สารานุกรมปืนตอนที่ 552 โคลท์ คอมมานเดอร์ 9 มม. ต้นตำรับ 1911 คอมแพ็ค



นายแบบของสัปดาห์นี้ แม้ว่าชื่อรุ่นที่สลักไว้บนลำเลื่อนจะมีเพียง Commander ไม่มี Combat แต่วัสดุโครงปืนเป็นเหล็กเช่นเดียวกับลำเลื่อน ลำกล้องเป็นสเตนเลส สีเงินตัดกับรมดำของส่วนอื่นทั้งกระบอก, ประกับด้ามเป็นไม้โรสวูด (Rosewood) สีเข้ม แกะลายข้าวหลามตัดทั่วผิว
 
กองทัพสหรัฐ รับปืนพกกึ่งอัตโนมัติที่ออกแบบโดย จอห์น เบรานิงก์ เข้าเป็นปืนประจำกายทหารตั้งแต่ปี ค.ศ. 1911 แทนปืนลูกโม่ที่ใช้อยู่เดิม  ผ่านมา 105 ปี ปืนพก M1911 นี้ยังได้รับความนิยมอย่างสูง แม้ว่าจะถูกปลดระวางจากกองทัพเมื่อปี 1985 โดยมีเบเร็ตต้า 9 มม. เข้าแทน  แต่เมื่ออายุครบ 100 ปี  หน่วยนาวิกโยธินกลับย้อนอดีต เลือกปืนแบบเดิม ยี่ห้อโคลท์ดั้งเดิม ในขนาดกระสุน .45 ACP เหมือนเดิมเพียงเพิ่มรางติดอุปกรณ์ที่โครงปืนให้ทันสมัย  กับติดศูนย์ที่เล็งง่ายและแข็งแรงกว่าเดิม เรียกว่า M45
สำหรับปืน “คอมมานเดอร์” ก็มีจุดกำเนิดจากความพยายามของกองทัพสหรัฐที่จะปลดระวางปืน M1911 ในปี 1949 หลังจากที่ใช้มาเกือบห้าสิบปี  โดยกำหนดให้ปืนที่จะมาแทนเป็นขนาด 9 มม., ยาวไม่เกิน 7 นิ้ว หนักไม่เกิน 25 ออนซ์   โคลท์จึงเสนอปืนที่ใช้กลไกควบคุมการยิงของ 1911 แต่เปลี่ยนวัสดุโครงปืนเป็นอัลลอยด์เพื่อลดน้ำหนัก และตัดลำกล้องจาก 5 นิ้ว เหลือ 4.25 นิ้ว ให้ได้ตามสเปก  ขณะรอการตัดสินใจของภาครัฐ โคลท์เริ่มผลิตปืนตัวสั้นนี้ออกขายสู่ตลาดเอกชนในปี 1950 ตั้งชื่อรุ่นว่า Commander  โดยมีรุ่นมาตรฐานขายอยู่เดิมแล้วในชื่อ Government  และนอกจากขนาด 9 มม. พาราฯ แล้ว คอมมานเดอร์ยังมีขนาด .45 และ .38 ซูเปอร์ ให้เลือกได้  แม้ว่าโครงการจัดซื้อของรัฐจะยกเลิกไปในปี 1954 แต่ปืนคอมมานเดอร์ก็ติดตลาดขายได้ดีพอสมควร
 
คอมมานเดอร์ ที่เบากว่า กัฟเวิร์นเมนท์อยู่เกือบ 200 กรัม เมื่อยิงกระสุน .45 เท่ากัน ปืนจะสะบัดแรงกว่าอย่างรู้สึกได้ชัดเจน และโครงปืนอัลลอยด์เมื่อใช้งานหนักออกอาการสึกหรอเร็วกว่าเหล็ก โคลท์จึงทำโครงปืนคอมมานเดอร์เป็นเหล็กมาให้เลือกได้ เรียกว่า Combat Commander เริ่มขายในปี 1970 ปัจจุบันคอม มานเดอร์ใช้โครง เหล็กเป็นมาตร ฐาน โดยรุ่นที่ใช้โครงอัลลอยด์ จะเรียกว่า ไลท์เหวต คอมมานเดอร์ (Light Weight Commander) น้ำหนักตัวอยู่ที่ 835 กรัม เบากว่ารุ่นโครงเหล็กประมาณ 100 กรัม
 
นายแบบของสัปดาห์นี้ แม้ว่าชื่อรุ่นที่สลักไว้บนลำเลื่อนจะมีเพียง Commander ไม่มี Combat แต่วัสดุโครงปืนเป็นเหล็กเช่นเดียวกับลำเลื่อน ลำกล้องเป็นสเตนเลส สีเงินตัดกับรมดำของส่วนอื่นทั้งกระบอก,  ประกับด้ามเป็นไม้โรสวูด (Rosewood) สีเข้ม แกะลายข้าวหลามตัดทั่วผิว, ศูนย์ตายแบบปืนทหาร มีแต้มจุดขาวสามจุดเห็นชัด, ไกทึบ, นกกลม, ห้ามไกมีเฉพาะด้านซ้าย, หลังอ่อนเป็นแบบแคบ ยาวพ้นนกสับป้องกันนกหนีบง่ามมือ, ระบบความปลอดภัยเหมือน ซีรีส์ 80 คือ ร่องรับนกตกเป็นแบบหน้าเปิดไม่จับเซียร์ และมีสมอล็อกเข็มแทงชนวนทำงานสัมพันธ์กับไก ถ้าไม่เหนี่ยวไกเข็มจะเดินหน้าไม่ได้ แม้นกสับท้ายเข็มปืนก็จะไม่ลั่น
 

 
โดยรวมสำหรับ โคลท์ คอมมานเดอร์ 9 มม. กระบอกนี้เป็นปืนต่อสู้ระดับฉกรรจ์  ยี่ห้อเก่าขายออกตัวง่าย งานดีฝีมือเรียบร้อย  ทำงานไว้ใจได้เต็มที่ กลไกเหมือนปืนทหารคลาสสิก ใช้สปริงเส้นเดียวกับจุกสปริงเหมือนของเดิม มีเพิ่มเพียงระบบล็อกเข็มเพิ่มความปลอดภัยกรณีปืนหล่นกระแทกพื้นศูนย์สมัยใหม่เห็นชัดเล็งง่าย คล่องตัวเหนือกว่ารุ่นลำกล้องห้านิ้วมาตรฐาน โดยหวังผลได้เท่าเทียมกันทั้งด้านความแม่นยำและความแรงของกระสุน.

https://www.dailynews.co.th/article/541616

............................................
ดร.พณิศวร ชำนาญเวช


สวัสดีครับ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่