In the Mood for Love (Wong Kar Wai)
10/10
“เปลี่ยวเหงา งดงาม ยอดเยี่ยม สมบูรณ์แบบที่สุด”
ยังจำได้เมื่อตอนได้แผ่นดีวีดีหนัง In the Mood for Love จากร้านพี่คนนั้นที่ตลาดนัดจตุจักร (คนดูหนังหลายคนน่าจะรู้จักร้านนี้ดี) เหตุผลที่ต้องหาแผ่น เพราะตอนนั้นหนังเรื่องนี้ไม่ได้ฉายในโรงและไม่ได้มีแผ่นลิขสิทธิ์มาแต่อย่างใด ...ความรู้สึกตอนนั้นที่ได้ดูหนังผ่านจอทีวีรุ่นเก่า อืมม...หนังก็ดีนะ ติสท์ดีตามประสาหนัง หว่อง แต่มันไม่ได้ดื่มด่ำ ไม่ได้อิน ไม่ได้มีอารมณ์ร่วมใดๆ กับตัวละครเลย
มาถึงปีนี้ที่ค่ายมงคลภาพยนตร์นำ In the Mood for Love ฉบับบูรณะ 4K มาฉายใหม่ในโรงหนัง นี่นับเป็นครั้งแรกจริงๆ ที่ได้ดูหนังเรื่องนี้แบบเต็มๆ แบบมีสมาธิจดจ่อไปกับหนังจริงๆ เมื่อดูจบกลับพบว่า หนังที่เคยเฉยๆ ในตอนนั้นกลับกลายเป็นหนังที่เอาหัวใจเราไปจนหมด มันอิน มันดื่มด่ำ มันงดงามและน่าอัศจรรย์มาก อาจเป็นเพราะบรรยากาศการดูในโรงหนังที่จอใหญ่ หรืออาจจะเป็นเพราะประสบการณ์ชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น ผ่านเรื่องราวต่างๆ มามากขึ้น และเข้าใจในความรักมากขึ้น เราจึงเข้าใจในตัวละครหลัก เข้าใจในมุมรักที่เกิดจากความเปลี่ยวเหงา เข้าใจในความโดดเดี่ยวของตัวละคร จากความเข้าใจมันจึงเป็นความประทับใจและเป็นการดู In the Mood for Love ที่อิ่มใจ ประทับใจ และมีความสุขมากจริงๆ
In the Mood for Love ว่าด้วยความรักต้องห้ามที่เกิดจากความเหงา เปล่าเปลี่ยว โดดเดี่ยว เดียวดายของสองชายหญิงที่เกิดขึ้นในบรรยากาศของฮ่องกงในยุคทศวรรษที่ 60 ระหว่างนักหนังสือพิมพ์หนุ่ม ผู้ใฝ่ฝันเป็นนักเขียนนิยายกำลังภายใน คุณจ้าว (เหลี่ยงเฉาเหว่ย) และเลขานุการสาวผู้รักการอ่านหนังสือคุณนายเฉิน (จางม่านอวี้) ครอบครัวของทั้งคู่ย้ายมาอาศัยอยู่ในแฟลตวันเดียวกัน อยู่ห้องข้างกัน และทั้งคู่ต่างมีสามีและภรรยากันอยู่แล้ว สามีคุณนายเฉินไม่ค่อยมีเวลาเนื่องจากงานที่ต้องเดินทางบ่อยๆ และภรรยาคุณจ้าวก็ไม่ค่อยมีเวลาให้สามีเช่นกัน จนวันหนึ่งทั้งคู่เหมือนจะเคลือบแคลง สงสัยและแน่ใจว่า ทั้งภรรยาและสามีของตัวเองต่างลักลอบเป็นชู้กัน ด้วยความเจ็บปวด ด้วยความเปลี่ยวเหงา ด้วยความเข้าใจในกันและกัน ทั้งคุณจ้าวและคุณนายเฉินจึงแปรเปลี่ยนความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนบ้านมาเป็นความใกล้ชิด จนผูกพันเป็นความรักกันในที่สุด
ผู้กำกับหว่องกาไว ทำหนัง In the Mood for Love ได้อย่างงดงาม ละเมียดละไม เอาอารมณ์ร่วม เอาความรู้สึกนึกคิดของตัวละครหลัก นำเนื้อเรื่องที่เรียบ นิ่ง เหมือนว่าหว่องจะมีแค่แกนเรื่องในขณะที่บท รายละเอียดอื่นๆ เหมือนจะใช้การ Improvise ผ่านอารมณ์ ความรู้สึก ผ่านการแสดงเป็นหลัก (ไม่แปลกใจที่มีข่าวว่าจางม่านอวี้ในช่วงแรกๆ ถึงกับถามหาบทเพื่อจะทำการบ้านก่อนการแสดง แต่หว่องเองแทบไม่มีบทให้เลย) ...ลองสังเกตดีๆ หว่องจะไม่ให้คนดูได้เห็นหน้าตัวละครทั้งสามีของคุณนายเฉินและภรรยาของคุณจ้าวเลย ซึ่งตัวละครทั้งสองตัว คนดูจะเห็นแค่ถ่ายผ่านหลัง หรือมาแค่เสียงสนทนา (โดยกล้องจะจับที่ตัวละครหลักแทน) ถ้าจะให้ผมตีความ เหมือนกับว่าหว่องจะแทนให้คนดูเป็นเสมือนตัวละครเอก ที่ดูห่างเหิน ไม่ใกล้ชิด ไม่ผูกพันกับตัวละครสามีและภรรยา เหมือนกับแทนหัวใจให้คนดูได้รู้สึก เข้าใจในการถูกทิ้งขว้างให้โดดเดี่ยว เปลี่ยวเหงา อ้างว้าง แปลกแยก เมื่อเราเข้าใจในตัวละคร เราจะเข้าใจในความรักต้องห้ามนี้ที่เกิดขึ้น ซึ่งหว่องเองก็ฉลาดพอ ที่ให้คนดูตีความกันเองว่าความสัมพันธ์ต้องห้ามนี้ มันเกินเลยไปหรือไม่หรือทั้งคู่สามารถยับยั้งอารมณ์ถวิลหานั้นไม่ให้เลยเถิดเกินเลยไปไกลกว่าที่ควรจะเป็นได้ (หลายคนตีความว่าทั้งคู่ไม่ได้มีอะไรเกินเลย อันนี้แล้วแต่มุมมองนะ ส่วนตัวผมยังแอบแคลงใจสงสัยในจุดนี้ เห็นได้จากตัวคุณจ้าวเอง แอบไปเปิดห้องในโรงแรมอีกแห่งเพื่อเขียนนิยาย และยังชวนคุณนายเฉินไปอ่านนิยายที่เขียนที่ห้องนั้น และห้องนั้นก็มีหมายเลขห้อง 2046 ที่หว่องตั้งใจให้ตรงกับชื่อหนังอีกเรื่องหนึ่งที่ถ่ายทำพร้อมกับหนังเรื่องนี้ในบ้านเรา)
ความโดดเด่นอีกเรื่องของหนังที่สัมผัสได้จากการดูจอใหญ่ นั่นคือการใช้ภาษาภาพ มุมกล้อง ผ่านมุมมองของคริสโตเฟอร์ ดอยล์ ผู้กำกับภาพคู่ใจ ...ภาพในหนังทั้งสื่อสาร ซ่อนสัญลักษณ์ชวนให้ขบคิด ตีความ ทั้งมุมภาพที่ถ่ายตัวละครโดยมีโฟร์กราวด์เป็นซี่หน้าต่างลูกกรง เปรียบเสมือนความรักต้องห้ามของทั้งคู่ที่ถูกจองจำ พันธนาการไว้ด้วยความถูกต้อง ศีลธรรมจรรยา ...บางมุมกล้อง เหมือนแทนสายตาคนดูที่แอบมองตัวละครเอกที่ทั้งอึดอัด สับสน ..บางมุมกล้องจะทิ้ง space ระยะห่างระหว่างกล้องกับตัวละคร ราวกับให้คนดูแอบมองในระยะห่างๆ แบบห่วงๆ ...บางมุมกล้องนิ่งแช่ไว้ราวกับทิ้งให้โดดเดี่ยวเพื่อดูความอ้างว้างของตัวละคร ขับกับเพลงในยุคคลาสสิกด้วยเสียงของ Nat King Cole ทั้งเพลง Te Quiero dijiste , Quizas Quizas Quizas และเพลงอื่นๆ ยังช่วยสร้างอารมณ์ร่วม ขับอารมณ์ถวิลหา พาหัวใจคนดูอย่างผมเข้าไปอยู่ในจอหนังได้อย่างอยู่หมัด และทำให้ผมตกหลุมรักหนังเรื่องนี้ได้อย่างเต็มความรู้สึกมากๆ (ต่างจากการดูผ่านจอทีวีรุ่นเก่าที่บ้าน)
การแสดงทั้งของเหลียงเฉาเหว่ย และจางม่านอวี้ ก็ดีงาม พริ้งเพริศบรรเจิด ทั้งการแสดงผ่านสายตา บอกความรู้สึกที่ไม่ต้องพูดเยอะแต่ใช้อวัจนภาษาผ่านร่างกาย ท่าทางเพื่อบอกความรู้สึกได้น่าทึ่ง รวมถึงชุดกี่เผ้าที่นางเอกจางม่านอวี้สวมใส่ก็สวยงามทุกชุด แถมสีสันของชุดที่ใช้ยังเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความรู้สึกของตัวคุณนายเฉินเป็นอย่างดี ....ดีใจที่ได้ดูจางม่านอวี้ บนจอใหญ่อีกหน รวมทั้งเหลียงเฉาเหว่ยด้วย
In the Mood for Love อาจไม่ใช่หนังสำหรับทุกคน อาจไม่เหมาะกับคนที่ชอบอะไรหวือหวา ฉับไว แต่เป็นหนังที่เหมาะกับการปล่อยหัวใจ ปล่อยความรู้สึกผ่านภาพ เสียง การแสดง หนังอาจจะไม่มีเรื่องราวที่หวือหวา แต่นี่คืองานที่มีคุณค่า งานระดับมาสเตอร์พีชของหว่อง กาไว ที่พาหัวใจของผม (และเชื่อว่าคนดูอีกหลายคน) ไปสัมผัสกับห้วงหนึ่งของอารมณ์ที่ผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนต้องมี ....นี่คืองานที่ยอดเยี่ยม สมบูรณ์แบบที่สุดและควรค่าแก่การไปดูในโรงภาพยนตร์สักครั้งครับ
#IntheMoodforLove
#เอ้อระเหยลอยลม
รีวิว : “In the Mood for Love” เปลี่ยวเหงา งดงาม ยอดเยี่ยม สมบูรณ์แบบ
10/10
“เปลี่ยวเหงา งดงาม ยอดเยี่ยม สมบูรณ์แบบที่สุด”
ยังจำได้เมื่อตอนได้แผ่นดีวีดีหนัง In the Mood for Love จากร้านพี่คนนั้นที่ตลาดนัดจตุจักร (คนดูหนังหลายคนน่าจะรู้จักร้านนี้ดี) เหตุผลที่ต้องหาแผ่น เพราะตอนนั้นหนังเรื่องนี้ไม่ได้ฉายในโรงและไม่ได้มีแผ่นลิขสิทธิ์มาแต่อย่างใด ...ความรู้สึกตอนนั้นที่ได้ดูหนังผ่านจอทีวีรุ่นเก่า อืมม...หนังก็ดีนะ ติสท์ดีตามประสาหนัง หว่อง แต่มันไม่ได้ดื่มด่ำ ไม่ได้อิน ไม่ได้มีอารมณ์ร่วมใดๆ กับตัวละครเลย
มาถึงปีนี้ที่ค่ายมงคลภาพยนตร์นำ In the Mood for Love ฉบับบูรณะ 4K มาฉายใหม่ในโรงหนัง นี่นับเป็นครั้งแรกจริงๆ ที่ได้ดูหนังเรื่องนี้แบบเต็มๆ แบบมีสมาธิจดจ่อไปกับหนังจริงๆ เมื่อดูจบกลับพบว่า หนังที่เคยเฉยๆ ในตอนนั้นกลับกลายเป็นหนังที่เอาหัวใจเราไปจนหมด มันอิน มันดื่มด่ำ มันงดงามและน่าอัศจรรย์มาก อาจเป็นเพราะบรรยากาศการดูในโรงหนังที่จอใหญ่ หรืออาจจะเป็นเพราะประสบการณ์ชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น ผ่านเรื่องราวต่างๆ มามากขึ้น และเข้าใจในความรักมากขึ้น เราจึงเข้าใจในตัวละครหลัก เข้าใจในมุมรักที่เกิดจากความเปลี่ยวเหงา เข้าใจในความโดดเดี่ยวของตัวละคร จากความเข้าใจมันจึงเป็นความประทับใจและเป็นการดู In the Mood for Love ที่อิ่มใจ ประทับใจ และมีความสุขมากจริงๆ
In the Mood for Love ว่าด้วยความรักต้องห้ามที่เกิดจากความเหงา เปล่าเปลี่ยว โดดเดี่ยว เดียวดายของสองชายหญิงที่เกิดขึ้นในบรรยากาศของฮ่องกงในยุคทศวรรษที่ 60 ระหว่างนักหนังสือพิมพ์หนุ่ม ผู้ใฝ่ฝันเป็นนักเขียนนิยายกำลังภายใน คุณจ้าว (เหลี่ยงเฉาเหว่ย) และเลขานุการสาวผู้รักการอ่านหนังสือคุณนายเฉิน (จางม่านอวี้) ครอบครัวของทั้งคู่ย้ายมาอาศัยอยู่ในแฟลตวันเดียวกัน อยู่ห้องข้างกัน และทั้งคู่ต่างมีสามีและภรรยากันอยู่แล้ว สามีคุณนายเฉินไม่ค่อยมีเวลาเนื่องจากงานที่ต้องเดินทางบ่อยๆ และภรรยาคุณจ้าวก็ไม่ค่อยมีเวลาให้สามีเช่นกัน จนวันหนึ่งทั้งคู่เหมือนจะเคลือบแคลง สงสัยและแน่ใจว่า ทั้งภรรยาและสามีของตัวเองต่างลักลอบเป็นชู้กัน ด้วยความเจ็บปวด ด้วยความเปลี่ยวเหงา ด้วยความเข้าใจในกันและกัน ทั้งคุณจ้าวและคุณนายเฉินจึงแปรเปลี่ยนความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนบ้านมาเป็นความใกล้ชิด จนผูกพันเป็นความรักกันในที่สุด
ผู้กำกับหว่องกาไว ทำหนัง In the Mood for Love ได้อย่างงดงาม ละเมียดละไม เอาอารมณ์ร่วม เอาความรู้สึกนึกคิดของตัวละครหลัก นำเนื้อเรื่องที่เรียบ นิ่ง เหมือนว่าหว่องจะมีแค่แกนเรื่องในขณะที่บท รายละเอียดอื่นๆ เหมือนจะใช้การ Improvise ผ่านอารมณ์ ความรู้สึก ผ่านการแสดงเป็นหลัก (ไม่แปลกใจที่มีข่าวว่าจางม่านอวี้ในช่วงแรกๆ ถึงกับถามหาบทเพื่อจะทำการบ้านก่อนการแสดง แต่หว่องเองแทบไม่มีบทให้เลย) ...ลองสังเกตดีๆ หว่องจะไม่ให้คนดูได้เห็นหน้าตัวละครทั้งสามีของคุณนายเฉินและภรรยาของคุณจ้าวเลย ซึ่งตัวละครทั้งสองตัว คนดูจะเห็นแค่ถ่ายผ่านหลัง หรือมาแค่เสียงสนทนา (โดยกล้องจะจับที่ตัวละครหลักแทน) ถ้าจะให้ผมตีความ เหมือนกับว่าหว่องจะแทนให้คนดูเป็นเสมือนตัวละครเอก ที่ดูห่างเหิน ไม่ใกล้ชิด ไม่ผูกพันกับตัวละครสามีและภรรยา เหมือนกับแทนหัวใจให้คนดูได้รู้สึก เข้าใจในการถูกทิ้งขว้างให้โดดเดี่ยว เปลี่ยวเหงา อ้างว้าง แปลกแยก เมื่อเราเข้าใจในตัวละคร เราจะเข้าใจในความรักต้องห้ามนี้ที่เกิดขึ้น ซึ่งหว่องเองก็ฉลาดพอ ที่ให้คนดูตีความกันเองว่าความสัมพันธ์ต้องห้ามนี้ มันเกินเลยไปหรือไม่หรือทั้งคู่สามารถยับยั้งอารมณ์ถวิลหานั้นไม่ให้เลยเถิดเกินเลยไปไกลกว่าที่ควรจะเป็นได้ (หลายคนตีความว่าทั้งคู่ไม่ได้มีอะไรเกินเลย อันนี้แล้วแต่มุมมองนะ ส่วนตัวผมยังแอบแคลงใจสงสัยในจุดนี้ เห็นได้จากตัวคุณจ้าวเอง แอบไปเปิดห้องในโรงแรมอีกแห่งเพื่อเขียนนิยาย และยังชวนคุณนายเฉินไปอ่านนิยายที่เขียนที่ห้องนั้น และห้องนั้นก็มีหมายเลขห้อง 2046 ที่หว่องตั้งใจให้ตรงกับชื่อหนังอีกเรื่องหนึ่งที่ถ่ายทำพร้อมกับหนังเรื่องนี้ในบ้านเรา)
ความโดดเด่นอีกเรื่องของหนังที่สัมผัสได้จากการดูจอใหญ่ นั่นคือการใช้ภาษาภาพ มุมกล้อง ผ่านมุมมองของคริสโตเฟอร์ ดอยล์ ผู้กำกับภาพคู่ใจ ...ภาพในหนังทั้งสื่อสาร ซ่อนสัญลักษณ์ชวนให้ขบคิด ตีความ ทั้งมุมภาพที่ถ่ายตัวละครโดยมีโฟร์กราวด์เป็นซี่หน้าต่างลูกกรง เปรียบเสมือนความรักต้องห้ามของทั้งคู่ที่ถูกจองจำ พันธนาการไว้ด้วยความถูกต้อง ศีลธรรมจรรยา ...บางมุมกล้อง เหมือนแทนสายตาคนดูที่แอบมองตัวละครเอกที่ทั้งอึดอัด สับสน ..บางมุมกล้องจะทิ้ง space ระยะห่างระหว่างกล้องกับตัวละคร ราวกับให้คนดูแอบมองในระยะห่างๆ แบบห่วงๆ ...บางมุมกล้องนิ่งแช่ไว้ราวกับทิ้งให้โดดเดี่ยวเพื่อดูความอ้างว้างของตัวละคร ขับกับเพลงในยุคคลาสสิกด้วยเสียงของ Nat King Cole ทั้งเพลง Te Quiero dijiste , Quizas Quizas Quizas และเพลงอื่นๆ ยังช่วยสร้างอารมณ์ร่วม ขับอารมณ์ถวิลหา พาหัวใจคนดูอย่างผมเข้าไปอยู่ในจอหนังได้อย่างอยู่หมัด และทำให้ผมตกหลุมรักหนังเรื่องนี้ได้อย่างเต็มความรู้สึกมากๆ (ต่างจากการดูผ่านจอทีวีรุ่นเก่าที่บ้าน)
การแสดงทั้งของเหลียงเฉาเหว่ย และจางม่านอวี้ ก็ดีงาม พริ้งเพริศบรรเจิด ทั้งการแสดงผ่านสายตา บอกความรู้สึกที่ไม่ต้องพูดเยอะแต่ใช้อวัจนภาษาผ่านร่างกาย ท่าทางเพื่อบอกความรู้สึกได้น่าทึ่ง รวมถึงชุดกี่เผ้าที่นางเอกจางม่านอวี้สวมใส่ก็สวยงามทุกชุด แถมสีสันของชุดที่ใช้ยังเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความรู้สึกของตัวคุณนายเฉินเป็นอย่างดี ....ดีใจที่ได้ดูจางม่านอวี้ บนจอใหญ่อีกหน รวมทั้งเหลียงเฉาเหว่ยด้วย
In the Mood for Love อาจไม่ใช่หนังสำหรับทุกคน อาจไม่เหมาะกับคนที่ชอบอะไรหวือหวา ฉับไว แต่เป็นหนังที่เหมาะกับการปล่อยหัวใจ ปล่อยความรู้สึกผ่านภาพ เสียง การแสดง หนังอาจจะไม่มีเรื่องราวที่หวือหวา แต่นี่คืองานที่มีคุณค่า งานระดับมาสเตอร์พีชของหว่อง กาไว ที่พาหัวใจของผม (และเชื่อว่าคนดูอีกหลายคน) ไปสัมผัสกับห้วงหนึ่งของอารมณ์ที่ผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนต้องมี ....นี่คืองานที่ยอดเยี่ยม สมบูรณ์แบบที่สุดและควรค่าแก่การไปดูในโรงภาพยนตร์สักครั้งครับ
#IntheMoodforLove
#เอ้อระเหยลอยลม