หนทางและเส้นทางกว่าจะเป็น "มาเลเซีย" และ "อินโดนีเซีย"

31 สิงหาคม เป็นวันครบรอบการประกาศเอกราชของมาเลเซียจากอังกฤษ ในวันนี้มาเลเซียมี 13 รัฐ โดยมี 11 รัฐทางตะวันตก 2 รัฐทางตะวันออก
ส่วนอินโดนีเซีย เพิ่งจัดวันครบรอบการประกาศเอกราช 75 ปีไปก่อนหน้านี้เล็กน้อย ในวันที่ 17 สิงหาคม หรือประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนหน้ามาเลเซีย
โลกมลายูสมัยก่อน ไม่ค่อยมีการรวมตัวกันเป็นสังคมระดับรัฐในระดับเชื้อชาติ นอกจากในเกาะชวาแล้ว แต่ละเมืองต่างก็แบ่งแยกกันปกครองตัวเอง
มาเลเซีย เริ่มต้นจากการแบ่งเป็นรัฐรวม รัฐแยก และอาณานิคมช่องแคบ ก่อนที่จะประกาศเอกราช และได้รวมกับอีก 2 อาณานิคมในเกาะบอร์เนียว
ส่วนอินโดนีเซีย เกิดจากอาณานิคมของดัตช์ในแต่ละเกาะและหมู่เกาะรวมตัวกันประกาศเอกราชจากดัตช์ จึงเกิดเป็นประเทศอินโดนีเซียขึ้นมา

สำหรับมาเลเซีย จุดเริ่มต้นของการรวมตัวแต่ละรัฐได้ เริ่มจากการที่สุลต่านของแต่ละรัฐเข้ามาขอเป็นรัฐในอารักขาด้วยเหตุผลและสถานการณ์ต่างๆ
รัฐรวม 4 รัฐ ได้แก่ เปราก์ ปะหัง เนเกอรีซัมบิลัน และ สะลาโงร์ ถูกรวมเข้าเป็นสหพันธรัฐมลายู อยู่ในการปกครองแบบกึ่งโดยตรงกึ่งปกครองตัวเอง
ส่วนอีก 5 รัฐ ได้แก่ เกดะห์ ปะลิส กลันตัน และ ตรังกานู มาอยู่กับอังกฤษหลังจากการเซ็นสนธิสัญญากับสยาม โดยมีอำนาจปกครองตัวเองระดับหนึ่ง
อีก 4 อาณานิคม ได้แก่ ปีนัง ดินดิง (ปัจจุบันรวมกับเปราก์) มะละกา และ สิงคโปร์ เป็นอาณานิคมช่องแคบซึ่งปกครองโดยตรงโดยรัฐบาลของอังกฤษ
ส่วน 3 รัฐฝั่งตะวันออก ซาบะห์ในตอนนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่ไม่ได้รวมกับฝั่งมลายู ส่วนบรูไนกับซาราวะก์ ยังมีอำนาจปกครองตัวเองอยู่

อินโดนีเซีย จุดเริ่มต้นคือการตั้งเมืองชายท่าที่เมืองบาตาเวีย หรือปัจจุบันก็คือจาการ์ต้า ก่อนที่จะเข้ายึดครองเกาะชวาและหมู่เกาะอื่นๆ รอบๆ ชวา
ดัตช์ เข้ายึดครองเมืองและอาณาจักรต่างๆ ในเกาะชวา สุมาตรา บอร์เนียว (กาลิมันตัน) บาหลี สุลาเวสี สุดไปจนถึงเกาะปาปัวที่แบ่งครึ่งกับอังกฤษ
โชคดีที่ว่า การประกาศเอกราชโดยส่วนใหญ่ มีศูนย์กลางอยู่ที่เกาะชวา นำโดยซูการ์โน ภายใต้ธงแดง-ขาว ทำให้การรวมชาติไม่ค่อยมีปัญหากันเอง
อย่างไรก็ตาม มีขบวนการบางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการประกาศรวมกันเป็นอินโดนีเซีย เช่น พวกอาเจะห์ ซึ่งได้ทำสงครามมาหลายสิบปีกว่าจะยุติลง
ถึงกระนั้น อินโดนีเซียในทุกวันนี้ มีหลายเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม แต่ก็อยู่ภายใต้ธงแดง-ขาว ที่ว่ากันว่าเป็นธงที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ยุคมัชปาหิต

เรื่องวิธีการได้เอกราช ถ้าเป็นอินโดนีเซีย แน่นอนว่าไม่มีอะไรมากไปกว่าการประกาศสงคราม ทำการต่อต้านพวกดัตช์ด้วยอาวุธ เสียเลือดเนื้อไม่น้อย
แม้ว่าดัตช์จะได้ชัยชนะทางทหาร แต่อินโดนีเซียกลับได้เปรียบทางการทูต ทำให้ในเวลาต่อมา จึงมีการลงนามให้อินโดนีเซียได้รับการรับรองเอกราช
ส่วนมาเลเซีย พึ่งพอใจกับการเป็นอาณานิคม เพราะอังกฤษเข้ามาพัฒนาส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนมลายูให้สูงขึ้น มีการส่งลูกหลานไปเรียนที่อังกฤษ
เมื่อเวลาผ่านไป อังกฤษประกาศตั้งสหภาพมาลายา แต่คนมลายูส่วนมากไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง เพราะถือว่าเป็นการบั่นทอนอำนาจสุลต่านแต่ละรัฐ
ดังนั้น อังกฤษจึงเปลี่ยนวิธีการวางแผนประกาศเอกราช โดยการให้มาเลเซียเป็นสหพันธรัฐ โดยยังมีสุลต่านปกครองอยู่ และเวียนกันขึ้นเป็นประมุข

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหนทางการได้เอกราชจะแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่อยู่ในใจของพลเมืองทั้ง 2 ประเทศคือ ความรักชาติ รักบ้านเมืองของตัวเอง
สำหรับคนมาเลเซีย ไม่ว่าจะรัฐไหน (อาจจะยกเว้นรัฐยะโฮร์บ้าง) ต่างก็ภูมิใจที่ได้เป็นคนมาเลเซีย มีความภูมิใจ ไม่ว่าเป็นชาวมลายู จีน อินเดีย
การวางรากฐานตั้งแต่ยุคอาณานิคมเป็นต้นมา ทำให้มาเลเซียเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางสังคมสูงที่สุดประเทศหนึ่งในบรรดาประเทศมุสลิม
ส่วนอินโดนีเซียนั้น ภาคภูมิใจกับการเสียสละของวีรชนที่เสียสละชีพเพื่อทำให้อินโดนีเซียสามารถมีเอกราชและมีการพัฒนาได้อย่างทุกวันนี้
การที่อินโดนีเซียเป็นประเทศโลกวิสัย ทำให้อินโดนีเซียเองก็มีความเจริญก้าวหน้าทางสังคมสูงเช่นเดียวกัน แม้จะไม่ถึงกับเหมือนมาเลเซียก็ตาม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่