โควิดระลอกใหม่ อยู่อย่างไรให้รอด

โควิดระลอกใหม่ อยู่อย่างไรให้รอด 
 
     ต้องยอมรับว่าสถานการณ์โควิดในบ้านเราตอนนี้รุนแรงที่สุดตั้งแต่ที่มีการระบาดมา 😥 ณ วันที่พี่หมอเขียนเรื่องนี้ ประเทศไทยมียอดผู้ติดเชื้อในหนึ่งวันเกือบสามพันคน และมีผู้เสียชีวิตในแต่ละวันเพิ่มขึ้นจากครั้งก่อน ๆ ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น เพราะเราควบคุมการระบาดได้ค่อนข้างดีมาตลอด 
     ส่วนหนึ่งก็ต้องบอกว่าเกิดจากสายพันธุ์ของไวรัสที่มีการพัฒนาตัวเองขึ้นด้วย ทำให้เชื้อกระจายตัวได้ง่ายกว่ารอบแรก ในหลายๆ ประเทศที่แม้จะมีการฉีดวัคซีนแล้ว แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดก็ยังคงน่าเป็นห่วง เพราะวัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% เพียงแต่ช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการ รวมถึงลดอัตราการเสียชีวิตลง
     ดังนั้น ถึงแม้จะมีหรือไม่มีวัคซีน 💉 เราก็ยังคงต้องดูแลตัวเองและคนที่เรารักอย่างเต็มที่ แต่จะทำอย่างไร เราถึงจะรอดจากการแพร่ระบาดในครั้งนี้ได้ พี่หมอไปรวบรวมเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับโควิดระลอกใหม่รวมถึงวิธีปฏิบัติตัวมาให้แล้วครับ 
1. โควิดจะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน❓ 
     อย่างที่พี่หมอบอกไปในตอนต้นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกดูเหมือนจะรุนแรงขึ้น ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมและผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ความหวังของชาวโลกจึงไปตกอยู่ที่วัคซีน 
     ซึ่งหากดูจากยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น โควิด-19 ก็น่าจะอยู่กับเราไปอีกประมาณ 1 ปี แต่ถ้าประชากรทั่วโลกสามารถฉีดวัคซีนได้มากกว่า 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity)ได้ เพื่อให้แต่ละคนมีภูมิต้านทานต่อสู้กับเชื้อ สถานการณ์การแพร่ระบาดก็น่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น 😃
     แต่ถ้าคำนวณจากจำนวนประชากรโลกที่มีมากกว่า 7 พันล้านคน ในขณะที่ความเร็วในการฉีดวัคซีนทั่วโลกมีเพียงแค่วันละ 15 ล้านโดส หรือเท่ากับฉีดได้เพียงวันละ 7 ล้านคนเท่านั้น (ส่วนประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนได้วันละ 2 แสนโดส) นั่นหมายความว่า ถ้าจะฉีดให้ครบ 7 พันล้านคนก็ต้องใช้เวลาเกือบๆ 3 ปีเลยทีเดียว เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่เร็วขึ้น ก็จำเป็นที่จะต้องเร่งการฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้น เช่นเดียวกับบริษัทที่ผลิตวัคซีนก็ต้องผลิตวัคซีนให้ได้ปริมาณที่มากขึ้นเช่นกัน 
 
2. เตียงเต็ม รอรถพยาบาลมารับ หรืออยู่ในระหว่างการหาเตียง ควรดูแลตัวเองอย่างไร❓
     ปัญหาเตียงเต็ม 🏥 ถือเป็นปัญหาใหญ่ในเวลานี้ เพราะโรงพยาบาลแต่ละแห่งก็มีจำนวนเตียงในการรักษาโควิด-19 ที่จำกัด เช่นเดียวกับจำนวนของบุคลากรทางการแพทย์ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราสามารถทำได้ในขณะที่รอเตียงก็คือ ดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด สำหรับคนที่มีสุขภาพแข็งแรง และไม่มีโรคประจำตัว หากตรวจแล้วผลเป็นบวก ให้รับประทานยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก และยาแก้ไอ ที่สำคัญคือ ดื่มน้ำเยอะๆ อย่างน้อยวันละประมาณ 3 ลิตร โดยอาจจะผสมน้ำผึ้งมะนาว หรือรับประทานวิตามินซีเสริม ในขณะเดียวกันก็สังเกตอาการตัวเองไปด้วย 
 
3. กักตัวที่บ้านอย่างไรให้ปลอดภัย❓
     หากมีความจำเป็นต้องกักตัวที่บ้าน 🏠 ต้องแยกพื้นที่ในบ้านอย่างชัดเจน และอยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร ไม่ใช้จาน ชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำร่วมกัน ส่วนห้องน้ำ หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน หลังการใช้งานทุกครั้ง ควรทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ โดยเฉพาะบริเวณที่ต้องมีการสัมผัสและพบเชื้อได้เยอะ เช่น ลูกบิดประตู อ่างล้างมือ ก๊อกน้ำ สายฉีดชำระ และฝักบัว นอกจากนี้ หลังจากที่ทำธุระส่วนตัวเสร็จแล้ว ให้ปิดฝาชักโครกก่อนแล้วค่อยกดน้ำ เพราะเชื้อสามารถฟุ้งกระจายไปในอากาศได้ ถ้าเรากดชักโครกโดยที่ไม่ปิดฝา 
 
4. อาการของเชื้อระลอกนี้เป็นอย่างไร❓ 
     อาการแสดงเริ่มแรกจากการติดเชื้อโควิดในระลอกนี้คือ มีไข้สูง ถ้าไม่มีเลยตั้งแต่วันแรก ก็จะไปมีในวันที่ 4 หรือ 5 และปวดเมื่อยตามร่างกาย จากนั้นบางคนก็อาจจะมีอาการที่รุนแรงขึ้น เช่น ปวดเนื้อปวดตัว ปวดไปถึงกระดูก ไอเยอะขึ้น เจ็บคอ หายใจติดขัด หรือหายใจแล้วรู้สึกแน่นหน้าอก อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณบอกว่าอาการเริ่มหนัก ควรไปอยู่ในความดูแลของแพทย์ 👨‍⚕️
     ซึ่งบางรายแม้จะมีผลเป็นบวก แต่อาการอาจจะไม่รุนแรงมาก เพราะบางคนก็มีอาการเหมือนเป็นหวัดธรรมดา และไม่มีไข้ กลุ่มนี้อาจจะถูกจัดให้ไปอยู่ที่ Hospitel ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการดูแลผู้ติดเชื้อ เพราะที่ Hospitel จะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลและประเมินอาการในเบื้องต้น ซึ่งหากมีความผิดปกติ ผู้ติดเชื้อก็จะถูกส่งตัวต่อไปที่โรงพยาบาลทันที  

5. ฉันอยู่ตรงไหนของการระบาด❓ 
     หลายๆ คนมักจะสงสัยว่า ตัวเองมีความเสี่ยงแค่ไหน เวลาที่ได้ยินข่าวว่ามีคนใกล้ชิดของเราติดเชื้อ แล้วเราจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร พี่หมอขออธิบายง่ายๆ แบบนี้นะครับ 
    🔴 วง 1 : สมมติว่า นาย ก เป็นผู้ป่วย ดังนั้น คนที่ไปสัมผัสใกล้ชิดกับนาย ก ก็จะกลายเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (นาย ข) คือ อยู่ใกล้กันในพื้นที่แคบๆ มีรัศมีประมาณ 1 เมตร มีการพูดคุยต่อเนื่องกันประมาณ 15 นาที โดยที่อาจจะใส่หรือไม่ใส่แมสก์ก็ตาม แนะนำให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกักตัว 14 วัน (ระหว่างนั้นก็ไม่ควรไปใกล้ชิดกับใคร) และไปตรวจหาเชื้อในวันที่ 5 หลังมีการสัมผัสผู้ป่วยครั้งแรก ที่สำคัญ ไม่แนะนำให้ไปตรวจก่อนวันที่ 5 เพราะตรวจแล้วอาจจะเจอผลเป็นลบ เนื่องจากเชื้อยังอยู่ในระยะฟักตัวจึงตรวจไม่เจอ ซึ่งอาจจะทำให้ตัวเองเข้าใจผิดและออกไปใช้ชีวิตตามปกติ เพราะคิดว่าตัวเองไม่มีเชื้อ 
    🟠 วง 2 : ผู้ที่มาสัมผัสใกล้ชิดกับคนที่อยู่ในวง 1 แต่ไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยตรง กลุ่มนี้เรียกว่า ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ (นาย ค) โดยอาจจะแค่เดินผ่าน หรือพูดคุยกันไม่เกิน 1 นาที และเว้นระยะห่างระหว่างกัน 1-2 เมตร โดยที่มีการใส่หน้ากากตลดเวลาและไม่ได้สัมผัสกันโดยตรง แนะนำให้ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำใส่หน้ากาก หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัดหรือไปในพื้นที่เสี่ยง และสังเกตอาการตัวเองเป็นเวลา 14 วัน แต่ไม่ต้องกักตัว 
    🟢 วง 3 : ผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงจากผู้ป่วยรายนี้ ซึ่งอาจเป็นคนที่อยู่ในชุมชนหรือคอนโดเดียวกัน เบื้องต้นแนะนำให้ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันตัวเอง แต่ไม่ต้องกักตัวเช่นกัน 
6. ระหว่างไข้หวัดธรรมดากับโควิด-19 ต่างกันอย่างไร❓
     อาการของไข้หวัดธรรมดา คือ มีน้ำมูกใส ไข้ต่ำๆ 🤒 ประมาณ 37 ไม่เกิน 37.8 องศาเซลเซียส ไอนิดหน่อย เจ็บคอบ้าง แต่จะเป็นแค่ประมาณ 3-5 วัน ก็จะหายไป และมักไม่มีอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว
     ส่วนอาการของโควิด-19 คือ มีไข้สูง 37.8 องศาเซลเซียสขึ้นไป 😡 ปวดเมื่อยเนื้อตัวเยอะเหมือนไข้หวัดใหญ่ บางรายอาจปวดถึงกระดูก เจ็บคอมาก มีน้ำมูกและไอเล็กน้อย ซึ่งในระลอก 3 มีอาการที่เพิ่มขึ้นมาคือ ตาแดง มีผื่นแดงเป็นปื้นๆ คล้ายลมพิษบริเวณแขนขาและลำตัว บางคนมีตุ่มน้ำใสคล้ายๆ อีสุกอีใส ซึ่งพบเพียง 10% ของผู้ป่วยเท่านั้น 
 
7.  วิธีการรักษาผู้ป่วยโควิด-19❓
     ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสที่ใช้ในการรักษาโควิด-19 โดยตรง แพทย์จึงใช้วิธีรักษาตามอาการเป็นส่วนใหญ่ เช่น มีไข้ ก็รับประทานยาลดไข้ หรือถ้าไอ ก็รับประทานยาแก้ไอ มีน้ำมูก ก็รับประทานยาลดน้ำมูก เป็นต้น 
     แต่ถ้ามีอาการมากขึ้น เช่น เอกซเรย์ปอดแล้วเห็นว่ามีความผิดปกติ มีไข้สูง ร่วมกับการมีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคตับ โรคที่เกี่ยวกับหัวใจ โรคอ้วน ความดัน เบาหวาน หรือแม้กระทั่งผู้ที่ตั้งครรภ์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง กลุ่มนี้แพทย์จะต้องรีบให้ยาซึ่งมีทั้งยาฉีดและยากินโดยเร็วที่สุด   
 
8. ฉีดวัคซีนดีมั้ย ฉีดแล้วจะแพ้หรือไม่❓ 
     คนส่วนใหญ่จะค่อนข้างกลัวและลังเลใจที่จะฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 💉 เพราะได้ยินข่าวเรื่องการแพ้และผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น แต่พี่หมอแนะนำว่า หากมีโอกาสฉีดก็อยากให้ฉีดดีกว่า เพราะวัคซีนแต่ละตัวมีความปลอดภัยและผลข้างเคียงน้อยมาก ที่สำคัญ ถ้าเราฉีดวัคซีนแล้ว อย่างน้อยก็สามารถป้องกันการติดเชื้อได้มากกว่า 50% แต่หลังการฉีดเราอาจจะรู้สึกปวดเมื่อยในตำแหน่งที่ฉีด อ่อนเพลีย ง่วงนอน หรือมีไข้ต่ำๆ ประมาณ 1-2 วัน ซึ่งเป็นอาการทั่วไปที่เกิดขึ้นได้ 
     ทั้งนี้ ยังไม่พบหลักฐานพิสูจน์ที่แน่ชัดว่า มีการเสียชีวิตจากการแพ้วัคซีน แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีโอกาสเกิดขึ้นนะครับ เพียงแต่มีน้อยถึงน้อยมากๆ เพียง 1 ในล้านโดสเท่านั้น 
 
9. ฉีดวัคซีนแล้ว มีโอกาสติดเชื้ออีกหรือไม่❓       
            หลังจากฉีดวัคซีนแล้ว ตัววัคซีนจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้มากกว่า 50% แต่ไม่ถึง 100% ดังนั้น โอกาสที่เราจะติดเชื้อก็ยังมีอยู่ แต่การฉีดวัคซีนจะช่วยลดโอกาสที่จะติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรค ทำให้เวลาติดเชื้อ อาการจะไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการเลย
 
10. วัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนโควิด-19 ควรฉีดเว้นระยะห่างกันแค่ไหน❓ 
     ควรเว้นระยะห่างประมาณ 2 สัปดาห์ และไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้พร้อมกัน เพราะถ้าเกิดอาการข้างเคียงขึ้นมา แพทย์จะไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดจากวัคซีนตัวไหน 
              
     ดังนั้น ในสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดยังค่อนข้างรุนแรงแบบนี้ วิธีที่จะช่วยให้เรารอดไปได้ก็คือ ต้องดูแลตัวเองและคนที่เรารักให้ดีที่สุด การใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ การเว้นระยะห่างทางสังคม ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ รวมถึงพยายามหลีกเลี่ยงการพบปะสังสรรค์และทำกิจกรรมที่จะต้องมีการรวมกลุ่มกันเยอะๆ หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง
     ที่สำคัญ ต้องมีสติรู้เท่าทันตัวเองด้วยนะครับ งดดูข่าวบ้างก็ได้ ถ้ารู้สึกว่าดูแล้วเครียดจนเกินไป พี่หมอเชื่อว่า ถ้าทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน ประเทศไทยจะต้องผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้แน่นอน 😷❤️
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่