เสน่หานางไพร ตอนที่ 8




ตอนเดิม




ตอนที่ 8

ก่อนเริ่มต้นทำการสอนเด็ก ครูใหญ่เรียกให้ชานนท์ไปเอาแฟ้มประวัติของนักเรียนชั้น ป. สี่ จำนวนสี่คน และเล่าเรื่องของเด็กแต่ละคนที่ควรรับรู้ให้ชานนท์ฟังคร่าว ๆ 

เสร็จแล้วเขาจึงเริ่มต้นงานสอนชั้น ป. สี่ ด้วยการประดิษฐ์สื่อการสอนแบบง่าย ๆ ฝึกให้เด็กได้ใช้ทักษะทางด้านความคิด รู้จักเป็นคนช่างสังเกต ส่วนชั้น ป. สาม ครูใหญ่รับเอาไปสอนเอง 

เขาวาดรูปผลไม้ต่าง ๆ แล้วให้เด็กระบายสี พร้อมกับบรรยายอะไรก็ได้เกี่ยวกับผลไม้นั้น ๆ จะบรรยายด้วยคำพูดหรือการเขียนว่าอย่างไรก็ได้ แล้วแต่เหตุผลของแต่ละคน ของใครของมัน แล้วชานนท์ก็จะสอบถามเด็กเป็นรายบุคคลอย่างเป็นกันเอง ไม่ว่าเด็กจะตอบอะไรก็จะไม่มีการถูกดุว่าตอบผิด 

“แตงโมบ้าอะไรสีแดง” หนุ่ยซึ่งนั่งด้วยกันกับโก๊ะเหล่ตามองเพื่อนที่ก้มหน้าก้มตาระบายสีแดงลงในภาพแตงโมที่ครูเลือกให้มาระบายสี

“แตงโมมันเน่า” โก๊ะตอบส่งเดช ง่วนอยู่กับการระบายสีรูปแตงโมตัวเอง ไม่หันหน้ามามองหน้าเพื่อน

“ถึงมันเน่ามันก็ไม่ใช่สีแดง มันต้องเป็นสีเขียว ๆ ดำ ๆ ต่างหาก” เด็กชายร่างอ้วนพูดขัดคอเพื่อน จ้องแตงโมสีแดงพลางส่ายหน้าอย่างไม่เห็นด้วย

“ช่างฉันเหอะน่า แตงโมข้างในมันก็เป็นสีแดงนี่นา แกไประบายสีมะม่วงของแกสิ มาดูของฉันทำไม”

โก๊ะยังเถียงข้าง ๆ คู ๆ เป็นเพราะตัวเองไม่ทันคิดต่างหากว่าจะใช้สีอะไรกับรูปแตงโมดี ชอบสีแดงก็เลยระบายลงไปเสียอย่างนั้น

“บางทีอีกร้อยปีข้างหน้า แตงโมอาจเป็นสีแดงก็ได้นะ” เด็กหญิงนงนุขเงยหน้าขึ้นจากภาพกล้วยของตัวเอง เปรยกับเพื่อนทั้งสอง 

“เดี๋ยวนี้แตงโมยังเคยมีเป็นลูกสี่เหลี่ยมได้เลย ทำไมต่อไปจะเปลี่ยนสีไม่ได้”

“แตงโมบ้าอะไรเป็นลูกสี่เหลี่ยม แกก็ว่าไปเรื่อย” หนุ่ยขมวดคิ้วพูดอย่างไม่เชื่อ เหลียวมามองเด็กหญิงที่นั่งอยู่ข้างหลังตนเอง

“มีสิ สีแตงโมอีกร้อยปีข้างหน้าเขาอาจพัฒนาให้มีหลายสีเหมือนสีรุ้งก็ได้ ให้แตงโมลูกใหญ่เท่าบ้านก็ยังได้ ใครจะไปรู้ อะไรที่เดี๋ยวนี้ไม่มี ไม่ใช่ว่าวันข้างหน้าจะไม่มีนะ”

ชานนท์ฟังเด็ก ๆ เถียงกันแล้วแอบอมยิ้ม นึกทึ่งเด็กหญิงตัวน้อยที่ช่างคิดช่างจินตนาการ นงนุชมีท่าทางเฉลียวฉลาดกว่าเด็กในวัยเดียวกัน นอกจากพูดจาโต้ตอบได้ฉะฉานเกินเด็ก แกยังคิดอะไรออกไปไกลนอกกรอบ มีความรู้รอบตัวดีมากจากความช่างสังเกต สิ่งที่นงนุชพูด ขนาดชานนท์เองยังนึกไปไม่ถึง หากเด็กหญิงโชคดีมีโอกาสร่ำเรียนสูง ๆ เหมือนเด็กข้างนอก บางทีแกอาจมีความคิดหวนกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง เพราะขณะนี้ที่คุ้มริมผา ยังไม่เคยมีเด็กนักเรียนคนไหนได้ไปเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาที่ตัวอำเภอเลยสักคน 

ส่วนโก๊ะนั้นเป็นเด็กคิดช้า สติปัญญาค่อนข้างต่ำกว่าเพื่อนทั้งสอง แต่ข้อดีก็คือเป็นคนมีน้ำใจ ไม่ชอบเอาเปรียบเพื่อน และเป็นคนปากไว พูดมาก กลับกันกับหนุ่ยที่เป็นคนพูดน้อย ชอบทำมากกว่าพูด มีนิสัยค่อนข้างมุทะลุกว่าใครเพื่อน 

“ขี้โม้ แกไปเห็นมาจากไหน” โก๊ะหันมาถามเด็กหญิงด้วยอีกคน

“ในหนังสือบ้านพี่แก้ม” นงนุชตอบทันควัน ซึ่งคำตอบนั้นทำเอาโก๊ะเบิกตาโต

“เฮ้ย! แกไปบ้านพี่ผีปอบมาอีกแล้วเหรอ”

“พี่แก้มไม่ใช่ผีปอบสักหน่อย ป้าลำดวนก็ไม่ใช่” เด็กหญิงโต้แทนคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบเสียงดัง

“ทำไมจะไม่ใช่ พ่อฉันบอกว่าหมอผีเขาจับปอบที่บ้านป้าลำดวนได้เป็นร้อยตัว”

“พ่อฉันบอกว่าป้าแกป่วยต่างหาก ไม่ใช่ผีปอบ” เด็กหญิงเถียงอีก

“ป่วยอะไรกัน กินยังกับปอบยัดแบบนั้น หน้าตาก็เหมือนผีไม่มีผิด” หนุ่ยพลอยผสมโรงเรื่องเกี่ยวกับผีปอบที่ชาวบ้านต่างร่ำลือกัน เด็กคนอื่นชะงักมือจากระบายสีรูปภาพ หันมามองสามสหายด้วยท่าทางสนใจฟัง ซึ่งดูเหมือนจะมีเพียงเรื่องนี้เรื่องเดียวเท่านั้น ที่เด็กชายทั้งสองเห็นต่าง ไม่ยอมเออออไปกับเด็กหญิงด้วยเหมือนทุกครั้ง

“ป้าลำดวนแกป่วยเป็นโรคคอพอก กับเป็นแค่โรคตุ่มคันเท่านั้น พ่อฉันยังเอายาไปให้อยู่เลย” เด็กหญิงพยายามแย้งเสียงแข็ง แต่ดูเหมือนเพื่อนทั้งสองคนจะไม่ยอมเชื่อ 

“ฉันจะไม่เถียงกับแกแล้ว แกไม่กลัวปอบมาควักไส้กินก็แล้วไป” โก๊ะทำท่าฮึดฮัดที่หาเหตุผลมาหักล้างคำพูดเพื่อนไม่ได้ พอเถียงไม่ทันเลยไม่เถียงต่อ เมื่อเพื่อนไม่กลัวปอบมากินตับ ก็ให้มันไปเจอกับตัวเองก็แล้วกัน

“เอาล่ะ ๆ ใครระบายสีเสร็จแล้ว พร้อมจะเล่าให้ครูฟังเกี่ยวกับรูปผลไม้ที่ระบายสี ก็ยกมือขึ้นเลย”

ชานนท์เองนั่งฟังเด็กทั้งสามเถียงกันเงียบ ๆ เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องของความเชื่อ สิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ก็ไม่ใช่หมายความว่าจะไม่มีอยู่จริงเสมอไป แม้แต่เรื่องของผีปอบก็ตาม แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีหลักฐานข้อเท็จจริงมายืนยันให้รู้เห็นกับตาเสียก่อน สมมุติฐานในเรื่องเหล่านั้นจึงจะได้รับความเชื่อถือ 

เขาชวนให้เด็กนักเรียนหันมาเริ่มต้นคิดตามแบบฝึกหัดที่ตนเองให้ทำ แล้วกลั่นออกมาเป็นคำพูดให้ฟัง

“แม่หนูชอบกินมังคุดมากที่สุด” เด็กหญิงสมพิศ หนึ่งในนักเรียนชั้น ป. 4 ยกมือขึ้น

“แม่หนูชอบกินมังคุดมากที่สุดเหรอครับ...งั้นเล่าเรื่องแม่ของหนูกับมังคุดให้ครูฟังหน่อยสิครับ เพราะอะไรแม่ถึงชอบกินมังคุดมากกว่าอย่างอื่นล่ะ”

“มันอร่อยดีค่ะ แต่แม่บอกว่ามันก็แพงมากด้วย พ่อเคยซื้อจากในตัวอำเภอมาให้แม่กับหนูกินครั้งหนึ่ง”

สมพิศพูดเสียงเบา ดวงตาฉายแววเศร้าของแกมองหน้าครูคนใหม่นิ่ง ได้ข่าวมาว่าพ่อของสมพิศหายตัวไปเป็นเวลากว่าปีแล้ว ทิ้งสมพิศกับน้องสาวที่กำลังเรียนอยู่ชั้น ป. 1 เอาไว้กับแม่ ครูใหญ่เล่าให้เขาฟังว่า มะลิแม่ของสมพิศเกิดโชคร้าย ร่างกายซีกซ้ายกลายเป็นอัมพาตไปเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง มะลิช่วยเหลือตัวเองได้น้อย ลูกสองคนต้องคอยช่วยหาข้าวปลามาให้กิน

“ถ้าคุณแม่หนูชอบกินมังคุด สมมุติว่าแม่ของหนูอยู่ตรงหน้านี้แล้ว หนูมีอะไรจะบอกกับแม่ไหม”

ชานนท์สะเทือนใจต่อคำพูดของเด็กหญิง เขามองดวงหน้าน้อย ๆ ของลูกศิษย์ ยิ้มอ่อนโยนให้ ก่อนลองถามความรู้สึกของศิษย์ตัวน้อยดู

“หนูอยากโตไว ๆ จะได้ไปทำงานที่ตัวจังหวัด หาเงินมาซื้อมังคุดให้แม่กินค่ะ”

เด็กหญิงสบตากันกับคุณครูของแก บอกด้วยเสียงที่สั่นพร่า น้ำตาเหมือนจะย้อยหยาดลงมาตามคำพูด ครูชานนท์ถึงกับสะอึก นึกสงสารลูกศิษย์ตัวน้อยเป็นที่สุด ชายหนุ่มนึกถึงชมรมจิตอาสาที่ตนเคยทำงานให้ ว่ามีสิ่งไหนที่พอจะช่วยเด็กน้อยได้บ้าง....

(มีต่อ)

เพิ่มเติมจากนิยาย



ในตอนแรกมีการส่งแตงโมแบบนี้ออกจำหน่าย แตงโมแบบนี้รสไม่ค่อยหวานจึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมของผู้บริโภค แต่เกษตรกร Start up ได้หาช่องทาง “ตลาดเฉพาะกลุ่ม” โดยมุ่งใช้แตงโมเหล่านี้เพื่อการตกแต่งและเป็นของกำนัล ขณะเดียวกันก็พัฒนาสายพันธุ์จนทุกวันนี้ความหวานของแตงโมสี่เหลี่ยมก็อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
 
นอกจากนี้ ในช่วงที่แตงโมสี่เหลี่ยมออกวางตลาด สื่อมวลชนของญี่ปุ่นต่างรายงานข่าวเป็นประจำยาวนานถึง 45 ปีแล้ว การสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ ทำให้เกษตรกร Start up ยุคบุกเบิกยืนหยัดได้ถึงทุกวันนี้

ขอบคุณข้อมูลจาก PPtv 36 รายงานข่าวเมื่อ 9 ก.ค. 2560
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่