ส่อง 5 รถมือสอง แบบ SUV และ PPV ซื้อง่ายสบายกระเป๋า ราคาไม่เกิน 4 แสนบาท

กระทู้สนทนา


ขึ้นชื่อว่า “เศรษฐกิจ” ไทย ในเวลานี้แล้ว หลายคนบอกว่าแย่ หลายคนบอกว่าดี แต่ถ้าเราฟังตามเสียงส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศ เขาก็บอกว่าแย่กันทั้งนั้นล่ะ

แผนการที่จะคิดเปลี่ยนรถตอนนี้ บางคนอาจงดซื้อรถใหม่ป้ายแดงไปก่อน โดยอาจจะเลือกซื้อเป็นรถยนต์มือสอง หรือรถบ้านมือสอง แทน เนื่องจากช่วยลดค่างวดที่จะต้องผ่อนรถทุกเดือน และยังได้รถคุณภาพดี ในราคาที่คุ้มค่าสบายกระเป๋าอีกด้ว

สำหรับใครหลายๆ คน ที่ตอนนี้ อาจจะมีครอบครัว หรือมีลูกอยู่แล้ว 1-2 คน แต่ชื่นชอบการท่องเที่ยว ชอบออกไปต่างจังหวัดในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือในช่วงเทศกาลหยุดยาว


รถมือสองที่เหมาะสมกับการใช้งาน ก็คงจะหนีไม่พ้นรถแนว “SUV” (Sport Utility Vehicle) และ “PPV” (รถกระบะดัดแปลง PPV – Pickup Passenger Vehicle ที่กรมสรรพสามิตบ้านเรา สร้างศัพท์บัญญัติขึ้นมารายเดียวในโลก เพื่อใช้เรียกจัดเก็บภาษีรถแนวนี้) ที่ให้ความอเนกประสงค์ สะดวกสบาย ปรับรูปแบบการใช้งานได้หลากหลาย และใช้งานในเมืองก็ลงตัว

หากคุณกำลังตัดสินใจซื้อรถยนต์มือสองซักคัน ถือเป็นอีกตัวเลือกที่ดี เพื่อนำเงินส่วนที่เหลือ ไปผ่อนบ้าน หรือใช้จ่ายในครอบครัว จ่ายค่าเทอมลูก เป็นต้น (แต่คนโสดจะซื้อไปใช้ ก็ได้เช่นกันนะครับ)

MR.CARRO ขอแนะนำรถ SUV และ PPV ที่นั่งได้ตั้งแต่ 5-7 คน ใช้ขนของก็ได้ ไปได้กันทั้งครอบครัว ในราคาตัวรถที่ไม่เกิน 400,000 บาท มาให้ทุกท่านได้พิจารณากันครับ


1. Toyota Sport Rider

Toyota Sport Rider (โตโยต้า สปอร์ต ไรเดอร์) ในโฉมแรกใช้ชื่อว่า “Hilux Sport Rider” ถือเป็นรถยนต์ PPV แบบ 7 ที่นั่ง ยอดนิยมอีกรุ่นหนึ่งของโตโยต้า พัฒนามาจากรถกระบะรุ่น Hilux Tiger ชื่อรุ่นมาจากภาษาอังกฤษ มีความหมายตรงตัว “Sport Rider” (ผู้ขับสปอร์ต)

Toyota Sport Rider ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงนับตั้งแต่เปิดตัวในเดือนธันวาคม 2541 (และเป็นที่นิยมของขโมยในเวลานั้นด้วย) โดย โตโยต้า เป็นผู้บุกเบิกรถแนวนี้ในเมืองไทย (โดยผลิตที่โรงงาน Thai Auto Works – TAW) ยอดขายแซงรถ SUV แท้ๆ ซะอีก จนค่ายคู่แข่งต้องทำออกมาขายบ้าง มีรูปทรงที่สวยงาม ออกแบบได้อย่างลงตัว แม้ว่าบางมุมมองจะยังคงเหมือนรถกระบะก็ตาม ภายในยกชุดมาจาก Hilux Tiger เพิ่มเบาะนั่งแถวที่ 3

มีให้เลือกกันทั้งในแบบขับเคลื่อนล้อหลัง และแบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ส่งกำลังผ่านเกียร์ธรรมดา 5 สปีด และอัตโนมัติ 4 สปีด ECT-i (เฉพาะรุ่นเครื่องยนต์ D-4D ขับเคลื่อนล้อหลัง) …

โฉมแรก เครื่องยนต์มี 2 แบบ ได้แก่ ดีเซลขนาด 3.0 ลิตร รหัส 5L ให้แรงม้าสูงสุด 97 แรงม้า และรหัส 5L-E แบบ 4 สูบ OHC ให้แรงม้าสูงสุด 105 แรงม้า ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 20.3 กก.-ม. (200 นิวตัน-เมตร) ที่ 2,600 รอบ/นาที

กลางปี 2543 เพิ่มเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ ขนาด 3.0 ลิตร จากเครื่องยนต์ที่กำเนิดขึ้นเพื่อใช้ใน Off Road รุ่นใหญ่ อย่าง Land Cruiser Prado จนได้รับสมญานามว่า จ้าวแห่งเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ (King of Diesel Turbo Engine) รหัส 1KZ-TE แบบ 4 สูบ OHC ให้แรงม้าสูงสุด 125 แรงม้า ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 32.1 กก.-ม. (315 นิวตัน-เมตร) ที่ 2,000 รอบ/นาที สามารถทำความเร็วจาก 0-100 กม./ชม. ด้วยเวลาเพียง 15.3 วินาที ทำความเร็วได้สูงสุด 160 กม./ชม.


ช่วงปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ในเดือนกันยายน 2545 ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ เทคโนโลยี D-4D มีดังนี้ …

เครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ มีขนาด 2.5 ลิตร รหัส 2KD-FTV แบบ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว D-4D ให้แรงม้าสูงสุด 102 แรงม้า ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 26.5 กก.-ม. (260 นิวตัน-เมตร) ที่ 1,600-2,400 รอบ/นาที

เครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ ขนาด 3.0 ลิตร รหัส 1KD-FTV แบบ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว D-4D ให้แรงม้าสูงสุด 125 แรงม้า ที่ 3,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 32.1 กก.-ม. (315 นิวตัน-เมตร) ที่ 1,800-2,600 รอบ/นาที

โดย Toyota Sport Rider ในตลาดรถมือสอง (ในปี 2563) อยู่ที่ประมาณ 120,000 – 230,000 บาท

สำหรับราคาค่าตัวในเครื่อง 5L เวอร์ชั่นแรกนั้น ไม่แพงนักเมื่อเทียบกับตัวรถ เริ่มต้นประมาณ 1 แสนต้นๆ ส่วนตัวไมเนอร์เชนจ์หลังปี 2545 นั้น บล็อก D4-D อยู่ที่ประมาณ 1 แสนปลายๆ – 2 แสนกลางๆ ตามสภาพ


2. Isuzu MU-7

หลังจากที่ Isuzu เห็นรถค่ายคู่แข่งอย่าง … กอบโกยยอดขายรถแนว PPV ไปมากมายแล้ว จึงต้องนำ Isuzu D-Max มาพัฒนาเป็นรถยนต์อเนกประสงค์แบบ 7 ที่นั่ง จนได้ออกมาเป็น “Isuzu MU-7” (อีซูซุ มิว-เซเว่น) ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2547 ซึ่งออกแบบผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยเป็นที่แรกในโลก ตัวรถดัดแปลงได้ใกล้เคียงรถ SUV มาก จากการใช้ระบบส่งกำลังขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา การหดระยะฐานล้อ และปรับระบบรองรับด้านหลัง เป็นแบบคอยล์สปริง

แม้ตัวเลขยอดจำหน่ายจะตามหลังคู่แข่งอยู่พอสมควร แต่ มิว-7 ก็ยังขายได้ดี เพราะมีแบรนด์ Isuzu เป็นการันตี … สำหรับ MU-7 มีการปรับโฉมแทบทุกปี ตั้งแต่รุ่น Gold Series, Platinum Series รวมไปถึงรุ่นพิเศษอย่างรุ่น Limited, Executive, Groove หรือ Choiz เป็นต้น …

ใช้เครื่องยนต์ใหม่ “I-TEQ 3000 Ddi” ขนาด 3.0 ลิตร รหัส 4JJ1-TC แบบ 4 สูบ 16 วาล์ว Super Commonrail Turbo Intercooler ให้แรงม้าสูงสุด 146 แรงม้า ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 294 นิวตัน-เมตร ที่ 1,400-3,400 รอบ/นาที ที่ถูกคิดค้นและพัฒนาใหม่หมด

ในโฉมไมเนอร์เชนจ์ เปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นขนาด 3.0 ลิตร รหัส 4 JJ1-TCX 3000 Ddi เทอร์โบแปรผัน VGS Turbo และอินเตอร์คูลเลอร์ใหญ่ขึ้น ให้แรงม้าสูงสุด 163 แรงม้า ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิด 34.0 กก.-ม. (333 นิวตัน-เมตร) ที่ 1,600-3,200 รอบ/นาที

โดย MU-7 ในตลาดรถมือสอง (ในปี 2563) อยู่ที่ประมาณ 250,000 – 400,000 บาท (หลังรุ่นปี 2009 ราคาจะขึ้นไปมากกว่า 400,000 บาท)


3. Mitsubishi Strada G-Wagon

มิตซูบิชิ เปิดตัว Mitsubishi Strada G-Wagon (มิตซูบิชิ สตราด้า จีวากอน) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544 ที่ในเวอร์ชั่นตลาดโลกใช้ชื่อว่า ชาเลนเจอร์ (Challenger) ตัวนี้ใช้พื้นฐานเดียวกับรถกระบะ Strada โดยปรับหน้าตาให้เหมือนกันกับ Strada ซึ่งรุ่นนี้มีการปรับโฉมหน้าตากันอีกหลายครั้ง (ปรับโฉมครั้งที่ 2 ประมาณกลางปี 2546 และสุดท้ายในปี 2548) มีรุ่นพิเศษออกมาเยอะแยะเช่นกัน อาทิเช่น Rally Master หรือ Euro Evolution เป็นต้น

ระยะแรกใช้เครื่องยนต์ดีเซล ขนาด 2.8 ลิตร รหัส 4M40 แบบ 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว ให้แรงม้าสูงสุด 96 แรงม้า ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 20.2 กก.-ม. (199 นิวตัน-เมตร) ที่ 2,000 รอบ/นาที ส่งกำลังผ่านเกียร์ธรรมดา 5 สปีด และเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด

ช่วงปี 2545 … Strada G-Wagon แนะนำเครื่องยนต์ดีเซลใหม่ ขนาด 2.5 ลิตร รหัส 4D56 แบบ 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว VG Turbo Intercooler ให้แรงม้าสูงสุด 116 แรงม้า ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 24.4 กก.-ม. (240 นิวตัน-เมตร) ที่ 2,000 รอบ/นาที ส่งกำลังผ่านเกียร์ธรรมดา 5 สปีด และเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด

พอเวลาผ่านไป Mitsubishi ก็หันกลับมาใช้เครื่องยนต์รหัส 4M40 แต่เพิ่ม Turbo Intercooler เข้าไป สะใจขาลุย ให้แรงม้าสูงสุด 125 แรงม้า ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 29.7 กก.-ม. (291 นิวตัน-เมตร) ที่ 2,000 รอบ/นาที ส่งกำลังผ่านเกียร์ธรรมดา 5 สปีด และเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด

โดย Strada G-Wagon ในตลาดรถมือสอง (ในปี 2563) อยู่ที่ประมาณ 150,000 – 250,000 บาท


4. Honda CR-V (เจเนอเรชั่นที่ 2)

การมาของ “Honda CR-V” (ฮอนด้า ซีอาร์-วี) ที่ทำให้ตลาดรถยนต์ในกลุ่ม SUV ตื่นตัวขึ้นมากกว่าเดิมนับตั้งแต่ในรุ่นแรก โดยโฉมที่ Carro จะแนะนำในครั้งนี้ เป็น ซีอาร์-วี รุ่นที่ 2 ซึ่งเปิดตัวในบ้านเราในเดือนมกราคม 2545 มีให้เลือกทั้งแบบ 5 ที่นั่ง และ 7 ที่นั่ง โครงสร้างตัวรถออกแบบขึ้นโดยมี Civic รุ่นที่ 7 เป็นต้นแบบ และได้นำเครื่องยนต์หัวฉีด i-VTEC มาใช้อย่างเต็มรูปแบบทุกรุ่นย่อย …

ใช้เครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตร รหัส K20A แบบ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว i-VTEC LEV ให้แรงม้าสูงสุด 150 แรงม้า ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 19.4 กก.-ม. (191 นิวตัน-เมตร) ที่ 4,000 รอบ/นาที ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด

ในรุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ เปิดตัวไปในบ้านเราเมื่อธันวาคม 2547 … และได้เพิ่มเครื่องยนต์ 2.4 ลิตร เป็นตัวเลือกใหม่ รหัส K24A แบบ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว i-VTEC LEV ให้แรงม้าสูงสุด 160 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 22.4 กก.-ม. (219 นิวตัน-เมตร) ที่ 3,600 รอบ/นาที ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้ออัตโนมัติใหม่ (Real Time 4WD)

โดย Honda CR-V (เจนเนอเรชั่นที่ 2) ในตลาดรถมือสอง (ในปี 2563) อยู่ที่ประมาณ 130,000 – 230,000 บาท


5. Chevrolet Captiva 

Chevrolet Captiva (เชฟโรเลต แคปติวา) เปิดตัวเป็นครั้งแรกในไทยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2550 เป็นรถ SUV แบบ 7 ที่นั่ง เบาะแถว 2 และ 3 สามารถพับเก็บได้ มีให้เลือกทั้งแบบขับเคลื่อนล้อหน้า และขับเคลื่อน 4 ล้อ ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด แบบ Tiptronic (ต่อมาปรับเป็น 6 สปีด) และถือเป็นรถที่ขายนานที่สุดอีกหนึ่งรุ่นของ Chevrolet

ในรุ่นเครื่อง 2.0 ลิตร จะเป็นเครื่องยนต์แบบดีเซล แบบ 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว Turbo แบบแปรผัน ให้แรงม้าสูงสุด 150 แรงม้า ที่ 4,000 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุด 32.6 กก.-ม. (320 นิวตันเมตร) ที่ 2,000 รอบ/นาที

ส่วนในรุ่น 2.4 ลิตร จะเป็นเครื่องยนต์เบนซิน แบบ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว Flex Fuel รองรับเชื้อเพลิง E20 และ E85 ให้กำลังสูงสุด 136 แรงม้า ที่ 5,600 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุด 22.4 กก.-ม. (220 นิวตันเมตร) ที่ 2,200 รอบ/นาที

ภายหลังรุ่นเบนซิน 2.4 ลิตร เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ เป็นแบบ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว Double CVC ให้กำลังสูงสุด 165 แรงม้า ที่ 6,400 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุด 23.0 กก.-ม. (225 นิวตันเมตร) ที่ 4,600 รอบ/นาที

อีกหนึ่งจุดเด่นที่มาพร้อมกับความจุห้องโดยสารที่มาก เมื่อพับเบาะแถวที่ 3 ลงจะมีปริมาตรในการขนสัมภาระอยู่ที่ 465 ลิตร แต่ถ้าพับเบาะแถวที่ 2 ลงอีก ความจุก็จะเพิ่มเป็น 930 ลิตร

โดย Chevrolet Captiva (โฉมแรก) ในตลาดรถมือสอง (ในปี 2563) อยู่ที่ประมาณ 199,000 – 400,000 บาท (หลังรุ่นปี 2014 ราคาจะขึ้นไปมากกว่า 400,000 บาท)

-------------------------
แหล่งที่มาบทความ : https://th.carro.co/blog/5-suv-ppv-secondhand-cars/
ติดตามข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับรถยนต์ และรถมือสอง ได้ที่ : https://th.carro.co/blog/
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่