เดินป่าเมืองทองเนื้อเก้า ประจวบคีรีขันธ์

เขาหลวงประจวบคีรีขันธ์ ตั้งอยู่ที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง
ระดับความสูง 1200 เมตร ระยะทางระมาณ 7 กิโลเมตรวัดจากนาฬิกา Garmin เทียบได้ว่าแต่ละกิโลเมตรจะเดินขึ้น 171 เมตร
เส้นทางเป็นป่าดิบชื้น 1 เดือนจะให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นไปไม่เกิน 24 คนรวมคนนำทาง สัมภาระทุกอย่างต้องแบกเอง น้ำดื่มมีลำธารบนเขาตลอดทางควรที่จะเตรียมที่กรองน้ำไปด้วย ที่นี้เปิดให้ขึ้นตลอดปี แต่จุดยอดสุดของเขาสามารถเดินขึ้นได้แค่เดือน เมษายน-พฤษภาคมเท่านั้น เพราะทางขึ้นไปเป็นหน้าผาช่วงเดือนอื่นจะมีฝน ทำให้ลื่นอาจเกิดอันตรายได้จึงไม่เปิดให้เดิน

การเดินทางไป แนะนำรถส่วนตัวจะสะดวกสุด

งบประมาณที่ใช้ 1500 บาท รวมค่าน้ำมัน(แก๊สLPG)( หาร 2 จากกทม. ) ค่าเข้าอุทยาน ค่าคนนำทาง(หารกันตามจำนวนคนขึ้น) ค่าอาหาร 4 มื้อที่พวกเราเตรียมไป ส่วนใหญ่ก็ง่ายๆ มาม่า โจ๊ก 

อุปกรณ์ที่ควรนำไป คือ แผ่นพลาสติกปูพื้นกันทากมันกระดึ๊บขึ้นมา ฟลายชีทเพราะฝนตกแน่นอน ถุงนอนข้างบนหนาว เต็นท์หรือเปลตามสะดวก

ระดับความยากของที่นี้ ส่วนตัวมองว่าต้องมีประสบการณ์มาระดับหนึ่งแล้วถึงจะมาเดินที่นี้ได้ เพราะความชันและรกของป่า 

ความสวยของด้านบน ส่วนตัวผมไม่ประทับใจมาก ถึงขั้นรู้สึกธรรมดาเลยด้วยซ้ำถ้าเทียบกับวิวมุมสูงของเขาบางที่ในเมืองไทย แต่ความสนุกในการเดินขึ้นและความตื่นเต้นตลอดทางผมให้ 10 เต็ม 10 เลยทีเดียว นั้นเพราะมันคือ ป่าที่มีระบบนิเวศที่สมบรูณ์มากแห่งหนึ่งเลย ต้นไม้ใหญ่สวยมาก แปลกตา สูง เส้นทางพาหลงได้ตลอดทาง สัตว์มีให้เห็นและได้ยินตลอดทาง นกเงือกตัวใหญ่ที่บินทีทำเอาเสียงดังไปทั้งป่า งูที่อยู่ตามต้นไม้ได้ตลอดเวลา ลิงที่จะแอบดูเราอยู่และพร้อมกระโดดหนีตอนเราสังเกตเห็นมัน ชะนีที่ส่งเสียงเตือนตลอดทางในป่าใหญ่แห่งนี้ ไม่ต้องพูดถึงแมลง ทาก คุ่น ยุ่ง ไส้เดือนที่เห็นแล้วต้องตกใจในความใหญ่ของมัน และแน่นอนในป่านี้มีเสือที่นักเดินต้องคอยมองระวังตลอดทางด้วย

**เกิ๋นนำมาพอสมควร**
จากตรงนี้ผมจะเริ่มเล่าประสบการณ์การเดินเขาหลวงประจวบ จากความรู้สึกส่วนตัว
เริ่มต้นที่นี้ต้องจองคิวขึ้นก่อน แน่นอนเต็มเร็วมาก สามารถจองได้ที่ อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง จ.ประจวบคีรีขันธ์
ส่วนตัวที่ได้ขึ้นครั้งนี้อาจเพราะโชคช่วยหรือเพราะเดินทางคนเดียวเลยไม่ต้องรอคิวนาน เจ้าหน้าที่จะจับลงกับทริปที่คนไม่ครบ แถมให้ไปหาเพื่อนมา 1 คนกันเหงาด้วย สามารถไปนอนจุดกางเต็นท์ที่อุทยานก่อนได้ ในอุทยานมีร้านอาหารตามสั่งซึ่งปิดให้บริการ 16.00น. ห้องน้ำสะอาด สะดวกสบายพอสมควร มีหลายห้องด้วย ส่วนด้านนอกมีรีสอร์ทให้พักอยู่ 1-2 ที่และมีโชห่วยให้บริการเป็นระยะๆ 

เริ่มเดินทางตอน 8.00 น. ที่ระดับความสูง 100 เมตร สู่ความสูง 1,100 เมตร ณ ที่จุดกางเต็นท์ เริ่มแรกของการเดินก็เป็นผาหิน ในช่วงเวลาที่ผมเดินทางเป็นช่วงที่มีพายุเข้า ฝนตกหลายวันติดทำให้ตะไคร่ขึ้นตามหินมากมายลื่นมากบวกกับวันนั้นฝนก็ตกมาไม่ขาดสาย ระยะทาง 1 กิโลเมตรแรกคือ จุดวัดใจจริงๆ เส้นทางเหมือนเป็นกำแพงของป่าที่จงใจไม่อยากให้ใครเข้าไปในนั้น หินที่สูงเรียงตัวกันเป็นชั้นๆ ให้เราปีนและเดินไต่ระดับขึ้นไป โดยแทบไม่มีการให้ระยะทางเราอบอุ่นร่างกายเลย




เจ้าหน้าที่นำทางมักจะเดินๆ หยุดๆ เสมอ เพราะจะพยายามทิ้งสัญญาลักษณ์ไว้ พร้อมคอยดูตามต้นไม้ว่ามีสิ่งแปลกๆ หรือเปล่า แม้ก่อนเข้าป่าจะได้เตือนพวกเราก่อนแล้วก็ตามว่า “งู” คือสิ่งที่ต้องระวัง มันจะอยู่นิ่งๆ บนต้นไม้ รอเราสัมผัสและฉวยโอกาสนั้นกัดเรา ซึ่งกลุ่มเราก็พบเจอกับตัวเอง
จังหวะหนึ่งที่เดินอย่างเพลิดเพลิน พวกเราก้มหน้าก้มตามองพื้นเพราะกลัวกับสัตว์เลื่อยคลานบนพื้น แต่ก็มิอาจประมาทสิ่งที่อยู่บนต้นไม้ได้ เสียงตะโกนจากเจ้าหน้าที่ว่างู ทุกคนหยุดเดินแล้วมองหาพร้อมกับคำถามในใจว่ามันอยู่ที่ใด เจ้าหน้าที่ดึงมีดออกมาแล้วชี้ไปที่กิ่งไม้ด้านหน้าพวกเราในระดับสายตา ภาพแรกที่เห็นคือกิ่งไม้สีน้ำตาลมีบางสิ่งสีเขียวพาดยาวเหมือนไม้เลื้อยทั่วไปแต่พอเจ้าหน้าที่ใช้กิ่งไม้สะกิดมันก็เปลี่ยนจากไม้เลื้อยกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชูคอขึ้นมองรอบๆ ก่อนแล้วจึงค่อยๆ จากไป เขาคงตระหนักว่าคนพวกนี้ไม่มีภัยกับเขาจึงจากไปแต่โดยดี แต่กลับกันพวกเรากับคิดว่าโชคดีมากที่เจ้าหน้าที่เห็นก่อนไม่งั้งทริปนี้มีเรื่องวุ่นวายแน่ เพราะเขาอยู่ในระดับที่กัดพวกเราได้แน่นอนและจากตรงที่เขาอยู่คือจุดที่เราต้องเดินแหวกต้นไม้เขาพอดี ยังไงต้องมีใครสักคนตกเป็นเหยื่อเขาแน่ๆ

ป่าดิบชื้นมันยากมากที่จะรับรู้เวลาจากตะวัน เพราะตลอดทางเดินจะโดนปกคลุมไปด้วยต้นไม้ใหญ่สูงสุดตา แสงผ่านเข้ามาได้น้อยมาก มันทำให้ลืมเวลาไปเลย เดินได้พักเดียวเจ้าหน้าที่ก็บอกให้พักทานข้าว เราก้มมองนาฬิกาถึงกับตกใจ นี้เราอยู่ในป่ามา 3-4 ชม. แล้วหรือ
“เอาครับ นั่งทานกันตรงจุดนี้ เพราะข้างหน้าไม่มีที่โล่งให้หยุดทานแล้ว” เสียงเจ้าหน้าที่พร้อมหยิบยาเส้นมาม้วนแล้วจุดสูบนี้คือ คำขู่! ใช่หรือเปล่า ผมคิด

จุดพักทานข้าวในจินตนาการ คือที่นั่งกว้างๆ สบายๆ วางกระเป๋าที่หนักลง พูดคุยแนะนำตัวกันอย่างสนุกสนาน แต่ภาพตัดมาในความเป็นจริง เป็นก้อนหินผาที่เต็มไปด้วยตะไคร่ เปียกชื้น มีน้ำค้างหรือหยาดฝนที่หล่นมาตลอด แต่ยังดีที่ต้นไม้ใหญ่ใจดีกางกิ่งก้านปกคลุมเพื่อกรองฝนให้เบาบางลง มื้อเท้าที่เหี่ยวย่นซีดขาว รู้สึกดีทันทีที่ได้สัมผัสข้าวที่อุ่น น้ำที่เตรียมมาเย็นได้ที่ดังเหมือนออกมาจากตู้เย็น ข้าวทุกคำที่ตักเข้าปากมันคือการต่อยอดเพื่อดึงสติเรากลับมา จุดหมายที่มองยังไม่เห็นในตอนนี้เริ่มบันทอนใจบางคนได้แล้ว



หลังจากมื้อที่สำคัญผ่านไปก็เหมือนร่างกายก็กลับมาพร้อมอีกครั้ง แต่ไม่ทันได้ 3 นาที คำบางคำก็ทำให้พลังกระตุกเล็กน้อย “จากตรงนี้ทางจะหลงกันง่ายและชันขึ้นตลอด”เจ้าหน้าที่พูด ผมก้มมองนาฬิกา พระ! นี้ฉันยังไต่มาความสูงไม่ถึงครึ่งเลยหรอ
ช่วงหลังๆ ของการเดิน 300-500 เมตร ก็ต้องหยุดหายใจบาง ความชันมันชัดเจนมาก ตัวผมเองทำใจแล้วว่าต้องโดนทิ้งบาง แต่หันไปมองเพื่อนร่วมทางก็กลัวหลงกัน แต่จะรอหรือพยุงกันคงไม่ไหว คิดแค่ว่าเอาตัวเองให้รอดก่อนไม่เป็นภาระน่าจะดีที่สุด ได้แต่พยายามส่งเสียงบอกเสมอแต่ก็มักจะโดนกลบด้วยเสียงปีกของนกเหงือกที่ตกใจเสียงเราทุกทีไป บางช่วงของเส้นทางผมคิดว่ามันกดดันมาก เพราะการเดินคนเดียวที่มองข้างหน้าก็ไม่เห็นคนนำ หยุดมองข้างหลังก็ไม่เห็นคนตาม หันไปไหนก็ต้นไม้ มองขึ้นฟ้ายังไม่มีฟ้าให้รอดเห็น จิตตกนิดๆ เสมอว่าจะหลงหรือเปล่าและตกใจทุกครั้งที่พุ่มไม้เครื่องไหว ความเงียบสงบที่ได้ยินทุกอย่างของป่ามันเป็นเช่นนี้เอง เสียงกิ่งไม้ที่หักหล่นลงมา เสียงลิงที่กระโดดข้ามต้นไม้ เสียงนกที่ทักทาย เสียงใบไม้ที่โดนลมพัดมา เสียงหอบของการหายใจ เสียงหัวใจที่ร้องเรียกหา เสียงลำธารที่ฟังแล้วสบายอุรา เสียงบ้าๆ ที่ถามว่า”กรูมาทำไม”





เดินมาพักใหญ่ก็พบลำธารซึ่งเป็นจุดที่ต้องเติมน้ำดื่มแต่ความคนกรุงเกิดมาพร้อมน้ำดื่มตราสิงห์อย่างผมจะได้หรอ? ผมยังเกรงใจและยังติดความกลัวอยู่ในใจ แต่ก็รุดลงแช่น้ำ ล้างหน้า ล้างตัวแทน ลำธารเย็นชื้นใจเป็นเหมือนดังสถานที่เติมพลังให้เราไปต่อ เดินมาไม่ไกลก็จะเจอทางเดินเลาะหน้าผาที่ต้องใช้ความระมัดระวัง แต่ในความอันตรายนั้นก็มีความสวยงามที่เหมือนดังหญิงงามเสมอ วิวทะเลหมอกที่ทอดยาว เห็นเขาบางๆ เป็นชั้นๆ มันคือรางวัลของความพยายาม ความสวยที่ต้องใช้ประสาทสัมผัสทั้งร่างกายรับมัน ความสวยในกลิ่น ในเสียง ในจังหวะ มันช่วยตอบคำถามที่ว่า “กรูมาทำไม” ได้ลง



ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการดื่มด่ำกลับวิวที่สวยงาม พวกเราก็ลากความเหนื่อยล้ามาที่จุดหมายแรกของวัน จุดพักแรม
บริเวณลานที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้เป็นจุดสังเกตง่ายมีหินก้อนใหญ่ 2 ลูกพิงกันอยู่ทำให้สามารถใช้บริเวณนั้นก่อไฟได้ รอบๆ จะเป็นที่โล่งเหมือนโดนจัดเตรียมไว้ พวกเราก็เลือกมุมตามใจชอบได้เลย แต่สิ่งหนึ่งที่ควรรู้คือ จุดนี้ก็เป็นแหล่งอาศัยของตัวทากไม่น้อยกว่าทางที่เดินมาเลย เมื่อได้มุมนอนพวกเราก็เหมือนจะหมดพลังใดๆ ทุกคนเข้าเต็นท์ เปลี่ยนชุดแห้ง บางคนต้องเดินกลับไปลำธารเพื่อเอาน้ำดื่ม บางคนหมดแรงเดิน เลยอาศัยน้ำฝนทานแทน ยังไม่ทัน 18:00 น. ฟ้าก็มืดลง บังคับให้พวกเราต้องเข้านอนกันแต่วัน ส่วนตัวผมวันนั้นนอนเปล แต่ดันกางฟลายชีทมุมหลังคาเหลี่ยมแทนที่จะเป็นมุมสามเหลี่ยม ทำให้เวลานอนจะเห็นวิวรอบด้าน ทำให้เวลานอนมันก็จะเสียวๆ เล็กน้อย

ค่ำคืนที่ยาวนานกำลังมาถึง เสียงฝนที่ตกกระทบทุกสิ่งที่เกิดเสียงได้ดังไปทั่วป่า ต้นไม้สูงรอบข้างดูดังขาคน สีท้องฟ้าที่กำลังหรี่ลงเหมือนไฟอัตโนมัติ เสียงลิงที่ร้องเหมือนเตือนกันว่า มนุษย์อยู่ตรงนี้ ตัวทากที่ชูตัวขึ้นเพื่อหาแหล่งความร้อนให้ดูดดื่มเลือด ค่ำคืนที่มาเร็วและเงียบกริบกำลังเริ่ม สายตาเรากำลังปรับตัวให้เข้ากับแสงที่น้อยลง ทุกอย่างจะเริ่มชัดเมื่อรอบข้างมืดลง ทุกเสียงที่กระทบลงพื้นทำให้ผมสะดุ้งตื่นเกือบทุกครั้งและมันก็เป็นแบบนั้นทั้งคืน
ทุก 1 ชม. เราเหมือนจะตื่นกันทุกคน ไม่ใช่เพราะเสียงดังอย่างเดียวที่ทำให้ลืมตา แต่กลับเป็นเสียงเงียบเกินไปต่างหากที่ทำให้สะดุ้งตื่น บางทีมันเงียบจนเราคิดว่าสิ่งที่เราคิดในใจคนเต็นท์ข้างๆ จะได้ยินหรือเปล่า หรือบางชั่วโมงก็จะมีลมเย็นพัดมาให้สะดุ้ง และการลืมตาทุกครั้งในมุมที่ไม่มีผ้าใบปิดมันทำให้สมองตีความสิ่งที่เห็นไปต่างๆ น่าๆ เสมอ ฉะนั้นการจะหลับตาอีกครั้งมันจึงไม่ง่ายเหมือนในห้องนอนเลย

ช่วงเวลากลางคืนได้ผ่านพ้นไปขอบฟ้าเริ่มมีสีส้มเป็นสัญญาที่ดี การได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นหมายถึงเช้าวันใหม่แต่สำหรับพวกเราคือ สัญญาณที่ดีของมุมมองของจุดหมายที่จะเปลี่ยนไป เสียงนกตัวเล็กตัวน้อยเริ่มกล่าวทักทาย เสียงใบไม้เบาๆ กระทบลมเป็นเหมือนนาฬิกาปลุกให้เราลืมตา เช้าวันใหม่ในป่ากำลังเริ่มขึ้น
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
วันนี้จุดหมายคือการบอกลาพงไพรกลับสู่ป่าคอนกรีต แต่ก่อนกลับจะแวะไปจุดชมวิวอีก 1 ที่โดยไต่ระดับขึ้นไปอีก 100 เมตร ซึ่งถ้าเดินทางมาช่วงเดือนเมษายนจะได้เดินขึ้นไปอีกจนถึงจุดชมวิวมองเห็นประเทศเมียนมาร์ แต่ผมมาช่วงเดือนตุลาคมจึงไปได้แต่จุดไฮไลท์ของที่นี้ นั้นคืออุโมงต้นไม้
เริ่มเดินทางก็เก็บของไปตั้งต้นที่ลำธารใกล้ที่พักแรมที่สุดวางสัมภาระส่วนตัวทิ้งไว้ที่นั้นก่อนเดินลุยป่าขึ้นไปประมาณ 1 กม. พอถึงจุดหมายเจ้าหน้าที่ก็ให้พวกเราทำเก็บภาพที่ระลึกจนพอใจ ชื่นชมกันให้เต็มที่ สูดลมหายใจเข้าให้เต็มปอดและทำการบอกลาเขาหลวงกันสักที



ขาลงไม่ได้มีอะไรมาก มาทางใดลงทางนั้น แต่สิ่งที่อาจระวังคือความลื้นของเส้นทาง ซึ่งไม่ระวังบางคนถึงกับสไลด์ลงมาได้เลยทีเดียว
สุดท้ายนี้หวังว่าเรื่องเล่าเล็กๆ นี้จะทำให้เกิดประโยชน์บาง และหวังว่าทุกๆ จะได้ไปสัมผัสประสบการณ์นี้กับตัวเอง

ขอบคุณที่อ่านครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่