ไม่ต้องกลุ้มใจ! ผมร่วง ผมบาง รู้เร็ว รักษาได้

กระทู้สนทนา
ไม่ต้องกลุ้มใจ! ผมร่วง ผมบาง รู้เร็ว รักษาได้ 
 
     โดยธรรมชาติแล้ว ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายก็ห่วงความสวยความหล่อด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น ใบหน้าและเส้นผมจึงเป็นส่วนที่เรามักจะให้ความใส่ใจและดูแลเป็นพิเศษ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง รวมถึงสร้างความประทับใจให้กับผู้พบเห็น
     คนทั่วไปจึงมักจะกังวลเวลาที่เห็นผมของตัวเองหลุดร่วงมากๆ (โดยปกติเส้นผมจะหยุดการเจริญเติบโตและหลุดร่วงวันละ 50-100 เส้น) ซึ่งอาการผมร่วงเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ได้รับพันธุกรรมผมร่วง ผมบาง หรือหัวล้านมาจากพ่อแม่ การเจ็บป่วยเรื้อรัง การใช้ยาบางชนิด การขาดสารอาหารบางประเภท คุณแม่หลังคลอด รวมถึงภาวะเครียดทางจิตใจ 😟
     วันนี้พี่หมอจึงอยากพาทุกคนไปเรียนรู้ที่มาที่ไปของอาการผมร่วง ผมบาง รวมถึงวิธีดูแลเส้นผมและหนังศีรษะของเราให้แข็งแรง หรือถ้าใครที่กำลังกลุ้มใจเพราะอาการนี้ พี่หมอก็มีวิธีรักษามาฝากกันด้วยนะครับ 
 
     ในทางการแพทย์ 👨‍⚕️ จะแบ่งภาวะผมร่วงออกเป็น ผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น และผมร่วงแบบมีแผลเป็น หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในนั่นเอง 
ปัจจัยภายนอกที่ทำให้ผมร่วง ผมบาง
    📌 การใช้ยาบางชนิด เช่น ยากดภูมิคุ้มกัน ยาเคมีบำบัด ยาละลายลิ่มเลือด ยากันชัก ยาลดความดัน ยารักษาโรคข้อเสื่อม ข้ออักเสบ ยาลดความเครียด ยารักษาสิวที่มีส่วนผสมของวิตามินเอ และยาคุมกำเนิด
    📌 การติดเชื้อราที่หนังศีรษะ
    📌 การฉายรังสีจากการรักษามะเร็ง
    📌 สารเคมีที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการดัด ย้อม หรือทำสีผม 
    📌 หนังศีรษะที่ถูกดึง แกะ เกา จนเป็นแผล
    📌 เส้นผมที่ถูกดึงรั้งต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน เช่น จากที่ติดผม ยางรัดผม และการถักเปียติดหนังศีรษะ
    📌 เส้นผมที่โดนความร้อนสูงจากที่หนีบผมหรือแสงแดด จนเคราตินในเส้นผมถูกทำลาย ผมจึงเปราะ ขาดและหลุดร่วงง่าย
 
ปัจจัยภายในที่ทำให้ผมร่วง ผมบาง
    📍 กรรมพันธุ์และฮอร์โมน มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งเกิดจากการถ่ายทอดยีนเด่นบนโครโมโซม และการถ่ายทอดแบบหลายปัจจัยจากหลายยีนร่วมกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้หนังศีรษะไวต่อฮอร์โมนดีเอชที (DiHydroTestosterone : DHT) ทำให้ผมลีบ หลุดร่วงง่าย และมีอายุสั้นกว่าปกติ โดยส่วนใหญ่กลุ่มนี้จะเริ่มแสดงอาการตั้งแต่อายุ 18-25 ปี และจะยิ่งร่วงมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น วิธีสังเกตก็คือ ผมบริเวณด้านหน้าและตรงกลางศีรษะจะเริ่มบางลง และมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวล้านจากพันธุกรรม 
    📍 โรคผมร่วงเป็นหย่อม เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ทำให้เซลล์รอบรากผมอักเสบ จนไม่สามารถผลิตเส้นผมขึ้นมาใหม่ได้
    📍 ความเครียดหรือการเจ็บป่วยรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ส่งผลให้เส้นผมหลุดร่วงออกมาเร็วและมากกว่าปกติ โดยผมมักจะร่วงหลังการเจ็บป่วยประมาณ 3 เดือน ภาวะเจ็บป่วยที่กระตุ้นผมร่วงชนิดนี้ ได้แก่ ไข้สูง ไข้เลือดออก ความเครียดสะสม การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนแบบเฉียบพลันซึ่งมักพบในคุณแม่หลังคลอด เป็นต้น
    📍 ภาวะดึงผมตัวเอง (Trichotillomania) เป็นภาวะผมร่วงที่เกิดจากการดึงหรือถอนผมตัวเอง จนผมบริเวณนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยผู้ป่วยมักจะดึงหรือถอนผมตัวเองเมื่อรู้สึกเครียด ซึ่งภาวะนี้ถือเป็นความผิดปกติทางจิตเวชแบบหนึ่ง
    📍 โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE/DLE) และภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ 
    📍 การขาดสารอาหารบางชนิด เช่น ธาตุเหล็ก โปรตีน วิตามินดี รวมถึงการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว 
    📍 โรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมแต่กำเนิดที่ทำให้การสร้างเส้นผมผิดปกติ 
    📍 โรคติดเชื้อบางชนิด เช่น ซิฟิลิส 
 
วิธีดูแลรักษาเส้นผมและหนังศีรษะสำหรับผู้ที่มีปัญหาผมร่วง  
     · ทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะอย่างสม่ำเสมอด้วยแชมพูสูตรอ่อนโยน และไม่ควรเกาหรือขยี้หนังศีรษะอย่างรุนแรงระหว่างสระผม  
     · หลีกเลี่ยงการทำทรงผมที่ต้องรัดแน่นๆ และการใช้สารเคมีเพื่อดัด ยืด ย้อม รวมถึงการใช้ที่หนีบผมซึ่งมีความร้อนสูง ♨️
     · สำหรับคุณผู้ชาย 👨 คุณหมออาจจะแนะนำให้กินยาฟิแนสเตอไรด์ ซึ่งเป็นยาที่ช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 5α-reductase ทำให้ระดับฮอร์โมนดีเอชทีที่หนังศีรษะลดลง ลดการหลุดร่วงและช่วยกระตุ้นการสร้างเส้นผมใหม่ โดยต้องกินยาติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน เพราะถ้าหยุดยา ผมก็จะกลับมาร่วงอีกภายใน 4-12 เดือน ส่วนผลข้างเคียงของการใช้ยาชนิดนี้คือ ความต้องการทางเพศลดลงและอวัยวะเพศไม่แข็งตัว (แต่พบได้ค่อนข้างน้อย) นอกจากนี้ หากมีความจำเป็นต้องบริจาคเลือด ควรงดกินยาอย่างน้อย 1 เดือน เพราะฤทธิ์ของยาที่ยังคงอยู่ในร่างกาย อาจส่งผลให้ทารกในครรภ์พิการได้ หากผู้ที่ได้รับเลือดเป็นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ 
     · ใช้ยาทาหนังศีรษะไมนอกซิดิล กระตุ้นการงอกของเส้นผม โดยมากจะเห็นผลการรักษาหลังใช้ยาต่อเนื่อง 6 เดือนขึ้นไป และหากหยุดใช้ยา อาการผมร่วงก็จะค่อยๆ กลับมาภายใน 4-6 เดือน โดยผู้ที่ใช้ยานี้อาจมีอาการข้างเคียงตามมา เช่น ระคายเคืองที่ผิวหนัง หรือมีขนขึ้นตามใบหน้า 
     · ในกรณีที่ตรวจพบว่าผมร่วงจากการขาดวิตามินดีหรือธาตุเหล็ก พี่หมอแนะนำให้รับประทานยาภายใต้คำสั่งของแพทย์ 👨‍⚕️ หรือเภสัชกรเท่านั้นนะครับ เพราะถ้ารับประทานวิตามินทั้งสองชนิดนี้มากเกินไป ก็อาจจะทำให้เกิดการสะสมจนส่งผลเสียต่อร่างกายได้ 
     · รักษาโดยใช้เทคโนโลยีแสง (Low-Level Laser Therapy : LLLT) เช่น แสง LED และเลเซอร์ เพื่อฟื้นฟูหนังศีรษะและกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผม หรือการปลูกผม โดยวิธีผ่าตัดเจาะรากผมบริเวณท้ายทอย ซึ่งเป็นบริเวณที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากฮอร์โมน แล้วย้ายไปปลูกในบริเวณที่ต้องการ 
 
     ผมร่วงอาจดูเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็อาจกลายเป็นปัญหาและทำให้เราเสียความมั่นใจจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังนั้น ถ้าเริ่มเห็นสัญญาณไม่ดีก็ควรรีบพาตัวเองไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด เพราะยิ่งเราเจอสาเหตุที่ถูกต้องเร็วเท่าไหร่ การรักษาก็จะยิ่งทำได้ง่ายและตรงจุดมากขึ้น โดยเฉพาะอาการผมร่วง ผมบางที่มีสาเหตุมาจากพันธุกรรมหรือฮอร์โมน ยิ่งได้รับการรักษาเร็วเท่าไหร่ โอกาสที่ผมจะกลับมาแข็งแรงก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น
     ที่สำคัญ ต้องรู้จักทำตัวเองให้มีความสุข เพราะความเครียดก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมร่วงได้เช่นกัน และถ้าอยาก รู้ว่าทำอย่างไรเราถึงจะมีความสุข ก็สามารถไปอ่านบทความของพี่หมอในสัปดาห์ที่แล้วได้นะครับ 😁😁😁
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่