“ Nok ” อารยธรรมที่สาบสูญแห่งกาฬทวีป




รูปปั้นดินเผาในอารยธรรมนก ซึ่งถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ของฝรั่งเศส
โดยรูปปั้นดังกล่าวถูกลักลอบนำออกมาจากไนจีเรีย และฝรั่งเศสยอมรับว่าไนจีเรียเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในตัวรูปปั้น
แต่ขอสิทธิจัดแสดงในประเทศเป็นเวลา 25 ปี (ข้อมูลจากบีบีซีเมื่อปี 2002) Cr.ภาพจาก AFP PHOTO / FRANCOIS GUILLOT



“กาฬทวีป” หรือ “ทวีปมืด” คืออีกชื่อหนึ่งของ “ทวีปแอฟริกา” เพราะในอดีตมีสภาพแวดล้อมที่เข้าถึงยากและเป็นอุปสรรค ทำให้เรื่องราวของทวีปลึกลับนี้
ไม่ได้ถูกนำมาศึกษา  ถึงแม้ว่านักวิชาการส่วนใหญ่ระบุว่า แอฟริกาเป็นดินแดนแหล่งกำเนิดของมนุษย์โบราณที่ค่อยๆ แพร่กระจายออกไปยังสถานที่ต่างๆของโลก แต่ “วัฒนธรรม” หรือ “อารยธรรม” ของชนโบราณในทวีปมืดกลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก  โดยเฉพาะอารยธรรมโบราณที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
ที่เรียกว่าอารยธรรม “นก” (Nok) ในภูมิภาค ‘Middle Belt’ ของไนจีเรีย

อารยธรรมนก (Nok Culture) เป็นอารยธรรมโบราณยุคเหล็กบนที่ราบสูงเบนู (Benue Plateau) ของไนจีเรีย มีอายุในช่วง 500 ปีก่อนคริสตกาล ถึงค.ศ. 200 อารยธรรมแห่งนี้เพิ่งเป็นที่รู้จักในศตวรรษที่ 20 เมื่อมีการพบโบราณวัตถุครั้งแรกในปี 1928 ที่ “ Nok ” หมู่บ้านเล็กๆ ที่ทำเหมืองแร่สังกะสี ก่อนที่จะพบโบราณวัตถุลักษณะคล้ายๆ กันบนพื้นที่ราว 1.53 แสนตารางกิโลเมตร

หมู่บ้านนกตั้งอยู่ในท้องถิ่นจาบา ทางตอนใต้ของรัฐคาดูนา ทางตอนเหนือของไนจีเรีย ซึ่งมักดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักโบราณคดี ซึ่งชื่อเสียงระดับสากลของ Nok ทั้งในแวดวงวิชาการและทั่วโลกแต่คนไทยไม่ค่อยได้ยินวัฒนธรรมนี้มากนัก

โบราณวัตถุของอารยธรรมนกที่พบส่วนใหญ่ เป็นรูปปั้นดินเผามนุษย์และรูปสัตว์ต่างๆ ซึ่งตรงลูกตาดำจะถูกเจาะเป็นรู ส่วนรูปทรงดวงตาจะเป็นวงรีหรือสามเหลี่ยม นอกจากนี้ยังพบเครื่องมือหิน เครื่องมือโลหะ และเครื่องประดับหินสีต่างๆ


ไซต์ของ Nok Culture ในภาคกลางของไนจีเรีย ที่กระจายอยู่บนพื้นที่ 500x300 ม. สี่เหลี่ยมผืนผ้าแสดงพื้นที่การวิจัย




โดยในปี1928 ข้าวของเครื่องใช้ที่ชาวนกโบราณที่ถูกทิ้งเกลื่อนกลาดอยู่ตามพื้นดินจนถูกทับถมไปตามกาลเวลา ได้ถูกเปิดเผยขึ้นมาอีกครั้งในช่วงของการทำเหมืองดีบุกบริเวณรัฐกาดูนา (Kaduna)  ซึ่งสิ่งที่ทีมขุดเหมืองถพบก็คือ “หุ่นดินเผา” (Terracotta) รูปทรงแปลกประหลาด ในรูปมนุษย์และสัตว์ แต่ก็ทิ้งเวลาไป

จนถึงปี 1943 ทีมนักโบราณคดีจึงได้เข้ามาทำการศึกษาหุ่นดินเผาลึกลับเหล่านี้ ซึ่งนักโบราณคดีชาวอังกฤษในยุคบุกเบิกคือ Bernard Fagg ที่พยายามเปรียบเทียบลักษณะทางศิลปะของหุ่นดินเผาที่ค้นพบจากไนจีเรีย กับหุ่นดินเผาจากวัฒนธรรมอื่นๆ ซึ่งมันไม่คล้ายคลึงกับผลงานศิลปะของกลุ่มวัฒนธรรมใดๆ
และเมื่อทีมขุดค้นของ Fagg ได้ค้นหาหลักฐานบริเวณหมู่บ้าน “นก” ทำให้พวกเขาได้พบกับหุ่นดินเผามากมายถึง 200 ชิ้น เมื่อนำเอาตัวอย่างของชั้นดินที่ค้นพบโบราณวัตถุเหล่านี้ไปตรวจสอบหาอายุ พบว่ามันมีความเก่าแก่ย้อนกลับไปได้ไกลถึงช่วงประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาล และเมื่อทำการขุดค้นมากขึ้น พวกเขาก็ได้ค้นพบโบราณวัตถุโดยเฉพาะหุ่นดินเผาอันเป็นเอกลักษณ์จากกลุ่มวัฒนธรรมนี้มากมาย

มันแสดงให้เห็นว่าชาวนกโบราณ คืออารยธรรมที่สาบสูญแห่งแอฟริกาตะวันตก ที่เคยรุ่งเรืองอยู่ในช่วงประมาณ 900 ปีก่อนคริสตกาล นอกจากนั้นยังพบว่า การกระจายตัวของโบราณวัตถุจากอารยธรรมนกโบราณในประเทศไนจีเรีย ยังแผ่ขยายกว้างไกลออกไปราว 78,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งกินพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศไนจีเรียเอาไว้เกือบทั้งหมด หรือถ้าจะเปรียบเทียบให้ง่ายก็คือมีพื้นที่เทียบเท่ากับประเทศโปรตุเกสทั้งประเทศนั่นเอง
  
สำหรับหุ่นดินเผาที่ค้นพบส่วนใหญ่จะเป็นรูปมนุษย์ที่มีศีรษะขนาดใหญ่ ดวงตาเรียวยาว ปากเผยอเล็กน้อย มีการสวมเครื่องประดับศีรษะหลากหลายรูปแบบ ซึ่งอาจจะแสดงให้เห็นว่าเป็น “ชนชั้นสูง” ซึ่งบางทีระบบสังคมของชาวนกโบราณอาจจะมีการแบ่งแยกชนชั้นอย่างชัดเจน

ลักษณะท่าทางท่าส่วนใหญ่จะอยู่ในท่านั่งชันเข่า มือทั้งสองข้างพาดวางเอาไว้บนเข่า นอกจากนั้น งานหุ่นดินเผายังแสดงให้เห็นถึงจินตนาการของการนำเอา “มนุษย์” และ “สัตว์” มาผสมผสานกันอย่างชัดเจน เช่น หุ่นดินเผาที่มีร่างกายเป็นแมวแต่มีศีรษะเป็นมนุษย์ และเมื่อตรวจสอบเพิ่มเติมก็ได้พบว่าหุ่นดินเผาเหล่านี้น่าจะใช้ “ดินเหนียว” ที่มาจากแหล่งเดียวกัน

ที่น่าทึ่งคือ ชิ้นงานดินเผาของชาวนกโบราณยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถทางด้านการผลิตโดย “รู” ที่เจาะไว้ที่ดวงตา จมูก หู และปาก อาจเพื่อช่วยระบายก๊าซต่างๆและความร้อนจากการเผา  เพื่อไมให้ชิ้นงานเกิดรอยร้าว และยังเพิ่มชิ้นงานให้มีความสมจริงมากยิ่งขึ้นได้ด้วย 

อีกหนึ่งความโดดเด่นของอารยธรรมนกโบราณแห่งไนจีเรียคือ “เทคโนโลยี” ที่ก้าวกระโดดจากยุคหินเข้าสู่ “ยุคเหล็ก” โดยตรง ต่างจากกลุ่มอารยธรรม
โบราณอื่นๆ ที่มีลำดับจากยุคหิน ไปยุคทองแดงและยุคสำริด  โดยนักโบราณคดีค้นพบหลักฐานของเตาหลอม (Furnace) อย่างน้อย 13 แห่ง
ที่มีหลักฐานของการใช้งานเพื่อหลอมเหล็กมาตั้งแต่เมื่อราว 519 ปีก่อนคริสตกาล 
  
บรรดาเครื่องมือเหล็กที่นักโบราณคดีค้นพบจากวัฒนธรรมที่สาบสูญนี้ มีทั้งเครื่องประดับอย่างกำไล ไปจนถึงเครื่องมือเกษตรกรรมอย่างจอบและขวานขนาดใหญ่ รวมถึง “อาวุธ” ที่ทำจากเหล็กอีกหลากชนิดเช่น ทั้งกริช หัวธนูและใบมีดสำหรับทำหอก  แต่นักโบราณคดียังไม่ค้นพบหลักฐานว่า ชาวนกโบราณรับเอาความสามารถอันน่าทึ่งเหล่านี้มาจากไหน

วัตถุเหล็กที่พบจากเมือง Ungwar Kura และ Akura
ศรีษะทองเหลืองจากกลุ่มวัฒนธรรมใหม่ " Ife "
โดย The British Museum (CC BY-NC-SA)
สุดท้าย การหายไปของอารยธรรมนกก็ยังเป็นปริศนา โดยนักโบราณคดีค้นพบหลักฐานที่แสดงถึงความรุ่งเรืองของกลุ่มวัฒนธรรมนกโบราณแค่ช่วงปี ค.ศ.200 เท่านั้น หลังจากนั้นเป็นต้นมา จำนวนประชากรของวัฒนธรรมนกโบราณก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และสำหรับสาเหตุของการล่มสลายนั้น
ก็มีการตั้งสมมติฐานขึ้นมาหลายประการ ได้แก่การใช้ทรัพยากรในพื้นที่เกินขีดจำกัดจนเกิดการขาดแคลน, การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และถูกรุกรานจากชนเผ่าต่างถิ่น หรือการเกิด “โรคระบาด” 

อย่างไรก็ตาม หลังจากปี ค.ศ.200 วัฒนธรรมโบราณแห่งนี้ก็หายสาบสูญออกไปจากประเทศไนจีเรีย กลุ่มวัฒนธรรมใหม่ที่ถือกำเนิดต่อมามีชื่อว่า “อีเฟ” (Ife) ซึ่งครองความเป็นใหญ่อยู่ในบริเวณเดียวกับชาวนกโบราณ  ซึ่งรุ่งเรืองอยู่ในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 11-15  โดยพบผลงานโดดเด่นคือ รูปหล่อศีรษะมนุษย์จากทองเหลือง ซึ่งนักโบราณคดีส่วนหนึ่งเสนอว่า พวกเขาอาจจะได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมนกโบราณที่รุ่งเรืองอยู่ก่อนหน้า

ไนจีเรียถือว่าเป็นประเทศที่มีประชากรมากหลายล้านคนในแอฟริกา ยังมีหลักฐานทางศิลปะในอดีตที่สมบูรณ์มากกว่าส่วนอื่น ๆ ของทวีปทางตอนใต้ของซาฮารา โดย " วัฒนธรรมนก " ถือเป็นวัฒนธรรมทำเหล็กโบราณในไนจีเรียที่เก่าแก่ที่สุด


ประติมากรรมนูนฐานนกดินเผา
ไม่ค่อยมีใครรู้จักวัฒนธรรมนก นอกจากงานเหล็กและประติมากรรมดินเผาเช่น รูปปั้นนูนนี้ 
Cr.ภาพโดย DEAGOSTINI / GETTY IMAGES
มีการพบซากข้าวฟ่างข้าวโพดและธัญพืชอื่น ๆ ที่เผาไหม้เกรียมในพื้นที่ Nok หลายแห่ง
ซึ่งบ่งชี้ถึงการยังชีพทางการเกษตรที่ตั้งรกรากในช่วงต้น

 
อ้างอิง: “Nok Cultrue. Iron Age Culture”. Encyclopedia Britannica. <https://global.britannica.com/topic/Nok-culture>

Cr.https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1924533 /  ทีมงานนิตยสารต่วย'ตูน โดย : ณัฐพล เดชขจร

(ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลทั้งหมดและขออนุญาตนำมา)


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่