รายละเอียดที่ควรมีในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง (เขียนสัญญาอย่างไรไม่ให้เสียผลประโยชน์)

สวัสดีเพื่อนๆชาวพันทิปทุกคนนะคะ 
หลังจากกระทู้ที่แล้วเราได้พูดถึงเรื่องเงินกันไปแล้วว่าก่อนการสร้างบ้านควรจะมีเงินสดสักประมาณเท่าไหร่ดี
วันนี้เราจะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับสัญญาให้ฟังค่ะ

อันที่จริงสัญญามันจะแทรกอยู่ในทุกๆงานที่เราตกลงว่าจ้าง
ทั้งในเรื่องการออกแบบ การก่อสร้าง หรืองานเพิ่มต่างๆพวก Built-in ส่วนรายละเอียดนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นงานอะไร

ถ้าใครไม่มีเวลาอ่าน หรืออยากจะเปิดฟังระหว่างทำกิจกรรมอื่นๆไปด้วย
ก็ขอฝากช่อง คบหมอสร้างบ้าน ทาง youtube ไว้ด้วยนะคะ

คบหมอสร้างบ้าน Ep.13 : รายละเอียดที่ควรต้องมีในสัญญา (เขียนสัญญาอย่างไรไม่ให้เสียผลประโยชน์)

.
.
.

สัญญาคืออะไร?
           
          สัญญา คือนิติกรรมอย่างหนึ่ง ที่มีผลบังคับใช้ทางกฏหมาย ถ้ามีข้อพิพาทขัดแย้งกันระหว่างคู่สัญญาเกิดขึ้น ศาลก็จะได้นำสัญญานี้ไปพิจารณาเป็นหลักฐานได้ ดังนั้นสัญญาควรที่จะมีความละเอียด รัดกุม มีช่องว่างทางกฎหมายให้น้อยที่สุด หรือประมาณว่า ตอนเขียนสัญญา ให้มองโลกในแง่ร้ายไว้ก่อนดีที่สุด กันไว้ดีกว่าแก้นะคะ อย่าไปคิดว่าไม่เป็นไร ไม่น่าจะมีอะไรหรอก เพราะว่ามันอาจจะทำให้เรารู้สึกเสียใจทีหลังก็ได้

          จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้พบเจอมา เราคิดว่าทุกๆงานที่ตกลงว่าจ้างควรจะมีสัญญากำกับอยู่ด้วย หรืออาจจะเลือกเป็นงานใหญ่ๆที่ค่าใช้จ่ายสูงก็ได้ เพราะตอนแรกก่อนตกลงจ้างงานกับเค้า พูดอะไรไปก็ได้หมดเลย แต่พอทำไปจริงๆแล้วเกิดปัญหาขึ้นมา ถ้าไม่ได้คุย หรือตกลงกันไว้ตั้งแต่แรกมันจะมีความอึดอัดซ่อนอยู่ว่าควรจะพูดมั้ย หรือควรจะเป็นยังไง
          
          บางคนอาจจะคิดว่าเราจ่ายเงินจ้างเค้าไปแล้วก็ควรที่จะทำอะไรได้เต็มที่ ถ้าทำเกินเวลาหรือทำไม่ดี ก็ปรับ/หักเงินเอาเลย แต่ในความเป็นจริงแล้วเราอยากให้บ้าน หรืองานมันออกมาดีที่สุด ดังนั้นจึงไม่อยากที่จะผิดใจกับช่าง หรือบางทีช่างจะมีความติสท์สูงมาก เงินไม่เอาแล้ว ทิ้งงานไปเลยก็มี เพราะฉะนั้น คุยกันก่อนแต่แรก มีหลักฐานชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรจะดีมากที่สุดค่ะ

          อันที่จริงรายละเอียดในสัญญา ถ้าอ่านตอนยังไม่ได้เริ่มงานก็จะไม่ค่อยรู้เท่าไหร่ เพราะเราไม่เคยเห็นกระบวนการทำงานตรงนั้นมาก่อน ไม่รู้ว่าปัญหาที่อาจจะเกิดจะมีอะไรได้บ้าง แล้วควรใส่รายละเอียดอะไรลงไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเรา เพื่อนๆอาจจะต้องไปรีวิวในแต่ละงานอีกทีว่าที่ผ่านๆมาเค้าเคยเจอปัญหาอะไรกันบ้าง แล้วก็เอามาระบุในสัญญาที่เราจะเขียนนะคะ
          
          วันนี้เราก็จะมาพูดโดยรวมๆจากประสบการณ์ที่เราได้เจอมา แต่จะเน้นไปทางสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเป็นหลักนะคะ เพราะงานอื่นๆอาจจะมาในรูปแบบของใบเสนอราคาซะมากกว่า เพื่อนๆลองเอาไปเปรียบเทียบกับแหล่งข้อมูลอื่นๆ แล้วตัดสินใจปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละคนนะคะ

1) ชื่อสัญญา
          จะได้รู้ว่าเป็นสัญญาเกี่ยวกับเรื่องอะไร เช่น สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้านโครงสร้างเหล็กขนาด 2 ชั้น, สัญญาจ้างเหมางานออกแบบตกแต่งภายใน เป็นต้นนะคะ ที่เราเลือกสองงานนี้ก็เพราะว่าค่าใช้จ่ายคอนข้างที่จะสูง ส่วนงานอื่นๆอาจจะไม่ได้มาในรูปแบบสัญญา แต่เป็นใบเสนอราคาก็ได้ เช่น ใบเสนอราคาผ้าม่าน ค่าแอร์ ค่ากล้องวงจรปิด  

2) วันที่ และสถานที่ทำสัญญา
          วันที่ และสถานที่มีไว้เพื่อที่จะบอกให้เรารู้ว่า สัญญานี้ทำที่ไหน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่เท่าไหร่ และมีอายุสัญญาจนถึงวันไหน

3) คู่สัญญาเป็นใคร
          ในสัญญาจะต้องบอกอย่างชัดเจนว่าเป็นสัญญาระหว่างใครกับใคร เช่น เป็นสัญญาระหว่างผู้ว่าจ้าง ก็คือ เรา กับ ผู้รับจ้าง ก็คือ บริษัทผู้รับเหมา และควรระบุข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆลงไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ ที่อยู่ หน่วยงาน เลขบัตรประชาชน หรือข้อมูลอื่นๆที่จะสามารถยืนยันตัวตน และตรวจสอบได้นะคะ
 
4) ความสัมพันธ์ตามสัญญา
          สัญญาควรระบุว่าความสัมพันธ์ของคู่สัญญาว่าเป็นอย่างไร มีสิทธิ ภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบต่อกันยังไงบ้าง ซึ่งในที่นี้ก็จะมีอยู่ 2 ฝ่าย คือ เรา เป็นผู้ว่างจ้าง กับ ผู้รับเหมา ซึ่งเป็นผู้รับจ้างนะคะ

          หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้รับจ้าง หรือผู้รับเหมาก่อสร้าง ควรมีอะไรบ้าง?
          
          1) ต้องดำเนินการก่อสร้างให้ถูกต้อง แล้วเสร็จตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ในระยะเวลาที่กำหนด ขอเน้นย้ำเลยนะคะ ว่าต้องเสร็จในระยะเวลาที่กำหนด เพราะที่เราเจอมาคือเลททุกงาน

          2) ผู้รับจ้างสามารถโอนงานให้ผู้อื่นได้ แต่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดตามที่ระบุในสัญญา อย่างที่เราเคยอธิบายไปแล้วว่าผู้รับเหมาคือคนที่จะต้องไปติดต่อหาช่างจากที่ต่างๆมาทำบ้านให้เรานะคะ เพราะฉะนันถ้าช่างทำงานพลาด หรือทำงานไม่ดี เราสามารถที่จะแจ้งผู้รับเหมาได้เลย แล้วเค้าจะต้องเป็นคนที่รับผิดชอบหาทางแก้ไขให้ค่ะ

          3) ถ้ามีการเพิ่มเติม หรือลดงานส่วนใดส่วนหนึ่งที่ไม่เป็นไปตามแบบ ผู้รับจ้างต้องทำเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งให้เรารับทราบ อันนี้ก็สำคัญนะคะ เพราะตอนทำบ้านไปมันจะมีงานลด งานเพิ่มเยอะมากๆ เช่น ขอก่อผนังเพิ่ม ขอยกเลิกหน้าต่างตรงนี้ไปเพิ่มประตูตรงนั้น อะไรแบบนี้ ต้องให้ผู้รับเหมาทำเป็นใบเสนอราคาสรุปมาให้ทุกครั้งนะคะ จะได้มีหลักฐาน และไม่สับสน

**ก่อนโอนเงิน อย่าลืมเช็คทุกครั้งว่า ระยะ หรือ พื้นที่ ที่เค้าเขียนมาให้นั้นถูกต้องตามจริงรึเปล่า**
           4) ผู้รับจ้างต้องยินยอมให้ตัวแทนเจ้าของบ้าน หรือเจ้าของบ้านทำการตรวจสอบวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง สถานที่ และขั้นตอนในการก่อสร้าง เพื่อตรวจประเมินผลงานว่าตรงตามแบบแปลน และ BOQ และหากพบว่าวัสดุที่ใช้ก่อสร้างไม่เป็นไปตามสัญญา ตัวแทนหรือเจ้าของบ้านมีสิทธิ์ที่จะระงับการดำเนินการก่อสร้าง และปฏิเสธวัสดุที่ไม่ตรงตามรายละเอียดได้ทันที
          
          ในการสร้างบ้าน จะมีรายละเอียดของวัสดุต่างๆเยอะมาก บางทีถ้าเราไม่ทันดู ไม่ทันตรวจสอบ ช่างอาจจะแอบเอาของราคาถูกกว่ามาตรฐานมาใส่ให้ก็ได้ เพราะผู้รับเหมา หรือ โฟร์แมนเค้าก็ไม่ได้มาช่วยเฝ้าให้ตลอด ดังนั้นก่อนจะเริ่มงาน หรือทำอะไร ต้องหมั่นถาม ขอให้เค้าถ่ายรูปยี่ห้อ วัสดุต่างๆ เอามาคุยกันก่อน และส่งให้ consult ช่วยตรวจดูก่อนก็จะดีมากๆค่ะ
 

          หน้าที่ และความรับผิดชอบของเจ้าของบ้าน มีอะไรบ้าง?

          1) สิทธิ์ในการปรับเปลี่ยน แก้ไข เพิ่มเติม ปรับลดรายการ และแบบก่อสร้างเดิม หรือปรับเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่ต้องยกเลิกสัญญาว่าจ้าง แต่ควรทำการตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร และมีความตกลงยินยอมกันทั้ง 2 ฝ่าย
          
          ตอนสร้างบ้านมันจะมีการปรับเปลี่ยนแบบ และวัสดุอยู่แทบจะตลอด และควรที่จะเคลียร์แบบกันก่อนติดตั้งจริงทุกครั้ง เช่น มือจับประตู รูปแบบหน้าต่าง เพราะตอนเขียน BOQ อาจจะเป็นการใส่มาแบบมาตรฐาน พอทำจริงเราอาจจะอยากลงรายละเอียดไปว่ายังไง อย่างเช่นลูกบิดประตู และบานพับของบ้านเรา ถ้าเพื่อนๆสังเกตจะเห็นว่ามันเป็นสีดำหมดเลย ซึ่งอันนี้ก็มาเลือกตอนที่เค้าจะติดตั้งประตู ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็จะต้องพูดคุย ตกลงกับผู้รับเหมา และทำเอกสารงานลดเพิ่มเป็นหลักฐานไว้ด้วยนะคะ

          แต่ถ้าหากเจ้าของบ้านทำการเปลี่ยนแปลงวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง จนกระทบกับความแข็งแรง และมาตรฐานของโครงสร้างตามแบบแปลนเดิม ผู้รับเหมาก่อสร้าง มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธได้ เวลาสร้างบ้านเราต้องปรึกษากับผู้รับเหมาอยู่ตลอด ว่าถ้าเราเลือกแบบนี้เป็นไปได้มั้ย ข้อดีข้อเสียคืออะไรบ้าง ไม่ได้ดื้อจะเอาแต่ความสวยงามจนไปกระทบกับความแข็งแรงนะคะ

          2) ผู้ว่าจ้างมีสิทธิ์สั่งหยุดงาน หากเห็นว่ามีการดำเนินการไม่ถูกต้องตามแบบแปลน หรือสิทธิระงับและไม่จ่ายค่างวดงานในส่วนดังกล่าว หากผู้รับเหมาไม่ทำการแก้ไข หรือซ่อมแซมในส่วนที่เสียหายที่ไม่เป็นไปตามที่แจ้งให้แก้ไข งานต้องเสร็จ ตรงตามมาตรฐาน ที่ตกลงกันไว้ ถึงจะจ่ายเงินให้นะคะ อย่าใจอ่อนจ่ายเงินไปก่อนเด็ดขาด เพราะถ้าให้เงินไปก่อนแล้ว เค้าอาจจะหายไป หรือไม่ส่งช่างมาแก้งานให้เราก็ได้

           3) ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ตรวจรับงานแต่ละงวดงาน อย่าลืมปรึกษา Consult และนัดประชุมหลังจากงานแต่ละงวดเสร็จ เพื่อสรุปว่า อะไรเสร็จไปแล้วบ้าง มีปัญหาอะไรที่ต้องแก้ไขรึเปล่า หรือในขั้นตอนต่อไปต้องเตรียมตัว เตรียมเลือกของอะไรเพิ่มบ้าง ถ้าผ่านหมดก็ให้เงินในงวดงานนั้นได้นะคะ
          ขอเน้นย้ำความสำคัญของการนัดประชุมนิดนึง ว่าควรที่จะมี เพราะงานจะเดินเร็วขึ้น จดบันทึกหลักฐานสิ่งที่พูดคุยกันไว้ เผื่อในอนาคตจะได้ใช้เยอะมากๆค่ะ รายละเอียดมันเยอะ บางทีพูดแล้วก็ลืมกันไป แต่ถ้ามีบันทึกการประชุมก็จะจบปัญหาได้เลย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่