แสงสรวงสัชชนาไลย ตอนที่ ๗

สะดือเมือง

อาคารหอสมุดวชิรญาณสีเหลืองอย่างมัสตาร์ดทอดตัวยาว ตัดกับท้องฟ้าใส รถยนต์อย่าง Jeep เคลื่อนเข้าที่จอด จันนวลแลดูสูงโปร่งเมื่อสวมกางเกงยาวกรอมเท้าสีเทาเข้ม ตัดกับเสื้อยืดคอกว้าง สีขาวนวลตา ผ้าคลุมไหล่เนื้อไหมบางเบา ช่วยให้ดูเรียบร้อย กึ่งทางการ 

‘แบบนี้ล่ะ แต่งสบายๆ คนที่มาร่วมประชุมก็จะรู้สึกว่าไม่เครียด’ จันนวลมักใส่ใจรายละเอียดความคิดอ่านคนอื่นเสมอ ระหว่างรอเวลา จันนวลตรวจทานหัวข้อที่จะต้องพูดในที่ประชุม พลัน 

“นวล ทางนี้” เสียง ดร. นัยน์ ดังขึ้น 
 
จันนวลเดินเข้าไปทักทาย พร้อมก้าวเดินขึ้นกระไดไม้เก่าคร่ำ สีถลอกลอกเป็นแนวยาว บ่งบอกว่าคงรองรับฝีเท้าผู้คนมาเกือบ ๑๐๐ ปี 

“ดื่มชาก่อนนะ กรรมการฝ่ายต่างๆ เริ่มทยอยมากันแล้ว เราเชิญผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่นมาด้วย เพราะอยากได้ข้อมูลพื้นที่จริง ไม่ใช่แต่ข้อมูลวิชาการ” ดร. นัยน์ชวนคุย

“ดีเลย นัยน์ คนพื้นถิ่นนี่ล่ะ สำคัญที่สุด เขาจะมีแง่มุมเรียบๆ สดใหม่ ไม่แต่งเติมมาก”

“อ้าวนั่น มาพอดี ยืนหันหลัง เต๊ะท่าอยู่นั่น ... เฮ้ย ว่าไง รูปหล่อ” นัยน์เอ่ยทักทาย

“ชายหนุ่มกลางคน สันทัด แต่งตัวเรียบร้อย เสื้อเชิ้ตแขนสั้น ออกชมพูอ่อน ตัดกับกางแกงสแลก สีเขียวเข้ม 

“คุณ กรัน” จันนวลเอ่ย 

“อ้าว นวล รู้จักกรันด้วย เหรอ” นัยน์ออกสงสัย

“เคยพบกันแล้วที่ สวรรคโลก คุณจันนวลเป็นเพื่อนบ้าน” กรันชิงตอบ เมื่อเห็นจันนวลเงียบอยู่ 

“นวล นี่ล่ะ ผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่น เลือดพระร่วง เต็มตัว รักแผ่นดิน ศรีสัชนาลัย สุโขทัย ยิ่งชีพ” นัยน์เอ่ยแซว จันนวลได้แต่ ยิ้ม ยังไม่มีโอกาสเอ่ยอะไร 

“อย่าไปฟังครับ ไอ้นัยน์นี่ จอมโม้ ตั้งแต่เข้าทำงานกองเดียวกันแล้วครับ” กรัน แก้เขิน 

“ดีจัง ได้คนบ้านใกล้เรือนเคียงมาร่วมงาน งานของนวลคงราบรื่นไปครึ่งหนึ่งแล้ว” 
ทั้งสามเดินเข้าห้องประชุมใหญ่ ตกแต่งด้วยเครื่องไม้อย่างโบราณ เครื่องปรับอากาศเป็น “สิ่งแปลกปลอมต่างยุค” เพียงอย่างเดียว ช่วยให้ห้องเย็นสบาย เมื่อทุกคนมาถึงและลงนั่ง อธิบดี กรมศิลปากร กล่าวต้อนรับ ตัวแทนฝ่ายวิชาการจาก UNESCO และแขกชาวต่างประเทศ ชาวไทย ที่เชิญมาร่วมประชุม 

ในฐานะตัวแทนฝ่ายวิชาการ จันนวล ขึ้นแถลงเป็นภาษาอังกฤษ 

“Thank you all for the very warm welcome … 

ดังที่ท่านอธิบดีได้เกริ่นนำไว้แล้วว่า UNESCO มีโครงการใหญ่ที่จะ “หวนเยือน” มรดกโลกทุกแห่งในแต่ละภูมิภาคของโลก ในส่วนประเทศไทยเรา กล่าวได้ว่า อุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร เป็นแหล่งมรดกโลกแรกๆ ที่ท่านอดีตอธิบดีกรมศิลปากร นิคม มุสิกะคามะ ได้ผลักดันจนเกิดผลสำเร็จ เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ประทับใจชาวต่างประเทศ มากว่า ๒๐ ปี และทำให้ชาวต่างประเทศรู้จักประเทศไทยยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ความสง่างามแห่งโบราณสถานเหล่านี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มี ชุมชน คือ คน ผู้สร้างสรรค์ ศิลปสถานเหล่านี้ขึ้นมา ในการ “หวนเยือน” ครั้งนี้ ทาง UNESCO ปรารถนาที่จะนำ “ผู้คน” ซึ่งเป็น มิติสำคัญของประวัติศาสตร์เข้ามาประกอบ โบราณสถานซึ่งเป็นมรดกโลก เพื่อให้เห็น ประวัติศาสตรที่มีชีวิต ไม่ใช่เพียงแค่ สถานที่ท่องเที่ยว เท่านั้น “ชีวิต ความเป็นอยู่” ของผู้คน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สร้างสรรค์งานศิลปสถาน และวัตถุ ควรนำมาเสนอให้แก่ชาวโลกได้ศึกษาด้วย ... 

Thank you very much 

เมื่อกล่าวเป็นภาษาอังกฤษจบ จันนวลกล่าวถ้อยคำอีกครั้งเป็นภาษาฝรั่งเศสเพราะมีคณะผู้แทนจาก UNESCO มาร่วมเป็นสักขีพยานด้วย 

“เยี่ยมมากนวล เธอนี่ ยังเหมือนเดิม กระชับ ครบความ ไม่เยิ่นเย้อ ลากยาว” นัยน์เอ่ยชม 

“เก่งจังครับ อังกฤษก็คล่อง ฝรั่งเศสก็ได้” กรันเอ่ยชม 

“นี่ แม่ยังไม่พ่นเยอรมันนะ” นัยน์แซว 

“พอๆ ค่ะ นัยน์” พลางหันไปทางกรัน “เยอรมัน อังกฤษ ต้องใช้ประจำอยู่แล้วค่ะ ส่วนฝรั่งเศส จำเป็นต้องรู้บ้าง ในการทำงานด้านวัฒนธรรม” จันนวลขอบคุณ กรัน 

“หิวแล้วว่ะ ไงดี เสือสวรรคโลกลงมากรุงเทพทั้งที ขอเลี้ยงหน่อย เห็นหน้ามันไทยๆ แบบนี ชอบกินอาหารจีนนะ นวล ไปด้วยกันนะ นวล ตั้งแต่มานี้ ยังไม่ได้กินข้าวด้วยกันเลย” นัยน์เอ่ยชวน 

“ไม่ล่ะ นัยน์ เราขอเดินเล่นอยู่ในเมืองแถวนี้ ก่อน พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อยู่ไม่ไกลจากนี่ ใช่ไหม นัยน์” นวลบอกปัด ด้วยเกรงสายตา กรันที่คอยมองตลอดเวลา 

“โอยยย เธอ พิพิธภัณฑ์ไม่หายไปไหนหรอกน่า ไปด้วยกันเถอะ ฉันจะพาไปร้านจีนคลาสสิกๆ แบบที่เธอชอบไง ย่งฮั้ว ตรงวัดสุทัศน์ นี่เอง ไม่ไกลหรอก ขับรถยังไม่ทันเหยียบคันเร่งเลย” 

จันนวล สะดุดหู ที่ ‘วัดสุทัศน์’ พลางนึก  เอ วัดที่คุณทวดเคยตามเพื่อนเข้ามากรุงเทพไหมนะ 

“วัดสุทัศน์ เหรอ เอ วัดใหญ่ๆ สวยๆ ใช่ไหม” จันนวลเอ่ยถาม 

“ใหญ่สิจ๊ะ มาดาม กลางสะดือเมืองขนาดนั้น เอาสิ เดี๋ยวกินข้าวเสร็จจะพาเดินย่อย ชมวัดชมวัง” นัยน์ เอาวัดมาล่อใจ จันนวล 

ย่งฮั้วภัตตาคาร เก่าแก่คู่พระนครมากว่า ๖๐ ปี ยังคงรับรองลูกค้าผู้ใหญ่ ข้าราชการ นักการเมือง อยู่เรื่อยๆ กรัน กับ นัยน์ และเพื่อนข้าราชการกรมศิลปากร ชื่นชมร้านนี้เรื่อยมา

“ไงไอ้เสือ อย่างเก่าไหมวะ กุ้งอบ ออส่วน ปลานึ่งมะนาว ....” นัยน์เอ่ย 

“นวลอยากทานอะไร อยู่ทางอีหรอบ (ยุโรป) มานาน คงลืมอาหารจีนหมดแล้ว 

“ไม่ค่อยได้กินหรอก ส่วนใหญ่ก็ทำอาหารไทยบ้าง ฝรั่งบ้าง อาหารจีน ต้องบ้านเรา นะ นัยน์ถึงจะถูกปาก” จันนวล ตอบ พลางเลือก น้ำแกงเยื่อไผ่ ข้าวผัดปู 

สั่งกับข้าวเสร็จสรรพ นัยน์ชวนคุย เพราะเห็นจันนวลมองไปทาง พระวิหาร วัดสุทัศนเทพวราราม  และเสาชิงช้า 

“นี่แนะ นวล เรากำลังนั่งกินข้าวอยู่ ใจกลางพระนครเลยทีเดียวนะ นวลเห็นเสาชิงช้านั่นไหมล่ะ ตรงนั้นน่ะ เขาเรียก สะดือเมือง”  นัยน์ เริ่ม สาธยาย 

“สะดือเมือง?” 

“สิจ๊ะ มาดาม ตอนสร้างกรุง ตำแหน่งสะดือเมือง หรือ ใจกลางเมือง จะต้องสร้างโบสถ์พราหมณ์  เพราะ พระมหากษัตริย์คือ สมมติเทพ จึงต้องมี พราหมณ์เป็นผู้ทำพิธีต่างๆ ในราชสำนัก คราวนี้ ไทยเรา ก็นับถือศาสนาพุทธด้วย จึงควรมีวัดอยู่ใจกลางพระนคร คู่กับโบสถ์พราหมณ์ กษัตรย์ทรงเป็นพุทธศาศนูปถัมภก ไง สมัยก่อนเราก็เรียนกัน” นัยน์ ร่ายยาว 

จันนวลฟังเพลินพลางละเลียดน้ำแกงเยื่อไผ่ ขณะที่สายตาคู่หนึ่ง คอยมองไม่วางตา คล้ายห่วงว่าจะกินได้มากน้อยเพียงใด จันนวล รู้สึก ‘ดี’ แต่ก็อึดอัดอยู่ไม่น้อย 
 
“เออ จริงสิ เดี๋ยวกินข้าวเสร็จ เราเดินไปกราบพระศรีศากยมุนี กัน” นัยน์พูดไม่ทันครบความ 

“พระศรีศากยมุนี นี่เคยอยู่ที่วัดมหาธาตุ กลางกรุงสุโขทัย มาก่อน เชื่อกันว่า พญาลิไทกษัตริย์สุโขทัยได้ทรงกล่าวขอบวชที่หน้าพระพุทธรูปทององค์นี้” กรัน ตัดเข้ามาแทรก นัยน์ 

“นายนี่ เลือดรัก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย แรง ไว้ให้ มัน พาเที่ยวสิ นวล มันรู้ไปถึงฐานพระเจดีย์ทุกองค์เลยนา ยิ่งที่ ศรีสัชชนาลัยนี่ ถึงกับเคยกางเตนท์นอนหน้าพระบรมธาตุเลยนะ นี่” นัยน์ ขุดเรื่อง กรันมาแซว 

จันนวลนึกพลาง ถึงบันทึกของคุณทวด พระยาสวรรครักษราชโยธา เกี่ยวกับ วัดสุทัศน์ฯ แต่ก็ยังไม่อยาก ออกปากไป ... 

“คุณพ่อ เคยเล่าให้ฟังว่า คุณทวดตามเพื่อนซึ่งเป็นพระเข้ามารับใช้พระ ท่านเป็นเพื่อนกับพระรูปนั้น มาแต่เล็กแต่น้อย หลวงพ่อ ทองคำ มัง ฉันจำไม่ได้แน่” 

กรัน รู้โดยทันที เอ่ย “หลวงพ่อทองคำ พระสวรรควรนายก ตระกูลทางแม่ผมคุ้นเคยกับท่านดี” 

จันนวลยังไม่อยากเล่าเรื่องบันทึกของพระยาสรรครักษราชโยธาใดๆ จึงขอเป็นผู้ฟังที่ดี 

“ค่ะ คุณทวดของฉัน ตามหลวงพ่อทองคำเข้ามาที่วัดสุทัศน์ นี่ มารับใช้ ด้วยบารมี ความเคารพของสมเด็จพระสังฆราชในสมัยนั้น คุณทวด ได้เข้ารับราชการทหาร” จันนวลเอ่ยเล่าเรื่องราว 

“ผมเคยเห็น ภาพของท่านเจ้าคุณใหญ่ ตอนแม่ลำภาให้ผมไปช่วยซ่อมกระเบื้องหลังคา รางน้ำฝน ท่านสง่ามากทีเดียว เพิ่งได้รู้ว่าท่านคุ้นเคยกับท่านเจ้าคุณทองคำ” 

ข้ามจาก ย่งฮั้วภัตตาคาร ไปเพียงไม่กี่ก้าว ก็ถึงวัดุทัศนเทพวราราม นัยน์พาเดิมตัดมาทางเสาชิงช้า 
“ชิงช้า นี่ เป็นของเล่นของพระอิศวร สมัยก่อน โล้ชิงช้าให้เทพเจ้าดู โล้ไปให้ถึง เสาที่ผูกถุงเงินรางวัลไว้ที่ปลายเสา ใครใจถึง คว้าไปก็ได้อัฐ แต่ตกมาตายเสียก็มาก ที่สุดก็เลิกไป ...​

“ตำแหน่งนี้ล่ะ จึงทำให้ผู้คนยกเอาวัดสุทัศนฯ เป็นศูนย์กลางจักรวาลตามคติพราหมณ์ คู่กับโบสถ์พราหมณ์ไปด้วยกัน” นัยน์เล่า 

พระศรีศากยมุนี องค์ใหญ่ ประทับบนอาสน์สูง สีทองสุกปลั่ง แม้จะหมองอยู่บ้างด้วยมลพิษกลางกรุง ทว่าความสง่างาม เรืองรอง ก็ไม่อาจถูกบดบัง เหมือนดั่ง แคว้นสุโขทัย ในอดีตที่ เรืองรอง 

“หลังจากชะลอมาจากสุโขทัย คงมีชำรุดบ้าง จึงแต่งองค์พระใหม่ พระพักตร์ดูจะอูมๆ ไป หากเป็นสุโขทัยแท้จะเรียวกว่านี้ครับ โดยรวมก็ยังงามอยู่มาก และคงงามมากในสมัยนั้น เมื่อประทับอยู่กลางกรุงสุโขทัย” กรันเอ่ย 

“ตอนนี้ ท่านก็ประทับอยู่กลางกรุงเหมือนกันคะ เพียงแต่เป็น กรุงเทพมหานคร” จันนวลเสริม 

“นี่ล่ะ คือประเด็น วัดสุทัศนฯ เปรียบเหมือนศูนย์กลางจักรวาลไงล่ะ นวล อยู่ตรงสะดือเมือง คติพุทธจะคู่ไปกับคติพราหมณ์เสมอ” นัยน์เสริม 

พระวิหารหลวงขนาดใหญ่เด่นสง่าอยู่เบื้องหน้า จันนวลรู้สึกเอมใจ อบอุ่นอย่างประหลาด ดังว่ามีแสงวาบผ่าน ‘เอ ครึ่งหนึ่งเราก็ลูกหลานบ้านเมืองศรีสัชนาลัย สุโขทัยเหมือนกันนี่นา’ จันนวลคิดพลาง 

“เอ้า ไหนๆ มาเยี่ยมฝ่ายพุทธแล้ว ข้ามไปเยี่ยมฝ่ายพราหมณ์หน่อยเป็นไร โบสถ์พราหมณ์เดิมอยู่ตรงตำแหน่งเสาชิงช้านั่น พอจะสร้างเสาชิงช้า ก็ย้ายไปตำแหน่งปัจจุบัน นวล พระคเณศวรงามมากนะ เธอนับถืออยู่ไม่ใช่เหรอ นี่ เออ องค์ดั้งเดิมก็ชลอมาจากสุโขทัยด้วยนะ” นัยน์เล่าพลางชวน กรัน และ จันนวล ไป

โบสถ์กลางในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์เป็นหอพระคเณศวร จันนวลก้าวเท้าข้ามธรณีอย่างสำรวม แล้วหมอบกราบด้วยความเคารพสูงสุด พระคเณศวรองค์ใหญ่ เรียบ งามสง่า ตามขนบสุโขทัย พลัน กรัน ต้องกะพริบตา เพราะสิ่งที่เห็น คือ หญิงสูงศักดินุ่งผ้าสีแดงหมาก กรอมเท้า ชายผ้าคลุมระพื้นแนบไปตามลำตัว ผมเกล้ามวยต่ำ ใบหน้าด้านข้างคือ จันนวล แวบเดียว เพียงแวบเดียวอีกแล้ว ที่กรันได้เห็น หญิงคนเดิม ในชุดโบราณ 

“เชิญคุณกรันคะ คุณกรัน” จันนวลเชื้อเชิญให้กรันเข้ามาในหอพระคเณศวร 

กรันชะงัก เซ ก่อนได้รู้สึกตัว เอ่ยรับ “ครับ ลุกนั่งเร็วไปหน่อย คนแก่เซง่าย” พลางเสไปเรื่องอื่น หัวเราะแก้เก้อ 

“แกะจากหินจ้ะ นวล แต่ก็ไม่รู้ว่าหินอะไร เพราะไม่เคยได้เข้าใกล้สักที” นัยน์ก้าวตามเข้ามา บอกเล่า พร้อมหมอบลงกราบ 

“ในกรุงเทพนี่ สุโขทัยครองพื้นที่พอควรเลยนะ นัยน์” จันนวลเอ่ย 

“โอย มีมากกว่านี้อีกนะ พระร่วงทองคำที่วัดมหรรณพารามนั่น ก็สุโขทัย มาจาก ศรีสัชนาลัย งามมากทีเดียว นวล ไว้มีเวลาจะพาไปกราบ แล้ว ยังพระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา อีกนะ” นัยน์เอ่ย 

“วัดบวรนิเวศ บางลำพูน่ะหรือ นัยน์ เด็กๆ ยายพาไปซื้อของกิน ของเล่นอยู่ บ่อยๆ แต่ก็ไม่เคยสังเกต ไม่มีความรู้เลยจริงๆ” จันนวล เอ่ย 

“เดี๋ยวก็ได้รู้ สุโขทัยครองพื้นที่”

น้ำในคลองชักพระขึ้นเต็ม ปริ่มตลิ่ง หัวเด็ดตีนขาดยายอ่อนก็ไม่ยอมให้จันนวล ตั้งเก้าอี้สนามที่หน้าชานเรือนริมน้ำ 

“คุณหนูคะ กลางค่ำกลางคืนในคลองเงียบสงัด พวกงมกุ้งชอบพายเรือตกกุ้ง คุณหนูจะออกไปนั่งอย่างไรได้ค่ะ ประตูต้องลงกลอนให้ดีเทียว ยายให้ไอ้ศุขนอนที่ เรือนเล็ก หัวมุมนั่น มันนอนไว อะไรขยับมันก็ตื่นแล้ว คลองชักพระนี่เก่าแก่ คุณหนูเคยได้ยินเรื่องพรายน้ำไหม หน้าเท่างบน้ำอ้อย ผมยาว หน้าแก่” 

จันนวลอมยิ้ม พลางนึก ‘ยุคนี้ พรายน้ำคงแพ้น้ำเน่าตายไปแล้ว หรือไม่ก็กลัวเสียงเรือเครื่องหนีหายหมด’ 

ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๖ รศ. ๑๒๐ 

ก่อนออกไปเยอรมนี ฉันได้เข้าไปเรียนงานช่างกับเจ้ากรม เกียรซ  แลฝึกทหารคู่กันไป วันที่ครบ ๒๐ ปี สมเด็จเจ้าประคุณท่านก็ให้บวช ทรงรับเป็นพระอุปัชฌา พ่อแม่ลงมาพระนคร ดีใจเสียจนน้ำตาไหล แลทั้งได้ดูตัวแม่พรรณ  ฉันยังหวั่นว่า คนบ้านนอกอย่างเรา เขาจะว่ากระไร เอาลูกสาวเขาไปลำบาก เมื่อลาสิกขาได้สักพัก พ่อกับแม่จึ่งลงมา ขอหมั้นหมายแม่พรรณไว้ ต่อได้กลับมาจากเยอรมนีแล้ว จึ่งค่อยตบแต่ง ออกเหย้าออกเรือน 

บ้านแม่พรรณ ในคลองชักพระ 

การหมั้นหมาย เปนไปอย่างเรียบง่ายที่สุด พ่อกับแม่ลงมาพระนคร ข้ามฟากไปฝั่งธนบุรี เรือออกจากหน้าวัดบางหว้าใหญ่ เข้าคลองแม่น้ำเก่า น้ำไม่แรงนัก สักพักหนึ่ง ถึงแยก หักซ้ายเข้าคลองชักพระ บ้านเรือนย่านนี้เปนเรื
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่