บทความตามใจฉัน “Aera88 ชีวิตของชินกับ Light Fighter” Part3

F-20 Tiger shark คือเครื่องบินเครื่องที่ 5 ของชินซึ่งต่อมากลายเป็นทั้งสัญลักษณ์ของเรื่องและเอกลักษณ์ประจำตัวของชินไปจนเกือบตลอดทั้งเรื่องหลังจากนี้  
 
F-20 หรือรหัสเดิม F-5G นั้นเป็นเครื่องที่พัฒนาต่อยอดจาก F-5 ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากโดยยังคงคอนเซ็ปเดิมของ F-5 ไว้ทุกประการแต่ก็พ่ายแพ้ในการประกวดเข้าประจำการให้แก่คู่แข่งซึ่งคือ F-16 ที่ผลิตโดยบริษัท General Dynamics แม้ว่าจะมีประสิทธิ์ภาพที่สูสี่กันด้วยราคาค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าโดยมีสาเหตุหลัก 3 ประการ 
 
1. F-20 นั้นใช้โครงสร้างที่ออกแบบมาตั้งแต่ยุค 50s ซึ่งพัฒนามาจนสุดทางและล้าสมัยเกินไปแล้ว

2. F-20 ติดตั้งอาวุธน้ำหนักรวมได้น้อยกว่า โดย F-20 บรรทุกได้สูงสุดราว ๆ 7 ตันขณะที่ F-16 แบกได้ราว ๆ 12 ตัน

3. F-20 จุเชื้อเพลิงได้น้อยกว่า โดย F-20 จุดได้เพียง 2,291 Kg ขณะที่ f-16 จุได้ 3,200 Kg (F-16 C/D) ทำให้ F-20 มีระยะทำการที่สั้นและการคำนวนเชื้อเพลิงต่อระยะทางที่บินได้นั้นค่อนข้างจุกจิกเพราะต้องคำนวนตามประเภทภารกิจและอาวุธที่ติดตั้งอย่างละเอียด
 

 
จุดที่น่าสนใจของ F-20 นี้คือชินไม่ได้เป็นคนสั่งซื้อแต่แม๊คคอย พ่อค้าอาวุธประจำ Aere88 เป็นคนเอามาให้ คำถามคือแม๊คคอยได้เครื่องนี้ซึ่งถือเป็นเครื่องรุ่นล่าสุดที่ประเทศผู้ผลิตเองก็ยังไม่มีใช้มาได้ยังไง
 
ในเรื่องนั้น Arslan เป็นประเทศที่ยังมีการรบอยู่ต่อเนื่องทำให้บริษัทผู้ผลิตอาวุธต่าง ๆ ส่งอาวุธรุ่นใหม่ของตนเองมาให้ใช้เพื่อทดสอบในสนามจริงบ่อย ๆ โดยในเรื่องนั้นมีการส่ง F-15 Eagle และ B-1 Lancer ที่ติดอาวุธนิวเคลียร์มาให้ทาง Aera88 ทดสอบใช้งานด้วย 
 
ทำให้มีความเป็นไปได้ที่บริษัทผู้ผลิตได้ส่ง F-20 มาให้ทดสอบใช้งานจริงเพื่อเก็บข้อมูล แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นทำไหมแม๊คคอยที่เป็นพ่อค้าอาวุธในตลาดมืดถึงเป็นคนได้รับเครื่องนี้มา
 
นั้นทำให้ความเป็นไปได้ที่ 2 ดูมีน้ำหนักกว่า
 

 
ความเป็นไปได้ที่ 2 คือ ไปซื้อมาจากบริษัทผู้ผลิตแบบผิดกฎหมาย

แม๊คคอยนั้นถือว่าเป็นพ่อค้าอาวุธที่เก่งกาจชนิดที่เจ้าตัวมักโฆษณาตัวเองว่า “ขอแค่มีเงิน จะเอาวังเครมลินก็ยังได้”
วีรกรรมเด่น ๆ ก็เช่นการหา F-14 มาให้มิคกี้โดยไปใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่อิหร่านสลับเลขเครื่อง f-14 ที่ดีกับเครื่องเสียแล้วไปซื้อเครื่องดีที่ติดเลขของเครื่องที่ใช้งานไม่ได้มาในฐานะซาก
 
ตามประวัติจริงนั้น F-20 มีการผลิตต้นแบบออกมา 4 เครื่อง โดยทางบริษัทผู้สร้างพยายามที่จะหาผู้สั่งซื้อจากนอกประเทศนานถึง 6 ปีแต่ก็ไม่มีใครซื้อเพราะประเทศต่าง ๆ อยากใช้ F-16 ซึ่งเครื่องแบบเดียวกันกับที่อเมริกาเลือกเข้าประจำการ
แถม F-20 ยังเกิดอุบัติเหตุตกถึง 2 ครั้งในเดือนตุลาคม 1984 และพฤษภาคม 1985 ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์ทำให้นักบินเสียชีวิตและเครื่องบินต้นแบบที่ 1 และ 2 พังพินาศ โครงการจึงถูกยุบไปโดยเครื่องต้นแบบลำที่ 3 ถูกนำไปแสดงในพิพิธภัณฑ์ California Science Center ที่ LA  
 

 
ส่วน F-20 ของชินนั้นเชื่อว่าคือต้นแบบลำที่ 4 ที่มีการบันทึกไว้ว่าสร้างเสร็จแล้วเพียงบางส่วน แม๊คคอยคงจะไปซื้อลำที่ 4 นี้รวมถึงอะไหล่ทั้งหมดมาในฐานะชิ้นส่วนหรือซากแล้วมาประกอบจนสมบูรณ์ หรือไม่ก็บางที F-20 ลำที่ 4 นั้นอาจจะเสร็จสมบูรณ์หรือเกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้วแต่เมื่อมีการยกเลิกโครงการ จะทำลายเครื่องที่เกือบเสร็จแล้วก็น่าเสียดายจึงมีการแอบนำเครื่องไปขายในตลาดมืดเพื่อถอนทุนคืนซึ่งแม๊คคอยไปซื้อมาได้และมาขายต่อชิน เรียกได้ว่าเค้ารู้ใจ, ความชอบและความถนัดของชินผู้เป็นลูกค้าอย่างดีทีเดียว
 

 
นี่ทำให้ชินในตอนนี้ได้ Light Fighter ที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นมาใช้งานกลายเป็นฉลามเสือติดปีกตามชื่อรุ่นของเครื่องบิน แต่ต่อมาก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลสามารถยึดเมืองหลวงและตั้งตัวเป็นรัฐบาลได้สำเร็จ ส่วนกองบิน Aera88 นั้นเคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลใหม่มานานตั้งแต่สมัยยังเป็นฝ่ายต่อต้านอีกทั้งยังทำลายกองพลของตนไปไม่น้อยรัฐบาลใหม่จึงไม่คิดจะเอาไว้ Aera88 ได้กลายเป็นเป้าหมายการโจมตีของกองทัพภายใต้รัฐบาลใหม่ไป
 
ซากิ ผู้บัญชาการและเจ้าชายของราชวงศ์จึงกลายเป็นผู้นำฝ่ายต่อต้าน นำ Aera88 เข้าต่อสู้กับรัฐบาลและทำการย้ายฐานทัพไปที่แห่งใหม่ที่เหมาะแก่การซ่อนตัว จังหวะนี้เองที่ซากิได้เรียกชินไปคุยถึงสาเหตุความเป็นมาที่ได้มาอยู่ Aera88 และตัดสินใจส่งชินกลับบ้าน
ส่วน F-20 นั้นชินได้มอบให้ คิม ที่เป็นเหมือนศิษย์ก้นกุฎิเอาไปใช้แทน AV-8 harrier ที่ค่าอะไหล่แพงหูฉี่
 

 
แม้ชินจะได้กลับบ้าน มีโอกาสใช้ชีวิตอย่างสงบสุขอยู่กับคนรักแล้วก็ตามแต่เวลาที่ชินใช้ชีวิตอยู่กับสนามรบนั้นมันนานเกินไปจนชินไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตได้อย่างปกติอีกแล้ว สุดท้ายชินก็กลับไปเป็นทหารรับจ้างอีกครั้งจนทำให้ได้รับเงินทุนจำนวนมหาศาลมาโดยบังเอิญ
 
ต่อมาเมื่อชินได้ข่าวเกี่ยวกับสงครามที่ Arslan ก็ติดต่อแม็คคอยให้จัดหาบุคลากรพร้อมอาวุธล๊อตใหญ่เพื่อส่งไปช่วยเหล่าสหายรบที่ Aera88 รวมถึงกลับเข้าสู่สนามรบที่ตนเคยชิงชังและเรียกมันว่านรกอีกครั้ง
พร้อมเครื่องบินลำใหม่
 

 
Grumman X-29 คือเครื่องบินลำที่ 6 ที่ชินใช้ สร้างโดยบริษัท Grumman ที่นำโครงของ F-5A มาสร้างเป็น X-29 โดยมีจุดประสงค์เพื่อทดสอบเทคโนโลยีการบินล้ำสมัยต่าง ๆ เช่นการใช้คาร์บอนไฟเบอร์ที่แข็งแรงแต่เบาเป็นวัสดุหลักในการสร้างเครื่องบิน จุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของ X-29 คือการใช้ปีกแบบ Forward-swept wing หรือที่เรียกทั่วไปว่า “ปีกกลับ” ซึ่งทำให้ X-29 มีความคล่องตัวที่สูงมากในระดับสุดขั้วแลกกับความไม่เสถียรในการบินที่สุดขั้วเช่นกันจนทำให้นักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องได้ถ้าไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการบินหรือที่เรียกด้วยศัพท์เฉพาะว่า Fly By Wire แบบพิเศษช่วยไม่เช่นนั้นเครื่องตกแน่นอน
 
ในโลกจริง ผลการทดสอบ X-29 นั้นมีการให้ความเห็นว่าแม้เครื่องจะบินได้จริงและคล่องตัวสูงแต่ Fly By Wire ที่ใช้นั้นก็ยังเร็วไม่พอที่จะควบคุมความไม่เสถียรจากการบินอันเป็นผลจากการใช้ปีกแบบนี้ เชื่อว่าถ้า X-29 ได้บินอีกครั้งโดยใช้ Fly By Wire ในยุคปัจจุบันความคล่องตัวของเครื่องจะสูงได้ยิ่งกว่าที่เคยทำได้ในยุค 80s เสียอีก
 
จะเห็นได้ว่าแม้ตัวชินเองจะร่ำรวยชนิดที่มีเงินให้แม็คคอยหาเรือบรรทุกเครื่องบินมาใช้ได้ก็ตาม แต่เมื่อลงสนามรบชินเองก็ยังเลือกใช้ของที่ตัวเองคุ้นมือและ X-29 คือสัญลักษณ์ว่า F-5 สามารถไปได้ถึงขีดสุดแค่ไหน
 

 
ในการรบขั้นแตกหักเมื่อกองกำลังต่อต้านรัฐบาลนำโดยซากิบุกเข้ายึดเมืองหลวง ชินเห็นว่าซากิสละเครื่องลงไปที่บริเวณพระราชวังเลยสละ X-29 เพื่อตามลงไปช่วยเพราะเชื้อเพลิงจะหมดพอดี จากนั้นจึงไปเอา F-20 ที่เคยให้คิมไปมาใช้ต่อในการต่อสู้ครั้งสุดท้ายกับศัตรูคู่อาฆาตก่อนที่จะถูกยิงตกทั้งคู่
 
ตรงนี้มองได้ว่านี่คือสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการสิ้นสุดยุค Light Fighter ของอเมริการวมถึงหลาย ๆ ประเทศในโลกที่หลักนิยมเปลี่ยนไปโดยแทนที่ด้วยเครื่องที่ใหญ่กว่า, บรรทุกได้เยอะกว่า, บินได้ไกลและนานกว่า, มีโครงสร้างที่ทันสมัยรองรับการปรับปรุงต่อยอดได้รวมถึงมีความสามารถรองรับภารกิจที่หลากหลายอย่างเช่น F16 และ F18 แทน
 
ซึ่งนี่รวมถึงจุดสิ้นสุดชีวิตการเดินทางในฐานะทหารรับจ้างของชินด้วยเช่นกัน
 

                                                                                                                        
แต่ไม่ได้หมายความว่า Light Fighter จะหายไปอย่างสิ้นเชิง
 
จุดเด่นของ Light Fighter ที่เครื่องมีขนาดเล็ก, ราคาถูก, รองรับภารกิจได้หลากหลาย, ประหยัด, ไต่เพดานบินได้เร็ว, เวลาที่อยู่บนพื้นดินสั้น (สำหรับเติมเชื้อเพลิงและรีโหลดอาวุธ) และดูแลรักษาง่ายนั้นยังคงเป็นที่ต้องการในหลาย ๆ ประเทศโดยเฉพาะสวีเดนที่มีความต้องการเครื่องบินคุณสมบัติแบบนี้ด้วยหลักการรบและข้อจำกัดทางสภาพภูมิประเทศของสวีเดนเอง นี่ทำให้ Saab ยังคงมีการผลิตเครื่องบินที่มีคุณสมบัติดังกล่าวออกมาโดยรุ่นล่าสุดคือ jas 39 gripen ที่หลาย ๆ ประเทศเองก็สั่งซื้อไปใช้ร่วมถึงประเทศไทยเอง
 
มีข้อสังเกตว่าประเทศที่เคยใช้ F-5 มักจะเลือกซื้อ jas 39 เข้าประจำการเพื่อทดแทน F-5
 

 
ยิ่งในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีด้านโดรนและระบบควบคุมอัตโนมัติกำลังก้าวหน้าอย่างมาก ทำให้มีการทดสอบปรับปรุงเครื่องบินรุ่นเก่าเพื่อให้สามารถควบคุมทางไกลและ/หรือทำงานได้ด้วยตนเองแบบโดรนเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาโดรนบินตั้งแต่กระบวนการออกแบบรวมถึงสามารถนำเครื่องเก่าที่ปลดประจำการณ์ไปแล้วกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง ซึ่งมีการนำร่องไปแล้วในปี 2013 ที่สหรัฐได้ดัดแปลง F-16A รุ่นเก่าให้กลายเป็นโดรนสำหรับเป้าฝึกซ้อมและเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ทางสหรัฐได้มีการทดสอบนำ EA-18G หรือ F-18 เวอร์ชั่นพิเศษสำหรับสงครามอิเล็กทรอนิกส์มาติดตั้งระบบควบคุมไร้สายอัตโนมัติเพื่อทดสอบการใช้งานเครื่องลูกฝูงอัตโนมัติแบบไร้คนขับ ผลคือประสบความสำเร็จ นักบินในเครื่องจ่าฝูงสามารถควบคุมและสั่งการเครื่องบินที่ติดตั้งระบบควบคุมไร้สายได้และเครื่องทดสอบก็สามารถทำงานแบบอัตโนมัติตามคำสั่งที่ถูกส่งมาเป็นอย่างดี
 
ที่น่าสนใจคือแนวคิดเครื่องบินควบคุมระยะไกลนี้ก็ถูกกล่าวถึงใน Aera88 เช่นกันทั้งที่เรื่องนี้ถูกเขียนในช่วงปลายยุค 70s ถึงต้นยุค 80s แถมยังเป็น F-18 เหมือนกันอีก เรียกได้ว่าคนเขียนมองการณ์ไกลเห็นอนาคตถึง 30 ปีข้างหน้าเลยทีเดียว
 
และเมื่อเร็ว ๆ นี้ในการรบระหว่างอาเซอร์ไบจานกับอาเมเนียก็มีการนำ Antonov An-2 เครื่องบินใบพัดปีก 2 ชั้นที่ถูกสร้างมาตั้งแต่ปลายยุค 40s มาดัดแปลงเป็นโดรนใช้บินล่อระบบต่อต้านอากาศยานให้เปิดเผยตำแหน่งก่อนที่จะส่งกำลังหรือโดรนติดอาวุธเข้าไปทำลาย ซึ่งได้ผลดีมาก
 

 
ผลการรบระหว่างอาเซอร์ไบจานกับอาเมเนียได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงประสิทธิภาพของโดรนในการรบจริงและเชื่อว่านี่จะทำให้หลาย ๆ ประเทศมุ่งที่จะพัฒนาเทคโนโลยีโดรนสงครามอย่างจริงจัง
และเมื่อเข้าสู่ยุคของโดรนจริง ๆ การปะทะระหว่างโดรนด้วยกันเองเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
 
ดังนั้นตามหลักพื้นฐานแล้วฝ่ายไหนที่สามารถผลิตโดรนได้มากกว่าในราคาที่ถูกกว่าและยิงโดรนของอีกฝ่ายตกได้มากกว่าด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ
 
นี่อาจทำให้ Light Fighter ได้กลับมาโลดแล่นอีกครั้งในรูปลักษณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องบินที่ถูกดัดแปลงให้เป็นโดรน ซึ่งเร็ว ๆ นี้มีข่าวว่าทางเวียดนามมีแผนที่จะนำ Mig 21 ที่ปลดระวางไปแล้วมาดัดแปลงทำเป็นโดรนสำหรับเป้าฝึกซ้อมรวมถึงนำไปใช้ในการรบจริงในฐานะมิสไซส์โดรน
 
หรือไม่ก็อาจจะต่อยอดพัฒนาโดรนโดยใช้การออกแบบของ Light Fighter สักเครื่องหนึ่งเป็นฐานการพัฒนาก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน
 
แต่ไม่ว่าอย่างไร คราวนี้ไม่จำเป็นต้องมีใครแม้แต่ชินเองก็ตามที่ต้องขึ้นไปขับอีกแล้ว 
 
ลาก่อนชิน คราวนี้ ลาจริง ๆ
 

 
ปล.ตอนนี้ผมได้เปิด Facebook Page “บทความตามใจฉัน” 
โดยบทความจะหลายหลากคละประเภทกันไปความตามความสนใจนั้นขณะนั้น ถ้าสนใจก็กดติดตามได้ครับ
https://www.facebook.com/uptomejournal/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่