แบบประเมินทางจิตวิทยาสร้างยากแค่ไหน? คนทั่วไปสร้างเองได้ไหม?

หลายคนคงรู้จักแบบทดสอบหรือประเมินทางจิตวิทยามาบ้าง ในอินเทอร์เน็ตมีกันเต็มไปหมด ไม่รู้ว่าอันไหนจริงอันไหนเท็จ บางอันดูแล้วรู้เลยว่าสร้างมาให้เล่นเอาสนุก บางอันดูเผิน ๆ แล้วมีหลักการ ว่าแต่แบบประเมินทางจิตวิทยาของจริงเป็นอย่างไรกันแน่? การสร้างแบบประเมินทางจิตวิทยามีขั้นตอนอะไรบ้าง? และคนทั่วไปสามารถสร้างแบบประเมินทางจิตวิทยาด้วยตนเองได้ไหม?
 

1. พื้นฐานของจิตวิทยา
จิตวิทยามีทั้งส่วนที่เป็นรูปธรรม (พฤติกรรม) และส่วนที่เป็นนามธรรม (การรู้คิด) แน่นอนว่าส่วนที่เป็นรูปธรรมสามารถวัดได้ง่าย เช่น นับจำนวนครั้งที่เด็กพูดคำหยาบ สังเกตว่าแต่ละคนรับประทานอะไรเป็นอาหารกลางวัน แต่สิ่งที่ศึกษาในจิตวิทยาหลายอย่างเป็นนามธรรม เช่น อารมณ์ อคติ ความเชื่อ ความรู้ แล้วจะทำอย่างไรกับนามธรรมพวกนี้? จิตวิทยามีความเป็นวิทยาศาสตร์ซึ่งต้องสามารถวัดและพิสูจน์ได้ สิ่งที่ต้องทำคือทำอย่างไรก็ได้ให้นามธรรมพวกนี้กลายเป็นรูปธรรม ตัวอย่างที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีคือการสอบ การสอบคือการวัดความรู้ว่านักเรียนมีความรู้มากแค่ไหน ความรู้เป็นตัวแปรจิตวิทยาที่เป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง สิ่งที่ครูทำคือออกข้อสอบแล้วแปลงความรู้ของนักเรียนให้อยู่ในรูปของตัวเลขที่เรียกว่าคะแนนสอบ
 

2. ขั้นตอนการสร้างแบบวัด
การสอบวัดความรู้เป็นสิ่งที่เข้าใจง่าย คนที่มีความรู้มากมีแนวโน้มได้คะแนนมาก คนที่มีความรู้น้อยก็มีแนวโน้มได้คะแนนน้อย แต่ปัญหาในการวัดตัวแปรจิตวิทยาที่เป็นนามธรรมคือหลายอย่างไม่ได้ง่ายเหมือนการออกข้อสอบ การสอบมีคำตอบที่ถูกผิดตายตัว แต่การวัดทางจิตวิทยาหลายอย่างไม่ใช่การวัดเพื่อตัดสินว่าอะไรถูกผิด เนื่องจากมีความเป็นนามธรรมสูงและแต่ละคนอาจตีความไม่เหมือนกัน การสร้างแบบวัดจึงต้องกำหนดคำนิยามของสิ่งที่ต้องการวัดให้ชัดเจน เช่น ในแบบวัดความรักฉบับนี้กำหนดคำนิยามของความรักคือความรักแบบแฟนเท่านั้น แบบวัดนี้ก็จะไม่สามารถวัดความรักของพ่อแม่ได้ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าแบบวัดนี้ไม่ดีที่ไม่สามารถวัดความรักของพ่อแม่ได้ แบบวัดทุกอย่างมีขอบเขตจำกัดเท่าที่ถูกออกแบบมาให้ใช้งาน คงไม่เหมาะหากจะเอาไม้บรรทัดไปวัดความยาวถนน
 
การกำหนดคำนิยามเหล่านี้ต้องพิจารณาหลายปัจจัย เช่น ต้องการวัดอะไร (ถ้าวัดดินสอควรใช้ไม้บรรทัด) ทฤษฎีหรือแนวคิดทางจิตวิทยามีกล่าวถึงสิ่งนั้นไว้อย่างไร (ทฤษฎีอาจมีคำนิยามอยู่แล้ว) ผู้สร้างแบบวัดมีความคิดต่อสิ่งนั้นอย่างไร (ควรเปลี่ยนคำนิยามจากทฤษฎีหรือไม่และอย่างไร) เมื่อกำหนดคำนิยามได้แล้วขั้นต่อไปคือการสร้างแบบวัด แบบวัดจะถูกสร้างตามคำนิยาม ทฤษฎี และแนวคิดที่นำมาอ้างอิง เช่น ต้องการสร้างแบบวัดความซึมเศร้า ทฤษฎีบอกว่าคนที่มีความซึมเศร้าจะมีอาการอยากอาหารน้อยลง ก็นำความอยากอาหารน้อยลงนี้ไปตั้งเป็นคำถามของแบบวัด
 
ขั้นตอนต่อมาคือการเก็บข้อมูลนำร่อง (pilot study) การเก็บข้อมูลนำร่องคือการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กเพื่อการนำมาใช้ตัดสินใจว่าแบบวัดที่สร้างมีความเหมาะสมหรือไม่ หลายครั้งจะพบว่าแบบวัดที่สร้างยังมีจุดบกพร่องอยู่ เช่น ถามหลายอย่างในคำถามข้อเดียว คำถามบางข้อสามารถตีความได้หลายอย่าง คำถามบางข้อไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ต้องการวัด จากนั้นจึงปรับปรุงแบบวัดให้เหมาะสมมากขึ้น แล้วเก็บข้อมูลนำร่องอีกครั้งด้วยแบบวัดที่ปรับปรุงแล้ว ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าแบบวัดจะเริ่มลงตัว
 

3. การประเมิน
การประเมินประกอบด้วยการวัดและการแปลผล การแปลผลคือการบอกว่าผลการวัดนั้นหมายถึงอะไร เช่น ความเครียด 8 คะแนนหมายถึงอะไร (เครียดมากหรือน้อย) การแปลผลต้องอ้างอิงทฤษฎีและแนวคิดที่นำมาใช้ ต้องสอดคล้องกับคำนิยามที่กำหนดไว้ มีการกำหนดลำดับขั้น มีการจัดกลุ่มเข้าด้วยกัน ฯลฯ การแปลผลเป็นเรื่องเทคนิคที่ลึกและซับซ้อนจึงไม่อธิบายรายละเอียดในบทความนี้ ลองนึกตามตัวอย่างนี้ดู ถ้าอยากรู้ว่าดินสอแท่งหนึ่งยาวเท่าไรต้องทำอย่างไร? เอาไม้บรรทัดมาวัดทำให้รู้ว่าดินสอแท่งนี้ยาว 10 เซนติเมตร (การวัด) ทีนี้ถามต่อว่าดินสอ 10 เซนติเมตรแท่งนี้สั้นหรือยาว? (การแปลผล) พอเป็นตัวแปรจิตวิทยาที่เป็นนามธรรมแล้วการแปลผลจะยิ่งยากกว่าตัวอย่างนี้
 

4. การวัด V.S. การประเมิน
การวัด (measurement) คือการทำให้ได้ขนาดของปริมาณหนึ่ง เช่น วัดความสุขเป็นตัวเลขได้ 15 คะแนน การประเมิน (assessment) ประกอบด้วยการวัดและการแปลผล เช่น เมื่อวัดความสุขได้ 15 คะแนนแล้ว จากนั้นมีการแปลผลว่าความสุข 15 คะแนนหมายถึงมีความสุขปานกลาง ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการประเมินก็คือการวัดประเภทหนึ่งที่เพิ่มขั้นตอนการแปลผลเข้ามา
 
การเลือกใช้แบบวัดหรือแบบประเมินจึงขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของผู้ใช้ เช่น หากผู้ใช้เป็นคนทั่วไปที่ต้องการคัดกรองโรคซึมเศร้า กรณีนี้ควรใช้แบบประเมินเพื่อจะได้รู้ว่ามีเสี่ยงในการมีโรคซึมเศร้ามากแค่ไหน ไม่ต้องการรู้ตัวเลข ส่วนกรณีนักศึกษาที่เกรดเพิ่งออก นักศึกษาสองคนได้เกรด A (การแปลผล) ในวิชาที่มีเฉพาะคะแนนสอบ แต่เมื่อดูคะแนนดิบแล้วนักศึกษาคนแรกได้ 98% นักศึกษาคนที่สองได้ 90% (การวัด) จะเห็นว่านักศึกษาคนแรกมีความรู้มากกว่านักศึกษาคนที่สองทั้งที่สองคนได้เกรดเดียวกัน กรณีนี้การวัดเพียงอย่างเดียวทำให้เห็นภาพได้ละเอียดกว่าการประเมิน การเลือกใช้แบบวัดหรือแบบประเมินขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้ ไม่สามารถสรุปได้ว่าอะไรดีที่สุดในทุกกรณี
 

5. ความน่าเชื่อถือของผลจากเครื่องมือ
แบบวัดและแบบประเมินเป็นเครื่องมือทางจิตวิทยา ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญมากที่ผู้สร้างเครื่องมือจะต้องคำนึง ต่อให้นักจิตวิทยาเป็นผู้สร้างเครื่องมือก็ไม่ได้หมายความว่าผลจากเครื่องมือนั้นจะมีความน่าเชื่อถือโดยอัตโนมัติ ความน่าเชื่อถือเป็นคุณสมบัติหนึ่งของผลจากเครื่องมือ ความน่าเชื่อถือประกอบด้วยความเที่ยง (reliability) และความตรง (validity)
 
ความเที่ยง คือคุณสมบัติที่วัดสิ่งเดียวกันหลายครั้งแล้วได้ผลการวัดใกล้เคียงกัน เช่น ต้องการวัดความยาวดินสอแท่งหนึ่ง ใช้ไม้บรรทัดวัดครั้งที่หนึ่งได้ 12.3 เซนติเมตร วัดครั้งที่สองได้ 12.4 เซนติเมตร แบบนี้แสดงว่าผลการวัดทั้งสองครั้งมีความเที่ยงและความน่าเชื่อถือสูง เพราะวัดความยาวดินสอแท่งเดียวกันสองครั้งแล้วได้ผลการวัดใกล้เคียงกัน แต่ถ้าเปลี่ยนไปใช้ตลับเมตรในการวัดดินสอแท่งนี้ วัดครั้งแรกได้ 12.3 เซนติเมตร วัดครั้งที่สองได้ 10.9 เซนติเมตร ถือว่าผลการวัดสองครั้งมีความเที่ยงและความน่าเชื่อถือต่ำ เพราะผลการวัดสองครั้งแตกต่างกันมาก
 
ความตรง คือคุณสมบัติที่วัดสิ่งหนึ่งแล้วได้ผลตรงตามสิ่งที่ต้องการวัด เช่น ต้องการวัดความยาวดินสอ หยิบไม้บรรทัดมาวัดดินสอได้ความยาว 12.3 เซนติเมตร แบบนี้ถือว่าผลการวัดมีความตรงและมีความน่าเชื่อถือสูง เพราะไม้บรรทัดเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดความยาวซึ่งตรงตามความต้องการที่จะวัด ถ้าต้องการวัดความยาวดินสอแต่ใช้เครื่องชั่งสปริงเป็นเครื่องมือ เครื่องชั่งสปริงวัดดินสอได้ 30 กรัม แบบนี้ถือว่าผลการวัดมีความตรงและความน่าเชื่อถือต่ำ เพราะสิ่งที่ต้องการวัดคือความยาวดินสอ แต่เครื่องชั่งสปริงถูกออกแบบมาสำหรับการวัดมวล ผลการวัดครั้งนี้จึงเป็นมวลของดินสอ ไม่ใช่ความยาวดินสอตามที่ต้องการวัด
 
ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าความน่าเชื่อถือเป็นคุณสมบัติของผลจากเครื่องมือ ไม่ใช่คุณสมบัติของเครื่องมือ เช่น วัดดินสอแท่งหนึ่งด้วยตลับเมตรสองครั้ง ผลการวัดสองครั้งแตกต่างกันมาก กรณีนี้ไม่สามารถสรุปได้ว่าตลับเมตร (เครื่องมือ) มีความเที่ยงต่ำ เพราะในทางปฏิบัติไม่มีทางรู้ได้ว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไร สิ่งที่รู้แน่ ๆ คือผลจากเครื่องมือมันแปลก ๆ บางทีอาจเกิดจากความผิดพลาดของผู้ใช้ก็ได้ ผู้ใช้อาจสายตายาวแล้วลืมใส่แว่นทำให้มองเลขผิด ผู้ใช้ไม่รู้วิธีใช้ตลับเมตรอย่างถูกต้อง หรือเครื่องมือที่ใช้วัดมีสเกลไม่เหมาะสมกับการวัด ตลับเมตรไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับวัดสิ่งของขนาดเล็ก สิ่งที่พอสรุปได้คือผลการวัดสองครั้งนี้มีความเที่ยงต่ำ เพราะเห็นชัดเจนว่าวัดสองครั้งแล้วต่างกันเยอะ แต่สรุปไม่ได้ว่าอะไรคือสาเหตุของผลการวัดที่เกิดขึ้น ความน่าเชื่อถือจึงเป็นคุณสมบัติของผลจากเครื่องมือเท่านั้น
 
ยกตัวอย่างทางจิตวิทยาเช่น จำเลยขึ้นศาล ญาติของจำเลยอ้างว่าจำเลยเป็นโรคจิตเภท ไม่สามารถรู้ผิดชอบชั่วดีได้ จำเลยแกล้งทำแบบประเมินทางจิตวิทยาให้ตนเองเป็นโรคจิตเภททั้งที่ความจริงไม่ได้เป็น เพื่อหวังว่าจะไม่ต้องถูกจำคุก กรณีแบบนี้บอกได้ว่าผลการประเมินของจำเลยคนนี้มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ความตรงต่ำ) เพราะเขาให้ข้อมูลปลอมในการประเมิน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าแบบประเมินนี้มีความน่าเชื่อถือต่ำ
 
ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างเครื่องมือ ถ้าไม่มีความน่าเชื่อก็ไม่มีประโยชน์ที่จะใช้ข้อมูลนั้น แม้ว่าความน่าเชื่อถือเป็นคุณสมบัติของผลจากเครื่องมือ แต่ผู้สร้างเครื่องมือก็สามารถออกแบบเครื่องมือให้ส่งผลต่อการใช้งานและผลจากเครื่องมือได้ (แน่นอนว่าไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด) ย้อนกลับไปที่ขั้นตอนการสร้างแบบวัด ผู้สร้างแบบวัดสามารถเพิ่มความเที่ยงได้ด้วยการเพิ่มจำนวนข้อคำถาม ฯลฯ และสามารถเพิ่มความตรงได้ด้วยการตั้งคำถามที่สอดคล้องกับทฤษฎีและแนวคิด การเพิ่มความเป็นสาเหตุและผลของตัวแปรหลายตัว ฯลฯ การเพิ่มความน่าเชื่อถือเป็นเทคนิคที่ลึกและซับซ้อนจึงจะไม่อธิบายรายละเอียดในบทความนี้
 

6. แบบวัดประเภทต่าง ๆ
แบบวัดคือเครื่องมือที่ใช้วัด จะเป็นเครื่องมืออะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นข้อคำถามเป็นข้อ ๆ ให้ตอบเป็นตัวเลข 1 - 5 หรือ 1 - 7 ด้วยตนเองแบบที่หลายคนคุ้นเคยก็ได้ เพียงแค่แบบวัดที่เป็นข้อคำถามและตอบเป็นตัวเลขเป็นแบบวัดที่ได้รับความนิยมทางจิตวิทยามากที่สุด เนื่องจากทำได้ง่าย ประหยัดทรัพยากร และมีความตรงสูงในกรณีที่ข้อมูลเป็นความจริง นอกจากนี้ยังมีแบบวัดประเภทอื่น ถ้าเป็นการวัดตัวแปรจิตวิทยาที่เป็นรูปธรรมก็มีเครื่องมือชัดเจน เช่น นับจำนวนครั้งที่สามีทำร้ายร่างกายภรรยา สังเกตว่าแต่ละคนรับประทานอะไรเป็นอาหารกลางวัน การวัดตัวแปรจิตวิทยาที่เป็นนามธรรมด้วยวิธีอื่น เช่น การจับเวลาในการปฏิบัติตามคำสั่งเพื่อวัดอคติที่ไม่สามารถใช้วิธีรายงานตนเองได้ การให้มองภาพและตีความภาพแล้วประเมินผลการตีความ การเติมคำที่หายไปในประโยค การให้คนใกล้ตัวประเมิน แบบวัดและแบบประเมินเป็นเพียงแค่เครื่องมือเท่านั้น การใช้งานขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าจะเลือกใช้เครื่องมือใดและนำไปใช้งานอย่างไร
 

7. คนทั่วไปสร้างเครื่องมือทางจิตวิทยาเองได้ไหม?
มาถึงคำถามที่เกริ่นไว้ตอนแรก คนทั่วไปสร้างแบบวัดหรือแบบประเมินทางจิตวิทยาเองได้ไหม? อ่านมาถึงจุดนี้ผู้อ่านคงเห็นแล้วว่าการสร้างเครื่องมือทางจิตวิทยานั้นต้องอาศัยทักษะและความรู้เยอะมาก ต้องมีความละเอียด กำหนดคำนิยามและเลือกทฤษฎีมาอ้างอิง ใช้เวลาเยอะในการเก็บข้อมูลนำร่องและปรับปรุงหลายครั้งจนเครื่องมือเหมาะสม มีค่าใช้จ่ายในการสร้างเครื่องมือเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนอื่นที่ต้องทำแต่ไม่ได้อธิบายในบทความนี้ เช่น การสร้างโมเดล การวิเคราะห์ทางสถิติ การจัดกลุ่มข้อคำถาม หลายขั้นตอนต้องอาศัยเทคนิคที่ลึกและซับซ้อน
 
เครื่องมือทางจิตวิทยาเป็นจุดเด่นหนึ่งของนักจิตวิทยา นักจิตวิทยาเรียนเกี่ยวกับการสร้างและการใช้เครื่องมือทางจิตวิทยามาเป็นอย่างดี แม้แต่จิตแพทย์ก็ไม่ได้เรียนลึกเรื่องนี้เท่ากับนักจิตวิทยา ต้องมีความรู้หลายอย่าง เช่น พื้นฐานจิตวิทยา สถิติ ระเบียบวิธีวิจัย การออกแบบเครื่องมือทางจิตวิทยา เนื้อหาที่เขียนในบทความนี้เป็นเพียงส่วนเล็กนิดเดียวเมื่อเทียบกับสิ่งที่เรียนในจิตวิทยา แบบวัดและแบบประเมินทางจิตวิทยาที่สร้างโดยนักจิตวิทยาไม่ได้สร้างมามั่ว ๆ ตามใจชอบแน่นอน การสร้างเครื่องมือมีหลักการและขั้นตอน คนทั่วไปเมื่ออ่านบทความนี้จบแล้วจะลองสร้างเครื่องมือเองตามขั้นตอนที่กล่าวไว้ก็ได้ ทุกคนสามารถสร้างเครื่องมือเองได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถสร้างเครื่องมือที่ดีได้ ถ้าสร้างเครื่องมือแล้วผลจากเครื่องมือไม่มีความน่าเชื่อแล้วข้อมูลนั้นจะมีประโยชน์อะไร
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่