การเปลี่ยนเปลือกที่น่าทึ่งของปูเสฉวน

ปูเสฉวน (hermit crab) เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีสีสรรสวยงาม มีชื่อเรียกหลายชื่อตามท้องถิ่นต่างๆ ว่า หอยเสฉวน หอยฝากตัว หอยข่วน และหอยอุหมัง แต่ความจริงปูเสฉวนไม่ใช่หอย ทางวิทยาศาสตร์จัดเป็นสัตว์ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับกุ้งและปู
โดยมีลักษณะที่ก้ำกึ่งระหว่างกุ้งและปู มีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากปูทั่วไปคือ ส่วนท้องมีลักษณะไม่สมมาตร อ่อนนุ่มและเจริญดี ไม่มีการลดรูปพับเข้าไปอยู่ใต้กระดองเหมือนกับส่วนท้องของปูทั่วๆ ไป

การที่ปูเสฉวนต้องมีเกราะกำบังตัวนั้น สาเหตุใหญ่คือ เพื่อใช้เป็นสิ่งกำบังตัวหรือที่หลบภัยจากศัตรูและอันตรายต่างๆ เนื่องจากปูเสฉวนเป็นปูที่มีลำตัวบริเวณส่วนท้องอ่อนนุ่ม เมื่อมีบาดแผลหรือถูกกระทบกระเทือนจะทำให้ปูเสฉวนตายได้ทันที (Cr.https://picpost.mthai.com/view/5522)

ปูเสฉวน จำเป็นต้องมีเปลือกที่แข็งแรงเพื่อปกป้องอวัยวะส่วนที่เปราะบางของมัน หากปราศจากเปลือกมันจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน ปูเสฉวนสามารถหาเปลือกหอยตามพื้นทะเลและชายหาดที่มีขนาดเหมาะสมกับขนาดตัวของมันและใช้เปลือกหอยนั้นเป็นเสมือนบ้านที่ติดตัวมันไปด้วยกันตลอดเวลา   
แต่ปูเสฉวนมีการเติบโตของร่างกายเพิ่มขึ้นทุกวันดังนั้นทุกช่วงเวลาหนึ่งมันจึงต้องมองหาเปลือกหอยอันใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม เราจึงมีโอกาสได้เห็นพฤติกรรมอันน่าทึ่งที่ปูเสฉวนยืนต่อแถวกันเรียงลำดับตามขนาดตัวเพื่อแลกเปลี่ยนเปลือกอันใหม่กัน

วิธีดำเนินการแลกเปลี่ยนที่อยู่อาศัยของฝูงปูเสฉวนก็คือ
ถ้าปูเสฉวนพบเปลือกหอยที่ว่างเปล่าแต่มีขนาดไม่พอดีกับความต้องการของมัน มันจะไม่ย้ายไปหาเปลือกหอยอันใหม่ที่อื่น แต่มันจะอดทนรอปูเสฉวนตัวอื่นๆที่จะเห็นมัน ไม่นานนักจะมีปูเสฉวนเข้ามาต่อแถวกันเรียงลำดับตามขนาดตัว จากนั้นจะรอคอยโอกาสที่จะได้แลกเปลี่ยนเปลือกอันใหม่ และสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปเป็นเรื่องสวยงามเหลือเชื่อ
 
 
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

นอกจากนี้ปูเสฉวนบางตัวยังนำเอาดอกไม้ทะเล (Sea Anemones) มาประดับที่เปลือกของมันซึ่งเป็นความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน ขณะที่ปูเสฉวนได้อาศัยหนวดที่มีพิษของดอกไม้ทะเลไว้ป้องกันอันตรายจากนักล่า ดอกไม้ทะเลก็ได้รับเศษอาหารจากปูเสฉวน ที่ไม่น่าเชื่อก็คือเวลาที่ปูเสฉวนเปลี่ยนเปลือกมันสามารถแยิ้มกไม้ทะเลที่เกาะติดเปลือกเก่ามาไว้ที่เปลือกใหม่ได้อย่างน่าอัศจรรย์
 

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

แต่พอเศษขยะพลาสติกที่ชายหาดและในท้องทะเลมีเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลสิ่งที่ไม่คาดคิดได้เกิดขึ้นกับปูเสฉวน พวกมันเกิดสับสนไปเอาขยะพลาสติกพวกนั้นมาทำเป็นบ้านแทนเปลือกหอย แต่ที่น่าตระหนกคือขยะพลาสติกบางอย่างได้กลายเป็นกับดักและคร่าชีวิตของปูเสฉวนเป็นจำนวนมาก มีรายงานเมื่อปี 2019 เฉพาะที่เกาะโคโคสที่เดียวมีปูเสฉวนตายจากสาเหตุนี้ปีละกว่า 500,000 ตัว

ในงานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยควีนในกรุงเบลฟาสต์ ประเทศไอร์แลนด์ พบว่าการที่ปูเสฉวนได้สัมผัสกับไมโครพลาสติกในน้ำทำให้ความสามารถของพวกมันในการตรวจเลือกเปลือกหอยอันใหม่ลดลงไปอย่างมาก
 ทีมวิจัยนำปูเสฉวนตัวเมียสองกลุ่มกลุ่มหนึ่ง 29 ตัว อีกกลุ่ม 35 ตัว ใส่ในถังแยกกันคนละถัง ในถังมีน้ำทะเลและสาหร่ายทะเล แต่ถังหนึ่งมีเม็ดพลาสติกโพลีเอททีลีนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 มม.อยู่ด้วย ห้าวันต่อมาพวกเขาถอดเปลือกของพวกมันออกและให้เปลือกหอยใหม่ขนาดที่พอเหมาะกับพวกมัน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาได้สร้างความประหลาดใจแก่นักวิจัยมาก


ภาพปูเสฉวนใช้ฝาขวดพลาสติกเป็นบ้านอาศัยแทนเปลือกหอย
ทีมวิจัยพบว่าหลังจากผ่านไปสองชั่วโมงปูเสฉวนกลุ่มที่ไม่ได้สัมผัสเม็ดพลาสติกจำนวน 25 ตัวเข้าไปสำรวจขนาดเปลือกหอยและมีถึง 21 ตัวที่เลือกไปเป็นบ้านของมัน แต่ปูเสฉวนกลุ่มที่สัมผัสกับเม็ดพลาสติกกลับใช้เวลานานมากกว่าจะเริ่มสำรวจหาเปลือกใหม่และมีเพียง 10 ตัวเท่านั้นที่เข้าไปตรวจหาเปลือกที่เหมาะสม โดยมี 9 ตัวเลือกเอาไปเป็นบ้านของมัน ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการสัมผัสกับเม็ดพลาสติกทำให้ความสามารถของปูเสฉวนในการตรวจเลือกเปลือกหอยอันใหม่ลดลงไปอย่างมาก

ดังนั้นการเอาเศษขยะพลาสติกออกไปจากชายหาดและท้องทะเลจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะไม่เพียงทำให้ชายหาดสะอาดตาน่ามองแต่ยังช่วยให้ปูเสฉวนและสัตว์ทะเลอื่นๆไม่ถูกทำลายไปอย่างมากมาย รวมทั้งระบบนิเวศจะได้กลับมาสมบูรณ์ดีดังเดิม 
ข้อมูลและภาพจาก treehugger, BlueWorldTV  /  earthtouchnews, bbc 
Cr. https://www.takieng.com/stories/1018
Cr.https://www.takieng.com/stories/18913



ปูเสฉวนใช้การสั่นสะเทือนปกป้องเปลือกหอย
ทีมวิจัยจากวิทยาลัยดาร์ทมัธ ในรัฐนิวแฮมพ์เชียร์ สหรัฐอเมริกา เผยว่า ปูเสฉวนแปซิฟิกมีเทคนิคป้องกันปูเสฉวนจอมขโมยเปลือกหอยตัวอื่น ด้วยการใช้วิธีสั่นสะเทือนเปลือกของตน ทีมจึงทดลองเพื่อหาสาเหตุโดยนำเปลือกหอยว่างๆมาติดตั้งอุปกรณ์สั่นสะเทือนไว้ภายในและเชื่อมต่อกับสายไฟขนาดยาววางไปตามชายหาด จากนั้นก็วางเปลือกหอยบนชายหาดที่มีปูเสฉวนอาศัยอยู่ แล้วก็ซุ่มดักดูเมื่อปูเสฉวนเข้าหาเปลือกที่นิ่งๆ และเริ่มใช้การสั่นสะเทือนเบาๆไปจนถึงทำให้เปลือกหอยสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง

การวิจัยพบว่าขณะเปลือกหอยนิ่งๆ ปูเสฉวนจะพยายามพลิกเปลือก เมื่อเปลือกเริ่มสั่นสะเทือนเบาๆ พวกมันก็ไม่ได้กลัวเกรง ยังปลุกปล้ำเพื่อพลิกเปลือกหอยให้ได้ แต่เมื่อเปลือกหอยสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง พวกมันก็รีบปีนลงและหนีไปโดยพลัน ทีมวิจัยอ้างว่าปูเสฉวนได้เรียนรู้ว่าการสั่นสะเทือนนั้นเป็นเครื่องมือในการป้องกันผู้บุกรุกนั่นเอง.
Cr.https://www.thairath.co.th/news/foreign/1542746



ศิลปินญี่ปุ่นสร้างเปลือกหอยทรงแปลกให้ปูเสฉวน
ศิลปินจากกรุงโตเกียวอากิ อิโนะมาตะ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ “ทำไมไม่สร้างบ้านให้ปูเสฉวน” ได้ใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ พิมพ์เปลือกหอยทรงแปลก ที่ได้แรงบันดาลใจจากกลุ่มอาคารของเมืองชื่อดังที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวอย่างนครนิวยอร์กของสหรัฐกรุงโตเกียว ไปถึงกังหันในเมืองซานเซชานส์ในเนเธอร์แลนด์ และเมืองป้อมปราการเอด-เบน-ฮัดดู ของโมร็อกโก

อิโนะมาตะพูดถึงแนวคิดของผลงานเหล่านี้ว่า จะทำให้คนสามารถแยกแยะปูเสฉวนจากเปลือกหอยที่มันอาศัย เหมือนกับตัวเธอเองที่เป็นคนญี่ปุ่น แต่ก็เปลี่ยนสัญชาติอย่างเช่นฝรั่งเศสได้ และเธอก็อยากมอบโอกาสให้ปูเหล่านี้ย้ายบ้านเหมือนได้ไปเยือนเมืองต่างๆ ได้รอบโลก เธอจึงเริ่มใช้เครื่องซีทีสแกนศึกษารูปทรงของเปลือกหอย ก่อนจะออกแบบใหม่ในคอมพิวเตอร์และพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติออกมา

โปรเจคเปลือกหอยปูเสฉวนสุดแปลกนี้ยังได้รางวัลแกรนด์ไพรซ์จากเวทียูแฟ้บ โกลบอล ครีเอทีฟ อะวอร์ดส ที่มีผลงานการออกแบบดิจิทัลจาก 27 ประเทศส่งเข้าประกวด ส่วนตัวเธอก็เคยนำผลงานเหล่านี้ไปแสดงในกรุงโตเกียว นครเซี่ยงไฮ้ของจีน และรัฐเวอร์มอนท์ของสหรัฐมาแล้วด้วย
Cr.https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/677913

 
ปูเสฉวนกว่า 5 แสนตัว ตายเพราะติดกับดักขยะ
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Tasmania ได้ทำการศึกษาที่เกาะอันห่างไกลสองแห่ง ได้แก่เกาะโคโคสในมหาสมุทรอินเดีย พบปูเสฉวน 508,000 ตัว และในเกาะแฮนเดอร์สันอีกจำนวน 61,000 ตัว ตายอยู่ในขยะทะเลริมฝั่งของทั้งสองเกาะ หลังจากติดดักในขยะ อาทิ ขวดพลาสติก

จากการสำรวจบนเกาะนักวิจัยพบขยะภาชนะพลาสติกที่มีปูเสฉวนอยู่ข้างในเป็นจำนวนมาก ทั้งตายและยังมีชีวิต พบว่าในทุก ๆ 1 ตารางเมตรบนเกาะทั้งสองแห่งนี้ จะพบซากปูเสฉวน 1-2 ตัว ที่ติดกับขยะ  โดยเฉพาะในขยะประเภทพลาสติกที่ถูกวางเรียงไว้ เมื่อเจ้าปูเสฉวนเข้าไปแล้วก็เหมือนติดกับ ทำให้ไม่สามารถกลับออกไปได้อีก

ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ ปกติปูเสฉวนจะหาบ้านจาก ‘กลิ่น’ ของเจ้าบ้านของเปลือกหอยที่ตายไปแล้ว แต่เมื่อพวกมันเปลี่ยนจากเปลือกหอยเป็นขยะ ทำให้เราพบซากปูเสฉวนมากกว่า 1 ตัวในขยะ 1 ชิ้น จากตัวอย่างพบ ปูเสฉวนมากถึง 526 ตัวในภาชนะพลาสติก 1 ชิ้น
Dr. Alex Bond จากพิพิธภัณ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติ (Natural History Museum) ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า ขยะทะเลไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำเท่านั้น แต่ยังเป็นกับดักต่อสัตว์บนบกอีกด้วย

ปูเสฉวนถือเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในเขตร้อนเป็นอย่างมาก การศึกษาครั้งนี้ทำให้เราค้นพบว่าปัญหานี้เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนก่อนที่ระบบนิเวศของเราจะขาดสมดุลไปมากกว่านี้
ที่มา
https://www.imas.utas.edu.au/…/half-a-million-crabs-killed-…
https://www.theguardian.com/…/plastic-pollution-hermit-crab…
https://edition.cnn.com/…/hermit-crabs-plastic-p…/index.html
https://www.bbc.com/news/science-environment-50661449
https://www.theguardian.com/…/plastic-pollution-hermit-crab…
https://www.washingtonpost.com/…/what-happens-when-hermit-…/
https://www.cbsnews.com/…/plastic-pollution-has-killed-hal…/
https://okinawanaturephotography.com/…/hermit-crabs-in-pla…/
Cr.https://de-de.facebook.com/environman.th/posts/2370134289781671 / แพร สันโดษ Environman

(ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลทั้งหมดและขออนุญาตนำมา )
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่