!!...ประเทศไทย หลังโควิด โดย ดร นิเวศน์ ...... บทความที่ผมอยากให้ได้อ่าน ..!!

กระทู้คำถาม
อวสานของโควิด 19  -  อนาคตของประเทศไทย

ในวันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน 2564- ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ประเทศไทยก็จะเริ่มมีการ “ระดมฉีด”วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับประชาชนทั้งประเทศและจะทำต่อเนื่องจนคนทั้งประเทศมี “ภูมิคุ้มกันหมู่” ที่จะป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรน่าที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำลงจนกลายเป็น “วิกฤติ” ตั้งแต่ต้นปี 2563 ตามแผนการที่กำหนด คาดว่าภายในสิ้นปีนี้หรืออย่างช้าก็น่าจะภายในกลางปีหน้า กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวเดินทางจะกลับมาเป็นปกติ และ GDP หรือ ผลผลิตมวลรวมของประเทศก็น่าจะกลับมามีขนาดเท่าเดิมก่อนเกิดโควิดภายใน 1 ปีหลังจากนั้น หรือกล่าวโดยสรุปก็คือ โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทย “หายไป” หรือหยุดนิ่งไปประมาณ 3 ปี โดยที่การฟื้นตัวหลัก ๆ จะเกิดขึ้นในปี 2565 โดยในวันสิ้นปี 2565 หรือกลางปี 2566 สภาพหรือโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยน่าจะใกล้เคียงกับวันสิ้นปี 2562 นั่นคือ
เราจะมีภาคอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกสินค้า “ยุคเก่า” เช่นรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในและอุตสาหกรรมที่เป็น “เทคโนโลยีเก่า” ที่เน้นแรงงานเหมือนเดิม มีภาคเกษตรกรรมที่อิงอยู่กับการใช้ที่ดิน เครื่องจักร และแรงงานของคนสูงอายุ ที่อิงอยู่กับเทคโนโลยีดั้งเดิม และเราก็จะยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว “ยอดนิยม” ที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกโดยเฉพาะจากจีนจำนวนประมาณ 40 ล้านคนซึ่งจะกลับมาเที่ยวประเทศไทยอีกครั้งหลังจากที่ต้องอยู่แต่ในประเทศของตนเองมานานอย่างน้อย 2-3 ปี การเกิดขึ้นของโควิด-19 ที่ผู้เชี่ยวชาญต่างก็บอกว่าโลกจะ “ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” นั้น อาจจะไม่ใช่สำหรับประเทศไทยในวันสิ้นปี 2565 สามปีที่ผ่านไปนับจากวันเกิดการระบาดของโควิด-19 นั้น อาจจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลยในประเทศไทยยกเว้นพฤติกรรมบางอย่างเช่น การซื้อสินค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ตมากขึ้นและการทำงานบางอย่างผ่านทางเครื่องมือสื่อสารที่จะอยู่กับเราต่อไปหลังจากโควิด-19

อนาคตของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2566 จะไปทางไหน? นี่เป็นคำถามสำคัญที่เราจะต้องตอบ เพราะถ้าเราไม่ทำอะไรที่แตกต่างออกไปจากสิ่งที่เราเป็นอยู่ในวันนี้ ผมคิดว่าอนาคตของประเทศจะ “มืดมน” เพราะสิ่งที่เราทำอยู่นั้น กำลัง “ล้าสมัย” อย่างรวดเร็ว เอาแค่รถยนต์ใช้น้ำมันที่ทั่วโลกต่างก็จะเลิกใช้ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้านั้นก็อาจจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมของเรา “เซ” ไปได้แล้ว ไม่ต้องพูดถึงอุตสาหกรรม “ไฮเท็ค” อย่างเครื่องมือสื่อสารหรืออิเล็คโทรนิคที่เราถูก “ผ่าน” ไปยังประเทศที่เป็นแหล่งลงทุนใหม่ ๆ อย่างเวียตนามเพราะความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ดูเหมือนจะถดถอยลงไปเรื่อย ๆ
สินค้าด้านการเกษตรซึ่งเคยเป็น “กระดูกสันหลัง” ของไทยตั้งแต่ช่วงสมัยที่ผมยังเป็นเด็กเองนั้น สิ่งที่เราทำอยู่ในปัจจุบันก็ดูไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักยกเว้นการใช้เครื่องทุ่นแรงที่มีการใช้เกือบเต็มเท่าที่ทำได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องสำคัญก็คือรูปแบบและแนวคิดในการทำงานดูเหมือนจะไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก คนไทยก็ยังปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ด้วยที่ดินส่วนตัวหรือพื้นที่เช่าขนาดเล็กซึ่งก็มักจะไม่มี “Economies of Scale” หรือการประหยัดเนื่องจากขนาดซึ่งจะทำให้มีประสิทธิภาพในการผลิตสูง แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ เกษตรกรขาดความรู้สมัยใหม่ทั้งทางด้านของตัวสินค้าและความรู้ในด้านของการผลิตยุคใหม่ที่เน้นในด้านของเทคโนโลยีโดยเฉพาะด้าน AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่จะสามารถดูแลและควบคุมการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงวันนี้เราก็ยังเน้นการปลูกพืชที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำเช่นข้าวธรรมดาแทนที่จะเป็นแบบออร์แกนนิค หรือเลี้ยงกุ้งในแบบเดิมที่นับวันจะแข่งขันไม่ค่อยได้กับประเทศที่กำลังพัฒนาขึ้นมาใหม่ ๆ 
ในด้านของการท่องเที่ยวที่เป็นภาคเศรษฐกิจหลักที่ค่อนข้างใหม่ของไทยนั้น ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมานั้นเราได้อานิสงค์มหาศาลจากประเทศจีนที่คนร่ำรวยขึ้นมากจนมีความสามารถและได้รับอนุญาตจากรัฐให้ออกมาเที่ยวต่างประเทศได้เต็มที่ นั่นประกอบกับการที่ประเทศไทยมีองค์ประกอบในการแข่งขันค่อนข้างดีมากทำให้การท่องเที่ยวก้าวขึ้นมาเป็น “กระดูกสันหลังอันใหม่” ทางเศรษฐกิจของไทยอย่างรวดเร็ว และเมื่อโควิด-19 ผ่านไป ผมคิดว่าการท่องเที่ยวจากต่างชาติจะกลับมาอย่างรวดเร็ว และเราจะต้องทำทุกอย่างให้มั่นใจว่าจะสามารถรับ “คลื่น” ของการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นทันทีที่โลกและประเทศไทยพร้อมที่จะเดินทาง อย่างไรก็ตาม หลังจากการพุ่งขึ้นของการท่องเที่ยวที่จะมาอย่างรุนแรงแล้ว ประเทศไทยก็จะต้องคิดถึงความ “ยั่งยืน” ของการท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากต่างประเทศเพื่อที่จะใช้การท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไปอีก อาจจะเป็นสิบ ๆ ปี เพราะนี่คือภาคเศรษฐกิจที่ไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขัน

การที่จะเปลี่ยนแปลงภาคเศรษฐกิจของประเทศเพื่อที่จะทำให้ไทยมีการเติบโตของ GDP ต่อไปในอนาคตจนกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้นั้น ผมคิดว่าเราไม่สามารถ “ทำแบบเดิม” ได้อีกต่อไปในสถานการณ์โลกปัจจุบัน พูดง่าย ๆ เราไม่สามารถพัฒนาไปได้มากกว่านี้ด้วยเทคโนโลยีและความคิดแบบเก่าแบบเดิมได้ และเราก็ไม่สามารถทำเพิ่มขึ้นได้โดยการเพิ่มกำลังคนเนื่องจากแรงงานของเราไม่เพิ่มแล้วและแถมแก่ตัวลง วิธีที่เราจะทำได้ก็คือการคิดและทำใหม่ ในอดีตนั้น ผมไม่เคยเชื่อว่ารัฐหรือรัฐบาลสามารถผลักดันหรือสนับสนุนให้เกิดขึ้นได้ การพัฒนาตลอดมาตั้งแต่ที่ผมเป็นเด็กนั้นส่วนใหญ่เกิดจากภาคเอกชน ข้อดีของรัฐบาลในขณะนั้นก็คือ ไม่ขวางการพัฒนาและเข้ามาสนับสนุนเอกชนซึ่งรวมถึงต่างชาติให้ทำธุรกิจตามความต้องการของ “ตลาด” รัฐอาจจะบอกว่าเรามี “แผนพัฒนาเศรษฐกิจ” มาตลอดเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว แต่ผมคิดว่าแต่ละแผนก็แค่ต่อเส้นกราฟออกไปจากของเดิม ไม่ได้มียุทธศาสตร์อะไรที่เป็นของใหม่จริง ๆ 
แต่สำหรับครั้งนี้- หลังวิกฤติโควิด-19 ผมคิดว่าถ้าจะให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ เราจะต้องมาคิดกันอย่างจริงจังถึงยุทธศาสตร์ของประเทศไทยว่าจะไปทางไหน อย่าบอกว่าจะไปทุกทางเพราะนั่นเหมาะเฉพาะสำหรับประเทศที่ยังจนอยู่ ทุกอย่างยังเล็ก หลายภาคส่วนเพิ่งจะเริ่มต้นพัฒนาหรือเริ่มโต และนั่นก็คงคล้าย ๆ กับสถานการณ์ที่เวียตนามที่คนมักถามว่าจะลงทุนในหุ้นกลุ่มไหนดี ซึ่งผมก็มักจะบอกไปทุกครั้งว่าทุกเซคเตอร์ก็ยังโตหมด ไม่มีกลุ่มไหนที่อิ่มตัว แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว เซคเตอร์ใหญ่ ๆ ทั้งหมดดูเหมือนว่าจะอิ่มตัวแล้วในรูปแบบ “เศรษฐกิจเก่า” การที่จะสร้างการเติบโตต่อไปได้ เราจะต้องรุกเข้าไปในบางจุด ไม่ใช่ทุกจุด เพราะถ้าเราทำทุกจุดเท่า ๆ กัน ทรัพยากรจะไม่พอ เราต้องเลือก และเมื่อเลือกแล้ว ก็ต้องทุ่มความคิดและทรัพยากรเข้าไป การที่จะเดินหน้ารอบนี้ไม่ง่ายและผมคิดว่าจำเป็นที่จะต้องมีนักคิด มีผู้นำ มีการจัดเป็น “วาระแห่งชาติ” โดยคนที่เข้ามาร่วมต้องมาจากทุกภาคส่วน และแน่นอนต้องมีรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง ต้องมีพรรคและนักการเมืองที่จะทำ
ตัวอย่างของสิงคโปร์เป็นโมเดลที่น่าสนใจมากในแง่ที่ว่าเขาสามารถเปลี่ยนจาก “เศรษฐกิจเมืองท่า” ซึ่งจะเติบโตได้จำกัด กลายเป็น “Financial Hub” หรือศูนย์กลางทางการเงินโลก เปลี่ยนเป็นเมือง “ไฮเท็ค” ซึ่งจะเป็นแหล่ง Startup ที่สำคัญสำหรับคนย่านนี้ และสิ่งที่เป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ดังกล่าวก็คือ คุณภาพของคนหรือการศึกษาที่จะมารองรับ และนั่นก็ทำให้สิงคโปร์สร้างมหาวิทยาลัยชันนำของประเทศให้กลายเป็นมหาวิทยาลัย “ระดับโลก” ได้สำเร็จภายในเวลาไม่กี่สิบปี สำหรับรัฐบาลสิงคโปร์แล้ว แม้แต่การพูดภาษาอังกฤษให้ได้สำเนียงที่ดีก็ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการสร้างประเทศให้เป็น Hub หรือศูนย์กลางของหลาย ๆ สิ่งที่สำคัญของโลก
ถึงนาทีนี้ ผมเองก็ไม่ได้หวังว่าประเทศไทยจะสามารถทำอย่างที่กล่าวได้ยกเว้นว่าจะมี “ปาฏิหาริย์” ดูเหมือนว่าสังคมไทยยังไม่พร้อมในหลาย ๆ ด้านโดยเฉพาะทางการเมือง เอาแค่เรื่องของงบประมาณที่ใช้ในแต่ละปีนั้นก็ไม่ตอบโจทย์อะไรเลย ดูเหมือนว่างบประมาณที่ได้ของแต่ละหน่วยงานจะขึ้นอยู่กับอำนาจของเจ้ากระทรวงหรือพรรคการเมืองเป็นหลักและก็ทำแบบ “เทียบกับงบปีที่แล้ว” มากกว่าที่จะดูว่างบนั้นจะสนับสนุนนโยบายหรือยุทธศาสตร์อะไรที่จะนำพาประเทศให้ก้าวหน้าไปในอนาคต ดังนั้น ผมเองต้องตั้งสมมุติฐานว่าอนาคตของประเทศไทยนั้น จนถึงสิ้นปี 2565 หรือกลางปี 2566 เราคงกลับมาที่เก่าได้ แต่หลังจากนั้นแล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน เวลาลงทุนผมก็จะคิดว่าตลาดหุ้นคงจะถึงจุดสูงสุดในวันใดวันหนึ่งก่อนหน้านั้น คือดัชนีตลาดหลักทรัพย์อาจจะไปถึง 1,800 หรือ 2,000 จุด แต่นั่นก็อาจจะเป็น “ก๊อกสุดท้าย” ถ้าไทยไม่สามารถปรับตัวเพื่อต่อสู้ใน “โลกยุคใหม่” ได้

------------------


อนาคตของประเทศ  อยู่กับ เราทุกคนนะครับ

สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 1
ผมล่ะเป็นห่วงรุ่นลูกหลาน เรา    

แพ้สิงคโปร    มาเลย์  และ ตอนนี้ กำลังโดนเวียดนามแซง  

ที่สำคัญคือ ผู้บริหารประเทศ มองๆไป ยังหาที่เป็นที่พึ่งไม่ได้เลย  

คนดีๆ ไม่กล้าเข้ามา
ความคิดเห็นที่ 15
มันอาจจะดูมืดมน  แต่ผมยังเชื่อว่า หากเรามองไปที่อนาคตของประเทศเป็นที่ตั้ง  พยายามเดินไปทางเดียวกัน  มันคงจะดีขึ้นเรื่อยๆ  

ถ้าผมคิดไม่ผิด  เราจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง จากการบริหารงานของมืออาชีพ ในเมืองหลวง และ นำสู่การส่งเสริมมืออาชีพมาบริหารประเทศ  

ความคิดเห็นที่ 7
ถือไฟฉาย   หาเทียนติดกันไว้เองเถอะ


อนาคตประเทศ     มองไม่เห็น

จากข่าว  ติดคุกเมืองนอก ค้ายา

คือไม่ผิดกฏหมายไทย

ศีลธรรมเสิ่อม  ประเทศจำดีได้ยังไง


มัน  คือ แป้ง


...





ไม่ล้มเหลว ไม่ทำผิดพลาด  แค่ เอามา จัดรูปแบบใหม่
ความคิดเห็นที่ 19
มุมมองผม ให้มีโควิด หรือไม่มีโควิดไทยก็ยังดำเนินไปแบบไทยๆ ไทยเราผิดทางมาหลายสิบปีแล้ว จะมุ่งไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมก็ไปไม่สุด เอากำลังแรงงาน 30% กว่าไปลงภาคเกษตร ที่สร้างมูลค่าไม่ถึง 10% ของ GDP เพราะความเชื่อผิดๆ ที่อยู่ในหนังสือเรียน และสือโบราณ (คนทำสื่อแกๆ) ที่สอนเด็กว่า ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ข้าวเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ไม่มีชาวนาคนไทยอดตาย

สมัยเปิดประเทศให้มีการค้าขายกับต่างชาติ ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แน่นอนว่าไม่มีสินค้าอุตสาหกรรมอะไรไปส่งออก ก็มีแต่ข้าวเป็นหลัก ข้าวมีมูลค้าส่งออกสูงสุด หลังไทยค่อยๆ เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ อุตสาหกรรมเกิดขึ้น และค่อยๆ เพิ่มขึ้น สินค้าส่งออกจากภาคอุตสาหกรรมค่อยมากขึ้นจนแซงข้าว และยิ่งทิ้งห่างแบบไม่เห็นฝุ่นเมื่อเวลาผ่านไป

จากกระดูกสันหลังของชาติ กลายเป็นภาระของชาติแทน เพราะในแต่ละปีรัฐบาลต้องใช้เงินภาษีไปอุ้มราคาข้าว ยางพารา อ้อย มัน และพืชผลทางการเกษตรต่างๆ จำนวนไม่ใช่น้อย  แทนที่จะนำเงินไปต่อยอดพัฒนาประเทศ

ความเห็นส่วนตัวผม เลิกเถอะในหนังสือเรียนประถมที่บรรยายถึงชาวนา เกษตรกรไทย มันทำให้เด็กรุ่นหลังๆ เข้าใจผิด และไปให้ความสำคัญผิดๆ รวมถึงสื่อโบราณที่ชอบออกมาให้ข้อมูลผิดๆ

30% กว่าของงานที่สร้างมูลค่าไม่ถึง 10% ถ้าภาคแรงงานเหล่านี้ย้ายไปยังงานอื่นสัก 20% (เหลือ 10% กว่า) ที่สร้างมูลค้ามากกว่า ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา GDP ไทยคงมีมูลค่าสูงกว่านี้อีกพอสมควร

ทุกวันนี้การช่วยเหลือเกษตรกรกลายเป็นเครื่องมือสร้างคะแนนนิยมของนักการเมืองไปแล้ว  เป็นการสร้างคะแนนแบบไม่ต้องควักเงินตัวเอง อย่างนี้ใครบ้างไม่อยากทำ  การเข้าไปอุ้มตลอดมันทำให้เกิดความผิดเพี้ยนของกลไกตลาด ว่าควรผลิตอะไร ผลิตเท่าไหร่ และผลิตเพื่อใคร  เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ไม่เกิดประสิทธิผล

แก้ตอนนี้ทันไหม ?

อายุชาวนา หรือเกษตกร คิดว่าจำนวนน่าจะไม่น้อย ตอนนี้ใกล้เข้าสู้วัยชราแล้ว การปรับตัวคงเป็นไปได้ยาก

สำหรับรัฐบาลมีส่วนอย่างมากในการพัฒนาประเทศ  ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไป  ไม่ใช่ว่าไม่มีบทบาทเลย  แม้ว่านโยบาย และการส่งเสริมในเรื่องเศรษฐกิจจะไม่ชัด  แต่ถ้าสามารถจัดการปัญหาสังคม กฎหมาย การทุรจริต และสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่พอเหมาะ มันก็ช่วยพัฒนาประเทศได้อีกทางหนึ่ง  แต่ทุกวันนี้ปัญหาสังคมมันหนักมาก ยาเสพติดเกลื้อนเมือง อบายมุขทุกรูปแบบมีอยู่ในทุกแพลตฟอร์ม ถ้าคนไปติดพวกนี้การทำงานทำการก็ด้อยประสิทธิผล หนักหน่อยทำงานแบบทำๆ หยุดๆ  หรือติดหนักไม่ทำงานทำการ เป็นปัญหาสังคม อย่าง จี้ปล้น ขโมย ฆ่า ขมขื่น มั่วสุม มอมเมา  มันก็ยิ่งมากตาม

ทุกวันนี้ผมไม่หวังการเปลี่ยนแปลงว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย เพราะเชื่อว่ารัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นทหาร หรือนักการเมือง เข้ามาบริหารประเทศมาจากความต้องการของประชาชน ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนแบบไหนก็ต้องการรัฐบาลแบบนั้นแหละ

เปลี่ยนได้หรือไม่ได้ ผมเชื่อว่ามันอยู่ที่ต้นทาง คือ คุณภาพประชากร ไม่ใช่นักการเมือง ทหาร หรืออะไรก็แล้วแต่  ปลูกต้นมะม่วงก็ย่อมต้องได้ผลมะม่วง ไม่มีหรอกที่จะเป็นทุเรียน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่