วีรกรรมทหารปืนใหญ่ บ้านโนนหมากมุ่น

บ้านโนนหมากมุ่น เป็นชื่อหมู่บ้านตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา อ.โคกสูง จว.สระแก้ว ซึ่งในสมัยนั้นยังอยู่ในพื้นที่ของ จว.ปราจีนบุรี พื้นที่ ต.โนนหมากมุ่น ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ของการสู้รบระหว่างไทยกับเวียดนาม ยุคลัทธิคอมมิวนิสต์แผ่ขยายอิทธิพลครอบคลุมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนามส่งทหารบุกยึดกรุงพนมเปญเมืองหลวงของกัมพูชาและหาทางขยายอิทธิพลเข้ามายังประเทศไทย

             
(แผนที่บริเวณ ต.โนนหมากมุ่น จว.สระแก้ว จาก Google map)

            ในวันที่ 23 มิ.ย. 2523 เวลาประมาณ 0800 ทหารเวียดนามได้เข้ารุกล้ำอธิปไตยของไทยเข้ามายึดบ้านโนนหมากมุ่น ผบ.ป.พัน.201 ในขณะนั้น ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อนามหน่วยเป็น ป.71.พัน.711 (กรมทหารปืนใหญ่ที่ 71 กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 711) ได้รับคำสั่งจาก มทภ.1 ให้เคลื่อนย้าย 1 กองร้อยปืนใหญ่หนักกระสุนวิถีราบ 20 ขนาด 155 มม. แบบ M71 ไปเข้าที่ตั้งยิงชั่วคราวบริเวณบ้านโคกสว่าง เพื่อทำการยิงต่อต้านปืนใหญ่และสนับสนุนหน่วยดำเนินกลยุทธ์ ร.2 และ ร.31 เพื่อขับไล่กองกำลังเวียดนาม/เขมรเฮงสัมรินให้ออกจากเขตแดนไทย ซึ่งในขณะนั้นปืนใหญ่ของข้าศึกก็ได้ทำการยิงเข้ามาในบริเวณบ้านโคกสูงและบ้านลมดิน พ.ท. อนนท์ จันทร์บาง (ผบ.ป.พัน.201) พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ชุดแผนที่ของกองพันได้ไปตรวจสอบและวิเคราะห์หลุมระเบิดจากกระสุนปืนใหญ่ของข้าศึก ผลจากการวิเคราะห์หลุมระเบิดสรุปได้ว่าเป็นกระสุนปืนใหญ่ ขนาด 130 มม. ซึ่งยิงมาจากปืนใหญ่กระสุนวิถีราบ อาวุธยิงสนับสนุนหลักของข้าศึก

   
(ปืนใหญ่ ขนาด 155 มม. แบบ M71 รูปภาพจาก https://www.israeldefense.co.il/en/content/elbit-sell-six-towed-howitzers-philippines)

            ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 ได้สั่งการให้ พ.ท. อนนท์ จันทร์บาง ขึ้นเครื่องบินตรวจการณ์ทางอากาศ ทำให้เห็นกำลังของข้าศึกอยู่บริเวณชายป่าใกล้กับหมู่บ้านโนนหมากมุ่น จึงได้ขอการยิงสนับสนุนจากปืนใหญ่จากที่ตั้งยิงบ้านโคกสว่าง ปืนใหญ่ ขนาด 155 มม. ได้ทำการยิงทำลายกำลังของข้าศึกตามแนวชายป่าทำให้ข้าศึกไม่สามารถรวมกำลังได้
 
            หลังจากฝ่ายเราได้ทำการผลักดันให้ฝ่ายข้าศึกพ้นจากเขตแดนของไทยแล้ว เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2523 จากการข่าวของฝ่ายเรายืนยันว่าฝ่ายข้าศึกได้รวมกำลังบริเวณฝั่งตรงข้ามบ้านหนองจานห่างออกไปประมาณ 2 กม. เพื่อเข้าโตมตีค่ายเขมรอพยพและหน่วยกาชาดบริเวณบ้านหนองจาน ผบ.พล.ร.2 (ปัจจุบัน พล.ร.2 เป็นชื่อหน่วยเป็น พล.ร.2 รอ.) ได้เรียกประชุมเพื่อวางแผนการปฏิบัติที่ บก.ร.2 รอ. ซึ่ง พ.ท. อนนท์ จันทร์บาง ได้เสนอทำการยิงแบบพร้อมกัน ณ เป้าหมาย หรือ “ทีโอที (TOT : Time On Target)” เพื่อทำลายข้าศึกโดยใช้ปืนใหญ่จากฐานยิงต่าง ๆ จำนวน 5 ฐานยิง ดังนี้.-
                       1. ฐานยิงบ้านโคกสว่าง ร้อย.ป. ของ ป.พัน.201 ใช้ปืนใหญ่หนักกระสุนวิถีราบ 20 ขนาด 155 มม. แบบ M71 จำนวน 4 กระบอก
                       2. ฐานยิงกำเพลิง ร้อย.ป. ของ ป.พัน.201 ใช้ปืนใหญ่กลางกระสุนวิถีโค้ง 03 ขนาด 155 มม. แบบ M114 จำนวน 4 กระบอก
                       3. ฐานยิงบ้านละลมดิน ร้อย.ป. ของ ป.พัน.11 รอ. ใช้ปืนใหญ่เบากระสุนวิถีโค้ง 95 ขนาด 105 มม. แบบ M101 จำนวน 4 กระบอก
                       4. ฐานยิงบ้านโคกสูง ร้อย.ป. ของ ป.พัน.2 รอ. ใช้ปืนใหญ่เบากระสุนวิถีโค้ง 95 ขนาด 105 มม. แบบ M101 จำนวน 4 กระบอก
                       5. ฐานยิงบ้านทับควาย ร้อย.ป. ของ ป.พัน.11 รอ. ใช้ปืนใหญ่เบากระสุนวิถีโค้ง 95 ขนาด 105 มม. แบบ M101 จำนวน 4 กระบอก

            การยิงพร้อมกัน ณ เป้าหมาย เมื่อเวลาประมาณ 2400 ของคืนวันที่ 27 มิ.ย. 2523 ซึ่งมี พ.ต. สว่าง ดำเนินสวัสดิ์ รอง ผบ.ป.พัน.2 รอ. เป็นผู้ควบคุมการยิงในครั้งนั้น ผลจากการยิงสามารถทำลายการเตรียมการเข้าตีของฝ่ายเวียดนามได้อย่างสูงสุด ในวันรุ่งขึ้นจากข้อมูลด้านการข่าวฝ่ายข้าศึกสูญเสียเป็นจำนวนมากต้องใช้ รยบ.ขนาด 2 ½ ตัน ขนย้ายกำลังพลที่บาดเจ็บและเสียชีวิตถึง 40 เที่ยว เป็นการหยุดยั้งการเข้าตีของข้าศึกในยุทธการโนนหมากมุ่นโดยสิ้นเชิง ซึ่งในยุทธการครั้งนี้ ทหารปืนใหญ่ได้แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถของอำนาจการยิงสนับสนุนที่แม่นยำและรุนแรง ทำให้ข้าศึกเสียดุลยภาพของการรบ ทำให้ฝ่ายเราครองความได้เปรียบและประสบชัยชนะในที่สุด

(เครื่องบินตรวจการณ์ บ.ท.17 แบบ L-19 ที่ใช้ตรวจการณ์ทางอากาศ ภาพจาก https://www.sites.google.com/site/kongbinbao/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%A2?authuser=0)

(ปืนใหญ่ ขนาด 155 มม. แบบ M114 ภาพจาก https://weaponsystems.net/system/688-155mm+M114)

(ปืนใหญ่ ขนาด 105 มม. แบบ M101 ภาพจาก http://www.military-today.com/artillery/m101.htm)


อ้างอิง: นิตยสารทหารปืนใหญ่ ฉบับพิเศษ วันทหารปืนใหญ่ 17 ธันวาคม 2562
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่