JJNY : 4in1 เงียบเหงาแต่ต้องทำใจ!ตรุษจีนศก.ซบเซา│วาเลนไทน์น้ำตารินรดกุหลาบ│‘จิรายุ’จัดให้ชุดใหญ่│"ปารีณา"เดินซึมเข้าสภา

เงียบเหงาแต่ต้องทำใจ!ส่องตรุษจีนวิถีใหม่ เผชิญหน้าโควิด-เศรษฐกิจซบเซา
https://www.isranews.org/article/isranews/95885-isranews-covid-3.html

“...โควิดเข้ามาทำลายรากฐานสาระสำคัญของเทศกาลตรุษจีนไป วิถีชีวิตของเราทุกคนอาจจะแยกกันอยู่กันคนละพื้นที่ เมื่อถึงตรุษจีน เราจะใช้โอกาสนี้เพื่อมาสังสรรค์รวมตัวกัน แม้ว่าไทยจะมีการระบาดของโควิดจะไม่หนักมากเท่าจีน สามารถมารวมตัวกันได้ แต่ถือว่ายังไม่สะดวกใจมากนัก ทำให้ตรุษจีนปีนี้ บรรยากาศอาจเงียบเหงา แต่เชื่อว่าทุกคนทำใจได้ เพราะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้...”
 
……………………………………….
 
ตลาดเยาวราช’ เป็นสถานที่อันดับต้นๆ ของลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนที่นิยมไปจับจ่ายใช้สอยซื้อของไหว้ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ที่นับเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจีน
 
แต่เทศกาลตรุษจีนปี 2564 เป็นปีที่มีสถานการณ์การระบาดของโควิด ทำให้เป็นปีแรกที่ กทม. ประกาศงดจัดกิจกรรมงานตรุษจีนที่เยาวราชในรอบ 20 ปี เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เช่นเดียวกับกระทรวงสาธารณสุข ที่ขอความร่วมมือประชาชนคำนึงถึงมาตรการควบคุมโรค
 
โดย ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากผลโพลของมหาวิทยาลัยที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลที่ไหว้เจ้าในเทศกาลตรุษจีน จำนวน 1,200 ราย ว่า ประชาชนคิดว่าเทศกาลตรุษจีนปีนี้คึกคักน้อยกว่าปีที่ผ่านมาถึง 63.7% โดยตรุษจีนปีนี้ การใช้จ่ายของประชาชนจะอยู่ที่ 44,939.66 ล้านบาท ขณะที่ตรุษจีนปีก่อน มีการใช้จ่ายของประชาชนอยู่ที่ 57,506.57 ล้านบาท ถือว่าลดลงมากที่สุดในรอบ 13 ปี นับจากการสำรวจปี 2552 ติดลบคิดเป็น 21.85% อย่างไรก็ตามแม้ตัวเลขการทำธุรกิจเข้าสู่ระบบออนไลน์จะเพิ่มขึ้น 2% จากปีที่ผ่านมา แต่ในภาพรวมทางเศรษฐกิจก็ยังถือว่าตก
 
ตรุษจีนปีนี้ประชาชนจะตั้งใจซื้อของไหว้เจ้าให้ครบตามประเพณี แต่ซื้อปริมาณน้อยลง โดยประชาชนส่วนใหญ่จะยังไปจับจ่ายใช้สอยที่ตลาดสด และห้างค้าปลีก ซึ่งประชาชนกว่า 80% จากผลสำรวจระบุว่าจะใช้จ่ายลดลงหรือใช้จ่ายเท่าเดิม เนื่องจากเศรษฐกิจแย่ มีรายได้ลดลง และวิตกว่าโควิดระบาดจะกระทบต่อรายได้และจ้างงานในอนาคต ” ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าว
 
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปสำรวจ ‘ตลาดเยาวราช’ พบมีชาวไทยเชื้อสายจีนเดินทางมาจับจ่ายใช้สอยกันจำนวนมาก แต่ผู้ประกอบการร้านค้าบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ยังไม่คึกคักเท่าปีที่ผ่านๆ มา และประชาชนซื้อสินค้าในปริมาณน้อยลง สอดคล้องกับผลโพลข้างต้น
 
ด้าน นางนี เจ้าของร้านค้าขนมมงคล สำหรับไหว้เจ้า กล่าวว่า ตรุษจีนปีนี้คนมาเยอะ แต่ไม่คึกคัก สัดส่วนของลูกค้าที่มาหายลงไปกว่าครึ่งต่อครึ่ง จากปกติที่ขายขนมถ้วยฟูขนาดใหญ่ได้เป็น 100 ชิ้นต่อวัน ตอนนี้แทบขายไม่ออก เนื่องจากลูกค้าหันมาซื้อขนมถ้วยฟู หรือว่าขนมมงคลไหว้เจ้าอื่นๆ อย่างกุ้ยช่าย สิ่วท้อ หรือขนมเปี๊ยะขนาดเล็กแทน โดยหากลองเปรียบเทียบให้เห็น จะเห็นว่าจากปกติลูกค้าเคยจับจ่ายอยู่ที่ 100 บาท ตอนนี้จะเหลือแค่คนละ 50 บาท
 
ยอมรับว่ายอดขายลดลงไปเยอะ แต่ได้เตรียมตัวล่วงหน้ามาก่อนแล้ว เนื่องสถานการณ์การระบาดของโควิดยังไม่ผ่านพ้นไป คาดเดาได้ว่าเศรษฐกิจจะยังซบเซา ประชาชนไม่กล้าใช้จ่าย จึงเตรียมขนมมงคลหลายๆอย่างมาขายน้อยลง และทำขนมมงคลเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อจำหน่ายในราคาถูกมากขึ้น ส่วนการป้องกันโรคเรายังปฏิบัติตามระเบียบแน่นอน ลูกค้าที่มาใช้บริการสามารถมั่นใจได้ ส่วนรับจ่ายเงินออนไลน์ ยังไม่ได้ดำเนินการ เพราะอายุเกือบ 70 ปีแล้ว เล่นเทคโนโลยีไม่ค่อยเก่ง" นางนี กล่าว
 
ขณะเดียวกัน นางเตียง อมรพงษ์สาพันธ์ เจ้าของร้านค้าซองอั่งเปาและถุงของขวัญมงคล กล่าวด้วยว่า มีผู้คนมาเดินจับจ่ายในระดับหนึ่ง ซึ่งไม่คึกคักเท่าปีที่ผ่านๆมา เนื่องจากปกติแล้วคนจะต้องเยอะมาก ขนาดเรียกได้ว่าแน่นจนแทบจะเดินสวนกันไม่ได้ แต่ในปัจจุบันจะเห็นว่าทางเดิน จะมีคนเดินผ่านไปมาเรื่อยๆ แบบประปรายเท่านั้น
 
สำหรับยอดขายของร้าน พบว่า คนมาซื้อซองอั่งเปาน้อยลงมาก แทบขายไม่ได้เลย อาจจะเป็นเพราะการระบาดของโควิด คนไปรวมญาติกันน้อย หรือว่าเน้นการโอนเงินออนไลน์กันตามนโยบายของรัฐ" นางเตียง กล่าว
 
ส่วนมาตรการช่วยเหลือจากรัฐ โดยเฉพาะ 'คนละครึ่ง' โครงการหัวหอกในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ก็พบว่า ไม่สามารถนำมาใช้ได้ในพื้นที่ตลาดเยาวราช โดยเฉพาะกลุ่มผู้ค้าส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่ง นางเตียง กล่าวด้วยว่า เพราะตัวเองเป็นผู้สูงอายุ จึงเล่นเทคโนโลยีไม่ค่อยเก่ง และได้ซื้อขายเป็ฯเงินสดอย่างเดียว ไม่ได้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งแต่อย่างใด ทำให้คาดเดาว่า อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ขายสินค้าได้ลดลง
 
ส่วนที่ วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ เป็นวัดที่ชาวไทยเชื้อสายจีนนิยมเข้าไปไหว้เทพเจ้า เพื่อขอพรในวันขึ้นปีใหม่ และเป็นวัดเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 149 ปี
 
เมื่อเดินทางเข้าไปพื้นที่ด้านใน จะพบว่า เจ้าหน้าที่จะให้สแกนไทยชนะ หรือลงทะเบียนก่อนเข้าภายในวัด มีการตรวจวัดอุณหภูมิ และจุดให้บริการล้างมือด้วยระบบเซ็นเซอร์ ขณะเดียวกันจุดไหว้เทพเจ้าก็มีแอลกอฮอล์ล้างมือติดตั้งไว้ประจำจุดต่างๆ ด้วย
 
นางนัยนา ชูเกษม อาจารย์พิเศษโรงเรียนมังกรกมลาวาส กล่าวว่า ทางวัดปฏิบัติตามมาตราการป้องกันโรคอย่างเข้มข้น โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจเช็คความปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเดินทางมาไหว้เทพเจ้าของประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีนระหว่างวันที่ 10 - 12 ก.พ.2564 
 
"ช่วงตรุษจีนปีนี้ ยังมีประชาชนเดินทางเข้ามาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์จำนวนมากเหมือนเดิมไม่มีเปลี่ยน ทางวัดจึงเตรียมความพร้อมและดำเนินมาตราการป้องกันอย่างเคร่งครัด โดยจะมีจุดตรวจวัดอุณหภูมิ จุดให้แสกนไทยชนะ จุดล้างมือ และมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลให้มีการเว้นระยะห่าง พร้อมกับมีเจลแอลกอฮอล์ประจำทุกจุดไหว้" นางนัยนา กล่าว
 
นางนัยนา กล่าวอีกว่า ทางวัดได้ร่วมมือกับกรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจความปลอดภัยของวิหาร ก่อนจะเปิดให้ประชาชนเข้าไปไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งจะเปิดให้บริการรอบละไม่เกิน 15 คนและไม่เกิน 15 นาที และงดนำธูปเทียนเข้าด้านใน ให้ยกมือไหว้อธิษฐานด้วยมือเปล่า ทั้งนี้จะทำความสะอาดจุดสัมผัสตลอดเวลา และทำความสะอาดวัดหลังปิดแล้วทุกวัน
 
สถานการณ์โควิดที่ทำให้เทศกาลตรุษจีนต้องดำเนินไปตามวิถีปกติใหม่ (New Normal) รศ.ดร.วรศักดิ์ มหันธโนบล อาจารย์พิเศษ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร อดีตผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เทศกาลตรุษจีน โดยธรรมเนียมแล้วถือเป็นการเฉลิมฉลอง ‘เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ’ ของชาวจีน ก่อนจะเข้าสู่ฤดูการผลิต ซึ่งทำมากว่า 1,000 ปีแล้ว สาระของการจัดเทศกาลคือการรวมญาติสนิทมิตรสหาย ถ้าหากเป็นวัยรุ่นหนุ่มสาวจะถือโอกาสดังกล่าวไปแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่-ครูอาจารย์
 
โควิดเข้ามาทำลายรากฐานสาระสำคัญของเทศกาลตรุษจีนไป วิถีชีวิตของเราทุกคนอาจจะแยกกันอยู่กันคนละพื้นที่ เมื่อถึงตรุษจีน เราจะใช้โอกาสนี้เพื่อมาสังสรรค์รวมตัวกัน แม้ว่าไทยจะมีการระบาดของโควิดจะไม่หนักมากเท่าจีน สามารถมารวมตัวกันได้ แต่ถือว่ายังไม่สะดวกใจมากนัก ทำให้ตรุษจีนปีนี้ บรรยากาศอาจเงียบเหงา แต่เชื่อว่าทุกคนทำใจได้ เพราะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” รศ.ดร.วรศักดิ์ กล่าว
 
รศ.ดร.วรศักดิ์ กล่าวอีกว่า การจัดพิธีกรรมจะยังมีจัดเหมือนเดิมไม่ว่าจะในไทย จีน หรือประเทศอื่นๆ อย่างการไหว้เทพเจ้า การมอบอั่งเปา หรือการปฏิบัติตามธรรมเนียมเดิม ยกตัวอย่างเช่น การไม่ตัดเส้น ‘หมี่ซั่ว’ ที่มีความหมายถึงอายุยืนยาว หากตัดเส้นจะหมายถึงอายุสั้น เป็นต้น เนื่องจากการจัดพิธีกรรมดังกล่าว เป็นการสร้างสิริมงคลในวันแรกแห่งปี ซึ่งจะทำให้ประชาชนรู้สึกสบายใจและมั่นใจว่าปีนี้จะเป็นปีที่ดี
 
ดังนั้นการเลือกซื้อของไหว้ ประชาชนจะนิยมไปเลือกซื้อด้วยตนเอง เนื่องจากหากไม่ได้เลือกด้วยตนเอง หรือสั่งสินค้าผ่านระบบออนไลน์ จะกลัวสินค้าไม่ได้ดั่งใจและจะรู้สึกไม่สบายใจ
 
เช่นเดียวกับการแจกอั่งเปา การใส่ซองแดงที่เป็นเสน่ห์ทางวัฒนธรรม ผู้รับจะไม่เปิดซองต่อหน้าผู้ให้ ดังนั้นการโอนอั่งเปาผ่านระบบออนไลน์อาจจะเป็นเพียงทางเลือกรอง สำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงอย่างสมุทรสาคร และอาจรวมถึงพื้นที่อื่นๆ ที่ยังเผชิญสถานการณ์โควิดในเวลานี้
 

 
วาเลนไทน์ยุคโควิด"น้ำตาริน"รดกุหลาบแดง"พบพระ"
https://www.thansettakij.com/content/normal_news/468331
  
พิษโควิด-19 ทำกุหลาบแดงอ.พบพระ  จังหวัดตาก  รับเทศกาลแห่งความรักวันวาเลนไทน์  ซบหนัก ราคาตกวูบเหลือครึ่งเดียวดอกละแค่ 2-4 บาท ขณะยอดสั่งซื้อหายวับเหลือแค่ 1 ใน 5
  
วันที่ 11 กุมภาพันธ์  2564  นายภราดร กานดา  ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก  และเจ้าของไร่กุหลาบปฐมเพชร อ.พบพระ จ.ตาก แหล่งผลิตดอกกุหลาบใหญ่ป้อนตลาดของประเทศ  เผยสถานการณ์การผลิต ซื้อ-ขาย ส่งออก ดอกกุหลาบแดง ในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ 2564  ว่า ปีนี้ยอมรับว่าสถานการณ์การซื้อ-ขาย ดอกกุหลาบแดง วาเลนไทน์ ไม่ดีเลย ซบเซาอย่างหนักหน่วงมากกว่าทุก ๆ ปีที่ผ่านมา 
 
ปีที่แล้ว 2563  แม้ว่าจะเริ่มมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19   แต่ก็ยังดีกว่า ปี 2564 นี้   เพราะเชื้อโควิด-19  ยังคงแพร่ระบาดอยู่   ส่งผลต่อยอดผลิตและจำหน่ายดอกกุหลาบแดง ซึ่งในปีนี้ราคาจะอยู่ระหว่างดอกละ 2-4 บาท ตามขนาดของดอกกุหลาบแดง ซึ่งเป็นระดับราคาที่ลดลงกว่าปีก่อนครึ่งต่อครึ่ง เรียกว่าเกษตรกรชาวสวนดอกกุหลาบแทบจะเดินไม่ได้เลย  ปัจจุบันเกษตรกรผู้ผลิตดอกกุหลาบพบพระ จะตัดดอกส่งขายวันละ 5-6 คันรถบรรทุก  คันละประมาณ 50,000 ดอก หรือประมาณวันละ 100,000- 200,000 ดอก จากภาวะปกติที่ไม่มีสถานการณ์โควิด-19 เคยตัดส่งนับ 1,000,000 ดอก หรือเหลือแค่ 1 ใน 5 เท่ากับว่าทั้งปริมาณผลผลิตและราคาตกลงอย่างหนัก 
 
ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่อ.พบพระ จ.ตาก ที่ทำการเกษตรดอกกุหลาบ  มีอยู่ประมาณ 2,000 ไร่  ส่วนผลผลิตพืชผลการเกษตรอื่น ๆ ใน อ.พบพระ  ราคาก็ตกลงเหมือนกัน เกษตรกรเริ่มเดือดร้อนและได้รับผลกระทบจากโควิด-19   จำนวนมาก พืชผลทุกชนิดราคาตกลงหมด”นายภราดรกล่าว 
    
นอกจากนี้ สำหรับดอกกุหลาบมหัศจรรย์ หรือกุหลาบแก้ว หรือกุหลาบสต๊าฟในโหลแก้ว  ซึ่งเป็นการแปรรูปดอกกุหลาบแดง ที่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นับ 10 ปีนั้น ตอนนี้แทบจะขายไม่ได้เลย เพราะกุหลาบมหัศจรรย์นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว และตอนนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเลย ทำให้ไม่มีตลาดเช่นกัน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่