ทำไมชาวซิกข์ฉลองเทศกาล ดีวาลี (Diwali)

Diwali (ดีวาลี) หรือ Deepawali (ดีปาวลี) ซึ่งมาจากรากศัพท์ ‘ทีป ๑, ทีปะ ๑’ ซึ่งหมายถึง ‘แสงไฟ’  

เดิมแล้ว คือ เทศกาลของชาว พราหมณ์-ฮินดู ในการฉลองการกลับบ้านสู่กรุง อโยธยา ของพระราม พระมเหสีนางสีดา และ พระลักษมณ์ หลังจากที่โดนสั่งเนรเทศไป 14 ปี โดยพระบิดา ท้าวทศรถ 

ยามราตรีที่บรรดาพระองค์กลับมาถึงกรุงอโยธยา  คืนนั้นเป็นคืน ‘อมาวสี, อมาวสุ, อมาวาสี’ ซึ่ง ตรงกับ แรม 15 ค่ำ หรือ แรม 14 ค่ำในเดือนขาด เป็นยามคืนที่ไม่มีดวงจันทร์ในท้องฟ้า และเป็นยามที่มืดสนิท

ชาวกรุงอโยธยา จึงจุดทีปเล็กๆ เป็นแถวๆ ตลอดแนวกำแพงบ้านของตน ด้วยความปิติยินดี ซึ่งได้ทำให้บ้านเมือง (กรุงอโยธยา) สว่างไสวในการต้อนรับพระองค์กลับบ้าน

ดีวาลี จึงเป็นเทศกาลการฉลองแสงไฟมาตลอด

แล้วทำไมชาวซิกข์ ซึ่งมิได้บูชานับถือบรรดาเทพเทวาของชาวพราหมณ์-ฮินดู จึงฉลองเทศกาลแห่งแสงไฟนี้ เช่นกัน?

เทศกาล:
พันธิ โฉร ทิวัส / บันดิ โชร ดิวัส 
(Bandi Chhor Diwas)

แท้แล้ว ชาวซิกข์จะเรียกและฉลองเทศกาลนี้เป็น ‘พันธิ โฉร ทิวัส’ / บันดิ โชร ดิวัส (Bandi Chhor Diwas) พันธิ = พันธะ, ผูกมัด; โฉร = ปลดปล่อยเป็นอิสระ; ทิวัส = ทิวะ = วัน.. ก็คือเป็นการฉลอง วันปลดปล่อย นั้นเอง

เพราะในสมัย คุรุกาล ขององค์พระศาสดาแห่งนานักที่ 6 “ศรีคุรู หริโควินท์ ซาฮิบ” (Sri Guru Hargobind Sahib) ในค.ศ. 1621  (พ.ศ. 2164) จักรพรรดิแห่งโมกุล นูรุดดีน สะลีม “ชะฮันคีร์”  (Emperor Jahangir) ได้มีคำสั่งลับจาก อัคระ (Agra) ให้ กักขัง ซิกข์ศาสดาไว้ที่ ป้อมปราการควาลิยัร (Gwalior Fort) ในรัฐมัธยประเทศปัจจุบัน (present day Madhya Pradesh State)

องค์พระศาสดาทรงถูกปล่อยหลัง 4 เดือน แต่พระองค์ได้ขอให้ปลดปล่อยบรรดากษัตรอีกหลายท่านที่ถูกขังอยู่เป็นนักโทษทางการเมืองในป้อมนี้ เช่นกัน จึงเกิดเงื่อนไขว่าจะยอมปลดปล่อยบรรดากษัตรเพียงจำนวนเท่าที่จะจับขอบผ้าของพระศาสดาออกมาด้วย เท่านั้น พระองค์จึงฉีกผ้าคลุมของพระองค์เป็นเส้นๆ แล้วให้กษัตรแต่ละองค์จับแต่ละเส้น แล้วเดินออกพร้อมกันจากป้อมคุกควาลิยัร 

ด้วยพระเมตตาของพระองค์ ทั้งหมด กษัตร 52 องค์ ถูกปลดปล่อยพร้อมองค์พระศาสดา เช่นกัน

และจักรพรรดิ ชะฮันคีร์ ได้เสด็จไป อมฤตสาร์ พร้อมๆ กับพระศาสดา เช่นกัน ซึ่ง พระองค์ได้กลับมาถึงเมือง อมฤตสระ (Amritsar) ในปัญจาบ (Panjab) ในเดือนตุลาคม ซึ่งตรงกับเทศกาล ดีวาลี ของชาวพราหมณ์-ฮินดู พอดี 

ชาวซิกข์จึงฉลองการกลับขององค์ศาสดา (รำลึกถึงการปลดปล่อยพระองค์) ตรงกับวันดีวาลี (ของทุกปี) พอดี

จักรพรรดิ ชะฮันคีร์ ผู้สั่งประหารชีวิตองค์ศาสดาที่ 5 (Sri Guru Arjan Dev) ของชาวซิกข์หลายปีมาก่อน ผู้ซึ่งเป็นพระบิดาขององค์ศาสดาที่ 6 ท่านได้ถือโอกาสนี้ในการคืนดีกับชาวซิกข์ และชาวปัญจาบที่ยังโกรธแค้นท่าน 

และการที่พระองค์ซิกข์ศาสดา ศรีคุรู หริโควินท์ ซาฮิบ พร้อมที่จะเป็นมิตรไมตรีกับจักรพรรดิ ผู้สั่งการประหารชีวิตของพระบิดาของท่าน เป็นการแสดงถึงปรัชญาของพระองค์ (ศาสนาซิกข์) ที่ไม่เชื่อในการโกรธแค้นหรือล้างแค้นใคร

ศรีคุรู หริโควินท์ ซาฮิบ ผู้เป็นองค์ศาสดานานักในรูปที่ 6 ทรงเป็นผู้ฝึกให้ชาวซิกข์กลายมาเป็นนักรบตั้งแต่ในสมัยของพระองค์



บางเทศกาลของชาวพราหมณ์มีการฉลองด้วยการจุดทีปหรือทีปะในถ้วยดินและปล่อยลอยแพบนผิวน้ำ องค์ปฐมบรมศาสดา ศรีคุรู นานัก ทรงตรัสในพระคัมภีร์ว่า:

จงเข้าญาณในองค์พระเป็นเจ้า
แล้วแปลงเรือนกายของเธอมาเป็นแพเพื่อข้ามไปอีกฝั่ง
ภายใน มีเพลิงไฟแห่งความอยากจุดอยู่
จงควบคุมมันไว้เถิด
แล้วมันจะส่องสว่างอย่างต่อเนื่อง ทุกเวลา ||1||

จงปล่อยทีปะนี้ให้มันลอยไป
ทีปะ เช่นนี้ จะทำให้เราตรัสรู้ ||1||จงหยุดชั่วครู่และไตร่ตรอง||

การตรัสรู้นี้ คือดินปั้นทีปะที่ดี
พระองค์จึงจะพอรับทีปะคุณภาพนี้ได้
ฉนั้น จึงปั้นดินเผาของมันขึ้นมาบนล้อแห่งการกระทำความดี
และทีปะนี้จะอยู่เคียงคางเธอ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ||2||

เมื่อพระองค์ทรงเมตตา
จึงจะได้กลายมาเป็น คุรมุค และตระหนักถึงพระองค์ได้ 
ในฤทัยของผู้นั้น ทีปะนี้จะสว่างไสวอย่างถาวร
แม้น้ำกับลมก็จะไม่สามารถดับแสงไฟนี้ได้
ทีปะ เช่นนี้ จำนำพาเราข้ามไปอีกฝั่งของลำน้ำ (แห่งชีวิต) ได้ ||3||

ลมก็ไม่สามารถทำให้ทีปะนี้สั่นไหวได้
แสงสว่างของมันทำให้เราเห็นพระบัลลังก์ของพระเจ้าในฤทัยของเราได้
บรรดา (วรรณะ) กษัตริย์ พรหมิณ ศูทร และ แพศยอ
ก็ไม่สามารถตีราคาของมันได้
แม้จะคิดคำนวนนับพันครั้งก็ตาม
หากมีใครจุดทีปะ เช่นนี้
จงรู้ไว้ว่าผู้นั้นได้หลุดพ้นแล้ว||4||7||

ศ.ค.ค.ซ. 878

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่