JJNY : 5in1 สัมมนาส่องละเมิดสิทธิในค่าย/ครูขอสอนขึ้นเวทีบอดินฯ/สุหฤทถามคนใกล้เกษียณ/หมู่อาร์มโพสต์ถาม/บ.ตั้งใหม่ส.ค.ลด7%

เก็บตกวงสัมมนา ส่องการละเมิดสิทธิในค่ายทหาร เสนอยกเลิกทหารเกณฑ์ พร้อมตั้งผู้ตรวจกองทัพโดยพลเรือน
https://prachatai.com/journal/2020/09/89670
 

 
อดีตนายทหาร อดีตทหารเกณฑ์ ผู้สื่อข่าวอิสระ ร่วมเวทีสัมมนาที่ทางสิทธิมนุษชนในค่ายทหาร เผยการละเมิดสิทธิทหารเกณฑ์-ทหารชั้นประทวน ชี้ พ.ร.บ.วินัยทหารย้อนแย้งในตัวเอง ควรปรับแก้ไข เสนอยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร พร้อมตั้งผู้ตรวจการละเมิดสิทธิภายในกองทัพโดยพลเรือน
  
เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2563 ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร จัดเวทีสัมมนาหัวข้อ “ที่ทางของสิทธิมนุษยชนในรั้วค่ายทหาร” วิทยากร ประกอบด้วย สิบเอกณรงค์ชัย อินทรกวี อดีตทหาร ศูนย์ซ่อมสร้างสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก, พริษฐ์ วัชรสินธุ  ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวอิสระซึ่งติดตามปัญหาการละเมิดสิทธิของทหารเกณฑ์ โดยมีปกรณ์ อารีกุล เป็นผู้ดำเนินรายการ
 
ประตูถูกปิดตาย : เมื่อทหารชั้นผู้น้อยถูกละเมิดสิทธิฯ และกลไกร้องเรียนตาม พ.ร.บ.วินัยทหาร ย้อนแย้งในตัวเอง
 
สิบเอกณรงค์ชัย อินทรกวี หรือหมู่อาร์ม อดีตทหารชั้นประทวนตำแหน่งเสมียนงบประมาณ ศูนย์ซ่อมสร้างสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก กล่าวถึงนิยามของคำว่า สิทธิมนุษยชนว่าคือ การที่คนทุกคนเกิดมาพร้อมกับสิทธิที่จะคิด พูด และแสดงออกด้วยการกระทำ โดยที่การแสดงออกนั้นอยู่ภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 
 
หมู่อาร์ม กล่าวต่อว่า สิทธิเหล่านี้โดยปกติแล้วคนมักจะมองไม่เห็นว่าตนเองมี และไม่รู้จะใช้สิทธินั้นอย่างไร โดยยกตัวอย่างจากประสบการณ์ในการเป็นทหารชั้นประทวน ซึ่งถูกผู้บังคับบัญชานำชื่อไปใช้ในการทุจริตเพื่อเบิกเบี้ยเลี้ยงการเดินทางไปราชการ โดยที่ไม่มีการเดินทางเกิดขึ้นจริง กรณีดังกล่าวนายทหารหลายคนอาจจะไม่คิดว่าเป็นการละเมิดสิทธิ แต่สำหรับตัวเขาเห็นว่านี่คือการละเมิดสิทธิที่ชัดเจนที่สุด เพราะมีการนำชื่อไปใช้เพื่อผลประโยชน์ของตนเองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของชื่อ และเมื่อเริ่มต้นร้องเรียน 
แสดงความไม่ยินยอมกลับพบกับการกลั่นแกล้งตามมา 
 
อดีตนายทหารกล่าวถึง พ.ร.บ.วินัยทหาร พ.ศ. 2476 ซึ่งบังคับใช้มานานแล้ว ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เองที่เป็นสาเหตุที่ทำให้คำว่า สิทธิมนุษยชน ไม่สามารถเข้าไปในรั้วค่ายทหารได้ โดยในหมวดว่าด้วยวินัยทหาร มาตรา 5 ระบุว่า วินัยเป็นหลักสําคัญที่สุดสําหรับทหาร เพราะฉะนั้นทหารทุกคนจักต้องรักษาโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ผู้ใดฝ่าฝืนท่านให้ถือว่าผู้นั้นกระทําผิด 
 
โดยการกระทำผิดวินัยทหารข้อหนึ่งระบุว่า ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคําสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน เมื่อผนวกใช้ภายใต้วัฒนธรรมทหารที่เชื่อถือว่า คำสั่งผู้บังคับบัญชาเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอ ไม่ว่าผู้บังคับบัญชาสั่งให้ทำอะไร ทหารชั้นผู้น้อยก็ต้องทำตาม ไม่เช่นนั้นอาจมีโทษทางวินัยได้ 
 
“ถ้าเขาสั่งให้โกง เราต้องโกงไหม ถ้าไม่โกงกลายเป็นเราดื้อดึง ขัดขืน หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติหน้าที่ นี่แหละคือการละเมิดสิทธิฯ นี่คือความไม่เท่าเทียม”
 
หมู่อาร์มกล่าวย้ำว่า นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวที่ยกมาให้เห็นถึงความย้อนแย้งใน พ.ร.บ.วินัยทหาร ซึ่งเขาเห็นว่า การที่วินัยทหารเขียนไว้อย่างกว้างๆ นั้นเป็นเปิดช่องให้มีการตีความพฤติกรรมที่อาจจะเป็นการกระทำที่ผิดวินัยทหารได้หลากหลาย พร้อมยกตัวอย่าง กรณีที่เกิดขึ้นกับตัวเองซึ่งถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปพูดคุย เพื่อสั่งให้ยุติการยื่นเรื่องร้องเรียนหน่วยงาน แต่เมื่อเขาไม่ได้ยุติเรื่อง ในวันถัดมาก็ถูกสั่งขังเพราะกระทำผิดวินัยทหาร ฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้ควรได้รับการแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนที่พึงกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ
 
เขากล่าวด้วยว่าสิ่งที่เขาเผชิญหน้าหลังจากแสดงตัวว่าไม่ยินยอมให้ใช้ชื่อเข้าไปอยู่ในกระบวนการทุจริตของผู้บังคับบัญชานั้น ทำให้เขารู้สึกเข้าใจความโกรธแค้นในเหตุการณ์กราดยิงโคราช เพราะเข้าใจความอึดอัดนั้นดี แต่ก็รู้สึกเสียใจที่ผู้เสียชีวิตจำนวนมากคือผู้บริสุทธิ์ และหลังจากนั้นก็ได้ทบทวนกับตัวเองว่าการกระทำในเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง 
 
“ผมไม่ได้ต้องการประณามจ่าจักรพันธ์ และผมก็ไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาทำ แต่ผมต้องการทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเพราะอะไรเขาถึงทำอย่างนั้น เขามีแรงขับอะไร และเราสมควรทำอย่างไรต่อไป แรงขับของเขาคือ ความกดดัน เนื่องจากถูกกดขี่ข่มเหง เมื่อคนเราถูกกดขี่มันก็คือ การละเมิดสิทธิ เขาเหมือนคนไม่มีทางออกเพราะมองไปทางไหน ทหารก็เป็นพวกเดียวกัน ในเมื่อสิทธิมนุษยชนเข้าไม่ถึงรั้วทหาร เขาจะต่อสู้ต่ออย่างไร จะไปพึ่งใคร และสุดท้ายแล้วก็ไม่มีที่พึ่ง”
 
เขากล่าวต่อไปถึง หมวดที่ 4 ของ พ.ร.บ.วินัยทหารว่า กล่าวถึงการร้องทุกข์ของนายทหาร โดยมีข้อกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ที่มีลักษณะสกัดกั้นไม่ให้เกิดการร้องทุกข์ หรือร้องเรียนได้ เช่น ต้องร้องทุกข์หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 24 ชั่วโมง ซึ่งหลายครั้งไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที หรือกำหนดว่า ต้องเป็นการร้องเรียนเพียงคนเดียว ห้ามจับกลุ่มกันร้องเรียน ซึ่งบางกรณีเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะที่ทำต่อคนเป็นกลุ่ม จึงไม่มีความเป็นไปได้ที่จะไม่ให้มีการจับกลุ่มกันร้องเรียน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
 
สิบเอกณรงค์ชัยเชื่อว่า ประเทศไทยสามารถมีกองทัพที่เข้มแข็ง และปกป้องสิทธิมนุษยชนของทหารผู้ใต้บังคับบัญชาได้ หากมีการปกครองด้วยจริยธรรม คุณธรรม และความเมตตา แต่ปัจจุบันการปกครองของทหารเป็นระบบ [เผล่ะจัง] มากเกินไป พร้อมยืนยันว่าสิ่งที่ตนได้ออกมาร้องเรียนเรื่องการทุจริตนั้น คือการปกป้องกองทัพ โดยไม่ต้องการให้กองทัพมีการทุจริตคอรัปชัน ใช้ภาษีเงินประชาชนโดยไม่เกิดประโยชน์ และต้องการให้ทหารเป็นทหารของประชาชน ไม่ใช่ทหารที่รับใช้ใครคนใดคนหนึ่ง 
 
“การจะทำให้กองทัพเข้มแข็งได้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบุคลากร ซึ่งเราจะต้องพัฒนาบุคลากร กำลังพลในกองทัพ ให้มีความรู้ความสามารถ และหากกองทัพเลือกที่จะเปลี่ยนจุดยืน เลือกที่จะเข้าข้างประชาชน เลือกที่จะเดินตามกฎตามกติกา วันนั้นกองทัพจะเป็นกองทัพของประชาชนได้อย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ใช่เอะอะอะไรก็จะรัฐประหาร”
 
รากเหง้าของการเกณฑ์ทหาร ไม่เคยผูกโยงกับคำว่าสิทธิมนุษยชน ทหารเกณฑ์ยังคงเป็นไอ้เณร ในวัดที่มีเจ้าอาวาสเป็นนายพล
 
ทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวอิสระ กล่าวถึงการเกณฑ์ทหาร กับสิทธิมนุษยชนว่า ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับคำว่าสิทธิมนุษยชนอีกครั้ง เพราะเป็นคำที่เกิดขึ้นใหม่ในสังคมไทย และการที่จะเข้าใจคำนี้ได้จำเป็นต้องมีหลายสิ่งเป็นองค์ประกอบ เช่น ระบอบการเมือง โครงสร้างอำนาจทางการเมือง และวัฒนธรรมทางการเมือง ซึ่งอาจจะเรียกรวมกันได้ว่า ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน และเมื่อพูดถึงสิทธิมนุษยชนกับการเกณฑ์ทหาร ก็จำเป็นต้องย้อนกลับไปดูรากของการเกณฑ์ทหารว่ามีที่มาอย่างไร เกิดภายใต้บริบทแบบใด 
 
เขากล่าวต่อว่า เดิมทีในรัฐสมัยโบราณ ราษฎรไม่รู้จักคำว่า สิทธิมนุษยชน เพราะในเวลานั้นไม่ได้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รัฐสมัยโบราณไม่ได้เป็นรัฐเสรีนิยม ราษฎรล้วนเสมอหน้าเทียมกันภายใต้การมีเจ้าชีวิตคนเดียวกันคือ พระมหากษัตริย์ ฉะนั้นการเรียกเกณฑ์ทหารในสมัยโบราณจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องยินยอม และไม่ได้รู้สึกว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะเวลานั้นคำว่าสิทธิมนุษยชนยังไม่เกิดขึ้นในสังคมรัฐโบราณ แต่อย่างไรก็ตามสถานะของการเป็นทหารเกณฑ์ในสมัยนั้นตามความรู้สึกของราษฎรถือเป็นสถานะที่ต่ำที่สุดในสังคม 
 
“อย่างแรกที่สุด การถูกเรียกเกณฑ์ทหารนั้นหมายถึงว่าคุณจะต้องไปเป็นแนวหน้า จากเดิมที่เคยเป็นไพร่สังกัดอยู่กับมูลนาย ใช้ชีวิตอยู่กับการจับเสียมจับจอบ วันหนึ่งคุณจะต้องไปจับดาบจับปืน ไปสู้กับศัตรู ผลที่ได้ก็คือ การออกไปตาย หากไม่ได้ออกไปสู้รบก็จะถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานในการสร้างวัง ซึ่งนี่เป็นสถานะที่คนในสมัยนั้นเข้าใจว่าอยู่ต่ำเสียยิ่งกว่ากรรมกรด้วยซ้ำไป”
 
ทวีศักดิ์ กล่าวต่อถึง การเปลี่ยนแปลงระบบการเกณฑ์ทหารว่า เกิดขึ้นในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 โดยในวันเดียวกันกับที่มีการประกาศเลิกทาสอย่างเป็นทางการ ก็มีการออกกฎหมายเกณฑ์ทหารแบบสมัยใหม่เกิดขึ้น ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องที่ย้อนแย้ง เพราะเมื่อมีการเลิกทาสแล้ว กลับยังมีการเรียกเกณฑ์แรงงานทาสอยู่ในนามของทหารเกณฑ์ 
 
“ด้วยระบบคิดที่ทหารเกณฑ์ไม่ได้เกิดขึ้นภายใต้กรอบของคำว่าสิทธิมนุษยชน สิ่งที่ส่งต่อมายังปัจจุบันคือ ทหารเกณฑ์ก็ยังอยู่ในฐานะที่ต่ำที่สุด หากเรียกในภาษาที่ใช้กันเขาเรียกกันว่าไอ้เณร คำว่าเณรถือเป็นสถานะที่ต่ำสุดในวัดซึ่งมีพระลูกวัดและเจ้าอาวาสที่อยู่เหนือกว่า และภายใต้ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่มีลักษณะอำนาจนิยมแนวดิ่ง ทหารเกณฑ์หรือทหารชั้นผู้น้อยก็จะไม่มีสิทธิ์มีเสียง ไม่สามารถโต้เถียงด้วยเหตุผลได้ เขาสั่งอะไรเราก็ต้องทำ”
 
เขากล่าวถึงคำถามที่ว่า ในกระบวนการเกณฑ์ทหารมีอะไรที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนบ้าง โดยชี้ว่า สิ่งที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นอันดับแรกคือ การบังคับให้ชายไทยต้องเข้ารับการตรวจคัดเลือกเป็นทหารกองประจำการ 
 
“การที่เราเกิดมา แล้วถูกบังคับให้ไปคัดเลือกทหาร ต้องไปจับใบดำใบแดง นี่คือสิ่งที่สะท้อนว่าเราไม่สามารถเลือกที่จะกำหนดชีวิตตัวเองได้ ผมเคยมีโอกาสไปสัมภาษณ์คนที่เคยเป็นทหารหลายคนที่ต้องไปเป็นทหารด้วยความไม่เต็มใจ หลายคนเพิ่งเรียนจบมา และมีงานรออยู่ แต่พอจับได้ใบแดงทุกอย่างที่วางเอาไว้ก็จบลง เมื่อกลับออกมาก็ไม่สามารถที่จะทำงานเดิมได้ บางคนก็ต้องเปลี่ยนไปทำสิ่งอื่นแทน การเลือกไม่ได้นี่แหละที่มันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน”
 
นอกจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในขั้นต้นแล้ว ทวีศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในค่ายทหารอีกหลายกรณี เริ่มต้นเมื่อเข้าไปเป็นทหารเกณฑ์ ทหารใหม่ทุกคนจะมีตารางชีวิตกำหนดไว้แบบตายตัว ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ และในช่วงกลางคืนจะมีห้องเรียน ซึ่งมีทหารยศนายร้อย นายสิบ ผลัดเปลี่ยนกันมาสั่งสอนว่าชาติคืออะไร โดยผูกโยงความรักชาติเข้ากับสถาบันกองทัพ สร้างนิยามความหมายของชาติที่ไม่ได้ผูกโยงกับประชาชน นอกจากนี้ในช่วงของการฝึก 10 สัปดาห์ สิ่งที่ทหารเกณฑ์หลายคนต่างเคยเจอคือการซ่อม บางครั้งเข้าใจได้ว่าเป็นการสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย แต่หลายครั้งก็มีการซ่อม หรือทำโทษที่ไม่สมเหตุ สมผล และไม่ได้สัดส่วนกับความผิดที่กระทำ
 
“ในค่ายทหารยังมีอะไรอีกเยอะแยะที่เกิดขึ้น โดยที่มายด์เซ็ทของครูฝึกหรือผู้ช่วยครูฝึกไม่ได้คำนึงถึงคุณค่าของความเป็นคนที่เท่ากันของพลทหาร แต่มองเห็นเขาเป็นแค่ผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นทรัพย์สมบัติของกองทัพ เราจะทำอะไรกับเขาก็ได้”
 
ทวีศักดิ์กล่าวต่อว่า ในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา พบว่าจำนวนความต้องการทหารเกณฑ์มีประมาณ 100,000 คนต่อปี แต่สิ่งที่ไม่เคยรับรู้มาตลอดคือ ทำไมกองทัพจึงต้องการกำลังพลมากมายขนาดนี้ และหากคิดในสัดส่วนของผู้ที่ต้องเข้าเกณฑ์ทหารแต่ละปี พบว่าปีหนึ่งมี 300,000 กว่าคน นั่นหมายความว่าจะต้องมีผู้ที่จับได้ใบแดงในสัดส่วน 1:2
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่