ระบบไฟบ้าน 1 เฟส กับ 3 เฟส ต่างกันอย่างไร



ระบบไฟบ้าน เป็นรายละเอียดสำคัญที่ต้องวางแผนให้ดีตั้งแต่ออกแบบและก่อสร้าง โดยส่วนใหญ่เจ้าของบ้านจะใส่ใจเพียงว่า จำนวนปลั๊กในบ้านต้องมีกี่จุด ตรงไหนบ้าง เพื่อให้รองรับกับการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึง แต่มักจะลืมนึกถึงการเลือกระบบไฟฟ้าให้พอดีกับปริมาณการใช้งานไฟในบ้าน ซึ่งหากเลือกใช้ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น แรงดันไฟฟ้าตก-ไฟเกิน (Under-Over Voltage), กระแสเกินพิกัด (Over Load), ไฟฟ้าดับทั้งบ้านหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้ เนื้อหานี้ HomeGuru นำความรู้เรื่อง ระบบไฟบ้าน มาแบ่งปันกัน เพื่อให้ผู้อ่านเลือกสิ่งที่เหมาะกับการใช้งานมากที่สุดครับ

เพราะเราต้องยอมรับว่าการใช้ชีวิตภายในบ้าน สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ไฟฟ้า เพื่อใช้ในการให้พลังงานกับอุปกรณ์และเครื่องใช้ต่างๆ และในขณะใช้งาน ผู้ใช้ย่อมต้องคาดหวังความเสถียร ไฟไม่ตก ไฟไม่ดับ ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง



เชื่อว่าหลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องการติดตั้งระบบไฟฟ้า 1 เฟส และ 3 เฟสกันมาบ้าง แต่บางคนอาจยังไม่เข้าใจว่าคืออะไร สำคัญกับบ้านอย่างไรและอาจมีคำถามตามมา เช่น บ้านหลังใหญ่ใช้ไฟ 1 เฟสดีไหมหรือควรใช้ 3 เฟสไปเลย บ้านหลังเล็กต้องใช้ไฟ 1 เฟสเท่านั้นใช่หรือเปล่า จะสรุปให้เห็นภาพตามง่ายๆ ดังนี้ครับ



ระบบไฟฟ้าแบบ 1 เฟส (1 phase 2 wire)
ระบบไฟฟ้าแบบ 1 เฟส มีมิเตอร์ไฟแรงดัน 220V (โวลต์) มีสายไฟ 2 สาย คือ สายไฟ (L) เเละสายนิวทรอล (N) ต่อเข้ากับตู้เมนไฟฟ้าในบ้าน (Main Breaker หรือเรียกว่าคอนซูเมอร์ยูนิต) เหมาะกับบ้านพักอาศัยทั่วไป บ้านจัดสรร หรือห้องชุดที่คาดว่าจะใช้ไฟไม่มาก โดยส่วนใหญ่จะติดตั้งระบบไฟฟ้า 1 เฟส เพราะค่าใช้จ่ายในการขอติดตั้งและค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่สูงมากจนเกินไป และกำลังไฟครอบคลุมการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ อาทิ หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ 36 วัตต์ 10-20 ชุด, พัดลม 100 วัตต์ 1-4 ตัว, เครื่องปรับอากาศ 12,000-20,000 BTU 1-3 เครื่อง, โทรทัศน์ 250 วัตต์ 1-3 เครื่อง, เครื่องซักผ้า 3,000 วัตต์ 1 เครื่อง หากการใช้งานทั่วไปลักษณะนี้ ระบบไฟฟ้า 1 เฟสก็เพียงพอต่อความต้องการครับ



ระบบไฟฟ้าแบบ 3 เฟส
ระบบไฟฟ้ารูปแบบ 3 เฟส (3 phase 4 wire) มิเตอร์ไฟแรงดัน 220/380V มีสายไฟ 4 เส้น สายไฟ (L) จำนวน 3 เส้น เเละสายนิวทรอล (N) 1 เส้น ต่อเข้ากับตู้เมนไฟฟ้า ระบบนี้จะให้แรงดันไฟฟ้ามากกว่า จึงสามารถรองรับสำหรับบ้านขนาดใหญ่ อาคารพาณิชย์ Home Office โรงงาน หรืออาคารใดๆ ที่ต้องเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้ากินไฟมาก เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าใดๆ ที่มีกำลังวัตต์สูงเปิดใช้งานพร้อมๆ กัน



สำหรับบ้านที่มีการเพิ่มจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินกำลังไฟมากเพิ่มทีหลังโดยไม่ได้วางแผนรองรับไว้ก่อน เช่น เพิ่มรถยนต์ไฟฟ้า เพิ่มแอร์จำนวนมาก มิเตอร์ไฟฟ้า 1 เฟสที่ติดตั้งไว้อาจไม่สามารถรองรับได้ ส่งผลให้เกิดไฟตัด ไฟตกบ่อยครั้ง สันนิษฐานได้ว่าระบบไฟฟ้าเดิมไม่เพียงพอ อาจต้องเปลี่ยนมาใช้ไฟขนาด 3 เฟสแทน



โดยหลักการทำงานของระบบไฟฟ้า 3 เฟส จะไม่สามารถนำมาใช้กับระบบแสงสว่างหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าแต่ละชิ้นได้โดยตรง แต่เป็นการนำไฟฟ้า 3 เฟสมาแบ่งแยกให้เป็นระบบไฟฟ้า 1 เฟส 3 ชุด แล้วกระจายไปตามจุดต่างๆ ที่มีการใช้ไฟฟ้า เป็นการเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้า แต่ในกรณีที่บ้านเป็นไฟ 1 เฟสจะเพิ่มขนาดเป็น 3 เฟสไม่ได้ หากต้องการใช้ไฟที่มีขนาดมากกว่า 30(100) แอมป์ 3 เฟส 4 สาย ต้องขอขยายเขตติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งจะมีขั้นตอนที่เป็นระบบและมีค่าใช้จ่าย อาทิ ค่าติดตั้งและค่าประกันการใช้ไฟฟ้าตามเงื่อนไขการใช้งานนั้นๆ ทั้งนี้การติดตั้งระบบไฟฟ้า 3 เฟส จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีช่างไฟฟ้าหรือวิศวกรไฟฟ้าผู้ชำนาญการในการ Load Balance เพื่อควบคุมไฟฟ้าเฟสต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ถึงจะใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและอาจช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้อีกด้วยครับ



การเลือกใช้ระบบไฟฟ้า 1 เฟส หรือ 3 เฟส จุดสำคัญจึงอยู่ที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้า หากเป็นบ้านเรือนทั่วไปก็สามารถใช้ระบบไฟฟ้า 1 เฟสได้อย่างสบายใจครับ แต่หากจำนวนไฟฟ้าเยอะขึ้นหรือใช้มากกว่าบ้านทั่วๆ ไป การพิจารณาระบบไฟฟ้า 3 เฟส ย่อมตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า



เห็นไหมครับว่า การเลือกระบบไฟฟ้านั้นมีความจำเป็นมาก ก่อนเลือกขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าจึงควรให้ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบไฟฟ้า คำนวณปริมาณไฟฟ้าที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน ให้เหมาะสมระบบไฟฟ้าที่ต้องการติดตั้ง หรือคำนวณเผื่ออนาคตอันใกล้ เพราะหากมีการต่อเติมขยับขยายภายหลังจะได้รองรับกับการใช้งาน โดยที่ไม่ต้องปรับแก้หรือขออนุญาตไฟใหม่ภายหลังครับ


HomeGuru by HomePro
อุ่นใจทุกเรื่องบ้านไปกับโฮมโปร และติดตามเคล็ดลับดีๆ เพื่อบ้านได้ทาง http://bit.ly/HomeGuru_Homepro
และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นปัญหาเรื่องบ้านกับ HomeGuru เพิ่มเติมได้ทาง https://bit.ly/3dQm4XE
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่