ประสพการณ์ ปฏิบัติธรรม สวนโมกข์นานาชาติ

.....เสียงระฆังเสียงแหลมใสกังวาล วังเวงแว่ว จากหอระฆัง ที่อยู่ห่างจาก หอนอนไป สักสามร้อยเมตรปลุกให้ตื่นขึ้นจากภวังคฺ์ ตอนตีสามครึ่ง เสียงยังคงดังกังวาล เป็นระยะ จากห่างๆก็ถี่กระชั้นขึ้น จนครบสามลา สามรอบ มีเสียง เปิดประตู เสียงเดิน และแสงไฟจากห้องพัก ข้างๆและถัดไป ค่อยสว่างขึ้น เสียงเปิดก๊อกน้ำ ทางฝั่งห้องน้ำดังแว่วมา มีแต่เสียงเคลื่อนไหว แต่ไม่มีเสียงพูดจาใดๆ
     ขยับตัวด้วยความเมื่อยขบ ปวดนิดๆที่ต้นคอ จากความไม่ชินของหมอนไม้ ที่ใช้หนุน ลูบที่ต้นแขนยังมีร่องรอยกดทับของเสื่อจูด ที่ปูรองนอน ค่อยๆ ตลบมุ้งในล่อนสีน้ำเงินขึ้น ทางฝั่งขอบเตียงด้าน ที่ไม่ชิดฝาผนัง พยุงกายลุกขึ้นนั่งห้อยขา พับผ้าห่มวางไว้บนหมอนเรียบร้อย สติสัมปชัญญะ ตื่นขึ้นมาพร้อมแล้ว จากการหลับไหล ไปร่วมสี่ชั่วโมงเศษ ภายในห้องพัก ขนาด กว้างยาว สามเมตรครึ่ง
     นี่เป็นเช้าวันแรก ของการตื่นนอนขึ้นที่นี่ จากระยะเวลาปฏิบัติธรรมทั้งหมด 7 วัน ภายในสถานปฏิบัติธรรม สวนโมกข์นานาชาติ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
     ได้เวลาไปห้องน้ำ ที่นี่เป็นห้องน้ำรวม เป็นห้องสุขา 6 ห้องไม่มีห้องอาบน้ำแต่ด้านหน้าเป็นอ่างน้ำ สูงประมาณ 1 เมตร กว้าง 4 เมตร ยาวประมาณ 6 เมตร สองอ่าง มีขันน้ำ วางโดยรอบ ห้องน้ำ และทุกแห่งที่นี่จะไม่มีกระจกเงา เราจะไม่เสียเวลาดูหน้าตัวเอง และจะไม่เห็นมันเป็นเวลา หนึ่งอาทิตย์
       หลังจากจัดการภาระกิจส่วนตัวเรียบร้อย กลับมาห้องพัก เสื้อผ้าชุดปฏิบัติธรรม กางเกงผ้าดิบ เสื้อยืด สีขาว ราคาถูกๆ สามชุด ที่เตรียมมาจากบ้านเมื่อวาน แขวนอยู่ที่ราว ภายในห้อง ดึงขึ้นมาสวมใส่ชุดหนึ่ง
     ออกมาข้างหน้าหอนอน ลมเย็นๆยามใกล้รุ่งพัดมาแผ่วๆ สมาชิกผู้เข้าปฏิบัติธรรม เดินออกมาเป็นทิวแถว ทั้งทางฝั่ง หอผู้หญิง และหอผู้ชาย ที่อยู่ไม่ไกลกันมากนัก บ้างก็ถือไฟฉาย บ้างก็ถือตะเกียงรั้ว ที่ข้างในมีเทียนไข วับๆแวมๆ ดูแล้วได้บรรยากาศ ของความคลาสสิค ไปอีกแบบ ที่นี่จะใช้หลักของการเป็นอยู่แบบง่าย ตามปรัชญา "อยู่อย่างต่ำ มุ่งกระทำอย่างสูง" พยายามอยู่กับ เครื่องใช้ อำนวยความสะดวกที่น้อยชิ้นที่สุด ง่ายที่สุด ถือศีล 8 ถือศีลปิดวาจา ทานอาหาร มังสวิรัต สองมื้อ ไม่ใช้เครื่องมือสื่อสารใดๆเลย ตลอดระยะเวลาที่อยู่ที่นี่ มือถือได้ถูกปิดเครื่องเก็บไว้ตั้งแต่ เมื่อตอนเข้ามา เมื่อวาน ที่สำนักงานอำนวยการ การที่เราได้ละจากหน้าจอ เลิกติดต่อกับโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง จะได้รับความรู้สึกแปลกใหม่ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นิ่งขึ้น สงบขึ้น วุ่นวายน้อยลง ในระดับหนึ่ง
    จากหอนอน เดินไปประมาณอีกสี่ร้อยเมตร บนทางเท้าเล็กๆที่เป็นทรายสะอาด คดโค้ง สองข้างทางเป็นพื้นหญ้า ต้นมะพร้าว และสุมทุมพุ่มไม้ เท้าเปลือยเปล่า ย่ำไปบน เม็ดทรายที่ชุมเย็นไปด้วยน้ำค้าง ได้ความรู้สึกลึกล้ำ การถอดรองเท้าเดินที่นี่ ได้รับคำแนะนำว่า เป็นการเรียกสติ ทุกก้าวสัมผัส ให้รับรู้ และมีสมาธิ อยู่กับความรู้สึกที่เท้า เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ประโยชน์อย่างหนึ่งคือเป็นการนวดเท้า ด้วยทราย ขณะก้าวเดิน สปา เท้าไปในตัว กระตุ้นเลือดลมได้ดี แบบศาสตร์จีน และอีกนัยหนึ่ง การถอดรองเท้าถือเป็นการเคารพสถานที่ สูงสุด แต่หากใครไม่สะดวกและไม่ถนัด ก็สามารถสวมรองเท้าได้ตามปรกติ ดังนั้น ก่อนนอนทุกวัน สิ่งที่ต้องพึงกระทำคือ ล้างเท้า ฟอกสะบู่ให้สะอาดเช็ดให้แห้ง คนที่เคยผ่านเข้าไปในสวนโมกข์ ถ้าสังเกตุจะเห็นพระบางรูป ไม่สวมรองเท้า หรือผู้ปฏิบัติธรรมบางคน ก็ไม่สวมรองเท้า บุคลิกของนักปฏิบัติธรรมส่วนมาก จะสังเกตุง่ายๆ ใส่กางเกงสบายๆแบบ กางเกงขาก๊วย หรือกางเกงเล หรืออาจจะเป็นผ้ายืด สีเข้ม หรือสีขาว สวมเสื้อยืดสีขาวหรือสีอ่อน สะพายย่ามหรือถุงผ้า ไม่พูด และไม่มองหน้าสบตาใคร นอกจากมีธุระจำเป็นจริงๆ

    ศาลาทราย เป็นศาลาปฏิบัติธรรม สูงโปร่ง หลังใหญ่ กว้างยาวประมาณ 30 คูณ 40 เมตร เสาเป็นไม้ทั้งต้นขนาดใหญ่ หลายสิบต้น หลังคาทรงปั้นหยาแบบไทย เพดานโปร่ง พื้นเป็นทรายละเอียด สีขาวนาล ภายในศาลา จุดเทียน พรรษาเล่มใหญ่ สี่ทิศ ให้แสงสว่าง วอมแวม ดูอึมครึม และมีความขลังในความรู้สึกสัมผัสแรก บนพื้นทราย มีกระสอบป่าน วางเป็นแถวเรียบร้อย ปูทับด้วยผ้า พลาสติก แบบคล้ายวัสดุถุงปุ๋ย ผืนขนาด กว้างยาว หนึ่งเมตร เรียกว่า "อาสนะ" นั่งปฏิบัติธรรม คนที่สวมรองเท้ามาจะต้องถอดรองเท้า ก่อนเข้าไปในศาลาทราย และเลือกที่นั่ง โดยผู้ชายนั่งแถวหน้า ผู้หญิงนั่งแถวหลัง  แต่ละคน จะต้องหยิบป้ายไม้ หมายเลขห้อง มาวางไว้ตรงอาสนะ ของตนเอง
   ก่อนลงนั่งที่อาสนะ ทุกคนจะต้องกราบ เบญจางคประดิษฐ์ ทุกครั้ง แล้วรอเสียงสัญญานระฆังเล็กๆ เพื่อเตรียมพร้อม และให้สัญญานในการกราบพระอีกครั้ง เมื่อทุกคนพร้อม
    ที่นี่ ไม่มีพระพุทธรูป ไม่มีการจุดธูปเทียนบูชา การกราบให้ระลึกถึง องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็กราบ ตั้งแต่ก้าวย่างเข้ามาในเขตสวนโมกข์นานาชาติ เราจะไม่เห็น บรรยากาศของความเป็นวัด แบบที่เราเคยเห็น จะไม่มีรูปเคารพ ไม่มีภาพหรือรูปปั้น ที่เป็นพระพุทธรูป หรือแม้แต่ รูปท่านพุทธทาส เป็นแนวทางของแก่นแห่งพุทธโดยแท้ คือให้เคารพในพระธรรมคำสั่งสอน และไม่ยึดติดกับรูปเคารพทั้งหลาย
    หลังจากผู้เข้าปฏิบัติธรรม เข้ามาในศาลาทราย จะมีการกล่าวทักทายโดยวิทยากร และทำวัตรเช้า (สำหรับพิธีเปิด การฝึกอบรมปฏิบัติธรรม และกล่าวต้อนรับ พร้อมทั้งแนะนำ การใช้ชีวิต ในการปฏิบัติ ทั้ง 7 วันได้ทำแล้วตั้งแต่เมื่อวานตอนค่ำ) การสวดทำวัตรแบบแปล ในวันแรกวิทยากร จะอธิบายความหมาย ของบทสวดต่างๆ และเลือกบทสวดที่สำคัญมาสวดในแต่ละวัน สลับด้วยคำแปล ตามแบบของสวนโมกข์
    เสร็จสิ้นจากการทำวัตรเช้า ซึ่งใช้เวลาแระมาณ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ในแต่ละวัน จะตามด้วย การบรรยายธรรม โดยเทปบรรยาย ของท่านพุทธทาส เป็นเวลา 1 ชั่วโมง เป็นความรู้เกี่ยวกับ การปฏิบัติ อาณาปานสติ คือ การนั่งสมาธิ เฝ้าดูลมหายใจ และมีสติ อยู่กับการหายใจเข้า หายใจออก
     หกนาฬิกาตรง หลังฟังธรรมบรรยาย ทุกคนกราบพระ และออกจากศาลาทราย แยกย้ายไปศาลา ออกกำลังกาย ใช้เวลาออกกำลังกาย แบบซี่กง ออกกำลังกาย ตบตีเส้นและร่ายรำแบบจีน ประมาณ 45 นาที
    จบการออกกำลังกาย หลังจากได้ดักเหนื่อย และเข้าห้องน้ำ กลับไปที่ศาลาทรายอีกครั้ง ฟังบรรยายเรื่อง การฝึกปฏิบัติ อาณาปานสติต่อ และทดลองฝึกนั่งสมาธิ กำหนดลมหายใจ สังเกตุลมหายใจ เข้าออก ในช่วงสั้นๆ 20 นาที
   ถึงเวลา 8.00 น.ได้เวลาอาหารเช้า ทุกคนเดินเข้าแถวไปที่โรงอาหาร อย่างเงียบสงบและสำรวม ไม่มีเสียงพูดจาใดๆ การขยับโต๊ะเก้าอี้ หยิบช้อน จาน ทำด้วยความระมัดระวังและเกิดเสียงน้อยที่สุด ผู้หญิงผู้ชายแยกนั่งคนละฝั่ง หลังจากเดินไปตักอาหาร เช้าซึ่งมีซุปธัญญพืช ข้าวกล้อง ถั่วต่างๆและลูกเดือย หอมกรุ่น แล้วมานั่งที่โต๊ะคนละฝั่ง รอวิทยากรกล่าวนำพิจารณาอาหาร เนื้อหาเป็นภาษาบาลีและคำแปล กล่าวถึง ให้เราระลึกว่าอาหารที่เรารับประทานนี้ เป็นเพียงธาตุที่จะทำให้ร่างกายอยู่ได้เท่านั้น ไม่ให้ยึดติดในรสชาติ กินเพียงเพื่อให้ร่างกายอยู่ได้ ให้พ้นทุกข์จากความหิว
    หลังเวลาอาหารเช้า ทุกคนจะต้องล้าง จานที่ตัวเองรับประทาน ที่ด้านหลังโรงอาหาร และเก็บเข้าที่เรียบร้อย หลังจากนั้น เป็นเวลาปฏิบัติกิจกรรมอาสา นักปฏิบัติธรรมทุกคน จะมีหน้าที่ ตามที่ได้ลงชื่อไว้ เช่น เก็บกวาด เช็ดโต๊ะอหาร กวาดบริเวณ สถานที่ ทำความสะอาดห้องน้ำ เสร็จภาระกิจจะเป็นเวลาพักผ่อน จนถึง 10.00 น.  ซึ่งจะต้องรอฟังเสียง สัญญาน จาก หอระฆังดังอีกครั้ง เพื่อ เริ่มกิจกรรมปฏิบัติธรรม ในช่วงเช้า ถึงเที่ยง เป็น การฟังธรรมบรรยาย สลัยกับการฝึกปฏิบัติ ช่วงละ 20-30 นาที ด้วยการฝึกปฏิบัติในท่านั่ง

      แดด ยามบ่ายยังคงแผดแสงแรงกล้า ท้องฟ้าสดใส สีน้ำเงิน มีเพียงเมฆขาวเป็นสายจางๆ สายลม ที่ผ่านหมู่แมกไม่ พัดมาแผ่วๆ ในศาลาทรายจึง เย็นสบาย มีเสียงขับกล่อมจากดนตรีธรรมชาติมาเป็นระยะ ในช่วงบ่าย หลังจากฝึกปฏิบัติในศาลา วิทยกร จะอนุญาต ให้หาสถานที่แยกฝึกแฏิบัติโดยอิสระ ไม่ว่าจะเแ็น ริมสระน้ำ บนสนามหญ้า กรือสุมทุมพุ่มไม้ ในอาณาบริเวณสวนโมกข์นานาชาติ
       เจ้าของเสียงดนตรีในธรรมชาติ จะปรากฏตัวให้เห็นได้อย่างใกล้ๆ ในระยะเพียงไม่กี่เมตร ในขณะที่เรานั่งสมาธิ กำหนดลมหายใจ อย่างสงบนิ่ง พวกเขาจะหยุดมองด้วยความสนใจ ถ้าเราไม่มีอาการขยับตัว ยังคงนั่งนิ่งๆ เขาก็จะยังหากินปกติ อยู่ใกล้ๆแบบที่เรา ไม่เคยเห็นนกป่า ที่ไหน จะเข้าใกล้คนได้ขนาดนี้มาก่อน คงจะเนื่องจากเป็นเขตอภัยทาน และพวกเขาไม่เห็นว่าคนเหล่านี้ จะเป็นอันตรายกับเขานั่นเอง ทุกชีวิต สัตว์โลกทุกตัวคือเพื่อน คือเพื่อนร่วมโลก คือเพื่อนทุกข์ เกิดแก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ตามที่ วิทยากรได้บรรยายไว้ ที่นี่แม้แต่ยุงสักตัว มดสักตัว เราก็จะไม่ทำร้าย ไม่เบียดเบียน เพื่อรักษาศีล ให้บริสุทธิ์ ที่สุด ตลอดระยะเวลาของการปฏิบัติธรรม 7 วัน
    พระอาทิตย์ ใกล้ลับ หลังจาก ทำวัตรเย็นและดื่มน้ำปานะตอนเย็น 18.00 น. เราจะได้พักผ่อน ช่วงนี้ เป็นเวลาเหมาะ ที่สุด ที่จะไปแช่บ่อน้ำร้อนธรรมชาติ ที่มีสองบ่อ อยู่ห่างออกไปทางแนว เขตรั้วด้านทิศตะวันตก มีระดับความร้อนธรรมดา และร้อนค่อนข้าง มาก กระตุ้นการไหลเวียนเลือด แก้อาการปวดเมื่อยได้ดี
     ทุ่มครึ่ง เสียงระฆังเตือนก็ดังแว่วมาอีกครั้ง เวลาค่ำคืน ศาลาทราย จะถูกขับกล่อมด้วยเสียง หรีดหริ่ง เรไร เทียนไขขนาดใหญ่ ถูกจุดขึ้น ทั้งสี่ทิศเหมือนเมื่อตอนหัวรุ่ง
      กิจกรรมภาคกลางคืน ก็จะมีฟังธรรมบรรยาย อีกรอบ ตามด้วยฝึกปฏิบัติ ทั้งแบบนั่งและแบบเดิน พระภิกษุสงฆ์ จะนำเดินจงกรม รอบสระน้ำใหญ่ โคมไฟจากเทียนเล่มใหญ่ ถูกจุดเป็นระยะ รอบๆสระน้ำ สมาชิกผู้ปฏิบัติธรรม เดินเป็นแถวยาว เว้นระยะครึ่งเมตร ประมาณสี่รอบสระน้ำ แล้วกลับมายัง ศาลาทรายอีกครั้ง ก่อนหมดกิจกรรมภาคกลางคืน เวลา 3 ทุ่ม พระสงฆ์กล่าวนำในการอุทิศส่วนกุศลที่ได้ปฏิบัติ ให้กับ ครูอาจารย์ บิดามารดา ผู้มีพระคุณ รวมถึง สรรพสัตว์
สามทุ่ม ก็แยกย้าย เข้าที่พักเพื่อพักผ่อน
     ในช่วงสามวันแรก ของการปฏิบัติ เป็นช่วงปรับตัวที่ค่อนข้างทุกข์ทรมาน ทั้งสภาพความเป็นอยู่ และ ความทุกข์ทรมานในการปฏิบัติ ความเจ็บปวด จากการนั่งเป็นเวลานานๆ การใช้ชีวิตแบบใกล้ชิดธรรมชาติแบบ เป็นอยู่อย่างต่ำ มุ่งกระทำอย่างสูง สมาชิกบางคนถึงกับถอดใจ หายไปในวันที่สอง คนที่แกร่ง และตั้งใจจริงๆ ก็เอาชนะใจตัวเองได้ และอยู่จนครบคอส...เมื่อเห็นทุกข์ ย่อมเห็นธรรม จริงๆ
    วันที่ 6 ของการปฏิบัติ เป็นวันพิเศษ สมมติให้เป็นวันพระ เรียกว่าการถืออุโบสถศีล วันนี้ทานอาหารเพียงมื้อเดียว มื้อเช้าจะเป็นอาหารปกติ เหมือนมื้อกลางวัน ไม่ใช่ข้าวต้ม แต่ด้วยการตั้งใจ ปฏิบัติอย่างจริงจัง ไม่ได้รู้สึกมีความหิว หรือทุกข์ทรมานกับการ กินมื้อเดียวแต่อย่างไร
     และแล้ว วันสุดท้ายของการปฏิบัติ ก็มาถึง เวลาที่เคยเชื่องช้า และเนิ่นนาน ก็เร็วขึ้นสิ่งที่สัมผัสได้ จิตเราจะมีสมาธิที่ดีขึ้น สงบขึ้น จากวันแรกที่ฟังธรรมบรรยายท่านพุทธทาส ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ในวันหลังๆเสียงของท่านแจ่มชัดขึ้น ดังขึ้น เข้าไปในโสตประสาท อย่างประหลาด คงเป็นเพราะจิตเรานิ่งและมีสมาธิดีขึ้นนั่นเอง
    คืนสุดท้าย ก่อนเข้านอน กราบระลึก และอุทิศกุศลที่ได้ปฏิบัติ มาจนครบ 7 วัน ให้กับ บรรพบุรุษ ผู้ล่วงลับ และมีชีวิตอยู่ ครูบาอาจารย์ เจ้ากรรมนายเวร และสรรพสัตว์ รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ปฏิบัติ ผ่านการเอาชนะใจตนเอง มาจนได้ถึงวันสุดท้าย เสียงนกกลางคืนแว่วมาเหมือนทุกคืน ก่อนหลับตาลง สัญญากับตัวเองว่า วันข้างหน้า จะกลับมาอีกครั้ง สวนโมกข์นานาชาติ
   #######################

...สำหรับท่านที่สนใจปฏิบัติธรรม ที่สวนโมกข์นานาชาติ ครั้งหนึ่งในชีวิต ควรได้เรียนรู้ แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา

https://www.dhammadana.or.th/index.php/2013-10-31-11-32-22/2013-11-21-06-15-05
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่