คนกลัว Covid เงินฝากล้นแบงก์ สลากออมสินไม่เปิดขายเต็มหมด

https://mgronline.com/specialscoop/detail/9640000041525
เงินท่วมแบงก์ แม้กดดอกเบี้ยลงแต่ไม่ถอน คนกังวล Covid สำรองเงินไว้รับเหตุการณ์ สลากแบงก์รัฐลดจำนวนออก ขายตามวงเงินที่ต้องการ คุมต้นทุนลดเงินรางวัล รับใบสลากแพงหนุนขายออนไลน์แทน คนการเงินชี้เป็นผลจากความเชื่อมั่น ไม่จับจ่าย ภาคธุรกิจไม่กล้าขยายกิจการ-ปล่อยสินเชื่อเสี่ยง คุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้าน เงินทะลักทั้งแบงก์รัฐ-แบงก์พาณิชย์ เตือนระวังมิจฉาชีพจ้องใช้โอกาสนี้หลอก แนะอย่าโลภ
การแพร่ระบาดของ Covid-19 ในแต่ละรอบ จากมาตรการป้องกันควบคุมโรคของภาครัฐ นอกจากจะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกด้านแล้ว ในประเทศไทยการระบาดระลอก 3 มีระดับการแพร่กระจายในวงกว้าง ยอดติดเชื้อต่อวันเคยสูงถึง 2,800 คน ที่น่าตกใจคือมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 รอบแรก
แม้ว่าในหลายประเทศจะเริ่มฉีดวัคซีนป้องกัน แต่ในประเทศไทยยังมีสัดส่วนของผู้ที่ได้รับวัคซีนจำนวนน้อย หลายรายมีอาการไม่พึงประสงค์หนัก-เบา แตกต่างกันไป รวมถึงการบริหารจัดการกับผู้ป่วยที่ยังเกิดปัญหา
ผลกระทบจาก Covid-19 มีในหลากหลายด้าน ในทางเศรษฐกิจแล้วภาคธุรกิจที่ต้องหยุดให้บริการตามมาตรการควบคุมโรค แรงงานเหล่านั้นอาจมีรายได้ลดลงหรือถึงขั้นว่างงาน ความไม่แน่นอนในสถานการณ์ ล้วนส่งผลต่อจิตวิทยาของผู้คน อะไรที่จะเป็นเครื่องประกันความมั่นใจในชีวิตของคน ย่อมถูกยกให้เป็นความสำคัญลำดับแรก นั่นคือเงิน
ดังนั้นการจับจ่ายใช้สอยจึงเป็นไปด้วยความระมัดระวัง ไม่ใช่เวลาซื้อหาสิ่งของที่ยังไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ต้องเผื่อไว้กับความเสี่ยงจากโอกาสของการว่างงานในอนาคตไว้ด้วย เมื่อกำลังซื้อถูกชะลอที่เกิดจากความไม่เชื่อมั่น เศรษฐกิจจึงทรุดตัว
 
ดอกเบี้ยต่ำจำยอม
Covid-19 ทำให้เงินล้นธนาคาร แม้ดอกเบี้ยจะต่ำเพียงใดคนก็ยังฝากเพิ่มเข้ามา ทั้งหมดเกิดขึ้นจากแบงก์ชะลอการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเกิดได้จากภาคธุรกิจไม่กล้าเสี่ยงที่จะขยายกิจการหรือลงทุนเพิ่มในช่วงนี้ และแบงก์เองไม่กล้าปล่อยสินเชื่อเพราะกลัวความเสี่ยงเรื่องหนี้สูญ
เมื่อเป็นเช่นนี้แบงก์จึงไม่จำเป็นต้องระดมเงินฝากเหมือนช่วงสถานการณ์ปกติ โดยในช่วงโควิดแทบไม่มีโปรโมชั่นเงินฝากดอกเบี้ยดี ๆ ให้เห็น ขณะที่ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลยังอยู่ในอัตราต่ำ 2-2.5% ด้วยระยะเวลาถือครอง 5 ปีและ 10 ปี
ส่วนคนที่เป็นแฟนสลากออมทรัพย์ธนาคารรัฐ เจ้าตลาดอย่างธนาคารออมสินได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของสลากไปจากเดิม จากเดิมที่มีสลากอายุ 3 ปีและ 5 ปี ลดอายุสลากลงมาเหลือ 1 ปีและ 2 ปีเท่านั้น ส่วนการขายสลากจะขายเป็นรอบ ๆ ตามวงเงินที่ธนาคารกำหนด เมื่อครบก็ปิดการขาย ต่างจากเดิมที่ซื้อได้ตลอดเวลา
อีกทั้งยังเพิ่มการจำหน่ายผ่านออนไลน์ในรูปแบบสลากดิจิตอล ที่สามารถทำได้คล่องตัวกว่าการซื้อผ่านสาขาของธนาคาร ทุกอย่างเป็นการลดต้นทุนของสลาก สลาก 1 ปี จำหน่ายทางออนไลน์เท่านั้น ไม่มีดอกเบี้ยกรณีไม่ถูกรางวัล และเงินรางวัลก็ลดลงตามสภาพตลาด
แน่นอนว่ารูปแบบการจำหน่ายแบบใหม่ ส่งผลต่อแฟนสลากรุ่นเก่าที่คุ้นชินกับการถือใบสลาก หลายคนยังรอซื้อสลากในรูปแบบเดิม แต่มักเจอปัญหาซื้อสลากไม่ได้เนื่องจากจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็ว แม้ผลตอบแทนจะต่ำ

สลากออมทรัพย์ขายน้อยลง
ผู้ออกสลากธนาคารรัฐกล่าวว่า ทุกแบงก์พยายามลดต้นทุนให้สอดคล้องกับตลาดดอกเบี้ย ใบสลากถือเป็นอีกต้นทุนหนึ่งที่มีราคาค่อนข้างสูง เพราะต้องออกแบบมาเพื่อป้องกันการปลอมแปลง ดังนั้นในระยะหลังเราจึงได้เห็นสลากออนไลน์มากขึ้น ไม่ใช่แค่ออมสินเจ้าเดียว ธ.ก.ส.ก็ทำแล้วเช่นกัน อีกไม่นานสลากของธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)คงใช้ในรูปแบบเดียวกัน
ด้วยสภาพที่เงินล้นระบบทั้งธนาคารพาณิชย์และธนาคารรัฐ ทำให้ทุกแห่งไม่จำเป็นต้องเร่งระดมเงิน การกดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นวิธีการที่ทุกแบงก์ต้องทำ อย่าง ธ.ก.ส.ก็ประกาศออกมาแล้วว่าในปี 2564 จะลดวงเงินของการออกสลากลง 50% หรือสลากออมสินก็ขายเป็นรอบ ๆ ช่วงต้นเดือน บางช่วงก็เว้นการจำหน่ายออกไป อาจมีเพียงสลากของ ธอส.ที่เพิ่งออกมาได้ไม่นาน ยังสามารถเปิดจำหน่ายได้ แต่สลากต่อหน่วยมีมูลค่าสูงถึง 5,000 บาท ขณะที่เจ้าอื่นจำหน่ายที่ 20-100 บาทต่อหน่วย
หนีคุ้มครอง 1 ล้านซบแบงก์รัฐ
ทุกอย่างถูกล็อกไว้หมด สินเชื่อใหม่มีน้อย เงินฝากจึงถูกกดดอกเบี้ยลง ทางเลือกอื่นอย่างพันธบัตรรัฐบาลแม้ผลตอบแทนจะปรับขึ้นมาบ้าง เช่น พันธบัตร 5 ปีอยู่ที่ 1% พันธบัตร 10 ปีดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 1.8% ซึ่งนานไปสำหรับคนไทย ส่วนหุ้นกู้เอกชนที่จำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปนั้น แม้จะมั่นคงระดับหนึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตร แต่รายย่อยไม่มีโอกาสเข้าถึง เพราะแบงก์ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายจะจัดไว้ให้กับลูกค้ารายใหญ่ของธนาคารก่อน
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการคุ้มครองเงินฝาก ที่จะลดวงเงินคุ้มครองลงเหลือ 1 ล้านบาทในวันที่ 11 สิงหาคม 2564 นี้ ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงธนาคารรัฐ ผู้มีเงินออมมากจึงโยกเงินมาไว้ที่ธนาคารรัฐทั้งรูปแบบสลากและเงินฝากประเภทอื่น
สถานการณ์แบบนี้ทุกคนไม่มีทางเลือก ทุกแบงก์ดอกเบี้ยต่ำทั้งหมด สลากออมทรัพย์แม้จะให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าเงินฝากแต่หลายคนก็มองถึงโอกาสในการถูกรางวัลมาเป็นตัวชดเชย จึงทำให้เงินฝากล้นธนาคารของรัฐเช่นเดียวกัน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่