JJNY : 5in1 กสิกรไทยชี้ส่งออกแค่3%/EICหั่นเป้าส่งออกแค่4%/ส.ภัตตาคารวอนผ่อนปรน/นัดท้วงเยียวยา/ชำนาญชี้ความบกพร่องกกต.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ส่งออกไทยปีฉลูเผชิญมรสุมโตแค่ 3%
https://www.prachachat.net/breaking-news/news-599959
 
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ส่งออกไทยปีฉลูเผชิญมรสุข คาดโตแค่ 3% จากปีที่แล้วหดตัว -6%
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์สถานการณ์การส่งออกของไทยปี 2564 โดยมองว่า แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศรวมถึงไทยจะยังไม่คลี่คลาย แต่ความหวังในเรื่องวัคซีน มาตรการปิดเมืองที่มีความเข้มงวดน้อยลงเมื่อเทียบกับการระบาดรอบก่อนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ละประเทศที่ออกมาเพิ่มเติมส่งผลให้ส่งออกไทยในเดือนธ.ค.2563 พลิกกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 8 เดือน โดยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.71 YoY จากเดือนพ.ย. 2563 ที่หดตัวร้อยละ 3.65 YoY นอกจากนี้เมื่อหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธฯ ขยายตัวที่ร้อยละ 5.81 บ่งชี้ว่าในภาพรวมการส่งออกเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น มีรายละเอียด ดังนี้
 
การส่งออกสินค้าเกษตรฯและอุตสาหกรรมเกษตรในเดือนธ.ค.กลับมาขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.1 YoY จากที่หดตัวร้อยละ 2.4 YoY ในเดือนพ.ย. โดยสินค้าเกษตรหลายตัวยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องจากเดือนก่อน เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (+63.6% YoY) และยางพารา (+30.0% YoY) ซึ่งได้รับปัจจัยหนุนหลักจากความต้องการในจีนที่เพิ่มสูงขึ้น หลังเศรษฐกิจจีนเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้โดยในไตรมาส 4 ขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 6.5% YoY
 
• ด้านสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนธ.ค. พลิกกลับมาขยายตัวเช่นกันอยู่ที่ร้อยละ 6.7 YoY จากที่หดตัวร้อยละ 2.9 YoY ในเดือนพ.ย. โดยสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้ายังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่สินค้าประเภทที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิต เช่น เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก (+7.9% YoY จากเดือนพ.ย.ที่ -3.5% YoY) เคมีภัณฑ์ (12.2%YoY จากเดือนพ.ย.ที่ -4.1%YoY) รวมถึงแผงวงจรไฟฟ้า (+7.3% YoY จากเดือนพ.ย.ที่ -8.2% YoY) กลับมาขยายตัวได้ดี ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ได้ถึงการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลก
 
• แม้ว่าในเดือนธ.ค. สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะมีแนวโน้มรุนแรงในหลายประเทศ ส่งผลให้บางประเทศเริ่มกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ข้ามช่วงเทศกาลปีใหม่มา โดยเฉพาะในประเทศแทบยุโรป แต่ปัจจัยดังกล่าวไม่ได้กระทบต่อภาคส่งออกของไทย โดยตลาดส่งออกหลักของไทยยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากเดือนก่อน เช่น การส่งออกไปญี่ปุ่นที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 14.8 YoY จากร้อยละ 5.4 YoY ในเดือนพ.ย. รวมถึงสหรัฐฯที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 15.7 YoY จากร้อยละ 15.4 YoY ในเดือนพ.ย. นอกจากนี้การส่งออกไปจีนกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 7.2 YoY ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน
 
• การส่งออกไทยในเดือนธ.ค.2563 ส่งสัญญาณที่ดีขึ้นได้รับปัจจัยหนุนหลักจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการส่งออกจะเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัว ภาคการผลิตเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น แต่ทิศทางการส่งของไทยในระยะข้างหน้ายังคงเผชิญความไม่แน่นอนอีกหลายปัจจัยหลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในหลายประเทศยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ความไม่แน่นอนในเรื่องวัคซีนยังมีอยู่ ทั้งในเรื่องของการแจกจ่ายวัคซีนร่วมถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้วัคซีน ทั้งนี้ ปัจจุบันการแจกจ่ายวัคซีนทั่วโลกยังทำได้เพียงร้อยละ 0.5 ของประชากรโลก บ่งชี้ว่าแม้เริ่มมีการแจกจ่ายและเริ่มการฉีดวัคซีนแล้วในหลายประเทศแต่การจะแจกจ่ายและการฉีดจนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่นั้นยังคงต้องใช้เวลา ดังนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้ายังคงต้องเผชิญความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 ไปอีกสักระยะ
 
นอกจากนี้ การส่งออกของไทยยังได้รับปัจจัยกดดันจากการขาดแคลนตู้สินค้า และค่าระวางเรือที่สูงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นกดดันต่อการส่งออกของไทยโดยเฉพาะในไตรมาสแรกของปี 2564 ขณะที่การเข้าไปอยู่ในบัญชี Monitoring List ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ของไทยจะทำให้สถานการณ์การแข็งค่าเงินบาทเป็นโจทย์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าและมีความผันผวนมากขึ้นย่อมมีผลกระทบต่อการส่งออก ทั้งนี้ ท่ามกลางปัจจัยกดดันที่กล่าวมาข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินทิศทางการส่งออกไทยในปี 2564 ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.0
 

 
EIC หั่นเป้าส่งออกไทยปีนี้เหลือโตแค่4%
https://www.innnews.co.th/news/economy/news_28514/
 
EIC ลดเป้าส่งออกไทยปีนี้เหลือโต 4% จาก 4.7% จากโควิดระลอกใหม่ ประเทศคู่ค้าชะลอ ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ยังกดดันต่อเนื่อง
 
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับลดคาดการณ์มูลค่าส่งออกไทยปี 2021 ลงเล็กน้อยเป็น 4.0% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 4.7% โดยมองว่า การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงไทย มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยในระยะสั้น ซึ่งการระบาดอีกระลอกจะทำให้อุปสงค์ของประเทศคู่ค้าชะลอตัวลงในระยะสั้น ก่อนที่จะขยายตัวเร่งขึ้น เมื่อประชากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีคเบื้องต้นคาดว่า กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะได้รับภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของปี 2021
 
ขณะที่ ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับวัคซีนและมีภูมิคุ้มกันหมู่ช้ากว่า ในส่วนของปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ก็ยังเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรก ประกอบกับเงินบาทที่แข็งค่าก็จะกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยโดยเฉพาะสินค้าเกษตร
 
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงต่อการส่งออกสินค้าอาหารทะเลของไทยจากการระบาดของ COVID-19 ในจังหวัดสมุทรสาครที่ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อสินค้าอาหารทะเลของไทย และยังมีความเสี่ยงด้านการขาดแคลนแรงงานประมงจากการระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว 
 

 
‘สมาคมภัตตาคารไทย’ วอน รบ.ผ่อนปรน เปิดนั่งร้านอาหารถึง 5 ทุ่ม เชื่อไม่ใช่พื้นที่เสี่ยง
https://www.matichon.co.th/economy/news_2543530
 
‘สมาคมภัตตาคารไทย’ อ้อนรัฐบาล ผ่อนปรน เปิดนั่งร้านอาหารได้ถึง 23.00 น.
 
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาคมฯ ได้ทำหนังสือเพื่อนำเรียนถึงพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าและประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อให้พิจารณาผ่อนปรนให้ร้านอาหารนั่งได้ถึงเวลา 23.00 น. เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการร้านอาหารจำนวนมาก ตั้งแต่ระดับร้านอาหารริมทางจนถึงร้านอาหารภัตตาคาร สะท้อนเสียงมายังสมาคมฯ ว่ารายได้หดตัวลงสูงมาก แม้จะเปิดให้บริการได้ถึง 21.00 น. แต่ยอดขายก็ยังกลับมาในจำนวนน้อย เพราะในแง่ของจิตวิทยาและสภาพชีวิตการทำงานของลูกค้า ทำให้ลูกค้าไม่สะดวกและตัดสินใจไม่นั่งรับประทานอาหารในร้านอาหารด้วยเงื่อนไขของเวลา ซึ่งหากปล่อยให้สถานการณ์ยังเป็นในลักษณะนี้ อาจเห็นผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ต้องปิดตัวลง
 
นางฐนิวรรณ กล่าวว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ฉบับล่าสุดอนุญาตให้ลูกค้าสามารถนั่งรับประทานอาหารในร้านได้ถึงเวลา 21.00 น. จาก 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ภายใต้คำสั่งดังกล่าวทำให้ยอดขายของร้านอาหารหายไปไม่น้อยกว่า 70% รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ และจะมีผลต่อการว่าจ้างงานภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้ ทำให้เกิดการเลิกว่าจ้างงานพนักงานและลดเงินเดือนของพนักงานอย่างแน่นอน ประกอบกับรัฐบาลยังไม่ได้มีมาตราการใดๆ ออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งสิ้น ทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการจ่ายต่างๆ แม้ค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบสินค้าภาคการเกษตร โดยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการร้านอาหารได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สามารถปฎิบัติตามมาตราการมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขได้เป็นอย่างดี จึงไม่พบผู้ติดโควิด-19 ที่สาเหตุต้นกำเนิดมาจากร้านอาหารทั้งสิ้น
 
ผู้ประกอบการร้านอาหารมั่นใจเกิน 100% ว่าไม่ได้เป็นและจะไม่เป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 เพราะทุกร้านสามารถปฏิบัติติตามมาตราฐานของกระทรวงสาธารณสุขได้เป็นอย่างดี กลุ่มลูกค้าของร้านอาหารเป็นกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้มีความหลากหลายมาก อาทิ 50%เป็นกลุ่มครอบครัวเดียวกัน, 30%เป็นกลุ่มพนักงานหรือกลุ่มหน่วยงานที่ทำงานร่วมกัน และอีก 20% เป็นกลุ่มลูกค้าเพื่อนสนิท
 
ซึ่งทั้งหมดมีไทม์ไลน์ที่ไม่ได้เป็นอันตรายหรือสุ่มเสี่ยง สมาคมฯ จึงใคร่ขอความกรุณาให้รัฐบาลผ่อนปรนให้ร้านอาหารสามารถเปิดให้นั่งได้ถึงเวลา 23.00 น. เพื่อเป็นการประคับประคองระบบเศรษฐกิจภาคเอสเอ็มอี ให้กับธุรกิจร้านอาหารและพนักงานลูกจ้างให้มีชีวิตอยู่ได้ ทั้งยังสามารถควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ควบคู่กันไปด้วย” นางฐนิวรรณ กล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่