(เกร็ดหนังและละครเก่า) ตุ๊กตา 2531

กระทู้สนทนา


นวนิยายตุ๊กตา

บทประพันธ์ของคุณ วาณิช จรุงกิจอนันต์ 

พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสตรีสารรายสัปดาห์  สิงหาคม-ธันวาคม 2530

แก่นเรื่อง (แนวคิด) คือผู้เขียนต้องการสะท้อนเสียดสีสังคมเชิงสัญลักษณ์  (Satire, Social reflection) ซึ่งสะท้อนระบบทุนนิยม ความไม่เท่าเทียมในสังคม และการกดขี่แรงงาน ส่วนการดำเนินเรื่องในนวนิยายจะดำเนินเรื่องแบบระทึกขวัญ (Thriller)  เหมือนจะหลอกคนดูให้คนดูติดปมบางอย่างว่าตุ๊กตานี้มีผีสิงหรือไม่  ให้ติดตามปมนี้ไปจนถึงตอนจบ จึงจะเข้าสู่แนวคิดของผู้เขียนว่าต้องการสื่อถึงอะไร ผู้เขียนให้เด็กที่ถูกใช้แรงงานและตุ๊กตาเป็นตัวแทนของสัญญลักษณ์แห่งการกดขี่ พลังจิตและเสียงร้องขอความช่วยเหลือคือการเรียกร้องให้รัฐช่วยแก้ปัญญา ไม่ใช่เรื่องของภูตผีวิญญาณแต่อย่างใด  

ตุ๊กตา 2531 จึงเป็นนวนิยายที่ทันสมัยมาก เอาปัญหาของสังคมในตอนนั้นไปใส่กับการดำเนินเรื่องที่ระทึกขวัญชวนติตาม แต่กลับคลายปมตอนจบด้วยการสะท้อนสังคมได้อย่างน่าทึ่ง

สำหรับการเขียน คุณวาณิชก็เขียนได้ดีมาก เข้าถึงอารมณ์ผู้อ่านสุดๆ ผมอ่านนิยาย ดูหนัง ละครมาไม่รู้กี่เรื่อง ไม่เคยมีเรื่องไหนที่ร้องไห้ แต่กลับมีเรื่องนิยายเรื่องตุ๊กตานี่ล่ะที่ผมอ่านตอนจบแล้วนํ้าตาตกเลย เพราะสงสารมาก ๆ   หน้าที่ผมสแกนมานี่ล่ะครับ




 
เมื่อนวนิยายตุ๊กตาถูกนำมาทำเป็นละคร

ละครเรื่อง ตุ๊กตา (2531) 

ออกอากาศทางช่อง 7 พุธ-พฤหัสบดี 21.00-22.00  

ระยะการออกอากาศ 2 มีนาคม 2531 - 5 พฤษภาคม 2531

ความยาว 20 ตอนจบ ยาวตอนละ 1 ชั่วโมงรวมโฆษณา 
(ถ้าเทียบความยาวละครหลังข่าวปัจจุบันรวมโฆษณา 2 ชั่วโมงก็ = 10 ตอนจบ)

ผลิตโดย ดาราวิดีโอ
บทประพันธ์ของคุณ วาณิช จรุงกิจอนันต์ 
บทโทรทัศน์ โดย ครูยุ่น-ยิ่งยศ ปัญญา
กำกับ จรูญ ธรรมศิลป์

นำแสดงโดย
นิรุตต์ ศิริจรรยา  รับบท พันชั่ง
 มยุรา เศวตศิลา รับบท สุวภาพ
พงษ์ลดา พิมลพรรณ รับบท แม่ของสุวภาพ
น้ำอ้อย ไกรอาบ รับบท ครูอัจฉรา
ด.ญ.‪กัญญาลักษณ์ บำรุงรักษ์ รับบท บูรณา
ด.ญ.มารยาท คำนึงเนตร รับบท พรรษา

ปี 2531  ผมได้นั่งดูละครเรื่องนี้หน้าจอทีวีกับพี่สาวทุกตอน ถ้าจะไม่เอาความประทับใจมาบอกให้คนรุ่นหลังได้ทราบก็กระไรอยู่  เพราะไม่อยากให้ความรู้สึกที่มีต่อละครดีๆนี้สูญหายไปกับกาลเวลา เรื่องที่ผมจะเล่าให้ฟังมีดังนี้ครับ



บทละครตุ๊กตา 2531 

เป็นแนว mystery,  suspense, Thriller,  Social reflection

บทโทรทัศน์เขียนโดย ครูยุ่น-ยิ่งยศ ปัญญา  ถ้าจะถามว่าบทดีไหม ผมตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำเลยว่าบทดีมาก ๆ  เป็นบทละครไทยที่เขียนได้เหมือนบทซีรีส์ฝรั่ง ความคิดลํ้าหน้าละครยุคนั้นมากและยังทันสมัยกว่าละครหลาย ๆ เรื่องในยุคนี้  เพราะครูยุ่นเขียนให้เป็นละครแนวลึกลับชวนหาคำตอบ (mystery)  และยังให้ผู้ชมได้ลุ้นระทึก ด้วยการผูกปมปริศนาไว้ให้อยากติดตามตั้งแต่แรก เพราะไม่ได้บอกว่าตุ๊กตามาจากไหน มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมถึงต้องมาบอกว่า “หนูอยากกลับบ้าน” ทำให้คนดูเกิดความอยากรู้อยากเห็น อยากติดตามค้นหาคำตอบ (suspense)   และละครเรื่องนี้มีการดำเนินเรื่องแบบระทึกขวัญ (Thriller) โดยเล่นกับความรู้สึก อารมณ์หลอนของผู้ชมได้อย่างดี ให้คนดูสงสัยด้วยว่าตุ๊กตานี้มีผีสิงหรือเปล่า สำหรับแก่นเรื่อง (แนวคิด) ตามนวนินายคือการสะท้อนสังคมนั้น (Social reflection) ครูยุ่นก็ไม่ได้ทิ้งเลย เพราะยังมีการสืบสวน สอบสวน  มีการไต่ระดับความพีคของการสืบ จนทลายโรงงานนรกได้สำเร็จ และตอนจบก็ได้เห็นปัญหาสังคมในปี 2531 เพราะโรงงานนรกคือปัญหาใหญ่ที่ผมเห็นข่าวตำรวจทลายโรงงานนรกเดือนละหลายครั้งตามหน้าหนังสือพิมพ์  เรียกว่าสร้างละครได้เข้าสถานการณ์มาก ๆ 


 
 ตัวละคร

ครูยุ่นเขียนให้มีตัวละครตามนวนิยายเลยล่ะ  ซึ่งมีตัวละครเพียงไม่กี่ตัว ตัวเด่นๆหลักๆก็คือสุวภาพและน้องบูรณา พันชั่ง น้องพรรษา  แม่ของสุวภาพ กอง บทจะตกหนักที่สุวภาพ และบูรณา  โดยให้เรื่องเกิดขึ้นที่บ้านของทั้งสองแม่ลูกนี้ทุกตอน แต่แปลกนะที่ละครไม่น่าเบื่อเลย เอาคนดูอยู่ได้ ถึงละครจะไม่มีตัวตลก  ไม่มีตัวร้าย แต่ก็ตรึงคนดูให้อยู่หน้าจอได้ตลอด นี่คือการเขียนบทที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ 

 มีบางคนบอกว่าอาจจะเพราะละครออกอากาศแค่ตอนละ 1 ชั่วโมง เพราะเดี๋ยวก็จบตอน คนดูได้ผ่อนคลายแล้ว วันต่อมาค่อยต่อตอนใหม่  คนดูเลยไม่เบื่อไง แต่ผมว่าไม่จริง ต่อให้เอาบทละครตุ๊กตาปี 2531 มาทำในปี 2564 ยาวตอนละ 2 ชั่วโมงก็ยังสนุก ทันสมัย ไม่น่าเบื่อแน่นอน 
 
มีผีไหม

ไม่มีผีออกมาเลย แต่หลอน เพราะได้ยินเสียงพูด “แม...เออ...นังล๊อบเปอะเตีย”   บางทีก็ได้ยินเสียงเดิน  แค่นี้ก็เล่นเอาคนดูหลอนจนขนลุกแล้ว ก็ต้องขอชื่นชมทั้งคนเขียนบทและผู้กำกับ รวมทั้งคนตัดต่อที่เล่นกับอารมณ์หลอนของผู้ชมได้อย่างดี ผมว่าอะไรที่มองไม่เห็นตัวตนน่ากลัวกว่าเห็นตัวอีกนะ  ความหลอนที่มีปริศนานี้ถึงกับมีคนเขียนจดหมายไปถามช่อง 7 ว่าตุ๊กตาเป็นผีหรือเปล่า ทางช่อง 7 เลยตอบว่าให้ผู้ชมติดตามดูตอนจบเอาเองแล้วจะทราบ 
 


พี่ตุ๊กตาน่าสงสารมาก ๆ 

ตุ๊กตา 2531 ไม่ได้เป็นวิญญาณหรือผีเฮี้ยนไปหลอกใครต่อใครนะ เพราะว่าเธอส่งแค่พลังจิตมาร้องขอความช่วยเหลือ   ผมยังจำฉากที่สุวภาพคิดว่าตุ๊กตามีผีสิงเลยจะเอาไปทิ้ง สุวภาพพูดว่า “แกไม่มีวันจะทำอะไรลูกสาวฉันได้ ฉันไม่สนว่าแกจะเป็นอะไร แต่แกอยู่ร่วมบ้านกับฉันไม่ได้ ฉันจะเอาแกไปทิ้ง” พอตุ๊กตารู้ว่าจะถูกนำไปทิ้งก็ร้องไห้น้ำตาไหลออกมา ผมชื่นชมการถ่ายทำสมัยนั้นนะ ไม่มีซีจี ไม่มีอะไรช่วยแต่กลับทำตอนตุ๊กตาน้ำตาไหลได้ดี ส่วนคุณตั๊กที่สวมบทสุวภาพก็เล่นแบบอินเนอร์มาเต็ม ฉากนี้เด็ดจริงๆ แค่ฉากเดียว ผมอยากจะมอบรางวัลให้คุณตั๊กไปเลย มีข่าวว่าว่าคนดูร้องไห้ฉากนี้เพราะสงสารพี่ตุ๊กตากันเยอะเลยล่ะ จากนั้นสุวภาพก็เอาตุ๊กตาไปทิ้งที่ห้องน้ำหญิงในปั๊มน้ำมัน แต่ปรากฏว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งเดินตามมาแล้วยื่นตุ๊กตาให้พร้อมบอกว่า “คุณลืมของค่ะ” สุวภาพ กล่าวขอบคุณค่ะ แล้วยิ้มแหยๆ ในที่สุดก็ต้องเอาตุ๊กตากลับมาคืน
 
ยิ่งตอนใกล้จบที่ตัวละครหลักต้องนั่งรถไปโรงงานตุ๊กตาเพื่อไขปริศนา พอไปถึงโรงงานพี่ตุ๊กตาก็กลัวจนไปมุดใต้เบาะ รถน้องบูเอ่ยว่า ”พี่ตุ๊กตากลัว” ฉากนี้คือขยี้อารมณ์ คนดูได้สุดๆ 

ส่วนตอนจบก็ทำได้ดีมาก ฉากทลายโรงงานตุ๊กตา แต่ไปช่วยพี่ตุ๊กตาไม่ทัน  ลองคิดดูว่าคนดูจะรู้สึกเศร้าและสงสารตัวละครตัวนี้เพียงใด



นักแสดง

แคสนักแสดงได้ตรงบทประพันธ์มาก ในนวนิยายบรรยายว่าสุวภาพอายุ 31 ผมว่าพี่ตั๊กมยุรานั่นล่ะเหมาะสุด  เพราะอายุของพี่ตั๊กก็ 31 พอดี เธอเหมือนเดินออกมาจากนิยายเลย เพียงแต่ในละครได้ปรับให้สุวภาพมีความมั่นใจในตัวเองและเก่งกล้ามากว่าในนวนิยายขึ้นมากทีเดียว  ส่วนอาหนิงนิรุตติ์ ศิริจรรยาก็เหมาะบทพันชั่งที่สุดแล้ว เพราะในนวนิยายเขียนให้ตัวละครนี้อายุใกล้ 40 และปีนั้นอาหนิงเองก็อายุ 41 อายุใกล้เคียงกับที่ผู้เขียนบรรยายไว้    บุคลิคพันชั่งจะต้องมีความเป็นผู้ใหญ่นิ่งสุขุม ซึ่งอาหนิงก็ถ่ายทอดออกมาได้ดีมากๆ  

ในละครทั้งพันชั่งและสุวภาพไม่ได้มีบทกุ๊กกิ๊ก หรือตามจีบอะไรกันนะครับ แค่ช่วยเหลือกันและเห็นใจกันเท่านั้น ส่วนดาราเด็กทั้งสองฝีมือการแสดงดีมาก



ภาพจำดีๆ 

ตุ๊กตา 2531 ได้ถ่ายทำบางฉากแบบ long shot   ใช้กล้อง 2 ตัวถ่าย  ทำให้ได้บรรยากาศเหมือนแอบถ่ายชีวิตชาวบ้าน  เลยได้การแสดงที่เป็นธรรมชาติมาก เช่นฉากหนึ่งสุวภาพอยู่ในห้องโถง เธอเปิดลิ้นชักหาหายามากิน นั่งดูทีวี แล้วกองสาวใช้ก็เดินเข้ามาถามโน่นนี่ จากนั้นคุณแม่ของสุวภาพก็เดินเข้ามาคุยโน่นคุยนี่ ฉากนี้เล่นยาว long shot    เหมือนตั้งกล้องแอบถ่ายดูชีวิตของสุวภาพ  ซึ่งจะหาไม่ได้อีกแล้วในละครทุกวันนี้ ต้องเป็นผู้กำกับดาราวีดีโอรุ่นเก่าๆจะทำได้  คงเป็นเพราะสมัยนั้นจะไม่ซีเรียสมุมกล้องเท่าไร ละครไม่ถ่ายหลายมุม เล่นครั้งเดียวยาวเลย ถ้าพูดบทผ่านก็ผ่านเลย  มุมกล้องอาจจะไม่สวย แต่กลับได้ความสมจริง  

คุณสามารถหาดูบรรยากาศละครเก่าๆนี้ที่ยังมีในยูทูปเช่น ทองเนื้อเก้า 2540  พลับพลึงสีขมพู 2528   สวรรค์เบี่ยง 2531 
ผิดกับละครสมัยนี้จะเน้นโปรดั๊กชั่นงาม ๆ  มุมกล้องสวย ๆ ทำให้บางฉากนักแสดงต้องเล่นซ้ำ ๆ กันหลายรอบ  เพื่อถ่ายหลายมุม ทำให้ขาดอรรถรสธรรมชาติของการแสดงไป 

มุมกล้องและการแสดงเหมือนละครทีวีสมัยก่อน จะยังเห็นในหนังเรื่อง “ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ” ของเต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์  ,หนังของเป็นเอก รัตนเรือง, เจ้ย อภิชาตพงศ์ และหนัง 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ (Final Score) ของคุณแอน  โสรยา นาคะสุวรรณ  
ตุ๊กตา 2531 ถึงมุมกล้องอาจจะไม่ได้เลอเลิศมาก แต่ด้วยบทที่สนุก การจัดแสง การตัดต่อ ดนตรีประกอบนั้นสุดยอด ทำให้ตุ๊กตา 2531 ดูสนุกไม่แพ้ซีรีส์ฝรั่งเลย    



กระแสเป็นอย่างไร

ดังสุดๆเปรี้ยงมาก ถ้ามีวัดเรทติ้งแบบทุกวันนี้ขอบอกเลย เรทติ้ง 30++ เพราะคนสมัยนั้นไม่มีอะไรให้เสพมาก ไม่มีเนท ไม่มีสมาร์ทโฟน ตกเย็นก็นั่งดูทีวี  ซึ่งมีแค่ช่อง 3 5 7 9 ส่วนช่อง ITV กับช่อง 11 ทีวีดาวเทียมก็ยังไม่มีเล้ย 

ช่วงนั้นโรงเรียนปิดเทอม แต่เวลานัดเที่ยวกันเพื่อนๆก็เม้าท์ละครตุ๊กตากันเยอะครับ

ผมเองก็นั่งดูกับพี่สาวทุกตอน ยังจำที่พี่ตุ๊กตาพูดภาษาเขมรออกมา พี่สาวเลยแซวว่าสงสัยเด็กคนนี้มาจากจังวัดสุรินทร์แน่ๆ  (แต่ในละครปี 2531 ให้น้องนางมาจากจังหวัดศรีสะเกษ ส่วนในนวนิยายมาจากจ.มหาสารคาม) 

ละครดังทั่วหัวระแหง โดยเฉพาะที่จังหวัดสุรินทร์ น้องสาวผมอยู่สุรินทร์ก็โทรมาบอกว่าครูที่โรงเรียนวิจารณ์ว่าเสียง voice over ของพี่ตุ๊กตาพูดสำเนียงภาษาเขมรไม่ผ่าน น่าจะหาคนพูดสำเนียงดีกว่าหน่อย นี่สำเนียงออกไทยๆมาก

ทำไมคนสุรินทร์รู้ล่ะ ก็เพราะในจังหวัดสุรินทร์มีคนไทยเชื้อสายเขมรเยอะมาก เพื่อนๆที่โรงเรียนก็สอนผมพูดภาษาเขมร ส่วนมากผมจะจำได้เฉพาะคำด่าและคำหยาบ ๆ คาย ๆ  บางครั้งผมนั่งรถเมล์ รถเบรคกระทันหัน เสียงผู้โดยสารอุทานเป็นภาษาเขมรลั่นรถเลย  เวลาไปห้างสรรพสินค้าได้ยินเสียงพนักงานสาวประกาศ แรก ๆ เธอก็พูดสำเนียงไทยกลางดี  แต่ไป ๆ มา ๆ เธอก็เริ่มออกสำเนียงไทยปนเขมร  นี่ล่ะสุรินทร์ของแท้ 

อย่างว่าละครตุ๊กตา 2531 ยังทิ้งความประทับใจเอาไว้ แม้ว่าจะผ่านไปหลายปี แต่ก็ยังเห็นกล่าวขานถึงอยู่ประจำ



ตุ๊กตา 2564 
 
ความยาว 17 ตอนจบ 
ตอนละ 2 ชั่วโมงรวมโฆษณา 
(ถ้าเทียบความยาวละครหลังข่าวในอดีตรวมโฆษณา 1 ชั่วโมงก็ = 37 ตอนจบ)
 
ละครเป็นแนวสยองขวัญ (Horror) ออกไปทางภูตผีปีศาจแทน เหมือนจะหลงประเด็นแนวคิดของนวนิยายไป  ผมรู้สึกเหมือนดูละคร 2 เรื่องในเรื่องเดียว ผีตุ๊กตา+ ชิงรักแม่หม้ายสาว ละครไปไม่สุดสักทางจะผี หรือพลังจิต หรือสะท้อนสังคม หรือชิงรักแม่หม้ายก็ไม่ใช่สักอย่าง และยังไปเล่าเรื่องในโรงงานตุ๊กตาตั้งแต่ตอนแรกด้วย เลยทำให้ไม่มีปมชวนติดตาม  น่าเสียดายตอนที่น้องบูกับน้องพรรษาถูกจับที่โรงงาน ผมว่าไอเดียดีนะ ควรจะขยี้เหตุการณ์ช่วงนี้สักหน่อย โดยเอาไปไว้ตอนจบเรื่อง ให้เป็นสาเหตุที่จับคุณสมรได้  จริงๆแล้วผมเขียนวิจารณ์เวอร์ชั่นนี้ไว้ยาวมาก แต่คิดว่าไม่โพสดีกว่า ก็เลยขอวิจารณ์เพียงแค่นี้ก็แล้วกันนะครับ 
 
--------------------------------------------------------------

ถ้าคุณชอบก็กด + หรือถูกใจด้วยนะครับ  จะได้ทราบมีคนชอบแล้วผมจะมาเขียนถึงหนังและละครเก่า ๆ อีกครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่