ภาพยนตร์เกี่ยวกับปลาฉลาม กลายเป็นแนวย่อยแบบหนึ่งของหนังสยองขวัญ ตั้งแต่เมื่อครั้ง Jaws ของสตีเวน สปีลเบิร์ก ประสบความสำเร็จอย่างล้มหลามตอนค.ศ. 1975
และในช่วงเวลา 40 กว่าปี ก็มีหนังฉลามทั้งเกรด A เกรด B อีกเพียบตามมา บ้างดีงาม (เช่น Deep Blue Sea), บ้างแย่ (Shark Swarm), บ้างก็ไม่ทราบจะสรรหาคำใดมาจำกัดความมัน (Sharknado)
แต่มีเพียง The Meg (2018) เท่านั้น ที่พิสูจน์ตัวเองให้ผู้คนประจักษ์ในฐานะ 'ผลงานทำเงิน' เนื่องจากฮิตเซอร์ไพรส์ รายรับรวมทั่วโลกจากการฉายโรงสูงถึง 530.2 ล้านดอลลาร์
ไม่ทราบมีใครมองว่ามันขายได้ เพียงเพราะดารานักบู๊ชื่อดังแบบ 'เจสัน สเตแธม' รับบทนำหรือเปล่า ?
ทว่าหากความสำเร็จด้านเงินตรา มิใช่เกิดจากแค่พระเอกเป็นตัวเรียกแขก และมิใช่ความฟลุ๊ค บังเอิญโดนใจมหาชนเพราะอะไรอื่นก็แล้วแต่ แบบปาฏิหาริย์... เราควรยกความดีความชอบแก่ 'จอน เทอร์เทลทับ' ผู้กำกับ The Meg เขา
ซึ่งเจ้าตัวไม่ได้คิดปิดบังความลับอะไร และเคยเผยสูตรเด็ดในการปรุงหนังฉลามของตัวเองให้สื่อต่างประเทศรับทราบ
ผมขอแปลมานำเสนอ เนื่องในโอกาสที่ผลงานนี้กำลังจะแสดงตนต่อผองชนชาวสยามอีกครา ผ่านการฉายทางช่องฟรีทีวีกับ Netflix ไทยครั้งแรก ในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 2020
จงตระหนักถึงประเภทของผลงาน
เหมือนภาพยนตร์ทุกเรื่อง, คุณต้องเข้าใจว่าหนังอยู่ในประเภทไหนตั้งแต่เริ่ม และคนดูจะคาดหวังสิ่งใด ก่อนไปโฟกัสการสร้างเรื่องราวหรือตัวละครที่ดี
บางทีทั้งสองอย่างอาจแย่ และไม่สามารถหนีจากความจำเจพ้นก็ได้ เพราะหลายครั้งคนดูแอบโหยหาสิ่งเดิมๆ ... เผลอๆ พวกเขาชอบมันด้วยซ้ำ
สำหรับหนังฉลาม ควรมีฉากแสดง 'ครีบหลัง' ของปลา กับการตีขาอยู่ใต้ท้องน้ำของผู้คนเสมอ เพราะผู้ชมชอบเห็นคนตายในแบบที่น่าหวาดเสียว
ความเคลือบแคลงคือกุญแจสำคัญ
ช่วงแรกๆ คุณต้องเซ็ตให้ความตายเป็นเรื่องไม่แน่นอนในสายตาผู้ชม พวกเขาไม่ควรรู้ก่อนว่ามันจะเกิดขึ้นตอนไหน
ไม่จำเป็นต้องให้ความตายมาแบบกะทันหันเสมอไป, ช่วงต้นภาพยนตร์แนวนี้มักทำให้เราไม่แน่ใจ ว่าบุคคลที่อยู่ในน้ำจะโดนงาบเมื่อไหร่
ความกังวลดังกล่าวคือจุดสนใจและให้ความสนุกแก่ผู้ชม ยิ่งกว่าตัวความตาย... ไม่นับเวลาที่มีคนสองคนกำลังแต่งงานกัน แล้วคนหนึ่งดันโดนกินดื้อๆ น่ะนะ
แต่ตามปกติถ้าไม่ใช่พวกตัวละครเอกที่ผูกพัน คนดูออกจะรักการนั่งมองตัวประกอบ เวลาพวกนั้นใกล้ตาย หรือดิ้นรนหนีจากความวายชีวา จริงไหม ?
ลุ้นว่ากำลังจะเกิดเหตุการณ์ใด ? จะรับมือด้วยวิธีไหน ?
จงกำหนดตัวละครที่จะถึงฆาตให้เหมาะ
เราตรึกตรองถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่ว่ามาก่อนหน้าโดยถ้วนถี่ แล้วค่อยปรึกษาผู้เขียนบทว่า
เราฆ่าคนเยอะไปไหม ? เราฆ่าคนน้อยไปเปล่า ? ภาพยนตร์ทำนองนี้สนแค่ความบันเทิงยามรับชมพอ ไม่มีใครเขาขอรางวัลโนเบลตอบแทน สำหรับการรังสรรค์หนังฉลามขั้นเทพหรอก
งานของเราคือสร้างโชว์แสนสนุก ฉะนั้นจุดสำคัญคือใครควรตาย และจำนวนมากน้อยแค่ไหน
ใครตายเปล่า, ใครตายอย่างมีคุณค่า ? ยิ่งตัวละครใดคนดูท่าจะชอบ ก็ควรให้ออกไปเสี่ยงตายบ่อย, แต่มีบางตัวละครเป็นข้อยกเว้น ห้ามให้ตาย ไม่งั้นคนดูได้เดือดจัดแหง
และสำหรับเราคือเจ้าหมา! ไม่รู้ตั้งกี่คนเคยบ่นใส่ผมว่า "ทำไมมีสุนัขในหนัง เรามีมนุษย์ให้ฆ่าไม่พอเรอะ ?" นั่นทำให้ผมตระหนักว่า ผู้ชมส่วนใหญ่จะแคร์หมามากกว่าคนเสียอีก
ถ้าหมาน้อยติดอยู่ในซากตึกถล่มและถูกช่วยเหลือ ทุกคนจะร้องไห้เพราะยินดี ทว่าถ้ามนุษย์ผู้ประสบภัยถูกช่วยเมื่อไหร่ คนดูก็แค่ "อืม, ปลอดภัยแล้วเหรอ"
ใส่ใจการผลิตฉลาม
คุณคงนึกภาพไม่ออกหรอกว่ากระบวนการผลิตซับซ้อนเพียงไร เพราะใช้แค่ไอเดียที่บรรเจิดสร้างมันมิได้ แต่ต้องถามผู้เชี่ยวชาญ
การทำให้ทุกฝ่ายยอมรับหนทางสร้างสรรค์ของเรา มันก็ยากเอาเรื่อง เนื่องจากทุกคนมีฉลามในมุมมองของตนเอง ทั้งผู้แต่งนิยายต้นฉบับ, ผู้อำนวยการสร้าง และทางสตูดิโอผู้ควักกระเป๋าออกทุน...
เราอภิปรายหัวข้อ "ใช้ลักษณะฉลามขาวยักษ์ของจริง หรือประดิษฐ์ลักษณะเฉพาะของเราขึ้นดี" กัน อยู่นานสองนาน
ซึ่งน่าตื้นตันที่สุดท้ายเราใช้ฉลามประดิษฐ์ตามที่ผมหวัง เพราะถ้าปลาในหนังหน้าเหมือนฉลามขาว ผมจะรู้สึกราวกับกำลังทำภาพยนตร์ทุนต่ำ
การเอาฉลามขาวยักษ์มาขยายไซส์ให้เบิ้มกว่าเดิม มันง่ายดายเกิน, หากเทียบกับการพยายามนึกภาพว่า ฉลามเมื่อหลายล้านปีก่อนหน้าตาอย่างไร หรือมันใช้ชีวิตแบบไหนในมหาสมุทร อะไรเทือกนั้น
พึ่งเทคนิคด้านภาพแต่พอดี
ผมรู้สึกว่าการตัดสินใจเลือกระหว่างความสมจริง กับเจ๋งสะบัด เพื่อกุมความกลัวของคนดูให้อยู่หมัด นั้นสำคัญในฐานะผู้กำกับ
ผมเลือกความสมจริงเป็นหลัก เพราะมองว่าดีกว่าความรู้สึกแบบ "มุมกล้องนั่นเจ๋งอะ ยังกะคนทำเขาเอากล้องกระโดดลงน้ำ, เข้าปากฉลาม แล้วทะลวงออกทางเหงือกเลยละ"
คุณทำได้ด้วยการใช้คอมพิวเตอร์สร้าง และผู้กำกับหลายคนเก่งกาจในการทำเช่นนั้น แต่ผมไม่อินกับวิธีนั่นเท่าไหร่... เลยพยายามให้ภาพดูใกล้เคียงความจริง ผมคิดว่าฉลามจะดูมีชีวิตยิ่งขึ้น
อ้ออีกเรื่องคือเราปรึกษากันในกองด้วยว่า จะไม่ให้เมกะโลดอนของเรา ทำสิ่งเหลือเชื่อที่ฉลามตามธรรมชาติมิสามารถ โดยเด็ดขาดด้วย
อย่าเผลอลืมอารมณ์ขัน
สำหรับผมอารมณ์ขันโคตรสำคัญ มันค่อนข้างเสี่ยงเหมือนกัน แต่เราก็ให้ตัวละครในหนังเคยรับชมภาพยนตร์เกี่ยวกับฉลามทั้งหลาย มาตลอดช่วงชีวิต คล้ายเราๆ ท่านๆ
พวกเขาจึงทราบว่าสูตรสำเร็จของหนังพวกนั้นเป็นอย่างไร เราเลยใส่มุกขำขันลงไปล้อเลียนได้
ทำให้ตัวละครของเราแจกมุกตลกได้ แม้เจอสถานการณ์คับขัน
มองหาฮีโร่ ที่ทำได้มากกว่าแค่ช่วยคน
เรามองหาบุรุษที่คุณจะเชื่อว่า เขาคือฮีโร่มาดเท่และกอบกู้วิกฤตสำเร็จชัวร์
เจสัน สเตแธมเท่บาดใจไม่ต้องสงสัย และในระหว่างมองหาคนเหมาะๆ แบบเขา เราก็ลำบากกว่าที่คิดนะบอกให้
ใช่ว่าคุณจะรู้สึกสบายใจขึ้น เมื่อเมียงมองไปเห็นชายใดก็ตามเดินเข้าฉากซักหน่อย, แต่เจสันน่ะใช่ เห็นเขาแล้วคุณอุ่นใจขึ้นทันที
นอกจากนี้เขายังเป็นนักตบมุกชั้นอ๋อง, แม้จะเคยออกลายในหนังอื่นๆ ที่เล่นบ้าง แต่ก็ไม่เคยเอาฮามากมายมาก่อน (ยกเว้นเรื่อง Spy นะ) ซึ่งขอบอกว่าน่าเสียดายชะมัด, ผู้คนควรรับรู้ว่าบุรุษนิสัยโคตรแมน มีอีกด้านซ่อนอยู่
เจสัน กับผกก.
ภาคต่อ ?
หนังฉลามภาคต่อห่วยประจำเพราะพยายามทำตัวเหนือกว่าภาคแรก เช่น ให้ฉลามใหญ่ขึ้น, เพิ่มจำนวนฉลามสัก 90 ตัว หรือทำสิ่งพิสดารแบบฉลามมีพิษ ซึ่งเป็นอะไรที่คนดูไม่ต้องการ พวกเขาแค่อยากพบเรื่องราวดีๆ ที่ตัวเองไม่มีทางจินตนาการออก
แต่พอพูดแล้วก็โดนแฮะ, ฉลามมีพิษฟังดูเจ๋งไม่เบาอยู่
[บทสัมภาษณ์] ผกก. The Meg เผยสูตรเด็ดของการปรุงหนังฉลาม ที่ประสบความสำเร็จ (by Filmaneo)
เจสัน กับผกก.