อยากมีบ้านสักหลัง ควรเริ่มต้นจากอะไรดี? (ลำดับขั้นตอน และสิ่งที่ควรต้องมีในการสร้างบ้าน)

สวัสดีเพื่อนๆชาวพันทิปทุกคนนะคะ
หลังจากที่เราได้เขียนกระทู้แชร์ประสบการณ์ รื้อบ้านไม้เก่าอายุ 42 ปี เปลี่ยนเป็นบ้านสีขาวสไตล์โมเดิร์น ไปแล้วในครั้งก่อน
วันนี้เราจะมาพูดถึงขั้นตอนก่อนการสร้างบ้าน ว่าควรจะเริ่มต้นยังไงดี ต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นสิ่งที่คนที่กำลังจะสร้างบ้านอยากรู้มากที่สุด

สำหรับใครที่ไม่มีเวลาอ่าน อยากเปิดฟังระหว่างทำกิจกรรมอื่นๆ เราก็ขอฝากช่อง youtube คบหมอสร้างบ้านไว้ด้วยนะคะ
คบหมอสร้างบ้าน Ep.11 อยากมีบ้านสักหลัง ควรเริ่มต้นจากอะไรดี? (ขั้นตอน และสิ่งที่ควรมีในการสร้างบ้าน)

ต้องขอบอกไว้ก่อนนะคะว่าเราเรียงลำดับตามประสบการณ์ของตัวเอง
เพื่อนๆลองอ่านแล้วเอาไปเทียบกับแหล่งข้อมูลอื่นๆดู จากนั้นก็ปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของแต่ละคนนะคะ

มาเริ่มกันเลยดีกว่าค่ะ
"ลำดับขั้นตอน และสิ่งที่ควรต้องมีในการสร้างบ้าน"

1) Consult หรือ ที่ปรึกษาเรื่องการสร้างบ้าน
              Consult จะเป็นคนที่รู้ขั้นตอนทุกอย่างของการก่อสร้าง คอยบอกเราว่าตอนนี้เราควรจะมีอะไร และ step ต่อไปต้องคิดอะไรเผื่อไว้บ้าง และในแต่ละงานที่ทำ มีอะไรที่ต้องดู หรือตรวจเช็คเป็นพิเศษ หรือแม้กระทั่งช่วยตรวจดูใบเสนอราคา ว่าของอันนี้ถูกไป แพงไปมั้ย สัญญาที่เขียนมามีรายละเอียดอะไรตกหล่นไปรึเปล่า ดังนั้น Consult ควรจะอยู่กับเราตั้งแต่เริ่มแรก ตั้งแต่ตอนเขียนแบบแปลนบ้านเลย เพราะมันจะมีทั้งเรื่องของระดับพื้น ระดับฝ้า ขนาดประตู ชนิดของพื้น ระยะนั่นนี่ต่างๆสารพัด ประชุมกันค่อนข้างบ่อย ถึงบ่อยมาก รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับบ้านของเรา ดังนั้นต้องหาคนที่ไว้ใจได้ แล้วก็จะไม่แอบไปร่วมมือกับผู้รับเหมา
              ที่เราเคยไปรีวิวมา ถ้าเอาแบบเป็นทางการ เค้าก็จะมีการมาดูหน้างาน นัดประชุม และทำรายงานสรุปให้เลยว่า งวดงานนี้ผ่านมั้ย มีรายการอะไรที่ต้องแก้ไขบ้าง ซึ่งแต่ละครั้งที่มาหน้างาน หรือทำรายงานก็จะมีค่าใช้จ่ายด้วย  

"Consult เป็นคนที่สำคัญมากๆ ในการช่วยเหลือเราทุกอย่าง ยังไงก็ควรต้องมี และควรจะอยู่กับเราตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการก่อสร้าง"


2) ที่ดินในการปลูกสร้าง
               อันดับแรกเพื่อนๆจะต้องไปเช็คที่สำนักงานที่ดินประจำจังหวัดก่อนว่าฉโนด หรือที่ของเราเนี่ย มันเป็นชื่อใคร รูปร่างลักษณะ พื้นที่เป็นยังไงบ้าง เพราะว่ามันส่งผลต่อการออกแบบของสถาปนิกด้วย ซึ่งถ้าหากว่าชื่อในฉโนดยังไม่ใช่ของเรา ก็ต้องทำการเปลี่ยนให้เรียบร้อยก่อนนะคะ 

 "ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนชื่อบนฉโนดอยู่ที่ประมาณ 2-3 พันบาท"


3) Concept รูปแบบบ้าน และงบประมาณในการก่อสร้าง
               ตอนแรกเราคิดอยู่นานว่าควรมี Concept รูปแบบบ้าน หรือมีงบประมาณในการก่อสร้างก่อนดี แต่จากประสบการณ์ เราคิดว่าทั้งสองอย่างนี้มันมีความเกี่ยวเนื่องกันจนอาจจะแยกกันไม่ออก ก็เลยเอามารวมเป็นข้อเดียวกัน

               Concept รูปแบบบ้านจะประกอบไปด้วย 2 ส่วน ก็คือ 1) Design 2) Function

               1) Design คือ รูปแบบ ลักษณะที่เราชื่นชอบ อย่างเช่น บ้านเราก็จะเป็นกล่องๆ สไตล์ Modern หรือที่เห็นกันเยอะๆก็จะเป็นพวก Contemporary ร่วมสมัย หรือว่าบางหลังก็จะมาเป็นบ้านทรงไทยเลย แล้วแต่ความชื่นชอบของแต่ละคน
 
               2) Function หมายถึง รายละเอียด และการใช้งาน เช่น บ้านเราจะต้องมีโรงรถ ที่สามารถเดินเข้าตัวบ้านได้เลยแบบไม่โดนแดดโดนฝน หรือว่าบ้านหลังนี้จะมีห้องนอน 3 ห้อง โดยแต่ละห้องนอนจะต้องมีห้องน้ำ และห้องแต่งตัวอยู่ข้างใน หรือว่า อยากได้บันไดที่มีห้องเก็บของอยู่ด้านใต้ด้วย
ซึ่งเราว่า Function มันเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เพราะมันจะเป็นตัวกำหนดความสุขสบายในการใช้ชีวิตในบ้านหลังนั้น
             
               อันนี้เป็นตัวอย่างของเรา ตอนที่จะเริ่มสร้างบ้าน เราก็นั่งคิดเลยว่า ถ้าสมมติขับรถเข้าบ้านมาเนี่ย จะต้องเจอ หรือต้องทำอะไรบ้าง มีโรงรถ มีห้องรับแขก ห้องน้ำ แล้วก็หารูปตัวอย่างมาไว้ด้วย ส่วนมากก็เอามาจาก pinterest หรือในเพจ facebook เป็นผลงานของสถาปนิกที่ชื่นชอบ แล้วก็คิดต่อว่าตอนที่อยู่บ้านเก่า เจอปัญหาอะไรบ้าง ถ้าได้สร้างบ้านใหม่สักหลัง เราจะทำให้มันสะดวกสบายที่สุด หรือก็คือ Function ที่เราต้องการนั่นเอง
 
                        จะเห็นว่ามันละเอียดมาก แต่เราว่ายิ่งละเอียดยิ่งดี เพราะถ้าบอกเค้าไปแค่ว่า อยากได้บ้าน 3 ห้องนอน 4 ห้องน้ำ มีห้องครัว กับห้องนั่งเล่นด้วย แล้วจบเลยเนี่ย เราก็จะได้แค่บ้านเปล่าๆมา แล้วอาจจะอยากได้นั่นได้นี่ทีหลัง
                       
                          พอเอา Design กับ Function มารวมกัน ก็จะได้บ้านในฝันของเราขึ้นมาแล้ว 1 หลังนะคะ หลังจากนั้นอยากให้เพื่อนๆลองหาข้อมูลดู ว่าบ้านที่เราต้องการเนี่ย มันมีมูลค่าประมาณกี่บาท หรือ งบประมาณที่ตั้งไว้กับแบบที่อยากได้ มันไปด้วยกันได้มั้ย ถ้ามันไม่สอดคล้องกัน พอจะปรับตรงไหนได้บ้าง ที่เราอยากให้ลองหาข้อมูลเรื่องรูปแบบกับงบประมาณไว้ก่อน ก็เพราะว่า ตอนที่ไปคุยกับผู้รับเหมาเนี่ย ส่ิงแรกที่เค้าจะถามก็คือ อยากได้บ้านรูปแบบไหน งบประมาณในการก่อสร้างเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น ถ้าเพื่อนๆมีแบบ กับงบประมาณคร่าวๆ ก็จะง่ายต่อการตกลงกับทางสถาปนิก หรือผู้รับเหมานะคะ

"ถ้า concept ชัดเจน สถาปนิกก็จะออกแบบมาให้เป็นตัวเรามากที่สุด"


4) เงิน
                    จริงๆก็อาจจะเอาเงินมากางดูก่อนเป็นอันดับแรกก็ได้ ว่าเราผ่อนไหวที่บ้านราคาเท่าไหร่ ปกติคร่าวๆก็จะประมาณล้านละ 7,000 บาท หลังจากนั้นก็จะได้งบประมาณในการก่อสร้างบ้านของเราออกมา โดยเงินในที่นี้เราจะแบ่งเป็นสองส่วน คือ

                    1) เงินสดที่ต้องใช้จ่ายก่อนการสร้างบ้าน อันนี้จำเป็นต้องมี ค่าใช้จ่ายก็จะมีพวก ค่าแบบแปลน ค่าสร้างบ้านงวดที่ 1 ค่าจดจำนองเงินกู้ เป็นต้นนะคะ เดี๋ยวในกระทู้หน้าเราจะมาเรียงลำดับ แล้วก็ขยายความให้เพื่อนๆดูอีกทีว่าค่าใช้จ่ายก่อนการสร้างบ้านมันจะมีอะไรบ้าง ประมาณเท่าไหร่ เพราะถ้าเขียนรวมในตอนนี้เลยกลัวว่าข้อมูลมันจะเยอะ และยาวเกินไป

                    2) เงินส่วนที่ใช้ในการสร้างบ้านจริงๆ อันนี้สามารถกู้ธนาคารได้ หรือถ้าใครมีเงินเก็บก็ดีเลย เพราะจะได้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย

"ที่เราเลือกเอาเงินมาไว้ในอันดับที่ 4 เพราะว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ต่อไป มันจะเริ่มเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแล้วนะคะ"


5) แบบแปลนบ้านที่จะใช้สร้างจริง
                 หลังจากที่มีเงิน กับ Concept Idea แล้ว จะทำยังไงให้มันออกมาเป็นแปลนเพื่อสร้างจริง ที่เราไปรีวิวมาก็จะมีอยู่ประมาณ 3 วิธีนะคะ
                    1) ออกแบบเอง จากเว็บไซต์เขียนแบบแปลนบ้านฟรี
                    2) ใช้แบบบ้านฟรีที่มีอยู่แล้ว ตามเว็บไซต์ต่างๆ หรือของทางราชการ เช่น สำนักการโยธา การเคหะ เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด
                    3) จ้างสถาปนิก หรือผู้รับเหมาออกแบบ โดยสถาปนิก หรือผู้รับเหมาที่เป็นคนออกแบบบ้านให้จะต้องทำหน้าที่เขียนพิมพ์เขียว และติดต่อยื่นขออนุญาตก่อสร้างบ้านกับเทศบาลให้ด้วย โดยพิมพ์เขียวที่ใช้ขออนุญาตก่อสร้าง มันจะมีรายละเอียดที่เยอะ และละเอียดมากๆ ตั้งแต่โครงสร้างฐานราก ไปถึงแบบขยายประตูหน้าต่างเลยนะคะ
 
" เลือกสถาปนิกที่ถูกใจสไตล์การออกแบบของเค้ามากที่สุด "
" ถ้าคุณชอบสถาปนิก A ก็จ้าง A ไปเลยอย่าไปบอกให้สถาปนิก B ออกแบบบ้านที่เหมือนกับสถาปนิก A ให้หน่อย แบบนี้ยังไงก็ไม่ได้ตรงตามที่ต้องการ "
 

6) เริ่มหา Interior ออกแบบ Built-in
                       บางคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเร็วจัง แบบแปลนบ้านเพิ่งได้ แต่หา Built-in แล้ว หรือมีบางคนก็มีความคิดว่า ทำบ้านเสร็จก่อนค่อยหา โดยปกติแล้ว Interior เค้าจะออกแบบมาโดยอ้างอิงจากแปลนห้องของเราที่มีอยู่ แต่บางครั้ง บางที เค้าก็จะขอขยับนั่นนี่บ้าง เพื่อให้งานที่ได้ออกมาสวยงาม เหมาะสม หรือการวางตำแหน่งปลั๊กต่างๆมันต้องมีจุดที่ชัดเจน ซึ่งอาจจะแตกต่างกับจุดปลั๊กที่สถาปนิกเขียนมาให้

"การแก้ไขแบบต่างๆ ควรจะทำให้เสร็จตั้งแต่ก่อนเริ่มก่อสร้าง"


7) การยื่นขออนุญาตก่อสร้าง
                         หลังจากที่พอใจกับแบบแปลนแล้ว สถาปนิกหรือผู้รับเหมาก็จะเขียนพิมพ์เขียวสำหรับขออนุญาตก่อสร้างให้ แล้วนำไปยื่นขอที่เทศบาล เราก็เซ็นเอกสารมอบอำนาจให้เค้าไปทำ แต่ขั้นตอนนี้ใช้เวลาค่อนข้างนาน เนื่องจากความที่เป็นระบบราชการ แต่เค้าก็กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 45 วันนะคะ เรารอตามระบบ อาศัยการโทรติดตามบ่อยๆเอา ใช้เวลาเป็นเดือนเหมือนกันค่ะ ในระหว่างที่รอใบอนุญาตก่อสร้างนั้น ใครยังไม่มีผู้รับเหมาก็ต้องรีวิวเลือกหาดู แต่ถ้าใครมีแล้วก็จะถอดแบบบ้านทำ BOQ ตกลงราคารอ
 
                        "แบบที่ยื่นไปอาจมีการแก้ไข เทศบาลจะดูรายละเอียดต่างๆว่าถูกต้องตามกฏหมายมั้ย ถ้าไม่ถูกต้องก็จะทำหนังสือชี้แจงกลัมา"


8) ผู้รับเหมา
                       บางคนอาจจะได้ตั้งแต่ข้อก่อนหน้าแล้วนะคะ แต่สำหรับใครที่จ้างสถาปนิกออกแบบบ้าน ขั้นต่อมาก็จะต้องหาผู้รับเหมาที่จะสร้างบ้านให้อีกที ต้องขออธิบายก่อนว่า ในการสร้างบ้าน 1 หลัง มันประกอบไปด้วยหลายๆส่วน เช่น ฐานรากของบ้านที่อยู่ใต้ดิน โครงสร้างตัวบ้านที่อยู่บนดิน งานวางระบบท่อน้ำ ท่อกำจัดปลวก งานก่อและฉาบผนัง งานฝ้า งานทาสี งานประตูหน้าต่าง งานปูกระเบื้อง งานไฟ และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งช่างแต่ละคนที่จะมาทำงานพวกนี้เป็นช่างคนละชุดกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากจะสร้างบ้านหลังนึง ก็ต้องไปติดต่อหาช่างในงานต่างๆเอาไว้ แล้วก็ให้เค้ามาช่วยกันสร้างบ้านขึ้นมา
ถ้าใครมีเวลา มีความรู้ด้านนี้อยู่แล้ว ก็อาจจะติดต่อหาช่างมาทำบ้านด้วยตัวเองได้เลย แต่ถ้าใครที่ไม่มีเวลา แล้วก็ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ ก็ต้องหาผู้รับเหมามาช่วยจัดการเรื่องต่างๆตรงนี้
                   แล้วผู้รับเหมา คือใคร? ทำหน้าที่อะไรบ้าง?
                        ผู้รับเหมา ก็คือ คนที่จะรับผิดชอบในการสร้างบ้านของเราทั้งหมด แทนที่จะไปหาช่างต่างๆมาเอง เราติดต่อแค่ผู้รับเหมาแค่คนเดียว เค้าก็จะไปรวบรวมช่างมาสร้างให้เรา รวมไปถึงการควบคุมคุณภาพในการก่อสร้างต่างๆอีกด้วย เวลาเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา ผู้รับเหมาจะเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบทั้งหมด เช่น ปูกระเบื้องไม่ดี เบี้ยว ไม่ได้ระนาบ ต้องรื้อแก้ไขใหม่ เราก็บอกผู้รับเหมาได้เลย เพราะฉะนั้นผู้รับเหมาคือคนที่ค่อนข้างสำคัญมากๆในการช่วยให้บ้านของเราออกมาดี และได้มาตรฐาน ถ้าไปเจอใส่ผู้รับเหมาที่ไม่เคยมาตรวจงานเลย ช่างทำยังไงก็ส่งงานตามนั้น มันจะปวดหัวมากๆเลยนะคะ เพราะเราต้องมาตามดูเองตลอด หรือว่าบอกไปแล้วไม่ยอมแก้งานให้ เข้าข้างช่างที่ทำงานไม่ได้มาตรฐาน อันนี้ก็แย่มากๆเลยเหมือนกัน

"ผู้รับเหมาที่ดี จะต้องคอยตรวจสอบคุณภาพงาน และปกป้องผลประโยชน์ให้กับเรา"
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่