ครบรอบ 20 ปี A.I. Artificial Intelligence จักรกลอัจฉริยะ


หลังจาก สแตนลีย์ คูบริก เสียชีวิตอย่างกะทันหันในปี 1999 เขาไม่ได้จากไปโดยมีผลงานค้างคาเพียง Eyes Wide Shut (1999) เรื่องเดียว หากแต่ยังมีอีกโปรเจกต์หนังเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาร่วมกับ สตีเว่น สปีลเบิร์ก มานานถึงสิบห้าปี และไม่ใช่แค่งานงานหนึ่ง มันคือการบ่มเพาะมิตรภาพอันยาวนานระหว่างสองสุดยอดคนทำหนังแห่งยุค สปีลเบิร์กตระหนักทันทีถึงภาระที่ต้องสานให้จบ เพื่อเห็นแก่ปูชนียบุคคลที่ตนเคารพ

“นับตั้งแต่สแตนลีย์นำทรีทเมนต์มาให้ผมอ่านครั้งแรกในปี 1984 ผมก็บอกเขาว่า ‘นี่คือเรื่องราวที่ดีที่สุดที่ต้องทำออกมาให้ได้’ ” สปีลเบิร์กนึกย้อน

เวลานั้น คูบริกได้ดัดแปลงเรื่องสั้นชื่อ Supertoys Last All Summer Long เกี่ยวกับหุ่นยนต์ร่างเด็กซึ่งโหยหาความรักจากพ่อแม่ที่เป็นมนุษย์จริงๆ โดยองค์ประกอบหลักอิงมาตรงๆ โดยเฉพาะชื่อตัวละครอย่าง โมนิก้า (แม่), เฮนรี่ (พ่อ), เดวิด (จักรกลเด็ก) หรือแม้แต่หุ่นยนต์หมีเท็ดดี้ที่คอยเคียงข้าง จากนั้นคูบริกเลือกพลิกแพลงในแบบตัวเองให้เป็นเรื่องราวของพิน็อคคิโอในโลกอนาคต เมื่อเดวิดออกเสาะหานางฟ้าใจดีที่จะช่วยเป่าเสกให้ตนได้เป็นมนุษย์

ในตอนที่สปีลเบิร์ก้าวมารับช่วงต่อเป็นผู้กำกับจากเดิมนั่งแท่นอำนวยการสร้าง หลักการของเขาคือซื่อตรงต่อวิสัยทัศน์ของคูบริก ต่อให้แก้บทใหม่ในระดับรายละเอียดปลีกย่อย ทว่าโครงสร้างยังเป็นคูบริกไม่เปลี่ยน สิบห้าปีที่ถกกันแบบลงลึก สปีลเบิร์กจึงรู้ว่าคูบริกต้องการให้ออกมาแบบไหน

“วันนึงเราคุยโทรศัพท์กันทีแปดชั่วโมงจนต้องมีพักกลางวัน” เจ้าตัวกล่าว “ฉะนั้น สิ่งที่ผมใส่เข้ามาคือไอเดียตั้งต้นที่สแตนลีย์เขียนเอาไว้ทั้งสิ้น”

ทีนี้ ลูกเล่นของหนังก็อยู่ที่การเล่าผ่านมุมมองตัวละครซึ่งต่างออกไป จากตอนต้นเป็นเรื่องราวผ่านสายตาของแม่ สายตาของมนุษย์ ก็ค่อยๆ เปลี่ยนโฟกัสไปสู่มุมมองของเดวิดที่เป็นหุ่นยนต์ แล้วก็ได้เห็นท่าทีของเดวิดซึ่งเปลี่ยนไปตลอดการผจญภัย ฉะนั้น การได้นักแสดงเด็กพรสวรรค์แบบ เฮลีย์ โจล ออสเมนต์ มารับบทจึงช่วยขับเคลื่อนให้ตัวละครยิ่งหนักแน่น

“ถือว่ายากเอาการเลยครับ” ออสเมนต์ยอมรับ “ช่วงแรกต้องเจาะจงเรื่องการเคลื่อนไหว หรือการรับรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว จากนั้นจึงค่อยปรับไปตามพัฒนาการ ลดความเป็นหุ่นแล้วเพิ่มความเป็นคน”

ขณะเดียวกัน เด็กน้อยก็ได้ผู้ใหญ่มีฝีมือมาช่วยแบ่งเบา เริ่มจาก ฟรานเซส โอคอนเนอร์ ในบทแม่ที่เน้นซีนอารมณ์ ถ่ายทอดทั้งความเศร้า ความเครียด ถัดมาก็ จู๊ด ลอว์ ในคราบหุ่นยนต์หว่านเสน่ห์ การแสดงออกเป็นธรรมชาติ ปราดเปรียวและแน่นิ่งแบบเครื่องจักร

นอกจากนั้น จุดเด่นเตะตาอีกอย่างได้อยู่ที่งานโปรดักชั่น ไม่ว่าแสง สี ฉากมากมายสร้างจากวัสดุจริง ส่วนที่พึ่งพาคอมพิวเตอร์กราฟฟิคก็แนบเนียนไม่ตกยุค ทุกองค์ประกอบบ่งบอกความพิถีพิถัน ไม่บ่อยนักที่หนังดราม่าไซไฟจะมีทุนสร้างได้มากถึงร้อยล้านดอลลาร์ หากไม่พิเศษจริง

“ตลอดหลายปีนั้นสแตนลีย์ไม่เคยดึงผมไปข้องเกี่ยวกับงานไหนเลย ไม่ว่าจะ Full Metal Jacket หรือ The Shining” สปีลเบิร์กบรรยาย “จนมีเรื่องนี้ เรื่องที่เขาผูกพันที่สุด ไม่รู้เหตุผลกลใด เขารู้สึกว่าผมเหมาะสมกับงานนี้”

อย่างไรก็ตาม A.I. Artificial Intelligence (2001) ไม่ประสบความสำเร็จนักเมื่อครั้งออกฉายหลังทำเงินในสหรัฐฯได้ 78 ล้านดอลลาร์ และรวมทั่วโลกที่ 235 ล้าน อีกทั้งคะแนนวิจารณ์ก็ก้ำกึ่ง โดยมีช่วงสุดท้ายของหนังเป็นปัจจัยแบ่งแยกความเห็นออกสองฝ่ายชัดเจน หลายคนกล่าวโทษสปีลเบิร์กที่หลงทิศทาง พาให้หนังเตลิดเกินจำเป็น ทั้งที่ในความเป็นจริง นั่นคือไอเดียบทสรุปของคูบริกมาแต่แรก

หนังเรื่องนี้ต้องใช้เวลาสักพักเพื่อให้ความคิดได้ตกตะกอน มองเห็นเป็นผลงานที่อุดมด้วยคุณภาพ ทั้งความเป็นศิลป์และเนื้อหาสาระ ตั้งคำถามถึงความหมายของการเป็นมนุษย์ การมีตัวตน มีจิต มีความรู้สึก โดยเฉพาะส่วนสุดท้ายที่นำเสนอว่าจุดประสงค์การดำรงอยู่ของมนุษย์คือได้บรรลุปรารถนา ต่อให้วินาทีจากนั้นเป็นวาระท้ายสุด แต่ก็ถือเป็นการดำเนินอย่างจบครบสมบูรณ์ ยิ่งได้ดนตรีบรรเลงโดย จอห์น วิลเลียมส์ แม้ภาพที่เห็นจะชวนเศร้าหมอง แต่ก็รู้สึกได้ถึงความงามที่แท้

ที่สำคัญเหนืออื่นใด นี่คือบทบันทึกผลงานการผนวกของสองอัจฉริยะนักทำหนัง หากเดวิดไม่อาจขาดความช่วยเหลือของเท็ดดี้ฉันใด วิสัยทัศน์ของคูบริกก็ไม่อาจขาดการอุทิศตัวของสปีลเบิร์กฉันนั้น

ขอขอบพระคุณบทความจากเพจ Vintage Motion

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่