Chula Museum Part 2 กว่าจะมีหมอฟันในไทยวันนี้

[ ใครถนัดอ่านในเว็บ Medium สามารถอ่านได้ ที่นี่ ]

สำหรับใครที่เพิ่งเข้ามากระทู้นี้ ขอแนะนำให้อ่านกระทู้ Chula Museum Part 1 หลงทางมาพิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ ก่อนและค่อยมาก็มาต่อกันในกระทู้นี้ซึ่งเป็นเรื่องราวของ พิพิธภัณฑ์สถานวาจวิทยาวัฑฒน์ (Vach Vidyavaddhana Museum / Museum of Dentistry) ที่อยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์เพียงเดินแค่ 1 นาที

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ในคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อเดินมาถึงหน้าพิพิธภัณฑ์ถึงกับตะลึง ตึง ตึง กับป้ายชื่ออันมโหฬาร... เพราะอ่านชื่อไม่ออกนั่นเอง ต้องค่อยๆนั่งไล่สะกดคำจนอ่านได้ว่า 'วา-จะ-วิด-ทะ-ยา-วัด' ซึ่งแปลได้ความหมายได้ดังนี้ วาจา แปลว่า ถ้อยคำ / วิทยา แปลว่า ความรู้ / วัฑฒน์ (บาลี) แปลว่า การทำให้เจริญขึ้น ซึ่งพอแปลแล้วก็เป็นความหมายที่ดีเหมาะแก่การตั้งชื่อพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวกับฟันนั่นเอง
กำเนิดทันตกรรมแห่งประเทศไทย
ในปี 2483 จุฬาฯเป็นสถาบันแห่งแรกที่เปิดการเรียนการสอนด้านการรักษาฟัน ช่องปาก ใบหน้า และพัฒนาตำรา วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ แต่เวลานั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้สิ่งต่างๆเหล่านี้ถูกทอดทิ้งและสูญหายไป จนในปี 2525 รศ.ทพ.ดร.วสันต์ ตันติภาวิน คณบดี, รศ.ทพ.ไพรัช ธีรวรางกูล และคณะกรรมการดำเนินการรวบรวม รูปภาพเก่าของสถานที่เรียน อาจารย์ นิสิต หนังสือเรียน อุปกรณ์ทันตกรรมเก่า เช่น ฟันเก่าที่ผิดปกติ, เก้าอี้ทำฟันเบาะไม้ปี 2471, เครื่อง X-Ray ฟันปี 2478 ซึ่งได้ของเหล่านี้มาจากโรงพยาบาลตำรวจและคลินิกฟันรุ่นแรกๆของเมืองไทยบนถนนเจริญกรุงที่สมัยนั้นรักษาฟันโดยทันตแพทย์ชาวจีน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นสถานที่รวบรวมประวัติและวิวัฒนาการของทันตกรรมไทยเพื่อเป็นความรู้แก่ผู้ที่สนใจศึกษาทางทันตกรรมและนักศึกษาทันตแพทย์ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2525 เพื่อเป็นการระลึกถึงหลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ คณบดีคนแรก

ภายในพิพิธภัณฑ์ ด้านในจะถูกแบ่งออกเป็นสองโซน
โซนแรก: จัดแสดงพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับทันตกรรม โซนนี้เป็นการเล่าเรื่องโครงการฟันเทียม หน่วยทันตกรรมพระราชทานฯ จากกระแสพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ว่า “เวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายไม่แข็งแรง” และยังมีเรื่องราวรางวัลสิ่งประดิษฐ์ทันตกรรมต่างๆ รวมทั้งมีการจัดแสดงหลอดยาสีพระทนต์ (ฟัน) ของรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเทพฯ
โซนสอง: จัดแสดงอุปกรณ์และเครื่องมือทันตกรรม โซนนี้น่าตื่นตาตื่นใจขึ้นมาหน่อยเพราะเราจะได้พบกับของโบราณอายุ 80 ปี เช่น กล้องจุลทรรศน์ กระดูกมนุษย์ เครื่องมือกรอฟัน คีมหนีบฟัน และยูนิตทำฟันสมัยเก่าที่ถูกเก็บรักษาไว้ในสภาพดีมาก แต่แอบดูมีความขลังเบาๆเพราะอุปกรณ์บางชิ้นหน้าตาน่ากลัวเหมือนหลุดมาจากหนังโหด แต่จริงๆแล้วไม่มีอะไรนะ พวกเราแค่ไม่ชินตากันเอง อุปกรณ์เครื่องมือโบราณส่วนมากได้รับการบริจาคมาจากบริษัทญี่ปุ่น
เราใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงในการเดินสำรวจดูอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ พยายามดูและอ่านข้อมูลแต่ก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่นักเนื่องจากสิ่งของที่จัดแสดงค่อนข้างที่จะเจาะจงสำหรับคนเรียนทางสายทันตกรรม แต่ดูเพลินๆก็สนุกดีไปอีกแบบ สิ่งที่เราแปลกใจที่สุดในพิพิธภัณฑ์คือการได้เห็นโอ่งมังกรที่เอาไว้ใส่น้ำฝน ถูกนำไว้ใช้ในคลินิกทำฟันสมัยก่อนด้วย ถ้าเป็นสมัยนี้คงจะไม่มีใครกล้าใช้แล้ว ^^'' ด้านในพิพิธภัณฑ์สามารถถ่ายรูปได้ แต่ควรถ่ายมุมกว้างและห้ามใช้แฟลชค่ะ


หลังเสร็จจากพิพิธภัณฑ์ในคณะทันตะฯ เราจะพาไปเที่ยวชมอีกพิพิธภัณฑ์ที่ Chula Museum Part 3 เรียนนอกห้องเรียนก็สนุกไปอีกแบบนะ สำหรับวันนี้ขอลาไปก่อน...สวัสดีค่ะ ^^''

ค่าเข้าชม
ฟรี สามารถถามเจ้าหน้าที่ในพิพิธภัณฑ์เพื่อบริจาค

การเดินทาง
พิพิธภัณฑ์สถานวาจวิทยาวัฑฒน์ จัดแสดงอยู่ที่ชั้น 1 อาคารวาจวิทยาวัฑฒน์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ หากชมพิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์เสร็จแล้วให้ลงจากตึกมาชั้น 1 จะเจอลานสนามหญ้าเทียมสีเขียว มองไปที่ตึกตรงข้างจะมีช่องเดินทางด้านซ้ายมือ เข้าไปแล้วเลี้ยวขวาจะพบกับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

การเดินทางมาคณะทันตะ จุฬาฯ สามารถโดยสารรถไฟฟ้า BTS ลงที่สถานีสยาม และเดินต่อมาทางอาคารสยามกิตติ์ ไปทางศูนย์หนังสือจุฬาฯ หรือตรง British Council จะเจอกับทางเข้าคณะทันตะ พอเข้าคณะมาแล้วให้เลี้ยวซ้ายมาตรงสนามหญ้าสีเขียว

เวลาทำการ: พุธ และ ศุกร์ 9.00–16.00


👍 ติดตาม Facebook Page ผู้เขียน: "ไอ เรียน อโลน by nichyhan"
แหล่งที่มาของข้อมูล: เว็บไซต์ทางการของจุฬาฯ, แผ่นพับสูจิบัตรจากพิพิธภัณฑ์, ผู้เขียนถ่ายรูปเอง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่