JJNY : ศบค.ส่อสัญญาณ'เอาไม่อยู่'│แฉ'ซิโนแวค'มีประวัติ'ติดสินบน'│ธุรกิจแก้เกมกำลังซื้อฝืด│ก้าวไกลจี้เร่งแก้วิกฤติโควิด

ศบค.ส่อสัญญาณ 'เอาไม่อยู่' ขอความร่วมมือ รพ.เอกชน ส่งคนมาช่วยเบ่งเตียงใน กทม.-ปริมณฑล
https://www.matichon.co.th/local/news_2795136
 

 
ศบค.ส่อสัญญาณ “เอาไม่อยู่” ขอความร่วมมือ รพ.เอกชน ส่งคนมาช่วยเบ่งเตียงใน กทม.-ปริมณฑล ใช้แพทย์จบใหม่ 2 พันคนดูแลผู้ป่วยสีเหลือง-แดง
 
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค) กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.รายงานการขยายเตียงเพิ่ม โดยกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมณฑลทหารบกที่ 11 แจ้งวัฒนะ ซึ่งเมื่อวาน (24มิ.ย.) ได้เชิญภาคเอกชนไปดูสถานที่ เพื่อปรับมาดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดง ได้แก่ รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน จะพยายามปรับเตียงสีเหลืองเพิ่ม 70 เตียง สีแดงอีก 16 เตียง, รพ.ราชพิพัฒน์ เพิ่มสีเหลือง 100 เตียง สีแดงอีก 40 เตียง และ รพ.ธนบุรี ร่วมกับมณฑลทหารบกที่ 11 เพิ่มสีเหลือง 200 เตียงและสีแดงอีก 55 เตียง โดยคาดว่าจะปรับพื้นที่ ระดมบุคลากรเข้าประจำการ และสามารถเปิดใช้ได้ในวันที่ 2 ก.ค.
 
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือจาก รพ.ภาคเอกชนทุกแห่ง เบ่งเตียง ขยายศักยภาพจำนวนเตียง และขอความสนับสนุนด้านบุคลากรทางการแพทย์ และบุคลากรด้านอื่นๆ ที่จะระดมเข้าไปช่วยเหลือเตียงที่จะเปิดใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่เครือข่ายโรงเรียนแพทย์  โดย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นำเสนอในที่ประชุมว่า จะมีแพทย์ประจำบ้านที่จบใหม่อีกประมาณ 2,000 คน ที่จะเข้ามาช่วยเหลือในเดือน ก.ค.ได้ นอกจากนี้ ยังพยายามเพิ่มศักยภาพ ขยายเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยรุนแรงใน กทม.และปริมณฑล ซึ่งจะมีรายละเอียดมานำเสนอเป็นระยะ



วอชิงตันโพสต์แฉ 'ซิโนแวค' มีประวัติ 'ติดสินบน' เจ้าหน้าที่รัฐ

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/945222
 
วอชิงตันโพสต์รายงานมาตั้งแต่เดือน ธ.ค.2563 ว่า บริษัทยา "ซิโนแวค ไบโอเทค" ของจีนมีปัญหา "ติดสินบน" เจ้าพนักงาน
 
ตามที่ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดีย เรื่องประวัติการติดสินบนของ "ซิโนแวค" หรือ ซิโนแวค ไบโอเทค บริษัทยาจากจีนที่เป็นหนึ่งในผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ไทยใช้อยู่ด้วยนั้น กรุงเทพธุรกิจ ตรวจสอบรายงานข่าวตามที่นักวิชาการรายนี้อ้าง พบว่า เว็บไซต์วอชิงตันโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2563 ระบุ ซิโนแวค ไบโอเทค ขึ้นชื่อเรื่องการนำผลิตภัณฑ์ออกวางขายในตลาด เป็นบริษัทแรกที่เริ่มทดลองทางคลินิกวัคซีนโรคซาร์สในปี 2546 และเป็นบริษัทแรกที่นำวัคซีนป้องกันไข้หวัดหมูออกจำหน่ายในปี 2552 บันทึกศาลระบุว่า ซีอีโอซิโนแวคติดสินบนคณะกรรมการกำกับดูแลยา (อย.) ของจีน เพื่อให้วัคซีนผ่านการอนุมัติ 
 
ระหว่างที่รายงานข่าวนี้เป็นช่วงที่ซิโนแวคกำลังประสานจัดหาวัคซีนป้องกันโควิดให้ประเทศกำลังพัฒนาตั้งแต่บราซิลไปจนถึงตุรกี และอินโดนีเซีย 
 
วอชิงตันโพสต์กล่าวว่า อุตสาหกรรมยาจีนมีปัญหาเรื่องการทุจริตและไม่โปร่งใสมานานแล้ว ประเทศอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จึงไม่ค่อยเชื่อถือยาที่มาจากจีน 
 
ระหว่างนั้น ซิโนแวคยังไม่เปิดเผยข้อมูลประสิทธิภาพ จึงไม่แน่ชัดว่า วัคซีนตัวนี้ปกป้องประชาชนได้เท่ากับวัคซีนของ "โมเดอร์นา" และ "ไฟเซอร์" ที่ผลการวิเคราะห์เบื้องต้นระบุว่าได้ผลกว่า 90% ได้หรือไม่
 
ซิโนแวคเองก็ยอมรับว่า ซีอีโอติดสินบน เอกสารที่ยื่นต่อคณะกรรมการกำกับดูแลระบุว่า เขาให้ความร่วมมือกับอัยการและไม่ถูกดำเนินคดี โดยซีอีโอให้การต่อศาลว่า เจ้าหน้าที่ อย.รายหนึ่งเรียกร้องเงินมาซึ่งเขาปฏิเสธไม่ได้
 
รายงานข่าวระบุว่า ซิโนแวคไม่เคยมีปัญหายาไม่ปลอดภัย และไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนที่ติดสินบนนั้นมีข้อบกพร่อง แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์จำนวนหนึ่งกล่าวว่า การต้องจับตาซิโนแวคเป็นพิเศษนั้นชอบธรรมแล้ว เนื่องจากบริษัทมีประวัติจริยธรรมย่อหย่อน
 
“ข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทมีประวัติการติดสินบนทำให้เกิดความสงสัยมาช้านานต่อข้อมูลวัคซีนที่บริษัทอ้างโดยที่ไม่มีการพิมพ์เผยแพร่และให้คนร่วมวงการตรวจสอบยิ่งเกิดโรคระบาด บริษัทที่มีประวัติจริยธรรมน่าสงสัยยิ่งต้องถูกจับตาเป็นพิเศษ” อาเธอร์ แคพแลน ผู้อำนวยการฝ่ายจริยธรรมการแพทย์ ศูนย์การแพทย์แลงโกนี มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าว
 

 
ธุรกิจแก้เกมกำลังซื้อฝืด “ยูนิลีเวอร์-สหพัฒน์” แข่งลดราคา
https://www.prachachat.net/marketing/news-696211
 
ยักษ์คอนซูเมอร์โปรดักต์ประสานเสียง โควิด-19 ลากยาว ทุบกำลังซื้อบักโกรก ตลาดแข่งเดือด กระหน่ำลดราคา 1 แถม 1 ปลุกจับจ่าย ซีอีโอยูนิลีเวอร์ ชี้ปูพรมวัคซีนหัวใจหลัก บิ๊กสหพัฒน์หวั่นมาตรการรัฐช่วยกระตุ้นได้แค่ระยะสั้น “เดอะมอลล์” ลุ้นผลฉีดวัคซีน-เปิดประเทศ ตัวช่วย ด้านสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดผลกระทบยอดซื้อต่อบิล-ความถี่จับจ่ายลดต่อเนื่อง จี้เร่งแผนฉีดวัคซีน-เยียวยาช่วยจ่ายค่าแรงพนักงาน 50% ร้านค้าฟื้นความเชื่อมั่น
 
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลากยาวมาตั้งแต่ปลายไตรมาส 1 จนถึงวันนี้ และยังไม่มีแนวโน้วว่าจะคลี่คลายลงในเร็ววัน เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกวางมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของกำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากรายได้ที่ลดลง อีกด้านหนึ่งยังส่งผลให้พฤติกรรมการจับจ่ายผู้บริโภคเปลี่ยนไป และส่งผลกระทบกับตลาดสินค้าอุปโภคและบริโภค (FMCG) ที่มีมูลค่าราว ๆ 4.42 แสนล้านบาท ที่เริ่มเห็นภาพการเติบโตหดตัวลง และหากสถานการณ์ยืดเยื้อออกไปอาจทำให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่หนักขึ้น
 
“ยูนิลีเวอร์” ลดราคาปลุกตลาด
 
นายโรเบิร์ต แคนเดลิโน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โควิด-19 ทำให้ปี 2563 ที่แล้วและปี 2564 เป็นปีที่ท้าทายและยากลำบากมากสำหรับทุกคน ขณะที่สถานการณ์ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคก็น่าเป็นห่วง เพราะในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมามีคนตกงานมากขึ้น มีร้านอาหารและร้านค้าที่ปิดตามมาตรการของรัฐ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 หรือบางแห่งต้องปิดถาวรเพราะไปต่อไม่ได้
 
รวมถึงการที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศก็ส่งผลต่อตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งจีดีพีของประเทศไทย 15-20% ขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยว ดังนั้น แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค
 
อย่างไรก็ตาม โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลหลาย ๆ โครงการได้เข้ามาช่วยทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจได้อย่างดี โดยเติมเม็ดเงินลงระบบเศรษฐกิจและช่วยคนได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย สำหรับในส่วนของยูนิลีเวอร์เองก็หันมาเน้นการลดราคาสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้คนมีความสามารถที่จะซื้อได้มากขึ้น
 
นอกจากนี้ ยูนิลีเวอร์ยังได้ปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าจะมีสินค้าเพียงพอกับความต้องการ เช่น โจ๊กข้าว ซุปก้อน ผงซักฟอก แชมพู และน้ำยาล้างจาน ส่วนสินค้าที่มีความต้องการน้อยลง อาทิ โรลออนดับกลิ่นกายก็ปรับการผลิตให้น้อยลง เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ออกจากบ้านไปทำงาน
 
“แต่หัวใจสำคัญที่จะสามารถช่วยเรื่องกำลังซื้อได้ คือการที่คนจำนวนมากได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างครบถ้วน ซึ่งจะทำให้ประเทศกลับมาเปิดได้อีกครั้งอย่างเต็มรูปแบบ ร้านอาหารและห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดได้เต็มที่ และธุรกิจสามารถเปิดได้อย่างมั่นใจ ซึ่งจะส่งผลให้มีการจ้างงานมากขึ้น คนมีกำลังซื้อมากขึ้น เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ที่เริ่มเปิดประเทศ และช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เพราะผู้คนออกไปใช้จ่าย”
 
ซื้อเฉพาะของจำเป็น-ซื้อน้อย
 
นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวในเรื่องนี้ว่า ปัญหาเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ผู้คนต้องระมัดระวังในการใช้จ่าย ทำให้บริษัทต้องเน้นการจัดโปรโมชั่นลดราคา ซื้อ 1 แถม 1 เพื่อกระตุ้นการจับจ่าย เนื่องจากผู้บริโภคลดการจับจ่ายและจะเลือกซื้อเฉพาะสินค้าที่จำเป็นและซื้อจำนวนน้อย ทำให้ยอดซื้อต่อบิลลดลง ขณะเดียวกันก็ต้องทำงานร่วมกับช่องทางจำหน่ายมากขึ้น
 
นอกจากนี้ บริษัทยังต้องปรับตัวเน้นการวางแผนการทำงานอย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่ของการผลิต สต๊อกสินค้า และการตลาด เพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน รวมถึงการลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นที่ยังต้องทำอย่างต่อเนื่อง
 
พร้อมกันนี้ นายเวทิตยังแสดงความเห็นถึงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลว่า ส่วนใหญ่เป็นมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายในระยะเวลาสั้น ๆ และหลังจากพ้นระยะเวลาที่กำหนดก็จะเริ่มเห็นอัตราการใช้จ่ายที่ลดลง อาทิ คนละครึ่ง, เราชนะ และ ม33 เรารักกัน และหลังจากพ้นระยะเวลาที่กำหนดก็จะเริ่มเห็นอัตราการใช้จ่ายที่ลดลง
 
ส่วนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มคนระดับกลางไปจนถึงระดับบนที่มีกำลังซื้อ อาจจะช่วยในแง่การกระตุ้นการซื้อให้ถี่ขึ้น และทำให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงิน สินค้าที่ได้อานิสงส์หลัก ๆ น่าจะเป็นแฟชั่น เครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์กีฬา เป็นต้น
 
“โดยส่วนตัวอยากเสนอแนะให้ภาครัฐควรหาแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อในระยะยาว ลงทุนเรื่อง infrastructure แทนการให้เงินไปเปล่า ๆ เช่น การฝึกอบรม สร้างคนให้เกิดสกิลในการทำงาน เพื่อนำไปประกอบอาชีพและสร้างรายได้ในระยะยาว”
 
ฟื้นกำลังซื้อต้องใช้เวลา
 
นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ระบุว่า ปัจจุบันภาพรวมกำลังซื้อยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่กินเวลานานกว่าครั้งแรก และส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการจับจ่ายของผู้บริโภค
 
หลายคนชะลอการจับจ่าย กำลังซื้อลดลง ขณะนี้แม้ผู้ประกอบการจะมีกิจกรรมทางการตลาดออกมากระตุ้น แต่ในภาพรวมอาจจะทำได้เพียงทรงตัวจากปีที่ผ่านมาเท่านั้น และส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องใช้เวลา
 
“สัญญาณกำลังซื้อจะฟื้นตัวเห็นได้ชัดหรือไม่ คงต้องรอดูในช่วงไตรมาส 4 หรือต้นปีหน้า หลังการฉีดวัคซีนที่มีความครอบคลุม และการเปิด sandbox ในหัวเมืองท่องเที่ยว ว่าสามารถทำได้ตามแผนหรือไม่”
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก และการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายผู้บริโภคประจำเดือนพฤษภาคมว่า แนวโน้มผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่าย ซึ่งมีผลต่อยอดซื้อต่อบิล และความถี่ในการจับจ่ายลดลงอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มการใช้จ่ายลดลงเกือบทุกภูมิภาคและเกือบทุกช่องทางประเภทร้านค้าปลีก
 
โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกรวมลดลงอย่างต่อเนื่องจากเดือนเมษายน สอดคล้องกับภาวะการค้าปลีกที่ลดลงตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่รุนแรงขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อการเติบโตยอดขายสาขาเดิม เดือนพฤษภาคมมีทิศทางที่ลดลงต่อเนื่อง ที่เป็นการลดลงทั้งยอดซื้อต่อบิลและความถี่ในการจับจ่าย ผู้ประกอบการกังวลถึงกำลังซื้อที่ลดลงและยังไม่ฟื้นตัวดี
 
นอกจากนี้ สมาคมค้าปลีกยังมีข้อเสนอต่อภาครัฐ ในการเร่งแผนการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงเพื่อฟื้นความเชื่อในการจับจ่ายผู้บริโภค การเร่งรัดมาตรการเยียวยาช่วยจ่ายค่าแรงพนักงาน 50% แก่ร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ตามประกาศภาครัฐ รวมถึงการเร่งรัดธนาคารพาณิชย์ประสานงานกับห้างค้าปลีกพิจารณาสินเชื่อซอฟต์โลนแก่คู่ค้าซัพพลายเออร์ ไมโครเอสเอ็มอี ตามโมเดล sand box สมาคมผู้ค้าปลีกไทย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่