[CR] บ้านเชียง...มรดกโลกทางวัฒนธรรม...กับวิถีไทยพวน



"หม้อลายเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์
อนุรักษ์ธรรมชาติ...บึงนาคำ
งามล้ำ...พุทธอุทยานอีสานเขียว
แหล่งท่องเที่ยว...มรดกโลก "

บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ถือได้ว่าเป็นหมู่บ้านแห่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่บอกเล่าถึงอารยธรรมของผู้คนในดินแดนประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากว่า 5,600 ปีมาแล้ว

ชาวบ้านเชียงในปัจจุบันเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากเมืองพวนของราชอาณาจักรลาวเมื่อ 200 ปี ทุกคนล้วนมีความมุ่งมั่นที่จะสืบสานและนำเสนออารยะของคนบ้านเชียงในยุคก่อนประวัติศาสตร์และเอกลักษณ์ของชาวไทยพวนรวมทั้งวัฒนธรรมในพื้นที่อิสาน ผ่านวิถีชีวิตและงานศิลปะ ทุกเส้นสายที่แต่งแต้มสีบนดินปั้น สื่อถึงอารยธรรมอันรุ่งเรืองในอดีตสืบเนื่องมาเป็นเวลากว่าหลายพันปี

เรื่องราวต่างๆ ของชาวบ้านเชียง แทรกอยู่ในเม็ดดินอันอุดมสมบูรณ์ที่ผ่านช่วงเวลาหลายยุคหลายสมัยเรื่อยมาจนมีชาวพวนจากแขวงเชียงขวาง แห่งราชอาณาจักรลาว อพยพข้ามแม่น้ำโขงมา ตัดสินใจลงหลักปักฐานกันตรงนี้เมื่อราวปี พ.ศ. 2360 ซึ่งในตอนนั้นเรียกว่า "ดงแพง" ทับซ้อนบนผืนดินเดียวกับที่เจ้าของวัฒนธรรมบ้านเชียงเคยอยู่เมื่อหลายพันปีก่อน



ฟ้อนรำในงานบุญของชาวไทพวนบ้านเชียง



ร่องรอยของมนุษย์ในสมัยดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่มีพัฒนาการแล้วในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านความรู้ความสามารถหรือภูมิปัญญา อันเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยให้ผู้คนเหล่านั้นสามารถดำรงชีวิตและสร้างสังคม-วัฒนธรรมของมนุษย์ได้สืบเนื่องต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน วัฒนธรรมบ้านเชียงได้ครอบคลุมถึงแหล่งโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกกว่าร้อยแห่ง ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ที่มีมนุษย์อยู่อาศัยหนาแน่นมาตั้งแต่หลายพันปีแล้ว ด้วยเหตุนี้องค์การยูเนสโกจึงได้ยอมรับขึ้นบัญชีแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียงไว้เป็นแห่งหนึ่งในบรรดามรดกโลก

ศิลปะเครื่องปั้นดินเผา ของบ้านเชียงนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ยุค ได้แก่

1.ภาชนะดินเผาสมัยต้น อายุ 5,600-3,000 ปี มีลายเชือกทาบ ซึ่งคาดกันว่าเป็นปอกัญชา ทั้งยังมีลายขูดขีด และมีการเขียนสีบ่า โดยพบวางคู่กับโครงกระดูก บางใบ  ใช้บรรจุศพเด็ก

2. ภาชนะดินเผาสมัยกลาง อายุ 3,000 ปี-2,300 ปี สมัยนี้เป็นสมัยที่เริ่มมีการขีดทาสีแดง

3. ภาชนะดินเผาสมัยปลาย อายุ 2,300 ปี-1,800 ปี เป็นยุคที่มีลวดลายที่สวยงามที่สุด ลวดลายพิสดาร สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมที่สงบสุข ก่อนที่จะกลายมาเป็นการเคลือบน้ำโคลนสีแดงขัดมัน



แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้จดทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2535 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 16 ที่เมืองแซนตาเฟ รัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผ่านข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก

ชาวบ้านเชียงเชื้อสายไทพวนในปัจจุบัน มีความภาคภูมิใจที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ยูเนสโก อันดับที่ 359 เมื่อปี พ.ศ. 2535 เป็นอันดับที่ 4 ของประเทศไทย เป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อ 5000 ปีล่วงมาแล้ว ที่มีความสำคัญในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก เป็นเครื่องยืนยันถึงวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันว่ามีความสำคัญต่อมนุษยชาติแห่งหนึ่งของโลก



บ้านเชียง นอกจากภาพแหล่งโบราณคดีหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน และบ้านไทพานแล้ว อีกภาพหนึ่งที่ผู้คนทั่วไปจะคุ้นตาหรือนึกถึงก็คือ หม้อดินเผาเขียนสีลายเชือกทาบ ปัจจุบันชาวบ้านได้นำมรดกชิ้นเอก หม้อดินเผาเขียนสีของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ นำมาต่อยอดสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาในรูปภาชนะต่างๆ ไปจนถึงสินค้าที่ระลึก สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเชียง

บ้านเชียง มากไปด้วยหม้อไหดินเผาลายเชือกทาบก็ไม่ผิดนัก ยิ่งเมื่อได้ไปที่แหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ บ้านเชียงด้วยแล้ว จะตื่นตาไปกับห้องจัดแสดงภาชนะดินเผารูปทรงต่างๆ ลายเชือกทาบ อีกโครงกระดูก ขวานหิน ลูกกลิ้งดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้และสิ่งของอื่นๆ มากมาย ที่ได้จากการสำรวจขุดค้นที่บ้านเชียง และแหล่งโบราณคดีใกล้เคียง นิทรรศการนำทางเล่าเรื่องราวมนุษย์ดึกดำบรรพ์ในวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ แบ่งออกเป็น 3 ระยะใหญ่ ตามลักษณะการฝังศพและภาชนะดินเผาที่บรรจุลงเป็นเครื่องเซ่นในหลุมฝังศพ ดังนี้ สมัยต้นบ้านเชียง อายุระหว่าง 5,600–3,000 ปีมาแล้ว สมัยกลางบ้านเชียง อายุระหว่าง 3,000–2,300 ปีมาแล้ว และสมัยปลายบ้านเชียง อายุระหว่าง 2,300–1,800 ปีมาแล้ว

เมื่อดูนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์เสร็จแล้ว ควรได้แวะไปดูแหล่งโบราณคดีหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก ราวกิโลเมตรเศษ







ลายโบราณบ้านเชียง นำมาเขียนบน ภาชนะที่ระลึก



บ้านเชียง แม้ว่ามีแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ระดับโลกเป็น “จุดขาย” ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แต่ดูเหมือนว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ไปเยือน “ในแต่ละปีอยู่ราว 2 แสนคน” (ข้อมูลงานมรดกโลก 10 ก.พ.60) ด้วยเหตุนี้ ท้องถิ่นพยายามจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมเข้ามาเสริม ทั้งด้านศิลปะการเขียนสีลายเชือกทาบบนหม้อดิน จัดบายศรีสู่ขวัญผู้มาเยือน ฯลฯ รวมถึงงานแสงสีเสียงมรดกโลกจัดขึ้นทุกปี เพื่อที่จูงใจให้นักท่องเที่ยวคนไทยด้วยกันและชาวต่างชาติมาเยือนบ้านเชียงมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านเชียงพร้อมต้อนรับผู้ไปเยือนด้วยรอยยิ้ม อัธยาศัยอย่างมิตรไมตรี ดังที่ได้สัมผัสบรรยากาศงานมรดกโลก

ชุมชนบ้านเชียง ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี มีความโดดเด่นในของเครื่องปั้นโบราณคดี เช่น กลุ่มภาชนะดินเผา เป็นต้น













สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เปิดตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม แห่งแรกของอุดรธานี ชูวัฒนธรรมบ้านเชียงแห่งมรดกโลกเสริมมรดกภูมิปัญหาของชุมชน สนับสนุนให้ชุมชนมีรายได้ สร้างภูมิคุ้มกันสังคม สู่การพัฒนาชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง นอกจากนี้ยังคงรักษาวิถีชีวิต ตลอดจนยังคงรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม อาทิ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และภาษาไทพวน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานี จึงกำหนดให้ชุมชนบ้านเชียง เป็นตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม และในปี พ.ศ.2560 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้คัดเลือกชุมชนบ้านเชียง เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอีกด้วย

ชุมชนบ้านเชียง เดิมเปิดเป็นตลาดวัฒนธรรม ถนนคนเดินมีร้านจำหน่ายเป็นร้านค้าที่รัฐสนับสนุน 9 แห่ง เป็นของเอกชน 20 แห่ง เปิดดำเนินการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. ยกเว้นวันจันทร์ หยุดกิจการพร้อมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง เพื่อเป็นการขยายพื้นที่ตลาดที่มีอยู่เดิมและพัฒนาตลาดใหม่ สร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ ที่มีสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานีร่วมกับ เทศบาลตำบลบ้านเชียง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง อำเภอหนองหาน สภาวัฒนธรรมตำบลบ้านเชียง ผู้บริหารสถานศึกษาในตำบลบ้านเชียง จึงได้บูรณาการความร่วมมือเปิดพื้นที่ตลาดเพิ่มเติม จากเดิมเป็นเปิดบริการทุกวันเสาร์ที่ 1และ 3 ของเดือน ตั้งแต่เวลา 15.00-20.00 น. โดยในวันอาทิตย์ที่ 1และ ที่ 3 จะมีกิจกรรมตักบาตรถนนสายบุญ ณ บริเวณตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรมด้วย ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายใหม่ในพื้นที่ 58 ราย สามารถขยายพื้นที่จำหน่ายได้อีก 42 ราย โดยสินค้าที่ต้องการในตลาดเน้น การจำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน พื้นเมือง งานหัตถกรรม สินค้าทางการเกษตร สินค้าสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาทุกประเภท
















จังหวัดอุดธานีมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตชุมชนที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวอุดรธานี โดยเดินทางไปสัมผัสความสวยงามของทะเลบัวแดงบานรับอรุณแรกที่ทะเลบัวแดงบานหนองหาน-กุมภวาปี บ่ายขอพรปู่ศรีสุทธิ์โทที่คำชะโนด ก่อนกลับแวะเย็นสัมผัสบรรยากาศวิถีชุมชนไทพวนบ้านเชียงที่ตลาดประชารัฐตลาดวัฒนธรรมถนนสายวัฒนธรรม
ชื่อสินค้า:   ท่องเที่ยวเชิงเชิงวัฒนธรรมบ้านเชียง...มรดกโลกทางวัฒนธรรม...กับวิถีไทยพวน
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง โดยได้รับส่วนลดหรือสิทธิพิเศษจากเจ้าของสินค้าเพื่อแลกกับการรีวิว
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างแต่ได้รับผลประโยชน์อย่างอื่น เช่น บัตรกำนัล ค่าเดินทางตามจริง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่