JJNY : “โต๊ะจีน”ล่มสลาย!รัฐไม่ช่วยดีแต่เก็บภาษี│โรคระบาดสุกรเสี่ยง50จว.│ยูเอ็นกำลังรวมหลักฐานเมียนมา│จับตาป่วยโควิดบางแค

ธุรกิจ “โต๊ะจีน” ล่มสลาย! เดลิเวอรี่หาใช่ทางออก รัฐไม่ช่วย ดีแต่เก็บภาษี
https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2049920

 
ธุรกิจ “โต๊ะจีน” ล่มสลาย! เดลิเวอรี่หาใช่ทางออก รัฐไม่ช่วย ดีแต่เก็บภาษี
 
เชื่อว่าหลายๆ คนมีประสบการณ์ล้อมวงกิน “โต๊ะจีน” ทั้งงานแต่ง งานบวช เลี้ยงรุ่น หรืองานเลี้ยงตระกูล แต่ละงานก็มีความแตกต่างกันไป แต่สำหรับผู้เขียนเองก็มีประสบการณ์เช่นเดียวกัน แต่ไม่ค่อยน่าจดจำสักเท่าไร
 
สาเหตุเพราะในวัยเด็กผู้เขียนเจอประสบการณ์อันเลวร้าย เพราะไปเจอญาติๆ จอมกินจุ หรือกลุ่มแก๊งไดโว่ (กินอย่างกับสูบลงกระเพาะ) ยิ่งเจอเมนูเด็ด อาหารที่หมายปองเขาเสิร์ฟลงโต๊ะเมื่อไหร่ มหกรรม “แร้งลง” รุมกินโต๊ะ บังเกิด แต่ก็ยังดีที่ว่า.. อาหารบางอย่างเด็กเสิร์ฟทำหน้าที่จัดสรรให้ เรียกว่า “ได้กิน” กันทุกคน
 
นี่คือเรื่องขำๆ ที่ผู้เขียนมีประสบการณ์พานพบสมัยเด็กๆ ถึงแม้ปัจจุบันจะไม่ค่อยได้กินโต๊ะจีนแล้วก็ตาม เพราะเดี๋ยวนี้คนเลือกใช้วิธี “บุฟเฟต์” มากกว่า (หากินกันตามอัธยาศัย)
  
แต่ใครจะคิด...ว่าพอวันเวลาผ่านไป โลกเราได้รู้จักกับไวรัสร้าย “โควิด-19” ความบรรลัยทำลายล้างจึงเกิดไปยังธุรกิจมากมาย รวมทั้งธุรกิจ “โต๊ะจีน” ที่เวลานี้ผู้ประกอบการถึงขั้นยอมรับว่าเข้าขั้นตรีทูตแล้ว..
  
ผู้เขียนได้พูดคุยกับ “ประพฤติ อรรฆธน” คนในยุทธจักรโต๊ะจีนรู้จักดีในนาม “โกแก้ว” ประธานชมรมธุรกิจโต๊ะจีนจังหวัดนครปฐม เพราะนครปฐมคือเบอร์ 1 เรื่องโต๊ะจีน
 
แค่เอ่ยคำแรก โกแก้ว ก็พูดว่า “มันล่มสลายมาหลายเดือนแล้วครับ โดนระลอกแรก เจอยกเลิกหมด ไม่มีเข้ามาเลย ของที่เตรียมไว้ในช่วงต้นปี 2563 คิดว่าจะเป็นช่วงที่คนกินเลี้ยง แต่โควิดเข้ามา อาหารที่สต๊อกไว้มากมาย ที่เตรียมไว้เป็นวัตถุดิบ ต้องทิ้งหมด เพราะของที่เก็บไว้เน่าเสีย พอมาปีนี้เจอระลอก 2 ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น
 
โกแก้ว ยอมรับว่า “ในนาทีนี้มีแต่งานเล็กๆ บางงานจ้างก็ไปไม่ได้เพราะไม่คุ้มทุน เพราะปกติแล้วเราคิดโต๊ะละ 2,000 บาท อย่างน้อย 10 โต๊ะ ถึงจะออกไปได้ แต่ลูกค้าบางคนต่อรองเหลือโต๊ะละ 1,500 บาท และเรียกใช้ 5-10 โต๊ะ เราออกไม่ได้ แต่ผู้ประกอบการบางรายก็เลือกที่จะกัดฟันสู้ต่อ
 
สำหรับผม โต๊ะละ 1,500 บาท เราสู้ไม่ไหว เพราะค่ากุ๊กวันละ 1,200 บาท ผู้ช่วยกุ๊กอีกวันละ 1,000 เด็กเสิร์ฟหัวละ 600 ซึ่งเด็กเสิร์ฟเป็นลูกจ้างรายวัน ทำทุกอย่างตั้งแต่เสิร์ฟ จัดโต๊ะ ขนของไป-กลับ ถ้าเรียกราคานี้ รวมค่าน้ำมัน การเดินทางอีก เราไม่เหลืออะไรและไม่คุ้มที่จะไป
 
เด็กเสิร์ฟ เรามีเป็นร้อยคน ถึงแม้จะเป็นลูกจ้างรายวัน เราก็ดูแลเขา เพราะเวลามีงานใหญ่ๆ เราก็ใช้งานเขา แต่พอพวกเขาบางคนก็เดือดร้อน ไม่มีข้าวกิน ไม่มีเงินใช้ เราก็ต้องดูแลเขาบ้าง หาอาหารให้เขากิน เพื่อมนุษยธรรม เราเคยใช้งานเขา จะทิ้งเขาได้ยังไง..
 
สำหรับ ร้านยุทธพงษ์โภชนา เราใช้อาหารคุณภาพอย่างดี อย่างน้อยต้องจ้างประมาณ 20,000 บาท ถึงจะออกได้ จะใช้ 5-10 โต๊ะ ก็แล้วแต่ ถ้าโต๊ะน้อย เราก็เพิ่มคุณภาพอาหาร เพราะเรามีต้นทุนที่สูง
 
โควิด-19 หนักกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง ปรับแผนเดลิเวอรี่ก็ยาก
 
เราทำธุรกิจนี้มากว่า 40 ปีแล้ว ตลอดชีวิตไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ ขนาดช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งยังไม่หนักขนาดนี้ ฟองสบู่แตกก็ไม่เป็นแบบนี้ วันนี้ยอมรับจริงๆ ว่า “มันล่มสลาย” ต้นปีสต๊อกของไว้เต็มที่ ของก็เสีย พอเริ่มจะฟื้นปลายเดือนตุลาคม เริ่มจะมีงาน เจอระลอกที่ 2 ปลายเดือนธันวาคม จบ...ครับ ลูกค้าที่เข้ามาสั่งยกเลิกทั้งหมด ยกเลิก 100% ไม่มีคนสั่งจองแม้แต่โต๊ะเดียว
 
ส่วนเวลานี้ที่ใครเขาฮิตเรื่องเดลิเวอรี่ มีคิดจะปรับแผนหรือไม่ โกแก้ว พูดเสียงสั่นเครือว่า “ธุรกิจโต๊ะจีน ไม่ใช่ขายก๋วยเตี๋ยว หรืออาหารจานเดียว การจะใช้วิธีการเดลิเวอรี่ มันทำไม่ได้ เพราะค่าแรงงานแพง จึงทำให้ทำไม่ได้
 
มีหลายหน่วยงานถามว่า “ทำไมคุณไม่ขายเดลิเวอรี่” คำตอบคือ “มันไม่ง่ายอย่างที่คิดนะครับ ถ้าผมมีร้านอาหาร มีกุ๊กประจำเป็นเงินเดือน ก็อาจจะทำได้ แต่เราไม่ได้ทำแบบนั้น อีกทั้งของที่เราใช้ เราใช้ของคุณภาพดี ไม่สามารถนำมาขายกล่องละ 50 หรือ 80 บาทได้ ยกตัวอย่างเช่น กุ้งของเรา ตัวเดียวก็ 40 บาทแล้ว จะขาย 60 บาทก็ไม่ได้
 
จะให้เราเปลี่ยนอาชีพ คำถามคือ 
 
"จะให้ผมทำอะไร...ลงทุนเวลานี้ก็มีความเสี่ยงทั้งสิ้น อีกทั้งเวลานี้หันไปทางไหนก็มีแต่คนขาย เรียกว่าคนขายมีมากกว่าคนซื้อเสียอีก"
 
เงินทุนร่อยหรอ ไร้แววช่วยจากภาครัฐ
 
ตอนนี้เงินทุนของพวกเราก็ร่อยหรอไปเยอะ ที่ผ่านมา เคยรวมกลุ่มผู้ประกอบการโต๊ะจีนนครปฐม 228 ราย ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ช่วยเหลือ ตั้งแต่โควิด-19 รอบแรก ขอให้ช่วยผู้ประกอบการรายละ 10,000 บาท สัก 3 เดือน ก็ไม่มีคำตอบ หรือจะช่วยเหลือด้วยการหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำแบบ (soft loan) ผลปรากฏว่า...เงียบ
 
เจอโควิดครั้งที่สอง ยื่นหนังสือไปถึงนายกฯ หรือจังหวัด ก็...เงียบ (อีกหน)
 
ประธานชมรมโต๊ะจีนนครปฐม เผยว่า “ที่ผ่านมามีแต่ธนาคารวิ่งเข้ามาหา แต่คุณเข้าใจไหมว่า “ธนาคาร” ก็คือ “ธนาคาร” แม้จะเป็นของรัฐก็มุ่งหวังผลกำไรทั้งนั้น ถามว่าเงินกู้ดอกเบี้ย 1% แบบ SMEs เราเข้าถึงไหม คำตอบคือ “เข้าไม่ถึง” เพราะมันจะตรงกับกลุ่มนายทุนประมาณ 20-50 ล้านบาท
 
ถึงเวลานี้ไม่มีหน่วยงานไหนช่วยเลย มีแต่คนมุ่งจะหาประโยชน์ เราเสียภาษีทุกอย่าง ภาษีโรงเรือนก็เก็บ โดนบังคับให้จ่าย VAT 7% พวกผมทำอาชีพรับจ้าง เสียภาษี แต่เวลาผมไม่มีกิน จะอดตาย มีใครช่วยผมไหม เหมือนเราเป็นประชาชนชั้น 2 ฉะนั้น สิ่งที่อยากจะฝากถึงรัฐบาลคือ ไม่ช่วย 10,000 บาท ที่ขอ 3 เดือน ไม่เป็นไร แต่..ขอให้เราเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้ไหม เพราะคนที่เดือดร้อนในเวลานี้มีหลายหมื่นคนนะ นับเฉพาะผู้ประกอบการ 228 ราย” นี่คือคำที่กลั่นมาจากใจของประธานชมรมธุรกิจโต๊ะจีนจังหวัดนครปฐม
  
ทำไม “โต๊ะจีน” ต้องนครปฐม
 
นครปฐมเป็นเจ้าตำรับ “โต๊ะจีน” ที่เดินสายทั่วประเทศ มีแหล่งวัตถุดิบ หมู เห็ด เป็ด ไก่ พร้อม จึงทำให้มีผู้ประกอบการ “โต๊ะจีน
 
เรตราคาโต๊ะจีน 2,000-10,000 บาท 
 
เริ่มต้นที่ราคา 2,000 บาท ถ้าอยากได้ของดีๆ ก็จะอัปราคาขึ้น 3,500 ถึงแพงสุด 10,000 บาท
 
ราคา 2,000 ประกอบด้วย ชุดออเดิร์ฟ ไก่ตอนนครปฐม กระเพาะปลาน้ำแดง กุ้งอบวุ้นเส้น แกงจืดหม้อไฟ ข้าวผัดปู และของหวาน
 
แพงสุดราคา 10,000 บาท อาทิ เป๋าฮื้อออสเตรเลีย กุ้งมังกร หมูหัน หูฉลาม เป็นต้น
 
สมาชิกชมรมโต๊ะจีนนครปฐม มีทั้งหมด 50 ราย แต่มีผู้ประกอบการโต๊ะจีนนครปฐม 228 ราย ถ้าผู้ประกอบการคนไหนเป็นสมาชิกในชมรม ก็จะมีสาธารณสุขประจำจังหวัดมาดูแลเรื่องสุขลักษณะของอาหาร รวมถึงมีการตรวจสอบวัตถุดิบและคุณภาพ 
 
ผู้เขียน : อาสาม
 

 
โรคระบาดสุกรเสี่ยง 50 จังหวัด ฟาร์มหนีตายเทขายหมูขุน
https://www.prachachat.net/local-economy/news-631025
 
โรคระบาดหมูลามไม่หยุด พบเสี่ยงสูง 50 จังหวัด ฟาร์มรายเล็กรายกลางหวั่นตายยกเล้า ชิงขายหมูขุนทำราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มร่วงหนักจาก 80 เหลือ 72 บาท/กก. บริษัทยาสัตว์ไม่รอกรมปศุสัตว์เดินหน้าเปิดศูนย์ขายระบบพ่นฆ่าเชื้อ ASF ในคนและรถ เจาะศูนย์กลางการระบาดที่ชลบุรี-ราชบุรี
 
ผู้เลี้ยงหมูยังคงเผชิญกับโรคระบาดหมูต่อไป โดยล่าสุดโรคได้ลุกลามลงไปยังพื้นที่ภาคใต้ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง-สุราษฎร์ธานี เริ่มปรากฏหมูป่วย-ตายต่อเนื่อง ด้านหนึ่งผู้เลี้ยงสุกรส่วนใหญ่เชื่อว่า หมูตายจากโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร หรือ ASF แต่กรมปศุสัตว์ยัง “ไม่ยอมรับ” การระบาดของโรคนี้ในประเทศไทย
 
แต่กลับแจ้งว่า หมูตายจากโรคพีอาร์อาร์เอส หรือ PRRS ทั้ง ๆ ที่โรคนี้มีการระบาดในไทยมาเป็น 10 ปี และมีวัคซีนสามารถป้องกันโรคได้ ไม่ใช่ลักษณะการระบาดใหญ่เหมือนที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้
 
ฟาร์มหนีตายแห่ขายหมูทิ้ง
 
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากการสอบถามฟาร์มเลี้ยงสุกรในพื้นที่เข้ามาว่า โรคระบาดลึกลับในสุกรที่กรมปศุสัตว์ระบุว่า เป็นโรค PRRS นั้นได้ระบาดลุกลามไปทั่วทุกภาคของประเทศไทยอย่างรวดเร็ว โดยที่กรมปศุสัตว์ยังไม่สามารถควบคุมโรคได้
 
ประกอบกับผู้เลี้ยงสุกรเองก็กังวลว่า แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่การระบาดของโรค PRRS แต่อาจเป็นโรค ASF ซึ่งมีอาการของโรคใกล้เคียงกันมาก โดยเป็นที่เข้าใจกันดีว่า หากหมูเป็นโรค ASF แล้วไม่มีวัคซีนรักษา ต้องฆ่าหรือกำจัดทิ้งอย่างเดียว
 
ที่สำคัญหากยอมรับว่าเป็นโรค ASF แล้วจะกระทบการส่งออกหมูและผลิตภัณฑ์ “เป็นเรื่องที่ฟาร์มขนาดใหญ่และผู้ส่งออกกังวลมาก กลัวจะส่งออกไม่ได้”
 
ทั้งนี้เชื่อกันว่า การระบาดของโรคดังกล่าวได้ขยายวงกว้างไปถึง 50 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว โดยเฉพาะการแพร่ระบาดเข้าไปในพื้นที่เลี้ยงหมูในจังหวัดราชบุรี ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของผู้เลี้ยงสุกร มีปริมาณการเลี้ยงสุกรกว่า 2 ล้านตัวต่อปี ทั้งที่ อ.ปากท่อ และ อ.โพธาราม โดยการระบาดน่าจะมาจากการสั่งซื้อลูกสุกรจากต่างพื้นที่เข้าไปเลี้ยง
 
ล่าสุดพบว่าเชื้อไวรัสได้กลายพันธุ์จากเดิมทำให้หมูมีอัตราการตาย “ช้าลง” กว่าช่วงแรกที่พบการระบาดในจังหวัดเชียงรายเมื่อกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ที่หมูตายช้าลงทำให้เจ้าของฟาร์มรีบเทขายหมูมีชีวิตออกไปนอกพื้นที่ กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้โรคระบาดลุกลามอย่างรวดเร็ว ทั้ง ๆ ที่กรมปศุสัตว์มีประกาศเฝ้าระวัง การเคลื่อนย้ายหมูข้ามเขตต้องมีใบรับรองการตรวจโรคชัดเจนและตั้งด่านตรวจ
 
แต่ก็ยังลักลอบนำสุกรที่มีโรคเคลื่อนย้ายออกไปต่อเนื่องในทุกภาค ทำให้โรคได้ลุกลามเข้าสู่ฟาร์มระดับกลางและระดับใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งฟาร์มระบบเปิดและระบบปิด หลายฟาร์มในพื้นที่ที่ยังไม่เกิดโรต่างเร่งเทขายสุกรออกมา เพราะเกรงจะควบคุมโรคไม่อยู่
ส่งผลให้ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มของผู้เลี้ยงรายย่อยเคลื่อนไหวระดับ 72-74 บาทหรือ “ต่ำกว่า” ระดับราคาที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประกาศยืนที่ 80 บาทหลายสัปดาห์แล้ว ขณะที่ราคาลูกหมูและอาหารสัตว์ทุกชนิดช่วงนี้ปรับขึ้นสูง
 
ล่าสุดมีข่าวว่ากรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างร่างหลักเกณฑ์ ASF Compartment เพื่อกำหนดมาตรการการเลี้ยงสุกรในอนาคต ซึ่งองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ได้ออกระเบียบมาเป็นแนวทางให้แต่ละประเทศนำไปปฏิบัติแล้ว แต่ไทยจะสามารถดำเนินการเข้มงวดได้ตามที่วางไว้หรือไม่ คงต้องติดตามต่อไป
 
โดยเฉพาะมาตรการที่ว่าหากตรวจพบมีโรคเข้าฟาร์มหมูทั้งหมดจะต้องถูกทำลาย หลักเกณฑ์ดังกล่าวผู้เลี้ยงรายย่อยคงทำได้ลำบาก เท่ากับในอนาคตอาชีพการเลี้ยงสุกรเหลือเพียงรายกลางค่อนไปทางใหญ่และรายใหญ่เท่านั้น” แหล่งข่าวกล่าว
 
แม้กรมปศุสัตว์ยังไม่ยอมประกาศการระบาดของโรค ASF ในไทย แต่กลับปรากฏรายงานข่าวจากสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดราชบุรี (ข่าวเด่นราชบุรี) ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาแล้วว่า จังหวัดราชบุรีได้ยกระดับพื้นที่เฝ้าระวังโรค ASF อย่างเข้มงวด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น จังหวัดจึงได้ออกมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรค ASF เข้มงวด แต่ต่อมาต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จังหวัดราชบุรีได้ออกข่าวว่า ในพื้นที่ยังไม่มีการระบาดของโรคที่รุนแรงในฟาร์มหมูแต่อย่างใด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่