สั่งยุติเด็ดขาด! ศาลฎีกาไม่รับคำร้อง ‘มาสด้า’ ฟ้องลูกค้าเรียก 84 ล. หลังร้องปัญหารถ

จากกรณีบริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ฟ้องร้องกลุ่มผู้ใช้รถมาสด้า 2 สกายแอคทีฟ เครื่องยนต์ดีเซล (Mazda 2 Skyactiv D 1.5) ซึ่งพบปัญหาการใช้งานรถยนต์และออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากบริษัทฯ โดยบริษัทฯให้เหตุผลในการฟ้องว่า ผู้เสียหายใช้สิทธิเกินส่วนที่ผู้บริโภคควรใช้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ ชื่อเสียง และทำให้ยอดจำหน่ายของบริษัทลดลง พร้อมเรียกค่าเสียหายเป็นเงินกว่า 84 ล้านบาทนั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ล่าสุดผู้ดูแลกลุ่มแจ้งข้อมูลในกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘อำนาจผู้บริโภค (ช่วยเหลือผู้ใช้ Mazda Skyactiv เครื่องสั่น เร่งไม่ขึ้น ฯลฯ’ ซึ่งมีสมาชิก 1.9 หมื่นคน ว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2564 ศาลจังหวัดนนทบุรีนัดฟังคำสั่งศาลฎีกา เลขที่ ครพ.12153/63 ลงวันที่ 29 ธ.ค.2563 คดีดำที่2610/2560 คดีแดงที่ 2801/2561 ระหว่างผู้ประกอบการค่ายรถค่ายหนึ่ง โจทก์ กับผู้บริโภค ภ. จำเลยที่ 1 และผู้บริโภค ส. จำเลยที่ 2 มูลคดีละเมิดไขข่าว เเละใช้สิทธิเกินส่วน เรียกค่าเสียหาย 84 ล้าน
ทั้งนี้ ศาลลงนั่งบัลลังก์ เวลา 9.30 น. และมีคำสั่งเป็นที่ยุติเด็ดขาด ไม่รับคำร้องอนุญาตฎีกาของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม.249 เพราะไม่เห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้น เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ขัดกับคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดของศาลอื่น หรือจำเป็นต่อการพัฒนาการตีความกฎหมาย ให้ยกคำร้องและให้คืนคำฟ้องฎีกาพร้อมค่าธรรมเนียมในชั้นฎีกาแก่โจทก์
ก่อนหน้านี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 2 ในคดีดังกล่าว ว่า จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง โดยคำพิพากษาสรุปความได้ว่า “ในสมัยปัจจุบันอันมีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องป้องกว่ามาตรการควบคุมทางสังคมแต่ดั้งเดิมในอดีต
การใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ผ่านกระบวนการทางศาล โดยมีคำขอท้ายฟ้องในลักษณะเช่นนี้ น่าเชื่อว่าเป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริต ทั้งสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาการขาดจริยธรรมทางธุรกิจ และธรรมาภิบาลหรือความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบธุรกิจที่ดี ซึ่งไม่ใช่พฤติกรรมทางธุรกิจของบริษัทแม่ของโจทก์ในประเทศญี่ปุ่นที่เรียกคืนรถยนต์รุ่นมาสด้า 2 Skyactiv ดีเซล จากตลาดและผู้บริโภค เมื่อพบว่าสินค้ารถยนต์ดังกล่าวมีปัญหา
แต่พฤติการณ์ของโจทก์ รวมทั้งการใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องต่อจําเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้บริโภค ดังที่ปรากฏในคดีนี้น่าจะเป็นแรงสะท้อนกลับส่งผลต่อความมั่นคงในการประกอบธุรกิจของโจทก์ในประเทศไทย ตามที่โจทก์หวาดกลัวอันกระทบถึงผลกำไรไปสู่ผู้ถือหุ้นของโจทก์ได้ในท้ายที่สุด พฤติการณ์เช่นนี้ จึงมิควรได้รับการรับรอง คุ้มครองหรือสนับสนุนแต่อย่างใด
สําหรับอุทธรณ์ในส่วนอื่นนอกเหนือจากนี้ เป็นรายละเอียดปลีกย่อยถึงขนาดที่จะทำให้ผลแห่งคำพิพากษาศาลชั้นต้นต้องเปลี่ยนแปลงไป ไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง รวมทั้งให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท มาด้วยนั้นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อล้วนฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ”

ที่มา : (www.isranews.org)

สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 3
ผมชอบประโยคนี้ มากที่สุด

น่าเชื่อว่าเป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริต ทั้งสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาการขาดจริยธรรมทางธุรกิจ

ชอบจริงๆ
ความคิดเห็นที่ 2
ยิ่งฟ้อง ยิ่งทำให้ชื่อเสียงเน่าเหม็นไปอีก .....  สาสมแล้ว ....
ความคิดเห็นที่ 7
ฟ้อง ลูกค้า!!!!

แล้วลูกค้าใหม่ๆจะกล้ามาซื้อ รถ คุณหรอเนี่ยย
ความคิดเห็นที่ 13
จะบลัฟเค้า ฟ้องเพื่อขู่ให้เค้าถอย แต่พอเค้าไม่ยอมถอย ก็เลยแพ้เองแถมโดนคนด่ากันทั่วบ้านทั่วเมือง

ลูกค้าไม่ได้ทำให้บริษัทเสียชื่อเสียงหรอก แต่ทำตัวเองทั้งนั้น
ความคิดเห็นที่ 11
ถ้าตัวรถไม่ได้มีปัญหาตามที่กล่าวอ้าง ฟ้องได้แน่นอนเรื่องทำให้เสียภาพลักษณ์ เสียชื่อเสียง เสียยอดขาย

แต่ความแปลกคือดันแยกไม่ได้ว่าเป็นปัญหาจากตัวรถ หรือผู้ใช้งาน แถมมีฟ้องกลับด้วย...

ควรคิดถึงชื่อเสียงในตอนนี้หน่อยว่ามันติดลบไปแล้วขนาดไหน



จริงๆ วิธีบริหารงานมันไม่ได้ยากอะไรขนาดนั้น ในอินเตอร์เน็ตมีลูกค้าบอกให้หมดทุกอย่างว่าปัญหามีอะไรบ้างซึ่งก็คือ

1.แก้ Defect ตัวรถ
2.แก้ศูนย์บริการ ซ่อมแล้วหาย และราคาไม่สูงจนเกินไป

เพี้ยนเสียงสูง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่