DIY ทำปลั๊กพ่วงมาตรฐานระดับเดียวกันกับ มอก. ใช้เอง #3

ผมเคยตั้งกระทู้ทำปลั๊กพ่วงมาตรฐานใช้เองมาแล้ว 2 กระทู้คือ 1. https://ppantip.com/topic/38472804 และ 2. https://ppantip.com/topic/38662121 ปลั๊กพ่วงพวกนั้นยังใช้กันอยู่ทุกวันจนถึงวันนี้ แต่เนื่องจากครอบครัวของผมมีบ้านหลายหลังพ่อแม่อยู่อีกหลัง น้องก็อยู่อีกหลังซึ่งอยู่ติดๆ ปลั๊กพ่วงที่ซื้อสำเร็จมาก็ทะยอยเสียผมก็เลยยกเอาปลั๊กพ่วงตัวที่ผมประกอบไปให้ใช้ ส่วนของผมซื้อมาประกอบใช้เองใหม่และพัฒนาเพิ่มขึ้นอีกขั้นใช้เบรกเกอร์ปิดเปิดเพิ่มเข้าไปทำให้สะดวกสบายไม่ต้องคอยถอดปลั๊กและเป็นอุปกรณ์ป้องกันกระแสเกินอย่างดี นอกจากนี้ยังใช้บล็อกอลูมิเนี่ยมอัลลอยด์ที่ทนทานใช้งานได้ยาวนานจึงมาตั้งเป็นกระทู้นี้เพื่อให้คนที่พอมีความรู้ด้านนี้บ้างใช้เป็นแนวทางในการทำปลั๊กพ่วงใช้เอง  ปลั๊กพ่วงชุดนี้ผมลงทุนประมาณชุดละ 500 บาท ราคาพอๆ กับที่เขาทำขายสำเร็จ แต่ความทนทานอายุการใช้งานจะทนกว่ามากหากอุปกรณ์ใดชำรุดเสียหายก็มีอะไหล่เปลี่ยนได้ทุกตัวเพราะใช้อุปกรณ์เดียวกันกับที่ใช้ในบ้านเมื่อทำสำเร็จแล้วจะมีหน้าตาแบบนี้



อุปกรณ์ที่ใช้ 1. กล่องบล็อกอลูมิเนี่ยมหล่อหาซื้อจากห้างขายอุปกรณ์ก่อสร้าง ผมได้มาราคา 67 บาท ถูกกว่าบล็อคยางเสียอีก ในภาพผมซื้อมาพร้อมแคลมป์จับสายไฟเลื่อกให้มีขนาดเท่ากันใช้ร่วมกันได้และผมเลือกตัวถูกที่สุดราคา 7 บาท และใช้สายไฮโดรลิกเก่ามาป้องกันไม่ให้สายไฟขูดขีดกับกล่อง ถ้าซื้อแบบแพงๆ จะมีลูกยางหรือพลาสติกให้มาด้วยสวยงามกว่าของผม   2. เบรกเกอร์ ขนาด 10 แอมป์ หรือ 15 แอมป์ ขึ้นอยู่กับขนาดสายไฟแต่ของผมตัวหนึ่งจะเป็นขนาด 20 แอมป์ เพราะจะนำไปใช้กับตู้เชื่อมไฟฟ้า   3. เต้ารับ 3 ขาตัวคู่ในภาพเป็นยี่ห้อเก่าแก่ของไทย วีน่า ซึ่งคุณภาพไม่เป็นรองยี่ห้อต่างประเทศ ส่วนอีกยี่ห้อคือ ฟิลลิปส์ เป็นเต้ารับแบบมีแผ่นนิรภัยปิดป้องกันไม่ให้อะไรเข้าไปได้   3. หัวปลั๊กตัวผู้ชนิด 3 ขา มาตรฐาน มอก.ไทย จริงๆ แล้ว มอก.กำหนดให้เป็นปลั๊กแบบขากลมแต่เมืองไทยไม่มีหัวปลั๊กขายขากลมมาตรฐานไทยที่มีขายมีแต่แบบยุโรปซึ่งวางตำแหน่งขาสลับกันไม่ควรนำมาใช้ ตัวที่ผมซื้อมาจึงดีที่สุดเท่าที่ผมหาได้แล้ว ส่วนปลั๊กพ่วงที่จะนำไปใช้กับตู้เชื่อมตัวที่ใช้เบรกเกอร์ 20 แอมป์ จะเข้าสายที่ตู้คอนซูเมอร์โดยตรงไม่ใช้ปลั๊กเพราะกระแสสูงเกินพิกัดที่จะใช้ปลั๊ก    4. สายไป VCT ขนาดหน้าตัด 1.5 mm X3 (สำหรับปลั๊กพ่วงยาวไม่เกิน 10 เมตร พิกัดกระแส 16 แอมป์) ในภาพที่ขดอยู่ด้านหลังเป็นขนาดหน้าตัด 2.5 mm X3 จะใช้กับตูเชื่อมไฟฟ้าซึ่งกินไฟมากพอๆ กับเครื่องทำน้ำร้อนก็เลยต้องใช้สายใหญ่กว่ามาตรฐาน ส่วนสายที่เข้าหัวปลั๊กแล้วเป็นขนาดหน้าตัด 1.5 mm    5. ชุดแผงหน้ากาก 2 ช่องใหญ่ แบบหน้ากว้างตามมาตรฐานใหม่    6. เครื่องมือช่างอื่นๆ เช่นไขควง หัวแร้ง ตะกั่วบัดกรี คีม มีดคัตเตอร์หรือมีดอื่นๆ ใช้ปอกสายไฟ  กาวซิลิโคนร้อนที่เขาขายเป็นแท่ง



การประกอบไม่ยุ่งยากใช้มีดคัตเตอร์ปอกสายไฟออกมาจะเจอสายไฟ 3 เส้นคนละสีกัน ในภาพจะเป็นสีน้ำตาล ขาว และฟ้า บางรุ่นจะเป็นสีอื่นๆ ก็ใช้ได้ทั้งหมด จะสีใดก็ตามควรกำหนดให้สาย L N เป็นไปตามมาตรฐานสากลการตรวจซ่อมภายหลังจะทำได้ง่ายไม่สับสน  ในที่นี้ผมใช้สีน้ำตาลเป็น L  ขาวเป็น N  สายสีฟ้าเป็น G  ปอกปลายสายไฟออกให้เห็นทองแดงทุกเส้น ความยาวที่จะปอกให้ดูที่ตัวเต้ารับด้านหลังจะมีสเกลให้เทียบ  เนื่องจากสาย VCT เป็นสายไฟชนิดสายอ่อนตีเกลียวเราจะเสียบเข้าไปในเต้ารับที่เป็นแบบเสียบไม่ได้  ผมแก้ปัญหาโดยใช้ตะกั่วบัดกรีเคลือบสายไฟก็จะแข็งเสียบเข้าไปได้แน่นหนาดี


 
จากนั้นโยงสายภายในให้ถูกต้องที่ตัวเบรกเกอร์และเต้ารับมีบอกไว้หมดแล้วว่าจุดไหนเป็นสายอะไร  ตามมาตรฐานให้ต่อสายไฟเข้าที่ขั้วด้านบนของเบรกเกอร์ส่วนด้านล่างต่อเข้าเต้ารับเพื่อใช้งานกับโหลดต่อไป  การเข้าสายที่หัวปลั๊กต้องเข้าให้ถูก ดูขา L N G ให้เทียบกับตำแหน่งขาบนเต้ารับ ผมมีทริกเล็กน้อยให้เข้าสายแน่นหนายิ่งขึ้นดึงไม่หลุดคือบัดกรีปลายสายไฟเป็นวงกลมแล้วขันเข้าหัวปลั๊กด้วยสกรู ไปดูรูปประกอบที่กระทู้เก่าของผมได้ หลังจากโยงสายเสร็จก็ใช้กาวซิลิโคนร้อนติดเบรกเกอร์ให้แน่นหนาเหตุที่ต้องใช้กาวชนิดนี้เพื่อความสะดวกในการซ่อมภายหลัง ที่ช่องสกรูขันสายไฟบนตัวเบรกเกอร์ให้หาแผ่นพลาสติกบางๆ อะไรก็ได้มาปิดไว้เพื่อความปลอดภัย

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่