น้ำรั่วซึมในคอนโด แก้ปัญหาอย่างไร ใครเป็นคนรับผิดชอบ


ปัญหาน้ำรั่วในคอนโด น่าจะเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ใครหลายคนน่าจะเคยเจอ และไม่อยากเจอแน่นอน เพราะนั่นจะเป็นต้นเหตุของปัญหาต่าง ๆ อย่างมากมาย ตั้งแต่ฝ้าชื้น ขึ้นรา ไปจนถึงฝ้าถล่มได้เลย ซึ่งปัญหารั่วซึมก็สามารถเกิดได้จากหลายทาง เช่น จากส่วนกลาง หรือจากห้องคนอื่น แล้วเราจะต้องจัดการกับปัญหาในแต่ละแบบยังไงกันบ้าง ไปดูกัน
 
ปัญหาคอนโดน้ำรั่วเกิดจากอะไรได้บ้าง
 
ถ้าให้แบ่งเป็นข้อ ๆ เราก็จะพบว่าสาเหตุของการรั่วซึมภายในคอนโดมีดังนี้
 
1. ห้องน้ำที่อยู่ชั้นบนของห้องที่คุณอยู่ไม่ได้ปูวัสดุกันซึมก่อนปูกระเบื้อง
2. มีท่อน้ำภายในเกิดการชำรุด จนน้ำรั่วไหลออกมา
3. เกิดจากยาแนวกระเบื้องที่หลุดล่อน ซึ่งจะทำให้มีช่องว่างระหว่างกระเบื้องจนน้ำไหลซึมสะสมใต้แผ่นกระเบื้อง และไหลซึมผ่านรอยแตกร้าวจนเกิดปัญหาน้ำรั่วซึมได้
4. เกิดจากการที่แผ่นฝ้าเพดานไม่ได้มีวัสดุเคลือบทนความชื้น
5. แผ่นฝ้าเพดานมีอัตราการอมน้ำที่สูง
 
คอนโดน้ำรั่วส่งผลกระทบอะไร
 
          การเกิดน้ำรั่วซึม นอกจากการทำให้ฝ้าเพดานมีรอยด่าง ดูไม่สวยงามแล้ว ยังทำให้เกิดความชื้น ที่จะส่งผลให้มีกลิ่นอับและเกิดเชื้อราชึ้นได้ และในกรณีที่ฝ้าเพดานนั้นมีการรั่วซึมที่หนักขึ้น ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ก็อาจจะก่อให้เกิดการถล่มของฝ้าเพดานได้ด้วย 
 
เมื่อเกิดน้ำรั่วซึม ใครต้องเป็นคนรับผิดชอบ
 
          หากเกิดปัญหาน้ำรั่วซึมภายในห้องแล้ว อันดับแรก เราต้องตรวจสอบก่อนว่าต้นเหตุของปัญหามาจากอะไร ก่อนที่จะแจ้งนิติบุคคลให้รับทราบ และนิติบุคคลจะพิจารณาว่าน้ำที่รั่วซึมเกิดจากสาเหตุใด และจะรับผิดชอบกันอย่างไร
 
1. ถ้าพิจารณาแล้วเกิดจากทรัพย์สินส่วนกลาง
 
          ปัญหาคอนโดที่เกิดจากทรัพย์สินส่วนกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของนิติบุคคล ทางนิติบุคคลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบดูแลรักษาและซ่อมแซม
          เช่น ห้อง A เป็นห้องที่ด้านบนติดกับดาดฟ้าของอาคาร เมื่อมีน้ำรั่วซึมทำความเสียหายให้กับห้อง A ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบก็เป็นนิติบุคคลที่ดูแลอาคาร เพราะท่อน้ำบนพื้นที่ดาดฟ้านั้นถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนกลาง ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากการเสื่อมสภาพไม่อาจจะเคลมประกันได้ ต้องนำเงินส่วนกลางของนิติบุคคลมาดูแลซ่อมแซม
 
          กรณีตัวอย่าง สปริงเกอร์เกิดเหตุขัดข้องมีน้ำเจิ่งนองจนโถงทางเดินและภายในห้อง A เปียกน้ำ พื้นไม้ภายในห้อง A ได้รับความเสียหาย เปียก และบวมชำรุด ถ้าเป็นกรณีนี้นิติบุคคลต้องเป็นผู้รับผิดชอบเช่นเดียวกัน เพราะจุดเกิดเหตุนั้นเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมาจากสปริงเกอร์ที่เป็นระบบของคอนโด ถ้ายังอยู่ในความคุ้มครองของประกันภัย นิติบุคคลสามารถเคลมประกันได้
 
2. ถ้าพิจารณาแล้วเกิดจากทรัพย์สินส่วนบุคคล
 
          ปัญหาคอนโดที่เกิดจากทรัพย์สินส่วนบุคคล ถ้าจุดที่เกิดเหตุนั้นอยู่ในบริเวณพื้นที่ส่วนบุคคลของเจ้าของห้องใดเจ้าของหนึ่งแล้ว ความรับผิดชอบในการซ่อมแซมนั้น จะต้องเป็นของเจ้าของห้องนั้น
 
          กรณีตัวอย่าง ห้อง A มีน้ำรั่วซึมในห้อง เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าสาเหตุมาจากท่อน้ำทิ้งของห้อง B ที่ไหลเข้ามาในห้อง A ถ้าเป็นแบบนี้ความรับผิดชอบค่าเสียหายจะอยู่ที่ห้อง B ที่จะต้องจ่ายค่าซ่อมให้ ส่วนห้อง A ถ้ามีการทำประกันไว้และครอบคลุมก็จะสามารถเคลมประกันได้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมาจากปัจจัยภายนอก ซึ่งก็คือจากห้อง B นั่นเอง
 
          กรณีตัวอย่าง ห้อง A ได้เกิดอุบัติเหตุสาย Flex ของซิงค์ล้างจานแตก และน้ำท่วมไปยังห้อง B เจ้าของห้อง A จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมความเสียหายของห้อง B ด้วย กรณีหากห้อง A ทำประกันภัยไว้ ก็จะสามารถเคลมได้ทั้งการซ่อมภายในห้อง A และ ห้อง B
 
          กรณีตัวอย่าง เกิดท่ออุดตันของสุขภัณฑ์ในห้อง A จนเกิดน้ำขังในบางจุดของห้อง แบบนี้ห้อง A ก็ต้องรับผิดชอบเองเพราะเป็นปัญหาที่เกิดในพื้นที่ส่วนบุคคลและไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอกใด ๆ
 
          จะเห็นว่าปัญหาคอนโดที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเพราะอุปกรณ์เสื่อมสภาพหรืออุบัติเหตุก็ตาม หากมีประกันภัยก็จะช่วยบรรเทาเรื่องค่าใช้จ่ายไปได้ การทำประกันภัยนั้นจะแบ่งเป็นสองส่วน ทั้งทางนิติบุคคลจะทำประกันภัยในพื้นที่ส่วนกลางที่จะครอบคลุมประกันภัยการเสี่ยงภัยทุกชนิดทุกกรณีที่จะเกิดขึ้นกับอาคารและทรัพย์ส่วนกลาง ได้แก่ สิ่งปลูกสร้างตัวอาคาร รั้ว ฝ้าเพดาน ผนังโดยรอบ เครื่องจักร อุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงลิฟต์และงานระบบต่าง ๆ
 
          หากเป็นปัญหาคอนโดที่เกิดขึ้นโดยสาเหตุนั้นมาจากห้องคอนโดของเรา ที่ไปทำความเสียหายให้กับห้องอื่นหรือพื้นที่ส่วนกลาง ที่เราจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่อาจจะสูงมาก ควรจะทำประกันภัยให้ครอบคลุมความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น จะช่วยลดภาระได้มากเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด
 
          ทั้งนี้ผู้อยู่คอนโดควรจะทราบไว้ด้วยว่าคอนโดจะมีระบบแรงดันของน้ำที่แรงกว่าที่อยู่อาศัยแนวราบอย่างบ้านหรือทาวน์โฮม เมื่อมีการอยู่อาศัยมาระยะหนึ่งแล้ว ควรจะมีการตรวจสอบรอยต่อของท่อตามกำหนดของการตรวจสอบอาคารที่ควรทำปีละครั้ง ซึ่งจะต้องมีผู้ตรวจสอบมาตรวจอาคารตามกฏหมายควบคุมอาคารกำหนดไว้เพื่อป้องกันปัญหาคอนโดที่จะเกิดขึ้น
 
วิธีการแก้ปัญหาคอนโดน้ำรั่วซึม
 
          สำหรับปัญหาคอนโดน้ำรั่วซึมอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่าอาจจะมีสาเหตุ ที่เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน ซึ่งสามารถแบ่งวิธีการแก้ไขปัญหาได้ตามกรณีต่าง ๆ ดังนี้
 
1. ปัญหาคอนโดน้ำรั่วซึมต้นเหตุการรั่วซึมที่มาจากท่อประปา
 
          ปัญหาคอนโดน้ำรั่วซึมจากท่อประปา ไม่ว่าท่อนั้นจะเป็นของนิติบุคคลส่วนกลาง หรือเป็นของส่วนบุคคลก็ตามแต่ ก่อนจะทำการซ่อมแซม ให้เราปิดวาล์วน้ำให้เรียบร้อยก่อน แล้วเช็ดบริเวณที่มีรอยรั่วให้แห้ง แล้วใช้กาวอีพ็อกซี่ปิดทับรอยแตกให้เรียบร้อย ใช้เทปพัน แล้วทากาวเรซิ่นให้ทั่วอีกครั้งหนึ่ง และรอให้กาวแห้ง แล้วเปิดน้ำให้ไหลจากก็อกทุกอัน เพื่อไม่ให้มีอากาศอุดตันในท่อ
 
2. ปัญหาคอนโดน้ำรั่วซึมต้นเหตุการรั่วซึมที่มาจากยาแนวกระเบื้องหลุดร่อน
 
          การรั่วซึมที่เกิดจากยาแนวกระเบื้องที่หลุดร่อน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในห้องน้ำ เพราะยาแนวเกิดการเสื่อมสภาพ จึงทำให้เกิดน้ำรั่วตามรอยต่อของยาแนว และเกิดการรั่วซึมในห้องด้านล่างได้ โดยวิธีการซ่อม ให้เราขูดร่องยาแนวเก่าออกให้หมดก่อน แล้วอุดยาแนวใหม่ลงไปตามร่องยาแนวกระเบื้อง แล้วรอให้ยาแนวแห้ง ห้องน้ำก็จะสามารถใช้การได้โดยที่ไม่เกิดการรั่วซึมอีกครับ
 
          ปัญหาน้ำรั่วซึมในคอนโดนั้น ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้บ่อยที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ เลยก็ว่าได้ ซึ่งจะเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดผลกระทบใหญ่ ๆ ตามมาได้อีกมากมาย ดังนั้น เมื่อเราพบว่ามีปัญหา เราจะต้องรีบแจ้งนิติบุคคล และผู้ที่เกี่ยวข้องให้เรียบร้อย เพื่อที่จะได้ซ่อมแซม แก้ไข และป้องกันปัญหาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งแน่นอนว่าถ้าหากเราปล่อยไว้นาน ก็อาจจะเกิดเป็นปัญหาเรื้อรังได้มากขึ้นได้
 
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ : น้ำรั่วซึมในคอนโด แก้ปัญหาอย่างไร ใครเป็นคนรับผิดชอบ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่