ธปท. ปรับเกณฑ์คุณสมบัติตราสารทางการเงิน AT1-Tier2 , โบรกฯ มองเชิงบวก

กระทู้ข่าว
ทันหุ้น-นางนวอร เดชสุวรรณ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่า ธปท.
ได้ปรับเกณฑ์คุณสมบัติตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ เพื่อเสริมสร้างระดับเงินกองทุน
ให้สูงขึ้นในการรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ถึงแม้ว่าระดับเงินกองทุนของระบบธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในระดับสูง
โดย ณ กันยายน 2563 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ร้อยละ 19.43

หลักเกณฑ์คุณสมบัติที่ปรับใหม่ให้กลับมาเทียบเท่ากับหลักเกณฑ์สากล ได้แก่
1) ตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือ Additional Tier 1 (AT1) ซึ่งเป็นตราสารทางการเงินที่ไม่มีกำหนดเวลาการชำระคืน
ธปท. ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถจ่ายผลตอบแทนได้โดยไม่ต้องขออนุญาตหากระดับเงินกองทุน (BIS Ratio)
ของธนาคารพาณิชย์สูงกว่าที่ ธปท. กำหนด
           
2) ตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 หรือ Tier 2 (T2) ซึ่งเป็นตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีกำหนดเวลาการชำระคืนอย่างน้อย 5 ปี
ธปท. ยกเลิกข้อกำหนดสิทธิให้ธนาคารพาณิชย์เลื่อนเวลาการชำระดอกเบี้ยได้
 
ทั้งนี้ ประโยชน์ของการปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับผลตอบแทน
ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ไทยสามารถระดมทุนได้ง่ายขึ้น และทำให้ระดับเงินกองทุนและสภาพคล่องสูงขึ้น
ช่วยเอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจและประชาชน พร้อมเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

**โบรกฯ มองเชิงบวกเล็กน้อย
บล.โนมูระ พัฒนสิน มีมุมมองเชิงบวกเล็กน้อยต่อประกาศของธปท. ดังกล่าว เพราะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถระดมทุนผ่านการออกตราสาร AT1 และ Tier2 เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของระดับเงินกองทุน ประกอบกับในมุมมองของนักลงทุน
จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนที่ถือตราสารเกี่ยวกับผลตอบแทนที่จะได้รับ
แม้ว่าปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งมีระดับเงินกองทุน  (CAR ratio or BIS ratio) เกินกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธปท.อยู่แล้วก็ตาม 

นอกจากนี้ การปรับหลักเกณฑ์ตราสาร AT1 จะทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ถือหน่วย AT1 ได้เสมอ
หากมีเงินกองทุนมากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธปท. โดยเป็นการปลดล็อคข้อจำกัดเดิมคือ หากธนาคารมีผลขาดทุน
หรือมีผลขาดทุนสะสมจะไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ถือหน่วย AT1 ได้เลย 

ธนาคารที่เคยออกตราสาร AT1 ไปแล้วคือ BBL มูลค่าราว 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน ก.ย.ที่อัตราผลตอบแทน 5% และ
KBANK มูลค่าราว 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน ต.ค.ที่อัตราผลตอบแทน 5.275% ทั้งสองธนาคารมีวัตถุประสงค์ในการออก AT1 คล้านกัน
คือเสริมความแข็งแกร่งระดับเงินกองทุน ควบคู่กับการระดมทุนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และ TMB เคยออก AT1 เมื่อธ.ค.2562
มูลค่า 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราดอกเบี้ย 4.9% เพื่อควบรวมกับ TBANK 

ทั้งนี้ตราสาร AT1 มีลักษณะคล้ายคลึงการหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ (Perpetual bond) ซึ่งสามารถนับรวมเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 ได้
และมีสิทธิด้อยกว่าผู้ฝากเงิน เจ้าหนี้สามัญ และผู้ถือตราสาร Tier 2 แต่ดีกว่าผู้ถือหุ้นสามัญ
ส่วนตราสาร Tier2 เป็นตราสารด้อยสิทธิที่มีกำหนดเวลาการชำระคืนอย่างน้อย 5 ปี สามารถนับเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 2 ได้ 

ฝ่ายวิจัยบล.โนมูระ พัฒนสิน ยังคน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคารที่ “Bullish” เลือก BBL โดยแนะนำซื้อ ให้ราคาเป้าหมายปี 2564 ที่ 147 บาท
และหุ้น KBANK แนะนำซื้อให้ราคาเป้าหมายปี 2564 ที่ 130 บาท เป็นหุ้น Top Pick ของกลุ่ม เพราะมีนโยบายการตั้งสำรองเชิงรุก
ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้

ประกอบกับตลาดคลายความกังวลและมองข้ามผลประกอบการที่อาจยังอ่อนแอในไตรมาส 4/63 หลัง ธปท.ให้ธนาคารสามารถจ่ายเงินปันผลงวดปี 2563
เพราะมีเงินกองทุนและ  Coverage ratio แข็งแกร่ง รวมถึงแนวโน้ม NPL formation ในไตรมาส 3/63ลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับความหวังเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ



https://www.thunhoon.com/article/232680
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่