สมัยก่อนร.4 เราเรียกประเทศต่างๆ ว่าประเทศอะไรบ้างครับ

- อย่างประเทศอินเดียเราเอามาจากไหนฮะ เพราะผมอ่านประวัติศาสตร์โดยเฉพาะช่วงอยุธยา กับตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็ไม่เคยเจอคำว่าอินเดียนะ ตอนที่อินเดียเป็นเมืองขึ้นอังกฤษตอนช่วงร.3 เราเรียกว่าประเทศไรฮะ เเล้วนตอนที่บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษส่งตัวเเทนมา  ในพงศาวดารไรพวกนี้เค้าเรียกว่าผู้เเทนข้าหลวงอุปราชเเห่งอินเดียงั้นหรอฮะ สำหรับการเรียกอย่างเป็นทางการในช่วงเวลาที่มาเข้าเฝ้าร.2 ร.3 ร.4
- อังกฤษนี่เราเอามาจากภาษาไร ผมเคยอ่านเอกสารเก่าๆ เห็นบางเล่มเขียนว่า "อังกริษ" ก็มี เเต่ถ้าธรรมดาเราเรียกว่า "England" เเล้วคำว่าอังกฤษเราเอามาจากไหน
- ฝรั่งเศสเราเอามาจากไหน เหมือนผมเคยเห็นคำว่า "Francais" เเต่ผมไม่มั่นใจว่ามันคือคำนี้มั้ย
- เกาหลีเราเรียกว่าอะไรฮะ เหมือนผมเคยได้ยินคำว่า "ลิ่วขิ่ว" เเต่ฟังดูไม่น่าจะใช่คำว่าเกาหลี
- ญี่ปุ่นด้วย
เเถมอีกข้อนึงผมสงสัยจริงๆ ในเอกสารรึว่าพงศาวดารสมัยอยุธยาเคยมีการกล่าวถึง จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์กับรัสเซียกับชาติอื่นในยุโรปนอกจากนี้มั้ย พอดีผมอยากรู้ เเล้วเค้าเรียกว่าอะไร
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 2
ข้างบนไม่มีอินเดีย
ผมเขียนเรื่องเดียวละกัน

ของอินเดียนี้ คำเรียกเก่าแก่คือ "แขก" ไงครับ แล้วตามด้วยพื้นที่ หรือเอกลักษณ์
ถ้ากลางเก่ากลางใหม่ เช่น แขกอัสสัม แขกคุชราฏ (กุจราช)
แขกเบงกอล แขกปากี แขกปาทาน ที่ตอนหลัง เป็นบังคลาเทศ กับปากีสถาน
หรือบางทีเรียกตามศาสนาที่ชัดเจนเพราะผ้าโพกหัว แขกซิกซ์หรือแขกโพกผ้า
เราใช้ปนกัน ก็แบบที่เราเข้าใจปัจจุบัน

แต่สมัยเก่ามากๆ

ข้อความคล้ายกันทำนองนี้ (พูดถึง ‘ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์’ ) ปรากฎในหลายที่ ขอยกจากเพจหนึ่ง ที่อธิบายเรื่องราวได้ดีและละเอียด


https://facebook.com/WipakHistory/posts/1079531378776998/?_rdc=1&_rdr
แขก คำไทยเรียกชนชาติ
.

แขก เป็นคำที่คนไทยใช้เรียกชนชาติทางตะวันตกซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชาติที่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป บางบางชนชาติอาจนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หรืออาจเป็นชาติที่อยู่ใกล้ๆ ไทย

แขก มีความหมายว่า ‘ผู้มาเยือน’ นอกจากไทยภาคกลางแล้วก็ยังใช้กันในคนอีสานเรียก “ไทแขก” หมายถึง ผู้ที่มาเยือน (ไท แปลว่า คน หรือ ชาว) ซึ่งเป็นคนต่างถิ่น และในลาวก็มีชื่อเมือง “ท่าแขก” อยู่ในแขวงคำม่วน เป็นต้น สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคำที่ใช้กันในตระกูลภาษา ไท-ลาว

สันนิษฐานว่าเป็นคำเดียวกับภาษาจีน 客 (เข้อ) หรือสำเนียงแต้จิ๋วออกเสียงว่า แขะ หมายถึงชาวฮากกาหรือจีนแคะ ซึ่งคำนี้ตามความหมายแปลว่า ‘ผู้มาเยือน’ เช่นเดียวกัน

.

เหตุที่ใช้คำนี้เรียกชาวอินเดีย อาหรับ หรือชาติมุสลิมอื่นๆ เพราะสันนิษฐานว่าเป็นชาวต่างชาติกลุ่มแรกๆ ที่ได้เดินทางเข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิ

สำหรับชนชาติที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับไทย ที่นับถือศาสนาอิสลามก็มักจะถูกเรียกว่าแขกไปด้วยเช่นจามหรือมลายู
.

คนไทยสมัยโบราณ ก็ได้แบ่งกลุ่มย่อยๆ ของชนชาติ ‘แขก’ เหล่านี้โดยอาศัยความแตกต่างของภาษา ศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งปรากฏให้เห็นใน ‘ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์’ หรือ 'เรื่องนางนพมาศ' ที่สันนิษฐานว่าเป็นวรรณกรรมสมัยรัชกาลที่ ๓ ไว้หลายกลุ่ม ดังนี้

“แขกอาหรับภาษา ๑ แขกมห่นภาษา ๑ แขกสุหนี่ภาษา ๑ แขกมั่งกะลี้ภาษา ๑ แขกมะเลลาภาษา ๑ แขกขุร่าภาษา ๑ แขกฮุยหุยภาษา ๑ แขกมลายูภาษา ๑ แขกมุหงิดภาษา ๑ แขกชวาภาษา ๑ แขกจามภาษา ๑ แขกพฤษภาษา ๑”

-แขกอาหรับ คือ ชาวอาหรับ (Arab) ซึ่งเป็นกลุ่มชนชาติเซมิติก (Semitic) ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในแถบตะวันออกกลางอย่างเอเชียตะวันตกและแอฟริกาเหนือ บริเวณคาบสมุทรอาหรับ

-แขกมห่น บางที่เรียก "มะหง่ล" หรือ "มะหงุ่น" มาจากคำว่า โมกุล (Mughal) ซึ่งเป็นมุสลิมที่สืบเชื้อสายจากชาวมองโกลที่ปกครองอินเดียในศตวรรษที่ ๑๖-๑๙ คำนี้ใช้เรียกมุสลิมที่เดินทางมาจากอินเดียแบบรวมๆ โดยอาจจะไม่ได้เป็นคนในอินเดียก็ได้ ซึ่งก็มีหลักฐานสมัยสมเด็จพระนารายณ์ระบุว่าทหารม้าชาวอิหร่านในอินเดียถูกเรียกว่า "โมกุล" เช่นเดียวกัน

-แขกสุหนี่ หมายถึงชาวมุสลิมนิกายซุนนี (Sunni) ซึ่งเป็นนิกายที่มุสลิมส่วนใหญ่นับถือ ยกเว้นในแถบอิหร่านซึ่งนับถือนิกายชีอะหฺ

-แขกมั่งกะลี้ หรือ บังกะหล่า หมายถึงชาวเบงกาลี (Bengali) ซึ่งอยู่ในแถบตอนเหนือของอินเดียหรือในบังกลาเทศ

-แขกมะเลลา ไม่ทราบชัด อาจจะหมายถึงชาวมุสลิมที่อยู่ในมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

-แขกขุร่า น่าจะหมายถึง กุรข่า (Gurkha) ซึ่งเป็นชื่อเรียกกลุ่มทหารของเนปาล

-แขกฮุยหุย หมายถึงชาวหุย (Hui) ซึ่งเป็นมุสลิมในประเทศจีน ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากมุสลิมหลายชนชาติที่เดินทางมายังจีนตั้งแต่สมัยโบราณเช่นอาหรับ เปอร์เซีย

-แขกมลายู หมายถึง ชาวมลายู (Melayu) หรือ มาเลย์ (Malay) คือชนชาติที่อาศัยอยู่ทางใต้บริเวณคาบสมุทรมลายู และหมู่เกาะของเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ คือบริเวณภาคใต้ของไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย

-แขกมุหงิด หมายถึง บูกิส (Bugis) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองในเกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย

-แขกชวา หมายถึง ชาวชวา (Jawas) ซึ่งอาศัยอยู่บนหมู่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย

-แขกจาม หมายถึง ชาวจาม (Chams) ซึ่งเคยตั้งอาณาจักรจามปาทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม

-แขกพฤษ ไม่ทราบ

.

ในเอกสารคำให้การขุนหลวงหาวัดประดู่ทรงธรรม ซึ่งมีการบรรยายภูมิสถานกรุงศรีอยุทธยา (เดิมเรียบเรียงจากเอกสารในหอหลวง แต่มีการแทรกความเพิ่มในสมัยหลัง) ยังได้กล่าวถึงชนชาติ ‘แขก’ อีกหลายชาติเพิ่มเข้ามา ได้แก่

-แขกกุศราช หมายถึง แขกจากรัฐคุชราต (Gujarat) ในอินเดีย

-แขกสุรัด หมายถึง แขกจากเมืองสุราษ (Surat) ในอินเดีย

-แขกเทศ มักหมายถึงชาติที่อยู่ไกลไม่ใช่เพื่อนบ้านอย่างรวมๆ อย่างอาหรับ เปอร์เซีย อินเดีย แต่ในบางความหมายอาจหมายถึงชาวยุโรปด้วย

.

ในจารึกโคลงภาพคนต่างภาษา ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ ก็ยังมีแขกอีกได้แก่

-แขกจุเหลี่ย หมายถึง มุสลิมซึ่งอาศัยอยู่ตามชายทะเลทางภาคใต้ของประเทศอินเดียรวมถึงเกาะลังกา

-แขกปะถ่าน หมายถึง ชาวปาทาน (Pathan) หรือปัชทุน (Pashtun) ซึ่งเป็นมุสลิมในแถบอัฟกานิสถานและปากีสถาน

.

นอกจากนี้ยังมีคำอื่นๆ เช่น

-แขกมักกะสัน ซึ่งคือชาวมากัสซาร์ (Makassar) จากสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย

-แขกเจ้าเซ็น ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นคำเรียกมุสลิมชีอะหฺซึ่งส่วนมากเป็นเปอร์เซีย ซึ่งมุสลิมชีอะหฺจะทำพิธีกรรมที่เรียกว่า 'พิธีเจ้าเซ็น (มุฮัรรอม/มะหะหร่ำ Muḥarram)' ซึ่งเป็นการรำลึกถึงอิหม่ามฮุเซ็นที่ถูกสังหาร โดยเป็นไปได้ว่าคนไทยในอดีตจะเรียกชาวเปอร์เซียจากพิธีกรรมดังกล่าว

-อรุม อรุ่ม หรุ่ม หรือ หรุ่มโต้ระกี่ สันนิษฐานว่าหมายถึงมุสลิมชาวเติร์ก (Turks) หรือตุรกี โดยคำว่า อรุม มาจากคำว่า รูม (Rûm) ภาษาอาหรับของ โรมัน (Ρωμιοί) หมายถึงอาณาจักรโรมันตะวันออกที่มีคอนสแตนติโนเปิล (คือกรุงอิสตันบูล เมืองหลวงของตุรกี)เป็นศูนย์กลาง ซึ่งภายหลังถูกชาวเติร์กยึดครอง เลยใช้คำนี้เรียกมุสลิมชาวเติร์ก

-แขกสลุป หมายถึงพ่อค้าที่เดินทางมาด้วยเรือสลุป

-แขกตานี คือชาวปาตานี หรือ จังหวัดปัตตานีในปัจจุบัน

.

ในบางกรณีแขกจึงถูกเหมารวมไปด้วยสำหรับชนชาติที่มีหน้าตาคมเข้ม ตาโต หรือใช้เป็นคำเรียกคนที่มีลักษณะดังกล่าวด้วย

แม้ว่ารากศัพท์เดิม (ตามการสันนิษฐาน) คำว่า "แขก" ไม่ได้มีความหมายในเชิงลบ แต่หลายครั้งก็ถูกมองโดยชนชาติที่ถูกเรียกเช่นนี้ว่ามีความหมายในเชิงเหยียดหยามอยู่ในบางครั้ง และทำให้เกิดความไม่พอใจที่จะถูกผู้อื่นเรียกตนว่าเป็น "แขก" ได้บ้าง




ส่วนคำว่า "อินเดีย" เราเรียกตามอังกฤษ เจ้าของอาณานิคมภายหลัง  ซึ่งที่จริงก่อนหน้าใช้เรียกกันหลายชาติ ตั้งแต่อังกฤษยังเป็นวุ้น สเปนกับโปรตุเกสแข่งกัน
ที่โคลัมบัส รับจ้างกษัตริย์สเปนออกสำรวจ แล้วไปขึ้นบาฮามาส เกือบถึงฟลอริดา แล้วเข้าใจผิดว่าเป็นอินเดีย ตอนหลังเลยเรียกชนพื้นเมืองว่าอินเดียนแดง ส่วนด้านโปรตุเกส วาสโก ดา กามา เลาะไปตามฝั่ง ไปอีกด้าน ขึ้นอินเดียได้จริงฝั่งตะวันตก หลังจากนั้นอีกราวทศวรรษ รุ่นน้องอย่างแมคเจลลัน รับจ้างสเปน (ลูกเรือส่วนใหญ่สเปน มีคนโปรตุเกสแค่เล็กน้อย) ก็สำรวจวนรอบโลก ได้ขึ้นอินเดียเช่นกัน แต่มาตายที่ฟิลิปปินส์ เรือเหลือลำเดียว เกือบ 300 ตายเกือบหมด ขากลับกัปตันเสปนพากลบบ้าน พร้อมคนแค่ 18 ชีวิตที่เหลือ

(ในภาษาอังกฤษจริงๆ การเรียกคำว่า "อินเดีย" เท่าที่เคยเรียนมา กับทั้งคน British และ American และเช็คพจนานุกรมมาตฐานหลายแห่ง ล้วนออกเสียง 3 พยางค์ อิน-ดี-อา อาจมีภาษาถิ่นบางแห่งเท่านั้น ทีออกเสียง 2 พยางค์เหมือนเรา ที่ถือว่าพออนุโลม กล้อมแกล้มไป)

อินเดีย นั้นคือคำเดียวกับ "ฮินดู" ที่เราคุ้นอยู่แล้ว
"ฮินดู" ที่รู้จักกันว่าเป็นชื่อศาสนาแห่งวรรณะที่คนนับถือมากที่สุด คำเดียวกับสินธุ ที่เป็นชื่อแม่น้ำ แต่เพราะอินเดียชมพูทวีป สถานที่กว้างใหญ่ สำเนียงจึงมีหลากหลาย คนจำนวนมาก ไม่ออกเสียง "ส" ข้างหน้า sindhu หรือ indus ก็ความหมายเดียวกัน
คนอินเดีย เรียกภาษาตัวเองว่า "ฮินดี" ถึงภาษาแถบลุ่มน้ำฮินดูหรือแม่น้ำสินธุ
นี่ก็ชื่อเรียกมากมายต่างไปอีก แล้วแต่ถิ่นคนพูด ที่จะออกเสียง Hindi, Hindui, Hindavi, Dehlavi, Rekhta, Hindustani

และคำที่เรียกประเทศนั้น ที่คนอิเดียใช้ เราคันๆ กัน แต่มักไม่รู้ความหมาย
คือคำว่า Bharat ออกเสียงว่า "ภารัต" แปลว่าสืบเชื้อสายมาจากพระจักพรรดิยิ่งใหญ่ในตำนาน บุตรพระเจ้าดุษยันตะและพระนางศกุนตลา คือ Bharata อ่านว่า "ภารตะ" ที่คำนี้เราคุ้นกันดี
(แต่ด้วยความที่เขียนเป็นโรมัน-สันสกฤต ถ้าใครอ่าน text ฝรั่ง หรือฟังสารคดีฝรั่ง แล้วเรามักจะงงกับสำเนียงฝรั่ง ที่ไปออกเสียงเป็น บาระตะ ปัจจุบันมีผู้ให้บริการมือถือรายใหญ่สุดที่มีลูกค้ากว่า 400 ล้านราย ตั้งชื่อ Bharti Airtel เราออกเสียง "ภารตี" กันได้อยู่แล้ว แต่ฝรั่งทำเรางงเมื่อไปเรียก "บาตี")

คำว่า "อินเดีย" ล่ะ จริงๆ ทำไมเสียงคุ้นๆ?
การออกเสียง เอียๆ เป็นการดัดแปลงเสียงให้เข้ากับปากคนตะวันตก ที่เราได้ยินในชีวิตประจำวัน
หนึ่งในคำมาตรฐานที่สื่อสถานที่/แว่นแคว้น/แผ่นดิน/ดินแดน (คำอื่นมาตรฐาน ก็เช่น -land, -nesia, -stani/-stan[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้)
  
สถานที่หรือดินแดน ที่ฝรั่งถือว่าแผ่นดินเป็นเพศหญิง ... เหมือนชื่อผู้หญิง ลงท้ายด้วย -ia หรือ -ya แล้วแต่คน แล้วแต่ย่าน (โซเนียหรือซอนย่า, ญาญ่า, อาร์ย่า หรืออาเรีย, ธอนญ่า, ธัญญ่า, โซเฟีย, ลิเดีย, นาเดีย ฯลฯ... แล็วก็ เมียยยยย... อันนี้ไม่เกี่ยวแฮะ ภาษาไทย

อย่างแผ่นดินที่ตั้งชื่อให้เกียรติโคลัมบัส คือ Columbia และ Colombia (สะกดต่างกัน เพราะยุโรปคนละชาติ)
เรียกอยุธยาว่า อโยเดีย (แปลว่ารบไม่แพ้) หรือโยเดีย (แปลว่าขี้แพ้ เมื่อตัดคำอุปสรรค อ- ออก)
ฯลฯ

ในรัสเซีย เครือข่ายรถไฟใต้ดิน ก็ลงท้ายด้วย -ya เต็มไปหมด เช็คกับคนรัสเซียมาแล้ว เป็น suffix หมายถึงสถานที่เช่นกัน
แต่ภาษารัสเซียเอง Russia เป็นภษาอังกฤษ เรียกชื่อประเทศตัวเอง Росси́я ออกเสียง Rossiya ตัวเหมือน NR กลับกระจกนั้นคือออกเสียง ya "-ญ่า" ที่ว่าสถานีรถไฟฟ้าทั้งหลายลงท้ายด้วยชื่อนี้  и́ นั้น มีอะไรบนหัว แสดงอาการพูดออกเสียงนาสิกนิดหน่อย พูด "นย" พร้อมๆ กัน
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 7
- อย่างประเทศอินเดียเราเอามาจากไหนฮะ เพราะผมอ่านประวัติศาสตร์โดยเฉพาะช่วงอยุธยา กับตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็ไม่เคยเจอคำว่าอินเดียนะ ตอนที่อินเดียเป็นเมืองขึ้นอังกฤษตอนช่วงร.3 เราเรียกว่าประเทศไรฮะ เเล้วนตอนที่บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษส่งตัวเเทนมา  ในพงศาวดารไรพวกนี้เค้าเรียกว่าผู้เเทนข้าหลวงอุปราชเเห่งอินเดียงั้นหรอฮะ สำหรับการเรียกอย่างเป็นทางการในช่วงเวลาที่มาเข้าเฝ้าร.2 ร.3 ร.4

ในเอกสารภาษาไทยสมัยโบราณเรียกว่า เมืองพราหมณ์ เมืองแขกเทศ  ยังปรากฏใช้อยู่ในประชุมประกาศสมัยรัชกาลที่ ๔

คำว่า แขกเทศ เป็นคำกว้างๆ ที่ใช้เรียกมุสลิมจากตะวันตก อาจจะครอบคลุมตั้งแต่อนุทวีปอินเดียไปถึงเปอร์เซีย ออตโตมัน อาหรับ  และอาจมีการเรียกแยกตามเมืองต่างๆ ตามที่ คห.2 นำข้อมูลจากเพจของผมมาลงแล้ว    


ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ เรียกเมืองเบงกอลซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองของอังกฤษในอินเดียว่า เมืองมังกลา  ครั้งนั้นเจ้าเมืองส่งจอห์น ครอว์เฟิร์ดมาเป็นทูตเจริญสัมพันธไมตรี  มีการเรียกอินเดียว่า เมืองฮินดูสตาน (มาจาก ฮินดูสถาน ซึ่งเป็นชื่อที่เปอร์เซียใช้เรียกอนุทวีปอินเดีย) และ ทวีปอินเดีย  แต่ทั้งนี้พงศาวดารฉบับนี้ชำระขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงไม่ชัดเจนว่าชื่อบางชื่อที่ปรากฏมีการใช้งานจริงตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ หรือไม่


ในสำเนาสนธิสัญญาหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างไทยกับอังกฤษ จ.ศ. ๑๑๘๘ (พ.ศ. ๒๓๖๙) สมัยรัชกาลที่ ๓  หรือสนธิสัญญาเบอร์นี เรียกอินเดียที่อยู่ในอาณานิคมของอังกฤษว่า "เมืองอินเดิยของอังกฤษอยู่ในบังคับดิงอันปาลิแมนอังกฤษกับเรดอัน"  เรียกลอร์ดแอมเฮิร์ส (William Pitt Amherst, 1st Earl Amherst) ผู้ว่าราชการเมืองเบงกอลว่า "ณรบัดลอดอำหัดสิดเจ้าเมืองมั่งกลา"      นอกจากนี้ก็พบการเรียกดินแดนในปกครองของอังกฤษว่า "เมืองอังกฤษ" ด้วย


ในโคลงภาพคนต่างภาษาที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สมัยรัชกาลที่ ๓ ยังมีคำเรียกอินเดียอีกหลายคำเช่นโคลงภาพสระกาฉวนระบุว่า ชาวสระกาฉวนอาศัยอยู่ที่  "เนาแดนฮินดู่ด้าว   อินเดีย ทวีปแฮ"

โคลงภาพแขกจุเหลี่ย ระบุว่า "อยู่แดนมัทราสหมั้ว  มูลมี มากนา"   มัทราส (Madras) คือชื่อเดิมของเมืองเจนไน (Chennai) บนชายฝั่งโจฬมณฑล ของอินเดีย

โคลงภาพพราหมณ์รามเหศร์ ระบุว่าพราหมณ์รามเหศร์มาจาก รามรัฐ หมายถึง ราเมศวรัม (Rameswaram) ทางตอนใต้ของอินเดีย  ทั้งนี้มีบันทึกว่าพราหมณ์หลวงในราชสำนักอยุทธยาถึงรัตนโกสินทร์ก็สืบเชื้อสายมาจากพรามณ์ในรามรัฐจำนวนมากครับ




- อังกฤษนี่เราเอามาจากภาษาไร ผมเคยอ่านเอกสารเก่าๆ เห็นบางเล่มเขียนว่า "อังกริษ" ก็มี เเต่ถ้าธรรมดาเราเรียกว่า "England" เเล้วคำว่าอังกฤษเราเอามาจากไหน

คำว่าอังกฤษ ปรากฏเรียกมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุทธยา (อาจมีสะกดเป็น อังกริด หรืออื่นๆ)  มีการสันนิษฐานว่ามาจากรากศัพท์เดิมคือ Angles   พิจารณาแล้วไม่น่าเชื่อว่ามาจาก anglais ในภาษาฝรั่งเศสอย่างที่หลายแห่งนิยมกล่าวกัน   เพราะคำนี้ปรากฏหลักฐานในภาษาไทยก่อนฝรั่งเศสเข้ามาในสยามและออกเสียงต่างกันพอสมควร    และไม่น่ามาจาก Inglês ในภาษาโปรตุเกสซึ่งเป็นภาษากลางที่สยามใช้ติดต่อกับตะวันตกก็ออกเสียงไม่เหมือนเสียทีเดียวครับ      

ส่วนตัวผมสันนิษฐานว่าคนไทยในสมัยอยุทธยาน่าจะรับคำว่า อังกฤษ รับมาจากชาวอินเดียที่รับมาจากโปรตุเกสอีกต่อหนึ่งในสมัยที่ชาวโปรตุเกสเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอนุทวีปอินเดีย  เพราะในภาษาฮินดีเรียกชาวอังกฤษว่า aṅgrez (अंग्रेज़) หรือ aṅgrezī (अंग्रेज़ी)   

แต่ก็มีผู้เสนอว่าน่าจะมาจากคำว่า Anglish ในภาษาอังกฤษโดยตรง ซึ่งเป็นหนึ่งในคำที่ใช้เรียกชาวอังกฤษในภาษาพูด  โดยคำนี้มีความหมายถึงภาษาอังกฤษดั้งเดิมที่ไม่มีภาษาต่างประเทศเจือปน



- ฝรั่งเศสเราเอามาจากไหน เหมือนผมเคยเห็นคำว่า "Francais" เเต่ผมไม่มั่นใจว่ามันคือคำนี้มั้ย

เอกสารในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ซึ่งเป็นยุคแรกที่ฝรั่งเศสเดินทางเข้ามาสยาม เรียกแยกระหว่างชื่อประเทศกับชื่อภาษาและชนชาติ โดยเรียกชื่อประเทศว่า ฝรังษ   เรียกชื่อภาษาและชนชาติว่า ฝรังเสด   แต่ภายหลังเรียกรวมเป็น ฝรั่งเศส ทั้งหมด

ส่วนตัวผมเห็นว่าไทยน่าจะรับทั้งสองคำมาจากภาษาโปรตุเกสคือ França และ Francês มากกว่าจะรับมาจาก France และ Français ภาษาฝรั่งเศสโดยตรง เพราะภาษาโปรตุเกสเป็นภาษากลางที่ราชสำนักกรุงศรีอยุทธยาใช้ติดต่อกับชาวยุโรป พิจารณาหนังสือสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส พ.ศ. ๒๒๓๐ สมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่ต้องทำเป็น ๓ ภาษาคือภาษาไทย ภาษาโปรตุเกส และภาษาฝรั่งเศส  โดยในสนธิสัญญาภาษาไทยยังมีศัพท์บางคำที่เห็นได้ชัดว่าแปลจากภาษาโปรตุเกสอีกต่อหนึ่ง ไม่ได้แปลจากภาษาฝรั่งเศสโดยตรง

แต่ทั้งนี้ ฝรังษ กับ ฝรั่งเสด อาจเพี้ยนมาจากภาษาฝรั่งเศสโดยตรงก็ได้ เพราะบันทึกออกพระวิสุทสุนธรมีการแปลทับศัพท์ Vive le Roi de France ว่า "วีเลรัวเดฝรังษ" ตรงกัน ทั้งนี้ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ยังใช้ภาษาฝรั่งเศสยุคกลาง (Middle french) ออกเสียงอักษร r เหมือน ร อยู่



- เกาหลีเราเรียกว่าอะไรฮะ เหมือนผมเคยได้ยินคำว่า "ลิ่วขิ่ว" เเต่ฟังดูไม่น่าจะใช่คำว่าเกาหลี

เกาหลีมาจากชื่ออาณาจักร โครยอ (高麗) ที่ภาษาจีนกลางออกเสียงว่า เกาหลี (Gāolí)  มีหลักฐานว่าสยามเคยเจริญสัมพันธไมตรีกับเกาหลีมาตั้งแต่ปลายสมัยอาณาจักรโครยอ จึงเป็นไปได้ที่สยามจะยังเรียกชื่อเดิมอยู่แม้ว่าอาณาจักรโครยอจะล่มสลายไปแล้วถูกแทนที่ด้วยโชซอนในเวลาต่อมาครับ



- ญี่ปุ่นด้วย

สันนิษฐานว่ามาจากชื่อประเทศญี่ปุ่น 日本 ในภาษาจีนสำเนียงฮกเกี้ยนที่ ออกเสียงว่า ยิดปุ้น Ji̍t-pún



เเถมอีกข้อนึงผมสงสัยจริงๆ ในเอกสารรึว่าพงศาวดารสมัยอยุธยาเคยมีการกล่าวถึง จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์กับรัสเซียกับชาติอื่นในยุโรปนอกจากนี้มั้ย พอดีผมอยากรู้ เเล้วเค้าเรียกว่าอะไร

ปรากฏในสารตราของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เรื่องส่งคนไปยุโรปใน พ.ศ. ๒๒๒๒ และจดหมายออกพระวิสุทสุนธร ออกหลวงกัลยาราชไมตรี ออกขุนศรีวิสารวาจา ส่งถึงมาร์กีส์ เดอ เซนเญอเลย์ (Marquis de Seignelay) ใน พ.ศ. ๒๒๓๑ เรียกทวีปยุโรปว่า เมืองเอรอบ   โคลงภาพคนต่างภาษาเรียก อรอบ


- รัสเซีย ปรากฏในโคลงภาพคนต่างภาษาสมัยรัชกาลที่ ๓ เรียกว่า หรูชีปตะสบาก มาจากคำว่า รุส (Rus) ที่เป็นชื่อชนชาติ  กับเมืองเซ็นต์ ปีเตอร์สเบิร์ก (Saint Petersburg) ที่เป็นเมืองหลวงของรัสเซีย


- ดัตช์ ในสมัยกรุงศรีอยุทธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์เรียกว่า วิลันดา  สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจาภาษามลายูคือ belanda ที่เพี้ยนมาจาก Holanda ในภาษาโปรตุเกา  มาปรากฏใช้ ฮอลันดา ในราวรัชกาลที่ ๔ ครับ   ในโคลงภาพต่างภาษาเรียกว่า ดอดชิ


- โปรตุเกส  พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมส่งไปถึงอุปราชเมืองกัวเรียกว่า ปรตุการ  สนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์เรียกว่า ปตุกการ  จดหมายเหตุรับราชทูตโปรตุเกส พ.ศ. ๒๓๒๙ สมัยรัชกาลที่ ๑ เรียก ฝารังปัศตุกัน  ซึ่งเข้าใจว่าเพี้ยนมาจาก Portugal ในภาษาโปรตุเกสโดยตรง

มาถึงสมัยรัชกาลที่ ๓-๔ ปรากฏเรียกชนชาติว่า พุทะเกต พุทเกต  แต่ยังเรียกประเทศว่า ปะตูกัน ในรัชกาลที่ ๔ ปรากฏเรียก ปอตุกัล โปรตุคอล โปรคุเกส โปรตุเคส  จนกลายเป็น โปรตุเกส แบบปัจจุบัน  จึงเข้าใจว่าในสมัยรัตนโกสินทร์เปลี่ยนมาเรียกชื่อโปรตุเกสตามคำว่า Português แทน

รายละเอียดเกี่ยวกับคำเรียกชื่อโปรตุเกสในภาษาไทยอ่านเพิ่มเติมได้จากลิงก์ครับ http://siamportuguesestudy.blogspot.com/2010/12/blog-post_13.html


- สเปน   บันทึกของออกพระวิสุทสุนธรเรียกว่า อีศปายะ ภาษาโปรตุเกสคือ Espanha แปลว่าชาวสเปน   ในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์สมัยรัชกาลที่ ๓ เรียกว่า ฝรั่งอิศบันหยอด


- เยอรมนี  ในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์สมัยรัชกาลที่ ๓ เรียกว่า  ฝรั่งการะหนี่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่