(ข่าว) โควิด-19 : ไม่มีล็อกดาวน์ แถมมีประชากรวัยชรามาก แต่ทำไมญี่ปุ่นจึงมียอดตายต่ำ

โดย: รูเฟิร์ต วิงฟิลด์-เฮยส์ บีบีซีนิวส์ โตเกียว
ที่มา: https://www.bbc.com/thai/international-53307060

ญี่ปุ่นไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกทั้งยังเป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุเป็นจำนวนมาก แต่เหตุใดจึงมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคระบาดครั้งนี้ไม่มากอย่างในหลายประเทศ

แม้ญี่ปุ่นจะไม่ได้มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 อยู่ในระดับต่ำที่สุดในภูมิภาค เมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และเวียดนาม แต่ในช่วงต้นปี 2020 กลับพบว่าญี่ปุ่นมีอัตราการเสียชีวิตในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตามปกติของปีก่อน ๆ แม้ว่าในเดือน เม.ย. พื้นที่กรุงโตเกียวจะมียอด "การเสียชีวิตเกินคาดการณ์" ราว 1,000 คน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากโรคโควิด-19 แต่หากมองภาพรวมทั้งปี ก็มีความเป็นไปได้ที่จำนวนผู้เสียชีวิตโดยรวมตลอดปีนี้อาจต่ำกว่าในปี 2019

นี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะญี่ปุ่นมีปัจจัยหลายประการที่เอื้อให้ตนเองมีความเปราะบางเป็นพิเศษต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ยังไม่เคยใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อจัดการกับการระบาดครั้งนี้แบบที่ประเทศเพื่อนบ้านใช้กัน

เกิดอะไรขึ้นในญี่ปุ่น

ในช่วงที่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบาดรุนแรงในเมืองอู่ฮั่นเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นยังคงเปิดพรมแดนให้คนเข้าออกประเทศได้ตามปกติ

เมื่อไวรัสเริ่มแพร่ระบาดออกไป ก็ทำให้ทราบอย่างรวดเร็วว่าเชื้อไวรัสมรณะนี้มีอันตรายต่อกลุ่มผู้สูงอายุเป็นพิเศษ อีกทั้งยังสามารถแพร่ระบาดได้เป็นวงกว้างเมื่อผู้คนอยู่รวมกันแออัดและมีการสัมผัสใกล้ชิดกันเป็นเวลานาน

ในแง่ของจำนวนประชากรนั้น ญี่ปุ่นมีสัดส่วนคนวัยชราเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศมากที่สุดในโลก นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นยังมักอาศัยอยู่กันอย่างแออัดตามเมืองใหญ่ ๆ

โดยในเขตอภิมหานครโตเกียว (Greater Tokyo) ซึ่งหมายถึงพื้นที่ของกรุงโตเกียวและปริมณฑลนั้น มีประชากรอาศัยอยู่รวมกันถึง 37 ล้านคน และคนส่วนใหญ่มักเดินทางไปไหนมาไหนด้วยรถไฟที่มีผู้ใช้บริการอย่างแออัดยัดเยียด

นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังไม่ยอมปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่แนะให้ "ตรวจ ตรวจ ตรวจ" หาเชื้อให้แก่ประชาชนให้ได้มากที่สุด จนถึงบัดนี้อัตราการตรวจหาเชื้อในทางเดินหายใจ (PCR) ของญี่ปุ่นยังอยู่เพียง 348,000 ครั้ง หรือเพียง 0.27% ของประชากรทั้งประเทศ

ขณะเดียวกันรัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดเหมือนในหลายประเทศแถบยุโรป แม้เมื่อต้นเดือน เม.ย. รัฐบาลได้ประกาศประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ก็เป็นเพียงการขอความร่วมมือให้ประชาชนเก็บตัวอยู่บ้านโดยความสมัครใจ และขอให้ธุรกิจที่ไม่จำเป็นต่าง ๆ ปิดทำการโดยที่ไม่มีบทลงโทษตามกฎหมายแก่ผู้ฝ่าฝืน

5 เดือนหลังจากมีรายงานพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รายแรกในประเทศ แต่ญี่ปุ่นกลับมียอดผู้ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไม่ถึง 20,000 คน และมีผู้เสียชีวิตจากไวรัสชนิดนี้ไม่ถึง 1,000 คน รัฐบาลได้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และผู้คนก็กลับไปใช้ชีวิตตามปกติอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่บ่งชี้ว่า ญี่ปุ่นสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างอยู่หมัด อย่างน้อยก็ในตอนนี้

ซอฟต์แบงก์ (Softbank) ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ได้จัดให้มีการตรวจคัดกรองการติดเชื้อโรคโควิด-19 ด้วยวิธีตรวจวิเคราะห์ภูมิคุ้มกัน (antibody) ให้แก่ลูกจ้าง 40,000 คน และพบว่ามีเพียง 0.24% ที่เคยติดเชื้อ

ส่วนการสุ่มตรวจประชาชน 8,000 คนในกรุงโตเกียว และในพื้นที่อีก 2 จังหวัด ก็พบผู้ติดเชื้อในระดับต่ำลงไปอีก โดยในกรุงโตเกียวพบผู้ติดเชื้อเพียง 0.1% ของผู้ได้รับการสุ่มตรวจ

ในการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อเดือน มิ.ย. นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ กล่าวอย่างภาคภูมิใจถึง Japan Model หรือ "รูปแบบการจัดการแบบญี่ปุ่น" พร้อมแนะนำให้ประเทศอื่น ๆ เรียนรู้จากญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นมีคุณสมบัติพิเศษอะไร

นายทาโร อาโซ รองนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระบุว่า นี่เป็นเพราะ "คุณสมบัติที่เหนือชั้นกว่า" ของคนญี่ปุ่น โดยเขาเล่าว่า ได้รับคำถามจากผู้นำชาติอื่น ๆ ที่ขอให้ช่วยอธิบายถึงความสำเร็จนี้ของญี่ปุ่น

"ผมบอกคนเหล่านั้นว่า 'ระหว่างประเทศของคุณกับประเทศของเรา มีระดับชั้นของคนที่แตกต่างกัน' และนั่นทำให้พวกเขาพูดไม่ออกและนิ่งเงียบไป"

คำว่า "ระดับชั้นของคน" เป็นแนวคิดมาจากยุคจักรวรรดิญี่ปุ่น ที่สื่อถึงความเหนือกว่าทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม นี่จึงทำให้นายอาโซถูกประณามอย่างหนักจากการใช้ถ้อยคำดังกล่าว

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าสงสัยว่าชาวญี่ปุ่นหลายคนอาจมีคุณสมบัติบางอย่างที่แตกต่างไปจากคนชาติอื่น แม้แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนยังคิดว่าญี่ปุ่นอาจมีปัจจัยที่เรียกว่า Factor X ที่ช่วยปกป้องประชากรของตนจากโรคโควิด-19

คนญี่ปุ่นมีภูมิคุ้มกันพิเศษหรือไม่

ศาสตราจารย์ ทัตสึฮิโกะ โคดามะ จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ผู้ศึกษาว่าคนไข้ญี่ปุ่นมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อย่างไร เชื่อว่าญี่ปุ่นอาจเคยเผชิญกับเชื้อไวรัสโคโรนามาก่อน ซึ่งไม่ใช่เชื้อที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 แต่เป็นสายพันธุ์ที่มีความคล้ายคลึงกันซึ่งได้สร้างภูมิคุ้มกันไว้ให้แก่คนญี่ปุ่น

ศาสตราจารย์ โคดามะ อธิบายว่า เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ระบบภูมิคุ้มกันจะผลิตแอนติบอดีขึ้นมาโจมตีเชื้อโรคที่รุกรานเข้ามา

แอนติบอดีมีอยู่ 2 ชนิด คือ IGM และ IGG การตอบสนองของมันสามารถบ่งชี้ได้ว่าบุคคลนั้นเคยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือเชื้อที่คล้ายกันมาก่อนหรือไม่

"ในการติดเชื้อไวรัสครั้งแรก มักเกิดการตอบสนองของแอนติบอดีชนิด IGM ก่อน แล้วจากนั้นจะมีการตอบสนองของแอนติบอดีชนิด IGG ตามมาภายหลัง แต่ในกรณีที่เคยได้รับเชื้อมาก่อนแล้ว เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) สามารถจดจำการติดเชื้อได้ และทำให้มีเฉพาะการตอบสนองของแอนติบอดีชนิด IGG เพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

แล้วเกิดอะไรขึ้นกับคนไข้ของเขา

"เมื่อเราได้ดูผลการตรวจก็ต้องประหลาดใจมาก ...เพราะคนไข้ทุกคนมีการตอบสนองของแอนติบอดีชนิด IGG อย่างรวดเร็ว และการตอบสนองของแอนติบอดีชนิด IGM เกิดขึ้นมาในภายหลังและน้อย มันดูเหมือนว่าพวกเขาเคยได้รับเชื้อไวรัสที่คล้ายคลึงกันมากมาแล้วก่อนหน้านี้"

ศาสตราจารย์ โคดามะ คิดว่า มีความเป็นไปได้ที่อาจจะเคยมีเชื้อไวรัสคล้ายชนิดที่ก่อโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง หรือ โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome - SARS) แพร่กระจายอยู่ในภูมิภาคนี้มาก่อน ซึ่งอาจทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิตในระดับต่ำ ไม่เพียงแค่ในญี่ปุ่น แต่รวมถึงจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่ข้อสันนิษฐานนี้ถูกตั้งข้อสงสัยจากคนบางส่วน

คนญี่ปุ่นเริ่มสวมหน้ากากปิดปากปิดจมูกกันมานานกว่า 100 ปี นับตั้งแต่เกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนในปี 1919 และพวกเขาก็ไม่เคยละทิ้งพฤติกรรมนี้ หากคุณไอหรือเป็นหวัด คนที่นี่ต่างคาดหวังว่าคุณจะใส่หน้ากากอนามัยเพื่อปกป้องคนที่อยู่รอบตัวคุณ

ศาสตรจารย์ เคอิจิ ฟูกุดะ ผู้เชี่ยวชาญด้านไข้หวัดใหญ่ และผู้อำนวยการวิทยาลัยสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่า "ผมคิดว่าหน้ากากทำหน้าที่เป็นตัวกั้น และยังเป็นเครื่องเตือนใจให้ทุกคนมีสติและตระหนักว่าเรายังต้องมีความระมัดระวังเมื่ออยู่ใกล้กัน"

นอกจากนี้ ระบบติดตามและค้นหาของญี่ปุ่นก็มีใช้มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1950 ตอนที่ประเทศต่อสู้กับวัณโรค รัฐบาลได้ก่อตั้งเครือข่ายของศูนย์สาธารณสุขทั่วประเทศเพื่อบ่งชี้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ และรายงานต่อกระทรวงสาธารณสุข

หากสงสัยว่ามีการแพร่ระบาดขึ้นในชุมชน จะมีการส่งทีมผู้เชี่ยวชาญออกค้นหาการติดเชื้อ โดยใช้วิธีตามหาตัวผู้ที่สัมผัสติดต่อกับผู้แพร่เชื้อและการกักโรคที่เข้มงวด

ญี่ปุ่นค้นพบ "3 สถานแพร่เชื้อ" ได้แต่เนิ่น ๆ

ดร.คาซูอากิ จินได นักวิจัยด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยเกียวโต และสมาชิกคณะทำงานเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน ระบุว่า พบข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า 1 ใน 3 ของการติดเชื้อเกิดขึ้นในสถานที่คล้าย ๆ กัน

"ข้อมูลของเราแสดงให้เห็นว่าผู้ติดเชื้อจำนวนมากได้ไปสถานที่แสดงดนตรีซึ่งมีการส่งเสียงกรีดร้องและร้องเพลง...เราจึงทราบว่านี่คือสถานที่ที่ต้องหลีกเลี่ยง"

คณะทำงานพบว่า "การหายใจหนักหน่วงในระยะใกล้" ซึ่งรวมถึงการ "ร้องเพลงที่ร้านคาราโอเกะ งานเลี้ยงสังสรรค์ การส่งเสียงเชียร์ที่คลับ การสนทนาที่บาร์ และการออกกำลังกายที่โรงยิม" ล้วนเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง

นอกจากนี้ คณะทำงานยังพบว่า การแพร่ระบาดของโรคมาจากผู้เป็นพาหะนำโรคกลุ่มเล็ก ๆ โดยการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ราว 80% ของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Sars-CoV-2) ไม่แพร่เชื้อไปสู่คนอื่น ในขณะที่อีก 20% สามารถแพร่เชื้อได้ในระดับสูง

การค้นพบเหล่านี้ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกโครงการรณรงค์ทั่วประเทศเพื่อเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยง "3 สถานแพร่เชื้อ" คือ
- สถานที่ปิดที่อับอากาศ
- สถานที่แออัดที่มีผู้คนคับคั่ง
- สถานการณ์ที่มีการสัมผัสใกล้ชิด เช่น การคุยแบบหันหน้าเข้าหากัน

ดร.จินได กล่าวว่า "ผมคิดว่านี่อาจให้ผลดีกว่าการแค่สั่งให้ประชาชนอยู่ที่บ้าน"

แม้จะมีการละเว้น "สถานที่ทำงาน" จากรายการเหล่านี้ แต่พวกเขาก็หวังว่า โครงการรณรงค์นี้จะช่วยชะลอการระบาดได้มากพอที่จะทำให้ไม่ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ และการติดเชื้อที่น้อยลงก็หมายถึงการเสียชีวิตที่น้อยลงไปด้วย

การรณรงค์นี้ใช้ได้ผลอยู่ระยะหนึ่ง แต่ช่วงกลางเดือน มี.ค. อัตราการติดเชื้อในกรุงโตเกียงได้พุ่งสูงขึ้น และดูเหมือนจะมีแนวโน้มการระบาดที่รุนแรงขึ้นเหมือนในเมืองมิลาน กรุงลอนดอน และนครนิวยอร์ก

จังหวะเวลา

ศาสตราจารย์เคนจิ ชิบูยะ ผู้อำนวยการด้านสาธารณสุขของสถาบันคิงส์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน และอดีตที่ปรึกษาอาวุโสของรัฐบาลอังกฤษ กล่าวว่า "สำหรับผม มันคือบทเรียนเกี่ยวกับจังหวะเวลา"

นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแบบไม่เป็นการบังคับเมื่อวันที่ 7 เม.ย. โดยขอความร่วมมือจากประชาชนให้อยู่บ้าน "หากสามารถทำได้"

"หากใช้มาตรการนี้ล่าช้า เราอาจต้องเผชิญกับสถานการณ์เดียวกันกับนิวยอร์ก หรือลอนดอน และนี่ทำให้อัตราการตายในญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำ"

ศาสตราจารย์ ชิบูยะ ระบุว่า "ผลการศึกษาล่าสุดจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย บ่งชี้ว่า หากนิวยอร์กประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เร็วขึ้น 2 สัปดาห์ ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตได้หลายหมื่นคน"

งานวิจัยล่าสุดอีกชิ้นจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ พบว่าคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคอ้วน และโรคเบาหวาน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 6 เท่าที่จะต้องเข้าโรงพยาบาลหากติดเชื้อโรคโควิด -19 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 12 เท่าที่จะเสียชีวิตด้วยโรคนี้

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคเบาหวานต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิทยาศาสตร์กลับยืนยันว่าสัญญาณเหล่านี้ไม่สามารถอธิบายทุกอย่างได้เสียทีเดียว

ศาสตรจารย์ ฟูกุดะ กล่าวว่า "ความแตกต่างทางกายภาพเหล่านี้อาจส่งผลบางอย่าง แต่ผมคิดว่าปัจจัยอื่น ๆ มีความสำคัญกว่า เราได้เรียนรู้จากโควิดว่ามันไม่มีคำอธิบายง่าย ๆ สำหรับปรากฏการณ์ที่เราได้เห็นอยู่นี้ มันมีอีกหลายปัจจัยที่นำไปสู่ผลลัพธ์สุดท้าย"

(มีต่อ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่