การเรียนพระธรรมที่ยาก หรือการเรียนธรรมะที่ว่ายากๆกัน ไม่ได้ยากอย่างที่คิดครับ

- เมื่อได้ทบทวนคัมภีร์ปัฏฐานถึง บทที่ 6 ใน 17 บท และจะทบทวนจบบทที่ 7 ในโอกาสต่อไป ก็ทราบว่า ปัจจัย 24 ตั้งแต่ เหตุปัจจะโย จนกระทั่งถึง อวิคะตะปัจจะโย จะจบในบทที่ 7 นี้เอง

 
- คัมภีร์ปัฏฐาน ได้ชื่อว่าเรียนยากที่สุด แต่เมื่อได้อาจารย์ดี เรียกว่าได้กัลยาณมิตรที่ดี มีปัญญาเฉียบแหลม ก็ทำให้เข้าใจได้ง่ายๆทีละประเด็น ทีละประเด็น จนกระทั่งครบทุกประเด็นในคัมภีร์ปัฏฐาน เมื่อเรียนจบ บทที่ 17 ครับ
- แต่เรียนจบ พระอภิธรรมมัตตะสังคะหะ ปริเฉทที่ 8 แล้วคือเรื่องปัฏฐาน แล้ว ก็จะเจอไฮไลท์ของการเรียนเลยคือ ปริเฉทที่ 9 สมถะ และวิปัสสนากัมมัฏฐาน ครับ
- แต่ที่ยกมาสาธยายปัฏฐานเลย เพราะยากที่สุดที่จะเข้าใจแล้ว และปริจเฉทที่9 ไม่ยากเข้าใจ แต่จะเข้าใจว่าปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนี่ยากแต่เข้าใจ
- บางท่านพอเห็นก็ยังไม่เข้าใจ แต่ในการสอนของอาจารย์นี้ ผู้ที่ไม่เคยเรียนพระอภิธรรมเรื่องจิตเจตสิก รูป นิพพาน บัญญัติ มาก่อน ก็จะงงนิดๆนะครับ ดังนั้น จุดเริ่มต้นที่ดีคือ เริ่มตั้งแต่ ปรมัตถธรรม 4 ก่อนคือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน โดยวิธีการศึกษาก็เริ่มฟังจากคลิปแบบผม ฟังให้เข้าใจในแต่ละประเด็นแต่ละประเด็น เมื่อประเด็นนี้เข้าใจก็เริ่มประเด็นต่อไป ฟังแล้วหลับก็กลับมาฟังใหม่ พอประเด็นที่เผลอหลับเข้าใจแล้วก็ผ่านไปประเด็นใหม่ จากบทที่ 1 ไปจนจบบทสุดท้ายของแต่ละเรื่อง (จิต เจตสิก รูป นิพพาน บัญญัติ)ไม่ยาก แล้วก็จะมีการเรียนเรื่องวิถีจิต ซึ่งก็ไม่ยากที่จะเรียน แล้วก็มีการเรียนเรื่องปฏิจจสมุปบาทแบบข้ามภพข้ามชาติ และแบบจิตดวงเดียว มาจนถึง ปัฏฐาน และต่อไป สมถะ และวิปัสสนา 
- ความเนิ่นนานของการใช้เวลาหมดไปในการเรียนอย่างช้าๆเนิบนาบค่อยๆเข้าใจนี้ แปลกไหมทำไมที่คนที่ศึกษาพระอภิธรรม เขาถึงไม่เสียดายเวลาของชีวิตที่หมดไปอย่างมากมายอย่างนี้ เพราะมันเป็นพื้นฐานของการนับถือพระศาสนาพุทธอย่างเข้าใจ ศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาแห่งความเข้าใจตามความเป็นจริง ที่บุคคลผู้มีมิจฉาทิฏฐิหนาๆจะไม่อาจจะรับได้ ด้วยการศึกษาเรื่องจิตปรมัตถ์ เรื่องต้น ก็เป็นการปรับพื้นฐานของทิฏฐิ ให้มีสัมมาทิฏฐิมากขึ้นมากขึ้น ด้วยพระเมตตากรุณา จากอาจารย์ หรือพระอาจารย์ พระอรรถกถา โดยอ้างอิงเนื้อความในพระไตรปิฎก ที่ยากและลึกล้ำอย่างมากมายให้พอเข้าใจได้ เน้นย้ำนะครับ ให้พอเข้าใจได้ จนกว่าจะเข้าใจชัดรู้ชัดเห็นแจ้งในอริยสัจจะ4โดยรอบ3มีอาการ12อย่างหมดจด ซึ่งผลจากการศึกษาก็เกิดกุศลจิตซึ่งสามารถเผาอกุศลได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่มีกำลังพอจะเผากิเลสได้อย่างหมดจดบริบูรณ์ จนกว่าอินทรีย์จะแก่กล้า จนกระทั่งพละบังเกิดผลเผาธรรมได้จนหมดจด
- เมื่อได้เรียนด้วยวิริยะ อย่างสูง ก็แค่เป็นชาวพุทธที่ดี เท่านั้น เป็นแค่พื้นฐานเท่านั้น แต่ก็เริ่มมี สัมมามรรค เดินงานแล้ว อานิสงส์ของการเรียนพระอภิธรรม พระสุตตัน พระสูตร หรือพระไตรปิฎก ก็ทำให้เห็นพระคุณพระพุทธเจ้า 9 บท เห็นพระธรรมคุณ 6 บท เห็นพระสังฆคุณ 9 บท เท่านั้นในโลกในภพในชาตินี้แล้ว และอานิสงส์ดังกล่าวส่งผลให้ในชาติต่อๆไปก็ไม่มีวันหลงทาง เหมือนในชาตินี้เกิดมาก็หลงทางเลยแม้จะมีจิตใจใฝ่ธรรมตั้งแต่เด็ก ก็หลงทางเลย จนกระทั่งมาได้ศึกษาพระอภิธรรมนี่แหละจึงได้รู้ว่าโชคดียิ่งที่ได้เรียนและเรียนได้ง่าย แม้จะมีผู้สอนน้อย มีผู้สนใจเรียนน้อย แค่ไหนก็ตาม นับว่าเป็นอานิสงส์ของชาติก่อนๆที่ส่งผลเป็น นานักขณิกกัมมปัจจัย ให้ได้รับ และเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยด้วยความแรงกล้า
- เมื่อมีพื้นฐานดีแล้ว ก็สามารถฟังธรรมจากพระภิกษุทั่วๆไปได้อย่างชัดเจนเข้าใจมากมาย เข้าใจการทำบุญทำทานไม่ให้มีอกุศลบริวารเข้าแทรกได้ เข้าใจการรักษาศีล5ของปุถุชน เข้าใจการปฏิบัติธรรม ในเรื่องวิปัสสนากัมมัฏฐาน เวลาฟังพระสอนกัมมัฏฐานก็เข้าใจได้ง่ายๆและเข้าใจตรงกับที่ท่านสอน ขนาดนี้แล้วเมื่อมองย้อนกลับไปในกรรมตอนต้นชีวิตแล้วที่ไปรู้เรื่องพระธรรมผิดๆก็ยิ่งทำให้เห็นคุณการศึกษาพระธรรมที่ถูกต้องมากเท่านั้น
- ปัญหาชีวิตที่ถามกัน ถามซ้ำๆกันเมื่อผ่านห้วงเวลา เมื่อเรียนถึงตอนนี้ พิจารณาไตร่ตรองตามสติที่เกิดขึ้น โยนิโสมนสิการตามความรู้ที่ได้ศึกษามา อยู่ในความสงบได้ ในท่ามกลางวิกฤตการณ์ต่างๆในปัจจุบันที่เข้ามากระทบทาง ทวาร 6  ได้ด้วยสติและปัญญา และไม่ถามแล้ว แต่ก็ยังมีจะถามในธรรมะขั้นสูงๆต่อไปเมื่อถึงเวลานั้น
- การศึกษาพระธรรมไม่ได้ยากครับ เพราะมีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ครับ เมื่อศึกษาแล้วก็จะไม่เสียดายเวลาของชีวิตที่มีอย่างสั้นนัก และจะรู้เลยว่าที่ผ่านมามากมายที่ทำอะไรให้คุ้มค่าชีวิตในตอนก่อนๆที่จะศึกษาพระธรรมนั้นล้วนแล้วแต่ไร้ค่าไร้ราคาไม่มีสิ่งใดเลยที่น่าจดจดยกย่องแม้กระทั่งผลงานดีเลวชื่อเสียงลาภยศเงินทองล้วนไม่มีค่าราคาค่างวดใด มากกว่าที่จะได้อยู่ในการศึกษาพระธรรม การทำจิตให้เกิดกุศลจิตที่ปราศจากบริวารของอกุศลเช่น โลภะ โทสะ และโมหะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่