาดหนักของโรคโควิด-19 ในประเทศในอีกไม่กี่เดือนต่อมา

เรียบเรียงโดย BBC NEWS THAI




"ไวรัสยารา" เชื้อสายพันธุ์ใหม่มีพันธุกรรมไม่เหมือนใครในโลก

(J. ABRAHÃO / UFMG  ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า "ไวรัสยารา" สามารถก่อโรคในมนุษย์ได้หรือไม่)
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ซึ่งกำลังอยู่ในความสนใจของคนทั่วโลกขณะนี้ เป็นเพียงไวรัสชนิดหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ยังพอจะสืบหาที่มาของการกลายพันธุ์และเส้นทางวิวัฒนาการของมันได้ แต่ "ไวรัสยารา" (Yaravirus) ซึ่งเพิ่งมีการค้นพบในประเทศบราซิล กลับมีจีโนมหรือข้อมูลพันธุกรรมทั้งหมดไม่เหมือนกับไวรัสชนิดใดที่เคยค้นพบมาก่อนในโลก

ทีมนักไวรัสวิทยานานาชาติ นำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมีนาสเจอไรส์ (UFMG) ของบราซิล เผยแพร่รายงานการค้นพบนี้ในคลังเอกสารวิชาการออนไลน์ bioRxiv โดยระบุว่าพบเชื้อไวรัสชนิดใหม่ล่าสุดในทะเลสาบปัมปูลญา(Pampulha) ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่มนุษย์ขุดขึ้นทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ
ทีมผู้วิจัยตั้งชื่อให้ไวรัสชนิดนี้ว่า "ยารา" ซึ่งหมายถึง "มารดาแห่งห้วงน้ำทั้งมวล" ตามชื่อของพรายน้ำที่มีลักษณะคล้ายเงือกในตำนานพื้นบ้านของบราซิล ซึ่งมักจะปรากฏตัวเพื่อลวงให้บรรดาคนเดินเรือจมน้ำ

ไวรัสยาราที่ค้นพบใหม่นี้มีอนุภาคไวรัสขนาดเล็กเพียง 80 นาโนเมตร สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในอะมีบาหลายชนิด แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามันสามารถจะก่อโรคในมนุษย์หรือสัตว์ชนิดอื่น ๆ ได้หรือไม่

หน่วยพันธุกรรมหรือยีนกว่า 90% ของไวรัสยาราเป็น "ยีนกำพร้า" (Orphan genes) ซึ่งไม่ทราบที่มาและไม่เคยปรากฏในฐานข้อมูลใด ๆ มาก่อน นอกจากนี้ยังมียีนเพียง 6 ตัว ที่มีลักษณะคล้ายคลึงเล็กน้อยกับยีนของไวรัสยักษ์ (Giant Viruses) ซึ่งเป็นไวรัสค้นพบใหม่เช่นกัน




(J. ABRAHÃO / UFMG  ไวรัสยารา (จุดเล็ก ๆ ภายในเส้นประ) ทำให้เกิดการติดเชื้อในอะมีบาได้)


ดร. โจนาตาส อับราเฮา หนึ่งในทีมผู้วิจัยบอกว่า "ไวรัสยาราเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ประเภทที่พบในอะมีบา ซึ่งยังมีข้อมูลเรื่องต้นกำเนิดทางพันธุกรรมและวงศ์วานวิวัฒนาการ (Phylogeny) เป็นปริศนาอยู่"
"ว่ากันตามที่จริงแล้ว การวิเคราะห์ทางพันธุกรรมของเรายังไม่สามารถจัดประเภทไวรัสชนิดนี้ให้อยู่ในกลุ่มใดได้ หรือยังไม่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นไวรัสด้วยซ้ำไป"
"การค้นพบนี้ทำให้เราตระหนักว่า ยังมีความหลากหลายทางพันธุกรรมอีกมหาศาลในโลกของไวรัสที่เรายังไม่รู้จักและต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอีกมาก" ดร. อับราเฮา กล่าว


เรียบเรียงโดย BBC NEWS THAI
Cr.https://www.bbc.com/thai/international-52254135



แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่