ปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยากในเดือน ธ.ค. 2020



(เดือน ธ.ค. 2020 มีปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจบนท้องฟ้าที่สามารถมองเห็นได้จากทุกที่ทั่วโลก)
Cr.GETTY IMAGES


ปี 2020 อาจจะเป็นปีที่ไม่ดีนักสำหรับผู้คนมากมาย แต่ในช่วงปลายปีนี้กลับมีปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยากในทางดาราศาสตร์ มาให้ได้รอชมกัน
ซึ่งในเดือน ธ.ค. นี้  มีปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจเหนือท้องฟ้าหลายอย่างที่ผู้คนทั่วโลกสามารถชมได้จากบ้านของตัวเอง โดยไม่ต้องใช้กล้องโทรทรรศน์หรืออุปกรณ์ราคาแพงแต่อย่างใด

ปรากฏการณ์ทั้งหลายนี้ได้แก่ ดาวเคราะห์สองดวงแทบจะหลอมรวมกันกลายเป็นหนึ่ง, ฝนดาวตกที่ยอดเยี่ยมที่สุด และสุริยุปราคาเต็มดวง ซึ่งหากท้องฟ้าเปิดก็จะสามารถชมได้เต็มที่ แต่บางปรากฏการณ์ก็จำเป็นต้องมีการปกป้องดวงตา และอาจจะต้องมีอุปกรณ์ช่วยชี้บอกตำแหน่งเวลาในการชมด้วย
โดยปรากฏการณ์ที่จักรวาลนำเสนอให้ได้ชมกันในเดือนนี้ เรียงตามลำดับเวลาคือ



13-14 ธ.ค. / ฝนดาวตกเจมินิดส์ (Geminids meteor shower) หรือ ฝนดาวตกคนคู่


(ยิ่งสภาพแวดล้อมมีความมืด ก็ยิ่งมีโอกาสชมปรากฏการณ์ที่สวยงามนี้ได้ชัดขึ้น)
Cr.GETTY IMAGES


แพทริเซีย สเกลตัน นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวกรีนิช (Royal Observatory Greenwich) ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า
"ฝนดาวตกส่วนใหญ่เกิดขึ้นเมื่อโลกเคลื่อนผ่านเศษฝุ่นที่ดาวหางทิ้งไว้"
"แต่ฝนดาวตกคนคู่มีความพิเศษที่เศษฝุ่นที่ถูกทิ้งไว้เกิดจากดาวเคราะห์น้อยชื่อ 3200 เฟธอน (3200 Phaethon)"

ดังนั้นในแต่ละปี ขณะที่โลกโคจรตัดผ่านสายธารของเศษฝุ่นและเศษหินต่าง ๆ เราก็จะได้ชมปรากฏการณ์ที่สวยงามในยามค่ำคืนนี้ โดยฝนดาวตกคนคู่ที่จะเกิดขึ้นระหว่าง 13-14 ธ.ค. นี้ อาจจะมีดาวตกให้ชมมากที่สุดถึง 150 ดวงต่อชั่วโมง สังเกตได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ ตั้งแต่เวลาประมาณ 20:30 น. ของวันที่ 13 ธันวาคม จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 14 ธันวาคม 2563

แพทริเซีย ยังกล่าวอีกว่า "ดาวตกเคลื่อนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกด้วยอัตราเร็วประมาณ 35 กม. ต่อวินาที... หรือเกือบ 130,000 กม. ต่อชั่วโมง
ซึ่งจะทำให้เกิดแสงสว่างวาบสีเหลือง หรือบางครั้งก็เป็นสีเขียวหรือสีน้ำเงินเหนือท้องฟ้า ขณะที่ดาวตกเผาไหม้ (จากการเคลื่อนตัวไปอย่างรวดเร็วในทุกทิศทาง) "
 
ยิ่งสภาพแวดล้อมมีความมืด ก็ยิ่งมีโอกาสชมปรากฏการณ์ที่สวยงามนี้ได้ชัดขึ้น แต่เราก็ยังสามารถเห็นดาวตกได้บางส่วนในพื้นที่เขตเมืองที่มีแสงสว่างรบกวนมาก นอกจากนี้ ฝนดาวตกปีนี้จะเกิดขึ้นพร้อมกับปรากฏการณ์จันทร์ดับ (New Moon) ซึ่งจะทำให้ท้องฟ้ายิ่งมีความมืดมิดมากยิ่งขึ้น ต่างจากปีที่แล้ว ที่เกิดขึ้นตรงกับช่วงพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งถือเป็นศัตรูของการชมดาว




14 ธ.ค. / สุริยุปราคาเต็มดวง มองเห็นได้ในชิลีและอาร์เจนตินา


(อารยธรรมโบราณคิดอย่างไร เมื่อท้องฟ้ามืดมิดในช่วงกลางวันแสก ๆ)
Cr.GETTY IMAGES


(ผู้คนจากทั่วโลกก็สามารถชมปรากฏการณ์นี้ผ่านการถ่ายทอดสดทางอินเทอร์เน็ตได้)
หากเป็นช่วงก่อนที่จะมีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ผู้คนจำนวนมากอาจจะพากันไปชมปรากฏการณ์ที่แสนพิเศษนี้ที่พาทาโกเนีย ทางใต้ของชิลี และอาร์เจนตินา  แต่ในช่วงของการระบาดใหญ่ของโควิดในปี 2020 ผู้คนส่วนใหญ่ก็จะคงต้องติดตามชมปรากฏการณ์นี้ทางโลกออนไลน์แทน  และการชมปรากฏการณ์นี้ต้องไม่ลืมว่า ห้ามมองดวงอาทิตย์โดยตรง และต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันเสมอ

ทันยา เด ซาเลส มาร์เกส นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวกรีนิช กล่าวว่า " ในช่วงเวลามหัศจรรย์ 24 นาที จันทร์ดับจะโคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์ และบดบังดวงอาทิตย์ทั้งหมดเป็นเวลา 2 นาที 9.6 วินาทีเท่านั้น " 
"ดวงจันทร์มีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์ 400 เท่า" ทันยา อธิบาย แต่มันดูเหมือนใหญ่กว่า เพราะอยู่ใกล้เรามากกว่า ดังนั้น มันจึงบดบังดวงอาทิตย์ทั้งดวงได้ ซึ่งการโคจรของดวงจันทร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์จะทำให้เกิดความมืดมิดปกคลุมเหนือบริเวณใต้สุดของทวีปอเมริกาใต้ในช่วงกลางวันแสก ๆ

ชาวมาปูเช (Mapuche) ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพาทาโกเนียให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงของท้องฟ้ามากเป็นพิเศษ
โดย มาร์เซโล ฮูเกวนแมน นักการศึกษาระหว่างวัฒนธรรมมาปูเช บอกว่า "ดวงอาทิตย์เป็นสัญลักษณ์ของ 'พลังงานของผู้ชาย' ส่วนดวงจันทร์เป็น 'พลังงานของผู้หญิง'  และความตึงเครียดระหว่างแรงทั้งสองในช่วงที่โคจรผ่านกันนี้ เป็นช่วงเวลาที่ละเอียดอ่อนสำหรับเรามาก" 




และกล่าวเพิ่มเติมว่า ตามประเพณีแล้ว ชาวมาปูเช หวาดกลัวสุริยุปราคา ซึ่งในภาษาของพวกเขาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า lhan Antü แปลว่า "ความตายของดวงอาทิตย์"
และทันยา กล่าวเสริมว่า "มีบันทึกการเกิดขึ้นของสุริยุปราคาทั่วโลกตลอดประวัติศาสตร์เกือบ 5,000 ปี"
นักดาราศาสตร์ผู้นี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า "เป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าใจว่า ทำไมสุริยุปราคาเต็มดวงในส่วนใหญ่ของประวัติศาสตร์จึงถูกมองว่าเป็น ลางไม่ดี เพราะว่าดวงอาทิตย์เหมือนถูกกิน และกลางวันก็เปลี่ยนเป็นกลางคืนเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ"

โดยสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นที่แอนตาร์กติกา (ธ.ค. 2021), อินโดนีเซียและออสเตรเลีย (เม.ย. 2023), สหรัฐฯ และแคนาดา (เม.ย. 2024), ยุโรปตอนใต้และกรีนแลนด์ (ส.ค. 2026) และพื้นที่ส่วนใหญ่ของแอฟริกาและภูมิภาคตะวันออกกลาง (ส.ค. 2027) 




21 ธ.ค. / การโคจรมาพบกันของดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ 


ดาวเคราะห์ทั้งสองโคจรมาทับซ้อนกัน ทำให้ดูเหมือนเป็นดาวดวงเดียวกันกำลังส่องสว่างอยู่ 
ครั้งล่าสุดที่ดาวทั้งสองโคจรมาเข้าใกล้กันมากขนาดนี้เกิดขึ้นเมื่อ 397 ปีก่อน หลังจากที่กาลิเลโอประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ขึ้นไม่นาน
Cr.GETTY IMAGES


"ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์น่าจะเป็นดาวเคราะห์ที่มองเห็นได้ชัดที่สุด เพราะมีความสว่างมาก" เอ็ด บลูมเมอร์ นักดาราศาสตร์ที่หอดูดาวกรีนิช กล่าว
การโคจรมารวมตัวกันเกิดขึ้นเมื่อดาวเคราะห์ทั้งสองโคจรมาทับซ้อนกัน ทำให้ดูเหมือนเป็นดาวดวงเดียวกันกำลังส่องสว่างอยู่

นี่คือปรากฏการณ์ที่จะได้เห็นในคืนวันที่ 21 ธ.ค. นี้ โดยเอ็ด กล่าวอีกว่า " 'ดาวเคราะห์พเนจร 2 ดวง คือ ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ นี้จะเข้าใกล้กันมากในท้องฟ้า จนดูเหมือนว่า เกือบจะสัมผัสกัน"  "การมาพบกันเช่นนั้น เป็นสิ่งที่น่าติดตามชม โดยเฉพาะในช่วงหลายวันก่อนและหลังจากที่มีการเข้าใกล้กันมากที่สุด เพื่อที่จะได้เห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร" 

หากมองด้วยตาเปล่า ดาวเคราะห์ทั้งสองดวงนี้จะอยู่ห่างกันน้อยกว่า 0.1º แต่ในความเป็นจริง มันเป็นเรื่องของมุมมอง ขณะนี้โลกและดาวพฤหัสบดีอยู่ห่างกันมากกว่า 800 ล้านกิโลเมตร (ระยะห่างขึ้นอยู่กับตำแหน่งในวงโคจรของโลกและดาวพฤหัสบดี) และดาวพฤหัสบดีอยู่ห่างจากดาวเสาร์ในระยะใกล้เคียงกัน  แต่ในช่วงไม่กี่เดือนนี้ ดาวเคราะห์ที่เป็นกลุ่มแก๊สขนาดใหญ่ทั้งสองดวงดูเหมือนจะเข้าใกล้กันมากบนท้องฟ้าที่เราเห็นยามค่ำคืน และในที่สุด ดาวทั้งสองจะ "มาเจอกัน"

และถ้าใครมีกล้องส่องทางไกลหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก ก็อาจมองเห็นดวงจันทร์ขนาดใหญ่ 4 ดวงของดาวพฤหัสบดี คือ ไอโอ (Io), ยูโรปา (Europa), แกนิมิด (Ganymede) และ คัลลิสโต (Callisto)  ซึ่งดวงจันทร์เหล่านี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ดวงจันทร์ของกาลิเลโอ (Galilean Moons) เพราะว่า กาลิเลโอ กาลิเลอี นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี เป็นคนแรกที่สังเกตเห็นดวงจันทร์เหล่านี้ในปี 1610 ด้วยกล้องโทรทรรศน์ใหม่ที่เขาประดิษฐ์ขึ้นก่อนหน้านั้น 2-3 เดือน



ดาวขนาดใหญ่ตรงกลางคือ ดาวพฤหัสบดี
และหากมองจากกล้องส่องทางไกลหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก จะเห็นดวงจันทร์ขนาดใหญ่ 4 ดวงของดาวพฤหัสบดี
คือ ไอโอ (Io), ยูโรปา (Europa), แกนิมิด (Ganymede) และ คัลลิสโต (Callisto) ทางขวา


การพบกันของดาวเสาร์และดาวพฤหัสบดี เกิดขึ้นทุก ๆ 19.6 ปี แต่ครั้งนี้มีความพิเศษมากกว่าเกือบจะทุกครั้ง เพราะการพบกันในปี 2020 จะเป็นการโคจรเข้าใกล้กันมากที่สุดนับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17  ซึ่งครั้งล่าสุดที่ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ดูเหมือนจะเข้าใกล้กันขนาดนี้ เกิดขึ้นเมื่อ 397 ปีก่อน คือ ปี 1623 
การที่ดาวเคราะห์ทั้งสองปรากฏใกล้กันมากที่สุด และดูด้วยตาเปล่าจะมองเห็นเสมือนเป็นดาวดวงเดียวกันถูกเรียกว่า ปรากฏการณ์
“The Great Conjunction” ทำให้นักดาราศาสตร์และนักดูดาวต่างตื่นเต้นกับปรากฏการณ์ในครั้งนี้อย่างมากเพราะหาชมได้ยากมาก 

โดย เอ็ด กล่าวเพิ่มเติมว่า  "มันยิ่งกว่าโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิต"
"การสังเกตการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ต่าง ๆ ทำให้มนุษย์เข้าใจระบบสุริยะของเราเป็นเวลานานก่อนที่เราจะเดินทางไปอวกาศได้จริง ๆ" 
"การชมกลศาสตร์ท้องฟ้าเหล่านี้ ช่วยจุดประกายกระบวนการทางฟิสิกส์ที่อยู่เบื้องหลัง ช่วงสร้างกรอบการทำงานที่ไม่เพียงทำให้เราเข้าใจจักรวาลนี้มากขึ้น แต่ยังมีส่วนทำให้เกิดนวัตกรรมและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์นับไม่ถ้วนบนโลกนี้" 

ถ้าท้องฟ้าเปิด การชมปรากฏการณ์นี้จะมีเวลาเพียง 1 ชั่วโมง ก่อนที่ดาวเคราะห์ทั้ง 2 ดวงนี้จะลับขอบฟ้าไป  ซึ่งตำแหน่งของดาวเคราะห์ทั้งสองจะอยู่ต่ำลงมาทางเส้นขอบฟ้าทางตะวันตกเฉียงใต้ หลังจากที่อาทิตย์ตกแล้ว ครึ่งชั่วโมง   เรื่องที่พิเศษอีกอย่างหนึ่งในวันที่ 21 ธ.ค. คือ วันนั้นเป็นวันเหมายัน
หรือทักษิณายัน (วันที่กลางวันมีเวลาสั้นที่สุด) ซึ่งในทางดาราศาสตร์ถือเป็นวันแรกที่เข้าสู่ฤดูร้อนของซีกโลกใต้ และเป็นวันแรกของการเข้าสู่ฤดูหนาวในซีกโลกเหนือ



Cr.https://www.bbc.com/thai/international-55215271 / โดย เอวา ออนติเวโรส / บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส
Cr.http://thaiastro.nectec.or.th/skyevent/article/greatconjunction/โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด
Cr.http://thaiastro.nectec.or.th/skyevent/weekly-sky-event/ โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด


(ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลทั้งหมดและขออนุญาตนำมา)

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่