JJNY : 4in1 ไทยครองแชมป์โลกอัตราขยายเชื้อ│"พ.ร.ก.เยียวยาโควิด"เหลว│ห่วง28ผู้ป่วยเสี่ยงเสียชีวิตสูง│ชาวเมียนมาโวย รบ.ทหาร

นักวิชาการจุฬาฯชี้ ไทยครองแชมป์โลกอัตราขยายเชื้อโควิด 19
https://www.tnnthailand.com/news/covid19/77372/

 
นักวิชาการจุฬาฯมองไทยผงาดเป็นแชมป์โลก อัตราการขยายเชื้อโควิด 19 ติดเชื้อคนเดียวแพร่ต่อไปได้อีก 2.27 คน แนะรัฐระดมฉีดวัคซีน 

วันนี้ ( 18 เม.ย. 64 )ศ. ดร. วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต ผู้อำนวยการ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในปัจจุบันระบุว่า

“ประเทศไทยผงาดเป็นแชมป์โลก Reproduction Rate - R สูงสุด

17 เมษายน 2564 ประเทศไทยที่ผ่านมาเคยได้รับคำชมว่า บริหารการป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ดีเยี่ยมของโลกประเทศหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปปีกว่า จนล่าสุดเกิดกรณีสถานบันเทิงซอยทองหล่อ ผสมกับการส่งเสริมผิดที่ผิดเวลา ให้ประชาชนออกเที่ยวช่วงสงกรานต์ เป็นผลทำให้เกิดการระบาดไปเกือบทุกจังหวัด

ปรากฏว่า ในขณะที่ อัตราการขยายเชื้อโควิด-19 (Reproduction Rate - R)* ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ประเทศไทยกลับมีค่า R ทะยานขึ้นจนถือเป็น “แชมป์โลก” มีค่า R = 2.27 ทิ้งอันดับ 2 คือ Surinam ทีมี R = 1.79 ค่อนข้างห่าง โดยที่ R ค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 1.17 (ภาพที่ 1 และ 2 Ref: Our World in Data)
 
ในประเด็นนี้ ผมขอตั้งข้อสังเกต ดังนี้
 
(1) ด้วย R = 2.27 หมายความว่า คนไทยติดเชื้อหนึ่งคนจะสามารถแพร่ต่อไปให้อีก 2.27 คน ถ้าประเทศไทยไม่มีมาตรการอะไรเพิ่มเติม ในช่วง 30 วันจากนี้ไป ประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อใหม่รายวันก้าวกระโดดไปถึง 136,821 คนต่อวัน ดังตารางในภาพที่ 3

(2) มาตรการที่ดูเหมือนจะได้ผลที่สุดและถือเป็นมาตรการหลักทั่วโลก คือ การฉีดวัคซีน ตัวอย่างคือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งฉีดตั้งแต่ปลายธันวาคมที่ผ่านมา ในภาพที่ 4 จะเห็นว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันของสหรัฐได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากเริ่มฉีดวัคซีนเพียงหนึ่งเดือน แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันอาจดูจำนวนมาก แต่ด้วยค่า R ของสหรัฐปัจจุบันอยู่ที่ 1.08 จึงถือได้ว่าประเทศสหรัฐใกล้พ้นจากภาวะโควิดระบาดแล้ว โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันจะค่อยๆน้อยจนกลายเป็นศูนย์

(3) ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เร่งฉีดวัคซีนสูงสุด คือ อินโดนีเซีย และดูเหมือนจะได้ผลดีมาก เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับประเทศไทย ปรากฏว่า อินโดนีเซียมีการระดมฉีดวัคซีนถึง 16.1 ล้านโดส (เท่ากับ 5.8% ของประชากร) เทียบกับประเทศไทยที่ฉีดเพียง 0.58 ล้านโดส (เท่ากับ 0.83% ของประชากร) ทำให้ผู้ติดเชื้อรายวันลดลงอย่างรวดเร็วด้วยค่า R = 1.0 พอดี จากที่เคยสูงสุดวันละ 12,751 คน ลดลงมาเหลือ 5,211 คน ถ้าอินโดนีเซียสามารถรักษาค่า R =1.0 หรือต่ำกว่า ผู้ติดเชื้อรายวันคงลดลงมาจนเหลือศูนย์ในไม่ช้า

(4) บทสรุปคำแนะนำต่อรัฐบาล
 
ปัจจุบันนี้ มาตรการการใส่แมสก์เว้นระยะห่างในสถานที่ชุมนุมคน อาจไม่ ”เวิร์ค” เพียงพอสำหรับสังคมไทยที่มีชนชั้นอภิสิทธิอยู่ทั่วไป อีกทั้งการปิดประเทศต่อย่อมมีผลกระทบทางเศรษฐกิจเกินกว่าที่จะรับได้ แต่อย่าลืมว่า ด้วยค่า R สูงระดับนี้ ถึงเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวคงต้องคิดหนักที่จะตัดสินใจมาประเทศไทย
 
ทางออกทางเดียว คือ รัฐบาลต้องรีบระดมให้มีการฉีดวัคซีนทั่วประเทศตามลำดับความสุ่มเสี่ยง โดยถือว่าเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติ ก่อนที่จะสายไป ถ้าบริหารเองไม่ไหว ก็ต้องเปิดเสรีให้โรงพยาบาลและคลีนิคเอกชนบริหารให้ โดยรัฐต้องให้งบประมาณสนับสนุน ดีกว่าใช้งบประมาณเรี่ยราดในสิ่งเหลวไหลที่ไร้ประโยชน์
 
หมายเหตุ: * อัตราการขยายเชื้อ (Reproduction Rate) หรือ R เป็นค่าที่บอกให้เราว่า ในสภาวะปัจจุบัน (ถ้าไม่มาตรการอะไรเปลี่ยน) ผู้ติดเชื้อ 1 คนจะแพร่ให้ผู้ติดเชื้อใหม่จำนวน R คน ถ้าหากค่า R สูงกว่า 1.0 จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่จะขยายได้อย่างรวดเร็วต่อเนื่อง (โรคระบาด) แต่ถ้าค่า R ต่ำกว่า 1.0 จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่จะลดลงเรื่อยๆอย่างรวดเร็วเช่นกันจนเหลือศูนย์ (โรคไม่ระบาด)”

https://www.facebook.com/worsak.ait/posts/1692092130975748
 


ส่อง 1 ปีแห่งความสูญหาย "พ.ร.ก.เยียวยาโควิด" 1.9 ล้านล้าน ล้มเหลวไม่เป็นท่า
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_6341990
 
ศูนย์นโยบาย พรรคเพื่อไทย อัด 1 ปี พ.ร.ก. 1.9 ล้านล้าน ล้มเหลว ยิงไม่ตรงเป้า เงินลงสู่ระบบน้อย สวยแต่รูปจูบไม่หอม มีปัญหามากมายคิดไม่รอบด้าน
 
เมื่อวันที่ 18 เม.ย. นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ฐานะ ผอ.ศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการประเมิน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูฯ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจฯ และ พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินฯ (พ.ร.ก. 1.9 ล้านล้านฯ) ที่มีผลบังคับใช้ครบรอบ 1 ปี ดังนี้
 
1.เราได้เห็นโครงการที่สวยแต่รูปจูบไม่หอม มีปัญหามากมาย คิดไม่รอบด้าน เริ่มต้นจาก
 
1.1. “เราไม่ทิ้งกัน” 5000 บาทจาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน พอเงินไม่พอลดเหลือ 3 เดือน ประชาชนถูกปฏิเสธสิทธิจำนวนมาก ใช้ระบบ AI ทั้งๆที่ระบบไม่พร้อม ฐานข้อมูลไร้ประสิทธิภาพ
 
1.2. “เราเที่ยวด้วยกัน” สร้างการท่องเที่ยวแบบกระจุกตัวรอบกรุงเทพฯ จังหวัดไกลๆ เจอปัญหาคนใช้สิทธิ์น้อยไม่เป็นตามเป้า คนรวยไม่ใช้สิทธิเพราะยุ่งยาก คนจนอยากใช้สิทธิแต่ไม่มีเงินเที่ยว มีปัญหาทั้งการทุจริตการสวมสิทธิ การฉวยโอกาสขึ้นราคา
 
1.3. “คนละครึ่ง” มาตรการเอาใจประชาชน แต่ผลทางเศรษฐกิจกลับน้อยนิด เพราะส่วนใหญ่มุ่งไปที่สินค้าไม่คงทน สินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งไม่เกิดเหนี่ยวนำการลงทุนของภาคเอกชน
 
1.4. “เราชนะ” เงื่อนไขมากมายทำให้เม็ดเงินหมุนได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ไม่จ่ายเงินเข้าบัญชี ถอนเป็นเงินสดไม่ได้ ผ่อนจ่ายรายสัปดาห์ คนไม่มีสมาร์ทโฟนลงทะเบียนยุ่งยาก จำนวนเงินที่ให้ไม่สอดคล้องกับความเดือดร้อน
2.เราได้เห็นภาคธุรกิจกำลังตาย กำลังจมน้ำ ภาครัฐมีห่วงยาง แต่โยนให้ไม่เป็น เพราะซอฟท์โลนที่ไร้ประสิทธิภาพ
 
2.1. สร้างเงื่อนไขมากมายที่ไม่จำเป็น ทำให้คนเข้าไม่ถึงสินเชื่อเพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ เช่น ต้องมีวงเงินสินเชื่อ อายุชำระคืนสั้น วงเงินต่ำ กำหนดเพดานดอกเบี้ย กลไกค้ำประกันสินเชื่อใช้ไม่ได้จริง มิติกลไก โยนทุกอย่างใส่ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเขาไม่อยากทำ ไม่อยากเสี่ยง เพราะไม่คุ้ม การอนุมัติสินเชื่อจึงไม่ค่อยเกิด ยอดเลยไม่เดิน
 
2.2.ถึงแม้จะแก้เงื่อนไข รวมถึงการออก พ.ร.ก. ใหม่ “สินเชื่อฟื้นฟู” ที่มาแทนซอฟท์โลนก็ไม่ช่วยเพราะคอขวดอยู่ที่กลไกผ่านธนาคารพาณิชย์ยังไม่ถูกแก้ไข และ “พักทรัพย์พักหนี้” ที่จะจบด้วยภาวะสินทรัพย์เน่าเข้าคิวรอ แต่ธนาคารไม่ต้องการ จะเป็นอีกมาตรการที่ล้มเหลว ยอดไม่เดิน
 
3. เราได้เห็นงบฟื้นฟูที่ทำเสมือนว่าไม่ได้อยู่ในวิกฤต
 
เหมือนส่วนราชการได้งบประมาณเพิ่มแล้วก็ของบเพิ่มตามปกติ ที่สำคัญคือมีปัญหาล่าช้า เบิกจ่ายน้อยมาก ทั้งนี้ งบฟื้นฟูต้องคู่ขนานกับงบเยียวยา โดยงบเยียวยาสร้างกำลังซื้อ และงบฟื้นฟูสร้างการลงทุนเอกชนเพื่อมารองรับกำลังซื้อนั้น
 
4. เราได้เห็นงบสาธารณสุข เบิกจ่ายจริงน้อยมาก
 
ทั้งที่อุปกรณ์การแพทย์ยังขาดแคลน อุปทานด้านสาธารณสุขมีปัญหา การตรวจล่าช้า โรงพยาบาลเตียงเต็ม รวมถึงเรื่องการจัดหาและการกระจายวัคซีน
 
5. สำหรับกองทุน BSF
  
จริงอยู่ที่ในส่วนนี้บรรลุเป้าหมายของการป้องกันตลาดตราสารหนี้ไม่ให้พังลงในช่วงแรกที่มีการตื่นตระหนก ปัจจุบันไม่มียอดใช้ในกองทุนนี้ ซึ่งถามว่าดีไหม ก็ต้องตอบว่าดี ที่ว่าตลาดตราสารหนี้ยังสามารถทำหน้าที่ของมันได้ แต่ถ้าพูดถึงเงินที่ลงไปในระบบ ตรงนี้ก็ไม่เกิดขึ้น
 
6. ผ่านไปแล้ว 1 ปี พ.ร.ก. 1.9 ล้านล้านฯ
 
มียอดการเบิกจ่ายจริงหรือเม็ดเงินลงสู่ระบบเพียงน้อยมาก กองทุน BSF ยังไม่มีการขอวงเงินเข้ามา (ก.พ.64) งบสาธารณสุข งบเยียวยา งบฟื้นฟูเบิกจ่ายรวม 475,987 ล้านบาท (ข้อมูล สบน.เดือนมี.ค.64) ซอฟท์โลน อนุมัติ 160,422 ล้านบาท (ข้อมูล ธปท.เดือนมี.ค.64) มีเม็ดเงินลงสู่ระบบราว 637,000 ล้านบาท จากยอดรวม 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นเพียงราว 34% เท่านั้น
 
ศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทยเห็นว่า 1 ปีเต็มกับ พ.ร.ก. 1.9 ล้านล้านฯ ซึ่งถือเป็นอาวุธหลักและอาวุธเดียวที่ประเทศไทยมี กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า เป็น 1 ปีที่สูญหาย เต็มไปด้วยปัญหา ไม่เข้าใจบริบท ยิงไม่ตรงเป้า ผิดหลักการ ในขณะที่ต้องการอัดฉีดเม็ดเงินสู่ระบบ ประชาชนหิวโหย เอกชนต้องการสภาพคล่อง เงินที่ลงสู่ระบบจริงกลับน้อยนิด สวนทางกันกับความต้องการนั้นโดยสิ้นเชิง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่